Skip to main content
sharethis

จากกรณีรถมินิบิ๊กซีถึงร้านสะดวกซื้อที่อยู่ทุกตรอกซอกซอย อาหารการกินกลายเป็นเรื่องง่ายดาย แต่ ‘กิ่งกร’ จากโครงการกินเปลี่ยนโลก บอกว่ามันไม่ควรง่ายแบบนั้น ชวนพิจารณาทางเลือกแท้-เทียมของผู้บริโภคในการกิน อาหารที่เราหยิบเข้าปากแต่ละคำเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ อำนาจ และความเป็นธรรมอย่างลึกซึ้ง

  • ระบบเศรษฐกิจและการเมืองของไทยไม่ใช่ระบบที่ปกป้องคุ้มครองคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองน้อย
  • ระบบอาหารต้องมีความเป็นธรรม อาหารไม่ควรมีราคาถูกเกินไป และกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง
  • ผู้บริโภคต้องเชื่อว่าตนมีทางเลือกและสร้างทางเลือกเพื่อไม่ให้ถูกครอบงำจากระบบอาหารโดยธุรกิจขนาดใหญ่

เรื่องราวของรถพุ่มพวงฉบับบิ๊กซีซาซบจากหน้าสื่อ ไม่มีใครรู้ว่าการทดลองโมเดลธุรกิจของบริษัท บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ได้บทสรุปเช่นไร อารมณ์สังคมเมื่อแรกภาพรถมินิบิ๊กซีปรากฏออกไปทางขัดเคืองและวิตกกังวลแทนผู้ค้ารายย่อยที่กำลังถูกทุนใหญ่รุกราน ร้อนถึงกระทรวงพาณิชย์ต้องออกมาแสดงท่าที

สำหรับกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากโครงการกินเปลี่ยนโลก กรณีข้างต้นเป็นความปกติธรรมดาของการทำธุรกิจที่ต้องหาหนทางเข้าถึงตัวลูกค้าให้ได้มากที่สุด และยังเป็นความผิดปกติในคราวเดียวกันว่าเหตุใดจึงไม่มีกลไก มาตรการ กฎหมายในการควบคุมบริษัทใหญ่จากการพยายามครอบครองตลาดและปกป้องผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย หรือว่ามีแต่มันไม่ทำงาน

ในสังคมทุนนิยม การแข่งขันของบรรดาธุรกิจในลักษณะนี้จะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือ? เรายิงคำถาม

“มันต้องตั้งคำถามย้อนไปว่า การซื้อของจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ผู้บริโภคได้อะไรบ้าง เพราะมันก็เป็นโมเดลย่อของซุปเปอร์มาร์เก็ต คนขายของคุณรู้หรือไม่ว่าสินค้าอะไรเป็นอะไร คนขายสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ซื้อ คุณสามารถคุยกับผู้ขายได้รู้เรื่องหรือเปล่า...”

แล้วบทสนทนาก็ดำเนินต่อไปในท่วงทีที่ค่อยๆ กะเทาะประเด็นปากท้องและอาหารการกินของเราในยุคศตวรรษที่ 21 เราคงคิดคล้ายๆ กันว่าเรามีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ กินได้ทุกเวลา ไม่มีข้อจำกัดด้านฤดูกาล ใช่, มันเป็นเช่นนั้น แต่กิ่งกรถามกลับว่า ถึงที่สุดแล้ว เรามีอำนาจมากแค่ไหนกันในการกำหนดว่าจะหยิบอะไรเข้าปาก และหลังจากกลืนลงท้องแล้ว อาหารที่เรากินทิ้งบาดแผลอะไรไว้บ้างหรือเปล่า

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่ใช่แค่เรื่องโรแมนติก

การสยายปีกเข้าชิงส่วนแบ่งการตลาดจากรถพุ่มพวงของบิ๊กซีและเจ้าอื่น การแทนที่และแก่งแย่งลูกค้ากันเป็นวิถีปกติของธุรกิจ ถ้าบริษัทใหญ่สามารถเสนอทางเลือกที่ผู้บริโภคเห็นว่าดีกว่า รถพุ่มพวงดั้งเดิมก็ต้องพ่ายแพ้ไปตามสภาพ

