Skip to main content
sharethis

เดินดูงานนิทรรศการท่าเตียน ในวันที่การเปลี่ยนแปลงจากนักท่องเที่ยว ทุนและโครงสร้างภาครัฐถาโถมเข้ามา คุยกับนักวิชาการ บทเรียนของชุมชนป้อมมหากาฬถึงท่าเตียน ระบุ พื้นที่ตรงกลางให้คนใน คนนอก ภาครัฐ ได้มาหาทางออกร่วมกันนั้นสำคัญ การพัฒนาที่คิดถึงคนจะทำให้ชุมชนมีชีวิตชีวา

  • 'ท่าเตียนซิงตัคลั้ค' เป็นงานที่จัดให้พื้นที่ท่าเตียนเป็นนิทรรศการแสดงประวัติศาสตร์ชุมชน มีตลาดนัดที่คนในชุมชน หรือญาติของคนในชุมชนนำของมาขาย
  • คณาจารย์ที่อำนวยความสะดวกและแนะนำนิสิตนักศึกษาในการลงพื้นที่คุยกับชาวชุมชนเพื่อตกผลึกเป็นการออกแบบในทางรูปธรรมระบุว่า วัตถุประสงค์ของงานคือการทำให้ภาพการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุมชนที่สอบถามจากผู้อยู่อาศัยเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทั้งอยากให้มีพื้นที่กลางให้ผู้อยู่อาศัย ประชาชน คนภายนอกชุมชนสามารถพูดคุย กำหนดนโยบายร่วมกับภาครัฐได้

‘ท่าเตียนซิงตัคลั้ค’ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวพันกับคำว่า ‘ตัลล๊าคคค’ ที่วัยรุ่นสมัยนี้ใช้แทนคำว่า ‘น่ารัก’ แต่เป็นงานนิทรรศการที่ใช้ท่าเตียน ย่านที่มีความเป็นมายาวนานคู่กับกรุงรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่โชว์ประวัติศาสตร์ ชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวชุมชนจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงแสดงผลงานของนิสิต นักศึกษาว่าด้วยการออกแบบเพื่อพัฒนาพื้นที่ย่านในหลายแบบ ตั้งแต่การออกแบบบ้านจนถึงรถแผงลอยแบบ 'ตัลล๊าคคค'

ท่าเตียนเป็นหนึ่งในพื้นที่ในใจกลางพระนครที่ได้รับความเปลี่ยนแปลงมาก ไม่ว่าจะจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การปรับปรุงพื้นที่ในส่วนที่เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นายทุนภายนอกเข้ามาจับจองพื้นที่ทำธุรกิจบริการนักท่องเที่ยว การเข้ามาของรถไฟใต้ดิน รวมถึงการเป็นหนึ่งในพื้นที่พัฒนาในแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์มายาวนาน ปัจจัยหลายอย่างนำไปสู่คำถามเรื่องการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ข้อกังวลว่าชุมชนจะถูกทิิ้งไว้ข้างหลังในกระแสการพัฒนา

ช่วง 10-13 พ.ค. นี้จึงเกิดการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มท่าเตียนซิงตัคลั้คที่เป็นชาวชุมชนท่าเตียนรุ่นใหม่ ชุมชนท่าเตียน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง สมาคมสถาปนิกสยามฯ (ASA CAN) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและมิวเซียมสยาม ใช้พื้นที่ท่าเตียน และความตั้งใจของชาวชุมชนจากการระดมสมอง และลงพื้นที่ของนักศึกษาตั้งแต่ต้นปี 2561 ให้เป็นรูปธรรม ออกมาเป็นเส้นทางวอล์กแรลลี เก็บสติกเกอร์ตามจุดแสดงประวัติท่าเตียน ตลาดนัดจากชาวชุมชนและนิทรรศการแสดงผลงานด้านการออกแบบของนิสิต นักศึกษา

ท่าเตียนที่เปลี่ยนแปลง: พื้นที่กลางและความคิดสร้างสรรค์สำคัญต่อการสร้างเมืองของทุกคน

