Skip to main content
sharethis

เก็บประเด็นเสวนางานวันปรีดี พนมยงค์ 4 พรรคการเมืองเห็นการเลือกตั้งจะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย 3 พรรคการเมืองดันยกเลิก/แก้ไข/ร่างใหม่รัฐธรรมนูญ แต่ตัวแทนประชาธิปัตย์ยังเห็นว่าหากมีโอกาสก็จะแก้ แต่ไม่ใช่วาระแรก ด้านธนาธรชี้หากได้เป็นรัฐบาลจากสานต่อภารกิจคณะราษฎร เพื่อลงหลักปักฐานประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาหัวข้อ “อภิวัฒน์สยาม 2562  ความหวังและอนาคตประเทศไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาเป็นกลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ 4 คน คือ วราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ ขัตติยา สวัสดิผล พรรคเพื่อไทย และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ เสถียร วิริยะพรรณพงศา

การเลือกตั้งที่ (อาจ) จะเกิด จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองอย่างไร

วราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่าการเลือกตั้งในปี 2562 ตามที่รัฐบาลประกาศเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนไทยหลาย 10 ล้านคนในกลุ่มคน Gen-Y.Z ที่มีโอกาสในการใช้สิทธิเลือกตั้งต่างก็ต้องการออกมาใช้สิทธิของตัวเองในการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงจะมีเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในเวลามีข้อด้อย และมีกลไกต่างๆ ที่คอยควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

“การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการหักด้ามพร้าด้วยเข่า การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว หลายคนไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมเองก็คิดว่ามีหลายข้อที่จะต้องแก้ ดังนั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นจุดเริ่มต้นในการที่เราจะสามารถนำการเปลี่ยนแปลงกลับมาสู่ประเทศไทยได้อีกครั้ง” วราวุธ กล่าว

วราวุธ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านี้ผลการเลือกตั้งในประเทศมาเลเชีย เป็นเรื่องเหนือความคาดคิด โดยประชาชนของมาเลีเซียได้แสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพยายามเลื่อนการเลือกตั้ง หรือพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งโดยรัฐบาลก็ตาม แต่สุดท้ายก็ได้มีล้มผู้นำรัฐบาลครั้งก่อนได้จากเสียงของประชาชน

“การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในไทยนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ คนไทยกว่า 50 ล้านคนที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง และหลาย 10 ล้านคนจะมีสิทธิเป็นครั้งแรก จะเป็นช่งเวลาที่ทุกคนจะต้องออกมาแสดงให้เห็นว่าก้าวต่อไปของประเทศไทยเราอยากจะให้เป็นอย่างไร มันจะเป็นจุดเริ่มตนของความเปลี่ยนแปลง อาจจะเป็นการเริ่มต้นที่จะเอามาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใดมาตราหนึ่งที่เป็นตัวถ่วงให้กับประเทศชาติ” วราวุธ กล่าว

ด้าน รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าเบื้องต้นการเลือกตั้งต้องเป็นการได้มาซึ่งตัวแทนที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง หากได้ ส.ส. แต่ ส.ส. กลับเป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจ กลุ่มเผด็จการ กลุ่มทุน การเลือกตั้งก็จะไม่มีความหมาย และประชาขนเองต้องรู้เท่าทันพรรคการเมือง และนักการเมืองด้วย

“ดิฉันมั่นใจว่าถ้ามีการเลือกตั้งปีหน้า จะมีนโยบายเก๋ไก๋สไลเดอร์ออกมาแน่นอน บางนโยบาย เป็นนโยบายที่ดีนำไปสู่ความหยั่งยืนของประเทศ แต่มาอาจจะไม่โดนใจไม่เท่ ไม่ถูกใจ บางนโยบายอาจจะดูแล้วใช่เลย เห็นชัดๆ เลยว่าจะฉันจะได้อะไร เป็นเนื้อเป็นหนัง แต่ถ้าคิดให้ดีมันอาจจะเป็นอันตรายต่อประเทศในระยะยาว ในช่วงระยะนี้มันคือโอกาสที่จะทำให้ประชาชนได้เตรียมตัวศึกษานโยบายของแต่ละพรรค ดูว่าบ้านเมืองของเราที่ผ่านมาเกิดปัญหาอะไร นโยบายที่ใช้ๆ กันมาอันนี้ที่ดีควรจะทำต่อ อันไหนที่บกพร่องใครเสนอมาฉันไม่เลือกอีกแล้ว และต้องวิเคราะห์ว่านโยบายที่จะเลือกสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านหรือไม่” รัชดา กล่าว