“เพราะไม่มีอะไรช่วยป้องกันผู้ประกอบการรายย่อย ระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศนี้ไม่ใช่ระบบที่ปกป้องคุ้มครองคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองน้อย คุณก็กัดฟันดิ้นรนไปเอง แล้วผู้บริโภคก็ไม่มีความรู้เพียงพอที่จะช่วยรักษาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ”

กิ่งกรเล่าว่า ผู้บริโภคในตะวันตกเห็นความสำคัญของการมีผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย เห็นคุณค่าของการมีเกษตรกรรายย่อยที่ยังสามารถปลูกพืชแบบเคารพธรรมชาติ ให้คุณค่ากับการทำงานด้วยมือ ให้คุณค่ากับการลดต้นทุนสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน การไม่สร้างขยะ แต่ผู้บริโภคในสังคมไทยยังขาดมิติข้างต้น

“คนขายของรถพุ่มพวงมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ซื้อ เขารู้ว่าบ้านนี้จะเอาอะไร เขาฝากซื้อ ฝากขอกันได้ แล้วมันอาจจะถูกพัฒนาขึ้นมาได้ เรายังเคยคิดว่าน่าจะสามารถกระจายผลผลิตที่มีความหลากหลายสูงผ่านกลไกรถพุ่มพวง ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจที่ครอบคลุมคนกินในพื้นที่เฉพาะที่มีลักษณะเหมือนตลาดท้องถิ่น ระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย มันเป็นความสัมพันธ์ที่มีความเป็นมนุษย์กว่า สื่อสารกันมากกว่า เรียกร้องกันได้ ตรวจสอบกันได้บ้าง ถ้าผู้ซื้อรู้ว่าควรจะตรวจสอบ”

คำถามของกิ่งกรคือซุปเปอร์มาร์เก็ตให้ความสัมพันธ์ที่มีความเป็นมนุษย์แบบนี้หรือเปล่า

แน่นอน เราสามารถถามกลับได้ ทำไมผู้บริโภคจึงต้องสนใจอะไรที่ดูโรแมนติกแบบนี้ด้วย คำตอบของกิ่งกรคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการให้ได้อาหารที่ดี คุณซื้อกับใครต้องเรียกร้องที่คนนั้น ต้องสื่อสารกับผู้ขาย ทำให้ผู้ขายสื่อสารกับคุณ ตอบโจทย์คุณ

เรื่องกินต้องไม่ใช่เรื่องง่าย...เกินไป

“ทุกวันนี้ธุรกิจพยายามตอบโจทย์คุณ โดยที่เขาสร้างโจทย์อะไรบางอย่างขึ้นเอง สิ่งที่เขาสร้างขึ้นและผู้บริโภคเชื่อคือทุกอย่างให้ง่ายเข้าไว้ ถ้าจะให้เราเถียง เราก็จะบอกว่าจะง่ายมากไปไหน เราถูกทำให้เชื่อว่าอาหารการกินต้องถูกทำให้ง่าย แต่มันไม่ง่าย ถ้าคุณอยากได้อาหารดี มีคุณภาพ มีการกระจายที่เป็นธรรม มีต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่ถูก ทุกวันนี้เรากินอาหารที่มีต้นทุนสิ่งแวดล้อมแพง แต่ซุปเปอร์มาร์เก็ต บริษัทการค้าสมัยใหม่ หรือธุรกิจขนาดยักษ์ ทำให้คุณเชื่อว่าเขาจัดการเรื่องอาหารให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณได้ ซึ่งเราคิดว่าเรื่องนี้ผิด”

แล้วที่ถูกคือ? “มันไม่ควรง่ายขนาดนั้น”

กิ่งกรอธิบายว่า การทำให้เรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องง่ายดาย มันต้องแลกด้วยต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ และความเป็นธรรม ขณะที่ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มทุนน้อยกลุ่ม ความเสี่ยงกลับตกอยู่ในมือผู้ประกอบการรายย่อย