“ปีนี้พอดีว่ามีโครงการของสำนักนวัตกรรมแห่งชาติส่งไปทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ศิลปากรก็มีโครงการที่ชื่อโอบิทขึ้นมา เป็นโครงการพัฒนา ฟื้นฟูย่านเมืองเก่า การเก็บข้อมูลเพื่อวิจัย พัฒนา ฟื้นฟูชุมชน ที่มีช่องว่างของ gentrification (การแปรสภาพของพื้นที่) พื้นที่มีความเปลี่ยนแปลง แต่ก่อนนักท่องเที่ยวมีแต่แบ็คแพค เดี๋ยวนี้มีทัวร์จีนเป็นคณะมาลง พื้นที่เริ่มเปลี่ยน วิถีชีวิตก็เริ่มเปลี่ยน อย่างที่เห็นคือมีโฮสเทล มีนู่นนี่เข้ามา ก็จะมีช่องว่างระหว่างคนที่อยู่เดิมกับผู้มาใหม่”

“ถ้าดูจากข้อมูลอ้างอิงในหลายพื้นที่ หรือหลายประเทศ ถ้าไม่มีอะไรมาช่วยยึด ช่องว่างก็จะถ่างไปเรื่อยๆ และจะเกิดการปะทะ เกิดการแย่งชิงพื้นที่และผลประโยชน์กันนิดหน่อย คนที่เคยอยู่ก่อนหน้านี้ คนที่มาใหม่ก็อาจจะคิดว่า ฉันจ่ายค่าที่มาถูกต้องแล้วทำไมฉันทำไม่ได้ แกมาทำให้วุ่นวาย เราก็รู้สึกว่ามันไม่น่ารักถ้าเป็นแบบนั้น”

เป็นถ้อยคำของเตชิต จิโรภาสโกศล อาจารย์สาขาวิชาการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) หนึ่งในคณาจารย์ที่เข้ามาร่วมทำโครงการท่าเตียนซิงตัคลั้คที่สะท้อนถึงท่าเตียนที่กำลังอยู่กลางกระแสการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน

เตชิต จิโรภาสโกศล

อาจารย์จากเอแบคพูดถึงบริบทของท่าเตียนที่อยู่กลางสายธารการเปลี่ยนแปลงจากหลายปัจจัยด้วยความเกรงว่า ความเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้มาใหม่ ได้แก่นักท่องเที่ยว นายทุนใหม่ กับผู้อยู่ในชุมชนแต่เดิม ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลที่คณาจารย์และนักศึกษาเข้ามาร่วมวงกับคนในชุมชนเพื่อใช้ความรู้ที่เรียนมาสร้างความเป็นไปได้ที่จะเกิดความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน

“ก่อนหน้านี้มันก็เป็นอย่างนั้น อย่างข้างหน้าหรือข้างหลังที่มีวิวสวยๆ ก็จะเป็นโฮสเทล คาเฟ่ แต่ตรงกลางที่เป็นที่อับๆ พวกเขาก็ยังใช้ชีวิตกันเหมือนเดิม แล้วคิดดูว่าชุมชนอยู่แบบนี้ก็จะเหมือนกับวัดพลังกันกับทุนใหม่หรือคนใหม่ๆ ที่เข้ามา ซึ่งเขาก็ไม่ผิดที่จะเข้ามาหาโอกาสทางธุรกิจ มันจะมีกรณีหนึ่งที่คนในชุมชนเล่าให้ฟังว่า บ้านหลังหนึ่งติดริมน้ำที่เจ้าของบ้านมีสติเป็นงงๆ นิดหนึ่ง แล้วขายบ้านไปในราคาถูกมาก คนที่ซื้อไปก็ทำเป็นโรงแรม