รัชดา กล่าวต่อว่า ประชาธิปไตยไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การเลือกตั้ง แต่ต้องนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจด้วย ต้องนำไปสู่การยกเลิกการผูกขาดของนายทุน ของบริษัทใหญ่ๆ และต้องให้โอกาสกับประชาชนรายย่อยได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้ และมีความเท่าเทียมกันในสังคม นอกจากนี้ยังมีเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่จะต้องขับเคลื่อนต่อไปหลังจากการเลือกตั้ง

ขณะที่ ขัตติยา สวัสดิผล พรรคเพื่อไทย เห็นว่าการเลือกตั้งจะเป็นการแปลงเปลี่ยนประเทศ โดยจะมีผู้สิทธิใหม่ๆ เกิดขึ้นซึ่งคนกลุ่มนี้ยังไม่เคยได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่เพียงคนรุ่นใหม่ที่จะได้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่คนรุ่นเก่าเองก็ไม่ได้มีโอกาสเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2554 ก็มีความคาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ

“4 ปีรัฐประหาร เราพิสูจน์ได้แล้วว่า การรัฐประหารไม่ได้ช่วยให้ประเทศ เศรษฐกิจของประเทศ และภาพรวมของประเทศดีขึ้นแต่อย่างใด สิ่งที่เราควรจะทำคือนำประเทศกลับไปสู่แนวทางประชาธิปไตย คืนสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน สิ่งนี้คือความสวยงามของประชาธิปไตย และการเลือกตั้งในปีหน้าอย่างนี้จะต้องไม่มีอำนาจนอกระบบมาแทรกแซงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น” ขัตติยา กล่าว

ขัตติยา กล่าวต่อว่า ปัญหาการเมืองในประเทศในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเสียงข้างมากเองก็ถูกตรวจสอบโดยฝ่ายค้านในรัฐสภาอยู่แล้ว แต่ที่สุดแล้วกลับกลายเป็นปัญหาเพราะความรู้สึกว่ากระบวนการตามปกคิไม่ทันใจของคนบางกลุ่ม หรือความต้องการที่จะเข้ามามีอำนาจโดยอาศัยช่วงเวลาที่วุนวาย หรือไม่ยอมปล่อยให้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยระบบ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยมีปัญหา

“หากตอนนั้นคนยอมรับ และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกติกา มีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบอย่างทุกต้อง ประชาชนก็จะเห็นเอง ตอนนี้ข่าวสารเทคโนโลยี มีการสะส้อนสื่อสารออนไลน์ได้หมด เพราะฉะนั้นให้ประชาชนได้เป็นคนตัดสินดีกว่าว่า อะไรควรจะอยู่หรืออะไรควรจะไป และอะไรคือสิ่งที่ควรเลือก และไม่ควรเลือก” ขัตติยา กล่าว

ส่วนธนาธร กล่าวถึงคุณูปการของปรีดี พนมยงค์ว่า เป็นหนึ่งในผู้นำการอภิวัฒน์ 2475 เป็นผู้นำเสรีไทย และเป็นผู้ตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอีกหลายเรื่องที่ปรีดีได้ทำ รวมทั้งเป็นผู้วางรากฐานการปรองครองสมัยใหม่ในประเทศไทยไว้

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปแล้ว และมีความสำคัญอย่างมากคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ ผมอ้างตามคำพูดของอาจารย์ ณัฐพล ใจจริงนะครับว่า  2475 คือสัญญาประชาคมใหม่ ระหว่างกษัตริย์กับประชาชน กษัตริย์มียอำนาจสูงสุด ถ่ายโอนอำนาจสูงสุดนั้นไปสู่พลเมืองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการรองรับสิทธิและเสรีภาพที่ว่าของประชาชน สัญญาที่ว่านี้หลักใหญ่ใจความคือ กษัตริย์คืออำนาจให้กับประชาชน แต่ผ่านมา 86 ปี เรารู้กันว่าจนถึงปัจจุบันประชาชนก็ยังไม่ได้รับ ผมคิดว่านี้คือเรื่องสำคัญที่เราต้องพูดให้ชัดว่าหลักการ ความเป็นพลเมืองในประเทศไทยยังไม่ได้ถูกสถาปนา หลักการที่เป็นเสาค้ำยันการอภิวัฒน์ 2475 อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายยังไม่ได้ถูกสถาปนาให้หยั่งรากลึกลงในสังคมไทย”