“มันเป็นระบบที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ตอบโจทย์ในด้านความประหยัดต่อขนาดกระจายสู่ผู้ผลิตในวงกว้างและมีระยะทางที่ห่างไกลกัน เป็นระยะทางของการสื่อสาร ความรู้ ความเข้าใจเรื่องที่มาของอาหาร จะแก้ปัญหานี้ต้องย่นระยะความรู้ ความเข้าใจเรื่องการจัดการอาหาร เข้าใจความซับซ้อนในการทำให้อาหารมีคุณภาพ มีความปลอดภัย ดีต่อสิ่งแวดล้อม เราก็ยังพูดซ้ำๆ ว่าอาหารที่ดี ที่ตอบโจทย์มนุษยชาติต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสุขภาพ ต้องกระจายความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ต้องมีความยั่งยืน

“ระบบอาหารที่พึงปรารถนาคือระบบอาหารที่ต้องการความรู้ ความเข้าใจ การสื่อสาร และไม่คิดว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องง่ายแบบที่ระบบการค้าสมัยใหม่พยายามครอบงำทางวัฒนธรรม คนเราก็เลยกินวันหนึ่งมากกว่า 3 มื้อ ทำมาหากินแล้วค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งคือค่าอาหาร แต่ว่าไม่ได้ใส่ใจเลยว่าจะได้อาหารมาอย่างไร”

อาหารและความเป็นธรรม

กิ่งกรเอ่ยคำว่า ความเป็นธรรม บ่อยครั้ง ดูเหมือนว่าทุกครั้งที่หยิบอาหารเข้าปาก ความเป็นธรรมเชิงโครงสร้างควรเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องนึกถึง ฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โตเกินจิตนาการ เธออธิบายว่า

“ความเป็นธรรมในระบบอาหาร มันคือการกระจายรายได้ กระจายอาชีพ ทุกวันนี้ ถ้าคุณกินอาหารกับระบบผูกขาด คุณก็สร้างรายได้ให้กับคนกลุ่มเดียว เหมือนคุณไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต คุณก็สร้างความร่ำรวยให้กับเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ต ถ้ามองในแง่ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ผู้บริโภคห้าหกสิบล้านคน เป็นลูกค้ารายใหญ่มากของกลุ่มทุนเหล่านี้ เศรษฐกิจในการกระจายอาหารมันใหญ่มาก เกี่ยวพันกับชีวิตคน ร้อยละ 25-40 ของรายได้โดยเฉลี่ยนคือค่าอาหาร คุณก็ต้องเลือกว่าจะเอาเงินในกระเป๋าไปให้แก่ใคร ถ้าคุณเลือกให้เกิดการกระจาย คุณก็กระจายที่ซื้อ กระจายพ่อค้าแม่ค้า”

กิ่งกรเรียกร้องอีกว่า ในด้านกลับกัน บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ควรลดกำไรของตนลงบ้าง เพื่อนำกำไรส่วนที่ลดลงนั้นกระจายไปยังส่วนต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทาน การเรียกร้องผลักดันส่วนนี้ค่อนข้างยากเย็นกว่า ดังนั้น ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง...

“คุณสามารถสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจได้ด้วยการกระจายเงินในกระเป๋าคุณไปสู่หลายๆ กระเป๋า”

อาหารราคาถูกเกินไปหรือเปล่า?

การคลุกคลีกับประเด็นอาหารอย่างต่อเนื่อง กิ่งกรยอมรับว่ารูปแบบการค้าสมัยใหม่ ทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ตอบสนองวิถีชีวิตผู้คนได้พอดิบพอดีกว่า แต่ความสะดวกที่ว่าเป็นคนละเรื่องกับคุณภาพและรสชาติ หันกลับมาดูอาหารปรุงสุกหรือสตรีท ฟู้ด เธอบอกว่าคุณภาพก็ถดถอยลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