“ถามว่าผิดไหมก็ไม่ผิดหรอก แต่ถ้าเราปล่อยไว้แบบนี้ก็จะเป็นชุมชนคุยกับนายทุน ส่วนตัวคงไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินใคร แต่คิดว่ามันไม่ค่อยเท่าเทียมกัน การต่อรองมันคนละเรื่องกัน เวลาชุมชนต่อสู้กันในแบบเดิมคือการประท้วง ซึ่งนั่นคือเครื่องมือที่เขามี แต่ตอนนี้ในฐานะที่เราเป็นนักออกแบบ มีเครื่องมือที่สร้างสรรค์ เราอยากให้เครื่องมือในการประสานกันให้กับเขา เพราะคนที่เข้ามาและคนในชุมชนก็อยากได้อะไรที่สร้างสรรค์ เรามาหามันร่วมกันได้ไหมว่าความสร้างสรรค์ของพื้นที่นี้เป็นอย่างไร เราเองก็ไม่ได้ปฏิเสธคนนอก หน้างานก็จะมีบอร์ดให้คนที่มาเยือนได้ติดความเห็น ซึ่งก็จะเอาไปพิจารณากันต่อ”

นักศึกษาเอแบครับผิดชอบในเรื่องการออกแบบชุดสาธิตผลิตภัณฑ์ของใช้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า รถเข็นขายของ ศาลารอรถประจำทาง ไปจนถึงหีบห่อรวบรวมผลิตภัณฑ์ของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ของท่าเตียน

เตชิตกล่าวว่างานท่าเตียนชิงตัลลั้คเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการทำให้ไอเดียของชาวชุมชนท่าเตียนเป็นรูปเป็นร่าง และหวังว่าในอนาคตจะมีการพูดคุยและร่วมมือกันต่อไป

“มันเป็นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ อย่างที่บอกว่านี่เป็น Incubation Project (โครงการบ่มเพาะ) ตามมิติการทำงานด้านพื้นที่ ด้วยเวลา 5 เดือนมันไม่เสร็จ ถ้าเสร็จก็แปลว่าเราใช้อำนาจบางอย่างให้คลี่คลาย เหมือนที่ทางภาครัฐทำมา แบบนั้นจะเสร็จเร็ว แต่ถ้าเราทำแบบนี้ มาคลี่คลายร่วมกันก็จะช้า อันนี้เป็นเฟสที่หนึ่ง เราหวังว่าจะมีการคลี่คลายร่วมกันอีกต่อๆ ไป เพื่อให้ชุมชนเห็นว่าสิ่งที่แชร์กับเรา คุยกับเรา 3-4 เดือนที่ผ่านมามันเป็นแบบนี้ ชุมชนไม่ได้คิดหรอกว่าไอเดียของเขาจะถูกผลักดันในเชิงนโยบาย แต่เขาเห็นว่าไอเดียของเขาออกมาเป็นอย่างนี้แล้ว แล้วถ้าครั้งต่อไปถ้ามีอะไรอีกเขาก็ยินดีที่จะนำเสนอไอเดียต่อ”

สุพิชชา โตวิวิชญ์ (ที่มา: Facebook/ Supitcha Tovivich)

ผศ.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ประธานคณะกรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง หรือ ASA CAN นั่งให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ร้านผัดไทยประจำท่าเตียนว่า เป้าหมายของโครงการนี้คือการจุดประกายให้คนในชุมชนด้วยการจัดพื้นที่ให้เห็นเป็นรูปธรรม ผ่านธีม ‘การค้าขาย’ ที่ทีมงานคิดว่าเป็นเอกลักษณ์ของท่าเตียน และอยากให้ชุมชนมีเป้าหมายของการรวมกลุ่มที่ชัดเจนในยุคที่ความเปลี่ยนแปลงกำลังมาหาท่าเตียนจากรอบทิศทาง

“เวลาเราบอกว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ คนข้างในก็ค่อนข้างจะตื่นเต้นเหมือนกันว่าจะมีคนข้างนอกเข้ามาเยอะ เลยอยากสร้างเครือข่ายคนข้างในให้เข้มแข็งไว้ก่อน เขาเข้มแข็งอยู่แล้วแหละ แต่อยากให้เขามีความชัดเจนของการรวมกลุ่มที่สาธารณะรับรู้ได้ เผื่อในอนาคตจะมีคนมาขอทำนู่นนี่ อย่างน้อยก็มาปรึกษาคนในชุมชนก่อน ซึ่งชุมชนก็มีการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่นอยู่แล้วคือชุมชนท่าเตียนที่เป็นรุ่นอาวุโส และกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือกลุ่มซิงตัคลั้ค”