ธนาธร กล่าวต่อว่า สถานะพลเมืองที่เกิดขึ้นจากการปฎิวัติ 2475 คือการยึดหลักเสรีภาพ และความเสมอภาค ให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการยกสถานะตัวเองจากผู้ที่ถูกปกครองเป็นสู่การเป็นเจ้าของประเทศที่มีสิทธิและอำนาจอย่างเต็มเปี่ยมในการกำหนดอนาคตของประเทศร่วมกัน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มีในสังคมไทย

“การเลือกตั้งครั้งนี้ หากมีจริงในปี 2562 จำเป็นจะต้องนำภาระกิจของการปฏิวัติ 2475 ที่ทำไม่เสร็จมาทำให้เสร็จ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้พูดด้วยโอหัง หรือทนงตน แต่พูดด้วยความเข้าใจถึงสภาพการในปัจจุบันที่ไร้สิทธิ ไร้เสรี และไร้เสรีภาพ พูดด้วยความเข้าใจดีว่าสังคมไทยไม่มีความหวัง และต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หากการเลือกตั้ง 2562 มีจริง ธงที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้งครั้งหน้า คือการเอาหลักหมุดหมายของการอภิวัฒน์ 2745 เอาจิตวิญญาณของการปฏิวัติ 2475 กลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง นั่นคือ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

ปัญหาความเหลือมล้ำยังสูง ประชาธิปไตยทางด้านเศรษฐกิจยังไม่เกิดขึ้น จะแก้ไขกันอย่างไร

วราวุธ เห็นว่า ความเหลือมล้ำสะท้อนออกมาให้เห็นชัดเมือมองไปที่สังคมเมือง และสังสังคมชนบทของประเทศไทย ฉะนั้นการให้โอกาสอย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เช่น โอกาสในการขึ้นถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่ในประเทศไทย 50 โรงเรียนที่ได้คะแนน O-NET ดีที่สุด 34 โรงเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนโรงเรียนที่เหลือกระจุกตัวอยู่ใน 9 จังหวัดเท่านั้น การเข้าถึงการศึกษาของประเทศไทยปัจจุบันยังมีความไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการรักษาพยาบาลที่ยังมีความเหลือมล้ำในด้านคุณภาพการรักษาพยาบาล ขณะที่การจัดเก็บภาษีของไทยเองก็ยังมีปัญหาอยู่ หลายสิ่งหลายอย่างจำเป็นที่จะได้รับการแก้ไข โดยการให้โอกาสที่เท่าเทียมกัน

ส่วน รัชดา เริ่มต้นกล่าวว่า จากที่ผู้ดำเนินรายการระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลมาหลายแล้ว มีมุมต่อการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เธอเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็น รัฐบาลมาหลายรอบก็จริง แต่เป็นเข้ามาบริหารประเทศในช่วงที่มีวิกฤตบ้านเมืองทั้งนั้น ฉะนั้นแนวนโยบายในการบริหารประเทศในช่วงวิกฤตกับช่วงเวลาปกติมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

“ในสมัยชวน 1 เป็นช่วงที่พลเอกชวลิต ลาออก และเป็นช่วงที่มีวิกฤตการทางการเงิน ทางออกของเราในตอนนั้นคือ ต้องเอาประเทศออกจากการสูญเสียเอกราชการทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นก็ต้องรัดเข็มขัด พอมาในยุคของคุณอภิสิทธิ์ ก็เป็นยุคที่วุนวายมาตัวนายกเองก็แทบจะเอาตัวไม่รอด ถูกไล่ตี มีการประท้วงชุมนุมกัน ฉะนั้นความง่ายในการบริหารประเทศมันต่างจากรัฐบาลอื่นอย่างมาก” รัชดา กล่าว

สำหรับปัญหาความเหลือมล้ำในปัจจุบันเธอเห็นว่า ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยจากการสำรวจล่าสุดพบว่า คนที่รวยที่สุดในประเทศไทย 50 คนแรก มีทรัพย์สินรวมกัน 5 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่างบประมาณของประเทศไทยซึ่งปีนี้มี 2.9 ล้านล้านบาทเท่านั้น สิ่งที่เห็นคือความกระจุกตัวของทรัพย์สินในประเทศ การจะคลี่ความกระจุกตัวนี้ให้กระจายมาสู่คนชั้นกลาง และคนที่มีรายได้น้อย จะต้องทำในหลายมิติ สิ่งหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เน้นย้ำมาตลอดคือให้โอกาสคนจนได้มีที่ดินทำกิน ขณะที่การศึกษาก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเหลือมล้ำของประเทศ