“เอาเข้าจริงๆ แล้วทางเลือกนอกห้าง นอกร้านสะดวกซื้อ ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดิบดีอะไร เพราะมันไม่มีทางเลือก ห้างหรือร้านสะดวกซื้อจึงเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นมา สถานการณ์ตอนนี้จะโทษว่าเพราะร้านสะดวกซื้อรุกคืบและทำลายผู้ประกอบการรายเล็กก็ไม่ใช่ หรือจะบอกว่าเข้ามาทำลายทางเลือกดีๆ ของอาหาร มันก็ไม่ตรงไปตรงมาขนาดนั้น คำถามคือใครทำลายคุณภาพอาหารของเรา ณ เวลานี้”

“ความเป็นธรรมในระบบอาหาร มันคือการกระจายรายได้ กระจายอาชีพ ทุกวันนี้ ถ้าคุณกินอาหารกับระบบผูกขาด คุณก็สร้างรายได้ให้กับคนกลุ่มเดียว... ถ้าคุณเลือกให้เกิดการกระจาย คุณก็กระจายที่ซื้อ กระจายพ่อค้าแม่ค้า”

แล้วใครล่ะที่ทำ?

“ถ้าไปเดินดูสตรีท ฟู้ด ราคาถูกทั่วไปอย่างในสก็อตแลนด์ ถ้ากินแซนด์วิชราคา 2-5 ปอนด์ มันกินได้ ไม่ต่างกันมาก ถ้าไม่ได้กินในร้านอาหาร แล้วมันไม่แย่ คำว่าแย่ในที่นี้หมายถึงมันไม่ได้กระหน่ำใส่สารอะไรเต็มไปหมด รวมทั้งความหวาน ความเค็มที่สูงมากจนเกินขีด ที่อื่นเขารักษามาตรฐานขั้นต่ำแบบนี้ไว้ได้อย่างไร ทำไมของเรารักษาไม่ได้

“เนื่องมาจากการที่คุณใช้เนื้อสัตว์ราคาถูกมาปรุงอาหาร คุณต้องใช้สารปรุงแต่งสูงมากเพื่อให้มันมีรสชาติดีขึ้นมา อาจต้องใช้สารกันบูดด้วย สิ่งเหล่านี้มันถูกชี้นำโดยอะไรก็ไม่รู้และมันไม่เคยมีการควบคุมแบบจริงจังเลย ทั้งสองฝั่งนี้ทำระบบอาหารให้แย่ด้วยกันทั้งคู่ โดยที่ผู้บริโภคก็ไม่รู้อะไรเลย หน่วยงานของรัฐก็ดูไปไม่ถึง”

กิ่งกรตั้งข้อสังเกตว่า สังคมไทยทำให้อาหารมีราคาถูกเกินไปหรือไม่ เราควรต้องตั้งคำถามว่า ถ้าต้องการอาหารที่ดี มีคุณภาพ คนขายอยู่ได้ คนทำอยู่ได้ คนกินอยู่ได้ ราคาควรจะเป็นอย่างไร กล่าวโดยรวมแล้ว คุณภาพความปลอดภัยของอาหารในสังคมไทยตกต่ำอย่างน่าใจหาย แต่ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครตระหนัก กลไกกำกับดูแลและกฎหมายต่างๆ ไม่แข็งแรง ไม่เพียงพอ ผู้บริโภคมีความรู้น้อยและอยู่กับมายาคติที่ว่าต้องกินถูกเข้าไว้ ต้องประหยัดเวลา

“นั่นคือคุณไม่ใส่ใจไง มันต้องพยายามสร้างความหลากหลายของที่มาอาหารให้ได้มากที่สุด คือเราก็ท้าทายผู้บริโภคแบบนี้ เพราะถ้าคุณตั้งใจจะจัดการมัน เราคิดว่าทำได้ ไม่ได้บอกว่าไม่ให้กินเลย แต่ถ้าคุณมีความเชื่อว่ายังไงก็ไม่มีทางเลือก มันก็จะอยู่อย่างนั้น เราจึงพยายามสนับสนุนให้คนลองเลือก ลองหาทางเลือก เสร็จแล้วมันจะเป็นกระแสให้คนอยากเลือกมากกว่าที่มีการเสนอมาให้เลือก”