“ทำเป็นตลาดเพราะว่าระดมสมองเรื่องอัตลักษณ์ของท่าเตียน และมีข้อสรุปว่า ท่าเตียนคือการค้าขาย แต่เขาต้องอยู่กับการค้าขายรูปแบบใหม่ด้วย ค้าส่งก็ยังขายได้นะ ร้านที่แข็งแรงก็อยู่ได้ แต่ในอนาคตพอมีรถไฟฟ้า ย่านจะค่อยๆ เปลี่ยน จะมีคนรุ่นใหม่ นักท่องเที่ยวใหม่ๆ เราเลยคิดว่าจะใช้อะไรเป็นแพลตฟอร์มมาร่วมคิดร่วมคุย ก็เลยนึกถึงตลาด และใช้ชื่อตามกลุ่มคนรุ่นใหม่ของท่าเตียน ร้านที่มาออกก็เป็นคนในท่าเตียน หรือเป็นญาติๆ ของคนในท่าเตียน ไม่ใช่คนนอก ไม่ใช่คนข้างนอกมาทำให้เปลี่ยน แต่เป็นของคนข้างในที่ชวนกันมา”

คอนเซปต์การพัฒนาเมืองที่คิดถึงผู้คน กับบทเรียนที่รัฐควรและไม่ควรทำ

หากติดตามประเด็นการพัฒนาพื้นที่ อย่างน้อยจะต้องเคยเห็นคำว่า ‘Gentrification’ ผ่านตาไม่มากก็น้อย (อย่างน้อยก็เห็นบนหัวข้อด้านบนที่อ่านผ่านมาแล้วหนึ่งครั้ง) คำว่า Gentrification เป็นคำที่พูดถึงการแปรสภาพพื้นที่ที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ แต่คอนเซปต์ของ Gentrification ที่ได้ยินจากนักวิชาการมักโยงไปถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการเปลี่ยนพื้นที่จากลักษณะหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ตัวอย่างผลงานการออกแบบโกดังเก็บเรือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนท่าเตียนจากนิสิต ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อนำเสนอแนวทางปรับพื้นที่ชุมชน

ศ.ไมเคิล เฮอร์ซเฟลด์ ศาสตราจารย์คณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่า Gentrification คือการพูดถึงการอนุรักษ์เมืองโดยไม่คำนึงถึงการได้รับการยอมรับ ทำให้คนที่ไม่มีความสามารถในการอยู่อาศัยในพื้นที่ต้องย้ายออกไป เช่น คนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น แล้วให้คนที่รวยกว่า มีทุนที่สามารถใช้ลงทุนเพื่อบูรณะพื้นที่ได้เข้ามาอยู่ กลายเป็นบริเวณสำหรับคนที่มีสิทธิพิเศษเท่านั้น รูปธรรรมของ Gentrification ที่พูดคุยกับไมเคิลคือชุมชนป้อมมหากาฬที่ปัจจุบันกำลังถูกเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ

พื้นที่ที่เคยเป็นชุมชนป้อมมหากาฬ ปัจจุบันกำลังถูกไถกลบ ปรับพื้นที่เพื่อเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ

รื้อไล่ไม่ใช่ทางออกเดียว: คุยกับนักมานุษยวิทยา ม.ฮาร์วาร์ดเรื่องชุมชนป้อมมหากาฬ

ในขณะที่สุพิชชาให้ความเห็นว่า Gentrification มีหลายแบบ แต่สามารถแปลแบบเถื่อนๆ ได้ว่าการทำให้พื้นที่เป็นของชนชั้นกลาง ซึ่งก็มีทั้งคุณและโทษ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ กระบวนการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่ควรทิ้งคนที่อาศัยอยู่เดิมไว้ข้างหลัง