ด้านขัตติยา มองว่า หากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเท่าเทียม จะมีส่วนสำคัญในการลดความเหลือมล้ำ เพราะหากในแต่ละพื้นที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ ก็จะโตขึ้น ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

“ไม่ว่าจะอยู่ในเมือง หรืออยู่ในท้องถิ่นไหน หากการคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานเข้าถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจจะตามมา และเคยคิดไหมค่ะว่าทำไมวัยรุ่นต่างจังหวัด ถึงคิดว่าตัวเองด้อยกว่าวัยรุ่นที่เดินสยาม ตรงนี้ถ้าเรามีโครงสร้างพื้นฐานไปในท้องถิ่นนั้นๆ ไปในจังหวัดนั้นๆ ให้คนเขารู้สึกว่าจังหวัดเราก็มี เขาก็จะรู้สึกว่ามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ความเหลือมล้ำตรงนี้ก็จะลดลงไป และการเข้าไปแก้ไขปัญหาตรงนี้ การที่จะรู้สภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่และสะท้อนออกไป แน่นอนว่าจะต้องเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ขัตติยา กล่าว

ขณะที่ ธนาธร เริ่มต้นพูดถึงปัญหาความเหลือมล้ำด้วยการยกเหตุการณ์น้ำท่วมอยุธยา สุพรรณบุรี และจังหวัดอื่นๆ ในภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำ โดยผู้ที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ปีหนึ่งจะประสบปัญหาน้ำท่วม 2-3 เดือนต่อปี และเมื่อน้ำลดสิ่งที่ประชาชนต้องเจอต่อไปคือ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบ้าน ส่วนสาเหตุที่น้ำท่วมเกิดจากการที่มีกั้นน้ำไม่ให้ไหลทะลักเข้ามาในเขตเมือง ทำให้ประชาชนในพื้นที่เหล่านี้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เพราะแทนที่จะเอาเงินไปลงทุนทำอย่างอื่น กลับต้องใช้เงินในการซ่อมแซมบ้านเรือนหลังจากน้ำลง ส่วนกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากการระบายน้ำแบบนี้คือไม่โดนน้ำท่วม กลับไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย

“ในขณะที่เราบอกว่าเราจะแก้ปัญหาความเท่าเทียม ต้องให้ชัดอย่างหนึ่ง ความเท่าเทียมไม่ใช่เรื่องของบุญกรรมไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา แทนเป็นเรื่องของการเข้าถึงสิทธิทางการเมือง เรื่องจะการระบายน้ำก็ต้องมาคุยกันในพื้นที่ลุ่มน้ำตรงนั้นว่าใครจะระบายน้ำ ถ้าตกลงฉันทามติว่า ต้องมีคนกลุ่มหนึ่งเดือดร้อน จากการที่น้ำไม่ระบายและต้องไปท่วมในพื้นที่ของเขา คนกลุ่มนี้ต้องได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจนี่คือ เรื่องความเท่าเทียม” ธนาธร กล่าว

ธนาธร กล่าต่อไปถึงเรื่องการทำระบบการขนส่งมวลชนในจังหวัดขอนแก่นว่า มีบริษัทในเมืองขอนแก่นที่ต้องการพัฒนาระบบรางในตัวเมืองขอนแก่น ซึ่งดำเนินการมาได้หลายปีแล้ว และทุกคนต่างเชิดชูกระทำนี้เป็นโมเดิลการพัฒนาส่วนท้องถิ่นที่ดี แต่กลุ่มคนที่ทำเรื่องนี้ต้องใช้เวลา 3 ปีครึ่งเพื่อขอใบอนุญาติจากรัฐไทย เพื่อให้ทำรถไฟฟ้าในท้องถิ่นของตัวเองได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าอำนาจรัฐไทยโยงใยไปในทุกย่อมหญ้า ทรัพยากรทุกอย่างในประเทศมันถูกดึงเข้ามารวมศูนย์ที่ส่วนกลาง อำนาจการจัดสรรอนาคตของตัว ซึ่งคืออำนาจในการจัดสรรทรัพยากรที่อยู่ในท้องถิ่นของตัวเอง ไม่เคยไปถึงประชาชนในท้องถิ่น ไม่วาจะเป็นเรื่องหมอกควันในเชียงใหม่ หรือจะเป็นเรื่องประมงพื้นบ้านในภาคใต้ เป็นปัญหาเดียวกันทั้งคือ อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรถูกดึงมาอยู่ที่รัฐส่วนกลาง