การหายไปของอำนาจในการจัดการอาหารของผู้บริโภค

เดี๋ยวก่อน เราสงสัยว่าอำนาจในการจัดการอาหารของผู้บริโภคเริ่มหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และหายไปได้อย่างไร ...เป็นไปได้ว่าการปฏิวัติเขียวคือจุดเริ่มต้น

“มันอาจจะเริ่มที่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต การเปลี่ยนมาปลูกพืชพันธุ์ใหม่ที่มีผลผลิตสูง เปลี่ยนพันธุ์ไก่ พันธุ์หมูที่มีอายุการเลี้ยงสั้นลง ตรงนี้ผลิตอาหารราคาถูกได้มหาศาล เราให้อำนาจในการควบคุมปัจจัยการผลิต วิธีการผลิต และเลือกที่จะผลิต เป็นชุดหนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ประการที่ 2 วิถีการบริโภคที่อาศัยความเร็ว กินนอกบ้านมากขึ้น ไม่มีฤดูกาล มันทำลายความรู้ ความมั่นใจของบริโภคในการเลือก ผู้บริโภคก็ได้สละอำนาจของตัวเองในการเลือกสิ่งที่เราจะกินไปโดยไม่รู้ตัว ให้กับคนที่บอกว่าทำไก่มีคุณภาพ ทำอาหารปรุงพร้อมกินที่มีคุณภาพ มีความหลากหลายให้คุณเลือกทุกเวลา แล้วทำให้คนเชื่อว่าระบบการผลิตอาหารแบบนี้ตอบโจทย์คนในยุคสมัยใหม่”

การผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรม การกินอาหารแบบซ้ำๆ ไม่กี่อย่าง ไม่มีฤดูกาล ถูกกำหนดโดยธุรกิจขนาดใหญ่และวิถีบริโภคข้างต้น ประสบการณ์ชีวิตของกิ่งกรพบว่า มันใช้เวลาเพียง 10 ปีเท่านั้นที่อาหารแช่แข็งเข้ามาแทนที่

การจะดึงอำนาจการหยิบอาหารใส่ปากกลับคืนมา กิ่งกรบอกว่า ง่ายนิดเดียว มันคือการเดินไปตลาดสด ออกไปถามหาผักตามฤดูกาล ไปถามว่าใครมีไก่บ้านหรือมีหมูหลุมให้กินบ้าง มันเป็นการแสดงความต้องการออกมาว่าเราต้องการกินอะไร เริ่มต้นจากความต้องการสร้างทางเลือกในการกินให้กับตัวเองมากกว่าที่เป็นอยู่ เริ่มหาความรู้ว่าถ้าไม่ต้องการการผลิตแบบนี้ แล้วมีอะไรให้เรากินบ้าง กิ่งกรคิดว่าความรู้เกี่ยวกับอาหารการกินยังพอมีอยู่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีวัฒนธรรมอาหารของตัวเอง ซึ่งตอบโจทย์ระบบนิเวศอาหารพอสมควรและยังหลงเหลือให้รื้อฟื้น

“คุณต้องจัดเวลาให้ตัวเองเพื่อเพิ่มทางเลือก อาทิตย์หนึ่งสักสี่ห้ามื้อมั้ยที่จะกินแบบที่เราสามารถกำหนดได้ เราเชื่อว่าโดยการรวบรวมความเป็นปัจเจกเหล่านี้ ถ้าเปลี่ยนไปเป็นร้อยเป็นพันคน ตลาดจะเปลี่ยน”

ความตื่นตัวในระดับผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธมาตรการในระดับนโยบายไม่ได้ นโยบายที่จะสร้างสภาพแวดล้อมของอาหารที่ปลอดภัยและมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นต้องทำไปพร้อมๆ กัน กิ่งกรยกตัวอย่างสถานการณ์สารปรุงรสอาหาร