“ถ้าแปลแบบเถื่อนๆ หน่อยก็คือการทำให้พื้นที่เป็นพื้นที่ของชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางในที่นี้ก็จะเป็นเชิงลบนิดหนึ่ง เป็นพื้นที่เก๋ๆ อะไรอย่างนี้ ซึ่งก็เป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก เมื่อมีพื้นที่เสื่อมโทรมที่มีที่เช่าราคาถูก ก็จะมีศิลปิน นักออกแบบเข้าไปพัฒนาพื้นที่ให้ดีขึ้น ในแง่ดีคือมันได้ใช้พื้นที่ที่เคยถูกทิ้งร้าง แต่พอเข้าไปเยอะๆ มันก็มีคีย์เวิร์ดเรื่อง inclusive คือต้องเอาคนข้างในมาร่วมคิดด้วย จะมาจัดตลาดก็ไม่ใช่จัดวันหรือเวลาไหนก็ได้ คือถ้าเป็น Gentrification แบบโหดร้ายก็คือทุกอย่างถาโถมมา ไอ้นี่ต้องทำบาร์ ต้องเป็นนู่นนี่นั่น ซึ่งคนข้างในไม่ได้ไปด้วยกัน”

“ส่วนตัวอยากจะบอกว่า Gentrification ไม่ได้เป็นเชิงลบเสมอไป การถูกทำให้เป็นพื้นที่สดชื่น สดใสมันมีประโยชน์ เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่จะทำอย่างไรให้โอกาสทางเศรษฐกิจนั้นตกอยู่กับท้องถิ่น ไม่ใช่ที่คนข้างนอกอย่างเดียว ถ้ามีแต่คนนอกถาโถมเข้ามา คนข้างในก็จะโดนทิ้งห่างเพราะค่าเช่าจะเริ่มแพงขึ้นจากการที่พื้นที่มีศักยภาพมากขึ้น”

“ในลอนดอนจะมีย่านแฮกนีย์ ที่เป็นย่านเสื่อมโทรม พอศิลปินไปอยู่เยอะๆ ก็เริ่มเก๋ขึ้น มีฮิปสเตอร์อยู่เยอะมากจนคนในนั้นรู้สึกว่าตัวเองป็นคนข้างนอก ถึงขั้นไปเผาร้านฮิปสเตอร์อย่างที่เป็นข่าวเมื่อหลายปีที่แล้ว  ถึงเน้นว่า คุยกับคนข้างใน ข้อกำหนดหลายๆ อย่างควรมาจากคนข้างใน ไม่อยากให้เป็น Gentrification แบบใครก็ได้เข้ามาทำ”

ตลาดท่าเตียนซิงตัคลั้คยามค่ำคืน

ในประเด็นเดียวกันว่าด้วยคอนเซปต์ของ Gentrification เตชิตได้โยงไปถึงภาครัฐว่า การปรับเปลี่ยนพื้นที่ตามนโยบายบนแผ่นกระดาษไม่ควรจะทำโดยไม่คำนึงถึงมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ผู้สร้างมูลค่าต่างๆ บนถิ่นที่อยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การคำนึงถึงความหลากหลาย การมีส่วนร่วมจากระดับประชาชนสู่การกำหนดนโยบายคือสิ่งที่จะทำให้ท่าเตียนต่างจากดิสนีย์แลนด์ที่ทุกอย่างสวยงามแบบจัดสรรเอาไว้ตามแผนเป๊ะๆ

“มันไม่ควรจะถูกแทรกแซงโดยนโยบายใหญ่จากภาครัฐโดยที่ไม่มีการทำงานร่วมกับคนที่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นทุนใหม่ที่เข้ามา หรือทุนรายย่อยหรือคนในชุมชน เพราะเวลาเราทำงานเชิงนโยบาย โดยเฉพาะกับภาครัฐที่มีอำนาจเขาก็ดูแบบ Bird's-eye view และในผังมันไม่มีคน แบบนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงยุคโมเดิร์น 1950-1960 มันตกยุคไปแล้ว ประเทศที่เคยโมเดิร์นเขาเรียนรู้แล้ว เวลาเขาเปลี่ยนแปลงเมืองเขาเอาชุมชนมาเป็นฐาน เอาคนในพื้นที่ มีคำว่า human scale คือทำในระดับของมนุษย์”