“เป็นเรื่องที่ดีที่ทุกท่านพูดเรื่องการกระจายอำนาจ ผมเห็นด้วยอย่างเต็มที่ แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่เราต้องเข้าใจคือ โครงสร้างที่คำยันกลุ่มอภิสิทธิ์ชน และกองทัพ ที่ทำให้สังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ทุกวันนี้มันมีอะไรบ้าง และรัฐราชการ รัฐรวมศูนย์อำนาจเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ ความเหลือมล้ำไม่เป็นเพราะโชคชะตา แต่เป็นเพราะคนที่อยู่ในพื้นที่ถูกดึงทรัพยากรออกมา โดยที่ตัวเองไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัพยากรนั้น” ธนาธร กล่าว

เขาระบุต่อว่า การจัดการปัญหาเรื่องความเหลือมล้ำจะไม่สามารถทำได้เลย หากไม่พูดเรื่องความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน

ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรีสักหนึ่งวัน อะไรคือสิ่งที่อยากจะทำมากที่สุด

วราวุธระบุว่า ถ้าได้เป็นนายกหนึ่งวัน จะตั้ง สสร. ขึ้นใหม่ โดยยกตัวอย่างเมื่อปี 2538 สมัยนั้นนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้เริ่มความคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของหลายฝ่าย แต่ว่าเราก็ผลักดันจนเราตั้ง สสร. ซึ่งเป็นการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากคนทุกภาคส่วน เรามีการตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ผมเชื่อว่าไม่ขายขี้หน้าอารยะประเทศแม้ว่าจะเป็นการแต่งตั้ง

“วันนี้การที่ประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกฎกติกาในการบริหารประเทศ เราจะต้องมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ถ้าผมได้เป็นนายกรัฐมนตรีแค่วันเดียวสิ่งที่จะทำคือ ผมอยากตั้ง สสร. ใหม่ อาจจะทำได้ไม่ดีเท่าพ่อผม แต่ก็อยากจะลองทำดูสักครั้ง” วราวุธ กล่าว

ส่วน ขัตติยา เองก็เห็นเช่นเดียวกันกับวราวุธ โดยเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนำเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้อีกครั้ง จากนั้นให้มีการตั้ง สสร. ขึ้นมาใหม่เพื่อร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน

“อาจต้องทำประชามตินำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาใช้เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีรากฐานจากประชาชน จากนั้นก็ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ โดย สสร. ที่มาจาการเลือกตั้ง แล้วก็มีการทำประชามติอีกครั้ง เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” ขัตติยา กล่าว

รัชดา เห็นว่าจะใช้สรรพกำลัง และบนบานศาลกล่าวในทุกบารมี ที่จะช่วยให้สิ่งที่เธออยากได้ให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งคือเรื่องการกระจายอำนาจ โดยแบ่งเป็นสามส่วน ในเรื่องของตำรวจ การกระจายอำนาจจะคลอบคลุมในเรื่องของกรปฏิรูปตำรวจ บ่อน ส่วย หวย ซ่อง เป่าคดี ซื้อตำแหน่ง ข้าราชการเงินเดือนไม่พอที่จะปฏิบัติภาระกิจ เรื่องตำรวจต้องการให้หมด และเบื้องต้นต้องกระจายอำนาจจากตำรวจที่อยู่ในศูนย์กลาง ให้ไปอยู่ในระดับภูธร จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาของการบริหารงานตำรวจ

ต่อมาเธอเห็นว่า การกระจายอำนาจเรื่องที่สองคือ การกระจายอำนาจการศึกษา คนไทยอยากให้ประเทศไทยก้าวหน้า แต่ถ้าการศึกษาเด็กไทยยังสอบตก คณิต วิทย์ ทักษะ ยังสอบตก ไปไหนไม่ได้ ถ้าการเรียนยังเป็นการยัดเยียด การไปโรงเรียนไม่สร้างแรงบรรดาลใจให้เด็ก ถ้าการศึกษายังเป็นแบบนี้ประเทศไทยก็ไปไม่รอด ฉะนั้นจุดสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาคือการกระจายอำนาจให้ไปอยู่ในระดับท้องถิ่น พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของเยาวชนจริงๆ

ต่อมาเธอเห็นว่า การกระจายอำนาจเรื่องที่สาม คือการกระจายอำนาจในเรื่องการปกครองในจังหวัดต่างๆ คือการเลือกตั้งผู้ว่า พร้อมระบุว่า พรรคประชาธิปไตยจริงจังเรื่องนี้มาก ท่านลองนึกดีๆ เรามี อบต. อบจ. ขึ้นมาก็เกิดขึ้นในยุคสมัยของชวน 1 ชวน 2 ต่อไปหากเธอได้มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี หรือพรรคประชาธิปัตย์ได้มีโอกาสปกครองประเทศ จะผลักดันเรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

--ตอบเพิ่มรอบสอง หลังจากฟังคำตอบจากธนาธร—

“พรรคประชาธิปัตย์โดยส่วนตัวหลายคนในพรรค โดยเฉพาะท่านหัวหน้าเองก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ถ้าในวาระเร่งด่วนถ้าเรามีอำนาจแค่ 1 วัน ดิฉันคิดว่าเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างไรเราก็ทนอยู่กับมันได้ แม้ว่ามันจะไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ มันไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด แต่แนวทางที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าของพรรคเราคือ อยากจะทำอะไรที่มันตอบโจทย์ปัญหาของบ้านเมืองแก้ไขปัญหาได้ รัฐธรรมนูญถ้ามีโอกาสก็ต้องแก้ไข แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะหยิบเป็นวาระแรก”

ขณะที่ ธนาธร ระบุว่า ดีใจมากที่มาวันนี้และได้ยินพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเพื่อไทยพูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 จริงๆ ใข้แก้คงไม่ถูกนักต้องใช้คำว่ายกเลิกถึงจะเหมาะสมกว่า เขากล่าวต่อว่า การมีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าเราเชื่อว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย เราก็ต้องเชื่อว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของราษฎรทั้งหลายเช่นกัน ปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือทั้งที่มาและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญขัดต่อหลักการนี้ ไม่มีความเชื่อไม่มีความยึดโยงกับหลักการนี้ ว่าอำนาจเป็นของประชาชน และอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญก็เป็นของประชาชนด้วย

“รายละเอียดเดี๋ยวมาคุยกัน ผมยินดีที่มีการพูดเรื่องกระจายอำนาจ การปฏิรูปการศึกษา ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้เราเห็นด้วยกันหมด ป่วยการที่จะพูดถึง อยากได้อะไรเดี๋ยวไปเขียนกันที่รัฐธรรมนูญ อยากได้อะไรไปตกลงกันเมื่อมี สสร. ที่มาจากประชาชน แต่สิ่งที่ชัดคือต้องเอาสิ่งที่เป็น อประชาธิปไตย ออกไปจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ก็ต้องให้เครดิตคุณ บรรหาร นะครับ แล้วถ้าย้อนกลับไปดูกระแสธงเขียวในเวลานั้น เราจะเห็นว่าก่อนธงเขียว ทุกคนมีเครื่องหมายคำถามตัวเบ้อเริ่มเลยในสังคมไทยว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริงๆ เหรอ เพราะธงเขียวมันพูดถึงการกระจายอำนาจในสังคมไทย ก่อนจะมี พ.ร.บ.การปกครองส่วนท้องถิ่นตามมาในปี 2542 แต่มันมีการรับรองไว้ก่อนในรัฐธรรมนูญ 2540 มันเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า ทุกคนในเวลานั้นมีคำถามว่า มันจะเกิดขึ้นได้จริงเหรอ

ปัญหาก็คือ ในรัฐธรรมนูญ 2560 มันเขียนกลไกต่างๆ ไว้เยอะมาก คุณไม่มีทางที่จะแก้มันได้เลย มีวิธีเดียวที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ได้คือต้องเอาจิตวิญญาณของธงเขียวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง คือต้องสร้างการเห็นด้วยกันทั้งสังคมว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นสิ่งที่ต้องแก้เป็นสิ่งที่ต้องยกเลิก และต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน ต่อให้ได้ 400 เสียงในสภาก็แก้ไม่ได้ เงื่อนไขเดียวคือสังคมทั้งสังคมต้องเห็นร่วมกัน และผมดีใจมากที่อย่างน้อย 3 ใน 4 พรรค ที่นั่งอยู่บนเวทีวันนี้เห็นร่วมกัน ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นปัญหาสังคมที่สำคัญ ใครอยากกระจายอำนาจ ใครจะยกเลิกการผูกขาด ใครอยากเอาโรงเรียน ไปไว้กับกระทรวงกรมไหนค่อยไปถกกันในรายละเอียด ไปคุยกันใน สสร.” ธนาธร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net