“ตอนนี้เรามีสารปรุงรสอาหารหลายตัวมาก แสดงว่าวัตถุดิบทุกวันนี้มันแย่มาก ถึงต้องปรุงรสกันหนักขนาดนี้หรือเปล่า มันต้องมีการกำกับดูแลลงไปคุมการใส่สารเหล่านี้ให้จริงจังมากขึ้น ตอนนี้ทำไมไม่คุม สาเหตุหนึ่งเพราะไม่มีความรู้ สารพวกนี้เพิ่มจำนวนเยอะขึ้นๆ เป็นพัฒนาการของเทคโนโลยีอาหารที่ต้องการให้อาหารมีอายุนานขึ้น หน้าตาดี ไม่เปลี่ยนรูปร่าง ไปดูของ อย. (องค์การอาหารและยา) มีเขียน สารตัวนี้สำหรับทำอันนี้ ใส่ได้เท่าไหร่ ตามความเหมาะสม สารนี้ ตามความเหมาะสม ตามความเหมาะสมหมดเลย แสดงว่าไม่มีความรู้ที่จะกำหนดค่ามาตรฐานว่าจะใส่เท่าไหร่ แล้วมันควรจะใส่ผสมกันเท่าไหร่ ผู้กำกับดูแลเกี่ยวกับการปรุงแต่งรสอาหารให้มีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นต่ำ ไม่มี ถ้าไม่รวยจัด ก็ไม่มีทางเลือกพอๆ กัน

“ด้านหนึ่งเราเชื่อในการขับเคลื่อนผู้บริโภคให้มีพลังเปลี่ยนแปลงและกดดันให้ฝ่ายกำกับดูแลทำหน้าที่หรือพัฒนาความรู้ในสิ่งที่เติมลงไปในอาหารให้มากขึ้น ตรงนี้ถ้าผู้บริโภคหรือก็คือพลเมืองไม่ลุกขึ้นมาบอก ลุกขึ้นมากดดัน ไม่มีใครทำอะไรให้คุณหรอก ไม่ต่างกับเรื่องทางการเมือง มันคือเรื่องเดียวกัน”

อาหารและการเมือง

จุดเปลี่ยนที่จะดึงอำนาจในการจัดการอาหารกลับคืนมาต้องเริ่มจากตัวความคิดเป็นหลัก กิ่งกรบอกว่าผู้บริโภคต้องเชื่อก่อนว่าตนเองมีทางเลือก อย่าเชื่อว่ามีเฉพาะทางเลือกที่ธุรกิจเลือกให้ เพราะนั่นเป็นชุดความคิดที่ใช้กำกับผู้บริโภคให้อยู่ในร่องในรอย ไม่กล้าลองผิดลองถูก

“จะบอกว่าเราเป็นพวกโลกสวยก็ได้ แต่เราเชื่อว่านี่เป็นชุดความคิดที่สำคัญมากที่ทำให้เขากำกับเราได้ มีคนจัดการให้ดิบดีแล้ว ผู้บริโภคไม่ต้องเลือกหรอก เหมือนกับที่กำกับความคิดเราว่าต้องเป็นทหารเท่านั้นถึงจะปฏิรูปได้ ชุดความคิดเดียวกันเลย มันทำให้คนจำนวนมากเชื่อไปว่าการลองผิดลองถูก แล้วพัฒนากันไป เป็นอะไรที่เป็นไปไม่ได้

“การสร้างระบบอาหารที่ดี ที่เป็นธรรม ปลอดภัย มีคุณค่า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม กับการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ที่มีรากฐานจากประชาชนที่เข้มแข็งเป็นสิ่งที่ใช้วิธีการเดียวกัน วิธีการนั้นคือการเปลี่ยนคน เปลี่ยนวิธีคิดของคน คลายจากความเป็นทาสมาเชื่อว่าเราสามารถกำหนดได้ เลือกได้ และต้องสร้างทางเลือกนั้นด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาสร้างให้ แบบเดียวกัน เราต้องสร้างการเมืองที่มีคุณภาพ แล้วเราก็จะเลือกมันอย่างมีความสุขมากขึ้น ถ้าเราร่วมสร้างมัน”

สรุปคือเราต้องเชื่อว่าเราเลือกอาหารเข้าปากได้ แต่เรายังเลือกตั้งไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net