“ประเทศเราช้ากว่าประเทศอื่นในหลายมิติ การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ แม้กระทั่งงานออกแบบ หรือแนวคิดการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ เราไปหยิบเอายุทธศาสตร์ที่โลกเรียนรู้แล้วว่าไม่เวิร์กมาใช้ตอนนี้ เราเรียนรู้จากบริบทของประเทศอื่นๆ แค่ไปดูก็จะรู้ว่าไม่น่าเวิร์ค”

“มันอาจจะเวิร์คกับคนที่อยู่ในการวางนโยบาย มันจะออกมาสวย เรียบ คุมโทน ออกมาเป็นโทนเดียวกัน แต่อย่างนี้มันจะต่างอะไรกับดิสนีย์แลนด์ที่มีบูธเรียงกัน คนประจำบูธก็แต่งตัวเหมือนกัน แต่ถูกออกแบบมาแล้วว่าให้ขายแบบนี้ มันไม่ lively (ไม่มีชีวิตชีวา) ถ้าแบบนี้ไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ก็ได้”

“แต่ถ้าเราไม่โจมตีอย่างเดียวก็จะรู้ว่า คนที่อยู่ในตำแหน่งนั้น (ผู้กำหนดนโยบาย) ยุ่ง ทำงานหลายมิติ เราก็อยากให้เห็นว่ามีคนเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นตัวกลางคอยเชื่อม นำเสนอ คุยกับชุมชน แม้กระทั่งพยายามผลักดันให้ชุมชนเป็นคนกำหนดนโยบายภาคชุมชน เพื่อนำไปเสนอหรือแลกเปลี่ยน พูดคุย นโยบายภาครัฐ แน่นอนเขามีหน้าที่ต้องทำแบบนั้น แต่มันมีช่องทางการแลกเปลี่ยน ผสมผสาน หรือฟังเสียงร่วมกันไหม มันเป็นเมืองของทุกคน แล้วคนที่อยู่มาก่อนหน้านี้ มูลค่าที่มีอยู่ก็เพราะคนก่อนหน้านี้ที่ทำให้มีชีวิตชีวา หรือกระทั่งแผงลอย รถเข็น ที่อาจจะผิดกฎหมาย แต่ก็ทำให้มีชีวิตชีวา”

เรือใบกระดาษที่ทางเข้านิทรรศการข้อเสนอการปรับพื้นที่ชุมชนท่าเตียนที่จัดในโกดังเก็บเรือสมัยรัชกาลที่ 3

“แม้แต่คลองถมที่ดูดาร์ค ผิดกฎหมาย แต่มันคึกคักและมีคน เพราะคนเหล่านั้นทำให้มีคน แต่พอตอนนี้ภาครัฐปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้สะอาด ตอนนี้ก็แห้งเหี่ยวไม่มีใครไปเดิน จะมีใครไปเดินถนนคอนกรีต เวลาเราเดินไปเจอบูธสวยๆ เยอะแยะแต่ไม่มีคน เราก็ไม่กล้าเข้า แต่ถ้าเจอร้านที่คนมุงอะไรไม่รู้เยอะแยะ เราก็จะเข้าไปมุงด้วย เพราะคนมันดึงดูดกัน เราดึงดูดด้วยคน ไม่ได้ดึงดูดด้วยอะไรสวยงาม สิ่งที่ควรคิดถึงให้มากที่สุดในเมืองคือคนที่อยู่ตรงนั้น การพัฒนาเมืองที่เป็นฐานรากคือจากล่างสู่บน” เตชิตกล่าว

สุพิชชาย้ำถึงความสำคัญซึ่งเป็นเจตจำนงของการจัดงานท่าเตียนชิงตัลลั้คว่าต้องการให้มีพื้นที่ให้คนในชุมชน คนนอกชุมชน รัฐบาล ได้พูดคุยกันเพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกัน

“อยากให้รัฐบาลมีนโยบายที่เปิดกว้างให้กับคนข้างล่างที่เขาพร้อมจะช่วยทำงานให้ได้มีนโยบายที่มาเจอกัน รัฐทำถึงข้างล่างไม่ไหวหรอก รายละเอียดเยอะ รัฐที่ไหนจะมานั่งคุยกับบ้านทีละหลัง รัฐควรจะเปิดให้คน ชุมชนที่พร้อมทำงาน มีพื้นที่ให้ bottom-up กับ top-down (ล่างสู่บน กับบนสู่ล่าง) มาเจอกัน เพราะฉะนั้น มีความหวังกับท่าเตียนอยู่แล้ว คนในทา่เตียนน่ารักมาก แต่อยากให้การทำงานของรัฐหลายๆ อย่าง ดึงเอาคนในพื้นที่ขึ้นไปทำงานด้วยกัน เวลาจัดระเบียบก็ปรึกษากันหน่อยไหม อาจจะหาตัวกลาง เช่นสถาบันการศึกษาที่เป็นกันชนอย่างดีให้กับหลายๆ เรื่อง”

“เชื่อว่าถ้าเรามีแพลตฟอร์มที่เอาคนมาคุยกัน อย่างมากก็ทะเลาะกัน แต่ถ้าไม่จับมาคุยกันก็ทะเลาะกันแน่ๆ แต่ถ้าจับมาเจอกันก็อาจมีทางแก้ไขอะไรบางอย่าง รัฐช่วงนี้ก็จัดระเบียบกรุงเก่าอะไรเยอะไปหมด ก็เป็นห่วงมาก เพราะเรียนและโตที่ศิลปากร รู้สึกว่าเป็นเอกสิทธิ์ที่ได้ทำงานแถวนี้ เลยหวงแหนพอสมควร” สุพิชชาทิ้งท้าย

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคนที่ทำงานในประเด็นชุมชนป้อมมหากาฬ เตชิตสะท้อนบทเรียนจากพื้นที่ชุมชนป้อมว่า สิ่งที่สำคัญคือการมีพื้นที่ตรงกลางทั้งในด้านพื้นที่ ความคิด และยุทธศาสตร์เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามาคลี่คลายปัญหาไปในจังหวะเดียวกัน ไม่ใช่ปะทะกัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่มุ่งให้เกิดในท่าเตียน
 
“มันเหมือนเป็นคลื่นพลังที่ขึ้นๆ ลงๆ และควรพยายามจะจับมันให้ได้ และให้ทุกคนอยู่ในจังหวะเดียวกันไม่ได้ ไม่ใช่การปะทะกัน ไอ้นี่พุ่งมา ฉันต้องพุ่งกลับ มันควรมีความรู้สึกที่ว่า ทำไมคุณเป็นอย่างนี้ มีเหตุผลอะไร ไหนพูดให้ฟังหน่อย แต่เรายังไม่มีพื้นที่แบบนั้น เวลาเราประชุมถ้าไม่ประชุมที่กรุงเทพฯ ก็ต้องประชุมที่ชุมชน มันไม่มีพื้นที่กลาง ซึ่งพื้นที่มันก็สะท้อนความคิดเรื่องความเป็นเจ้าของ ถ้ามันมีพื้นที่กลางทั้งในทางกายภาพ ความคิด ยุทธศาสตร์ ผมคิดว่าจะไม่มีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น เพราะทุกคนก็อยากให้เมืองโตไปในทางที่ดี คนในชุมชนก็เรียนรู้ แต่ก่อนคนในชุมชนก็อาจจะเอาเปรียบในเชิงกฎหมาย แต่ทุกคนเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ใช่ว่ายึดแต่ภาพเดิมๆ มาตลอด” เตชิตกล่าว
 
คำถามที่เกิดขึ้นในใจผู้สื่อข่าวตอนนี้ เวลาที่คอนโดแข่งกันทิ่มแทงท้องฟ้า รถไฟใต้ดินจะวิ่งเข้าใจกลางพระนครคือ ‘ประชาชน’ จะอยู่ตรงไหนในสมการการพัฒนาเมือง?

หมายเหตุ: ประชาไทได้แก้ไขและเรียบเรียงเนื้อหาใหม่เพื่อเรียงลำดับใจความสำคัญ และลดความสับสนของการนำเสนอประเด็นในเรื่องท่าเตียนและคอนเซปต์การพัฒนาพื้นที่ เมื่อเวลา 22.49 น. วันที่ 13 พ.ค. 2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net