Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



นักปรัชญาเชื่อกันมาแต่โบราณ (เช่น สมัยกรีก) แล้วครับ ความคิดของมนุษย์คือตัวการสำคัญ ที่ยังความเป็นไปให้เกิดขึ้นกับโลกนี้ ซึ่งก็หมายความว่าความเป็นอยู่ ความเคลื่อนไหว ในอดีต ปัจจุบันและอนาคตมาจากความคิด ของคนเรา จึงทำให้มนุษย์สนใจศึกษาค้นคว้าถึงความสำคัญของความคิด

ประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ถูกขับเคลื่อนโดยความคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยเอง ได้มีการวางรูปแบบ หรือแบบแผนการคิดและการแสดงออกทางความคิดอย่างชัดเจน ซึ่งก็คือการศึกษาถึงบริบททางความคิดว่าส่งผลต่อความเป็นไปของสังคมในแต่ละขณะอย่างไรบ้าง เราจึงเห็นว่าอเมริกันให้ความสำคัญกับการแสดงออกทางความคิดอย่างยิ่ง เพราะไม่ง่ายเลยที่คนเราจะแสดงออกหรืออธิบายความคิดของแต่ละคนให้ชัดเจนลงไป ซึ่งก็คือการรู้จักตัวตนของเขานั่นเอง

แน่นอนว่า  ส่วนหนึ่งของการฝึกการแสดงออกเชิงความคิด ย่อมได้แก่สถาบันการศึกษา ที่ถือเป็นสถาบันพื้นฐานสำคัญของการฝึกฝนอบรมทางปัญญาของมนุษยชาติโดยทั่วไป ปัญหาอยู่ที่สถาบันการศึกษาเหล่านี้จะตอบสนองต่อความคิดของผู้กำลังศึกษาอย่างไร ต่อยอดของความคิดให้เกิดความแหลมคม นำมาใช้เพื่อพัฒนาสังคมมนุษย์ได้มากน้อยขนาดไหน

จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ต่างมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาแบบปัญญาญาณหรือที่ก่อให้เกิดปัญญาญาณ โดยวิธีการพัฒนาความคิดประกาหนึ่งที่ถูกนำมาใช้คือ วิจารณญาณทางความคิดหรือ Critical thinking  ที่อาศัยการวิธีการวิเคราะห์วิพากษ์แบบแยบยล

ประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ เชื่อว่าปาฏิหาริย์ เกิดจากความคิดหรือความคิดคือปาฏิหาริย์ ยกเว้นแต่ประเทศเผด็จการเท่านั้นที่พยายามสกัดกั้นความคิดอิสระแบบนี้ ซึ่งว่าที่จริงแล้ว มันเชื่อมโยงไปถึงการกำเนิดนวัตกรรมโดยตรง

ร้ายสุดในประเทศเผด็จการคือ การปิดกั้นการแสดงออกของเจ้าของความคิดอย่างนักศึกษา ปัญญาชน จากการวิพากษ์ของพวกปัญญาชนเหล่านี้ การปิดกั้นดังกล่าวไม่ได้ช่วยพัฒนาต่อยอดทางความคิดเอาเลย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่เห็นความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ การปิดกั้นดังกล่าวมีแต่พาสถาบันการศึกษาเหล่านี้ไปอยู่อันดับท้ายๆ ในบรรดาสถาบันการศึกษาที่เลวร้ายที่สุดของโลก เพราะเทรนด์ของโลกพัฒนาไปในเชิงการคิดวิเคราะห์ และวิพากษ์ หาใช่การเอามือซุกหีบแต่อย่างใดไม่

ท้ายสุดก็คงไม่มีใครยืนหยัดกู้ชีพสถาบันการศึกษาเหล่านี้ได้ สถาบันการศึกษาเหล่านี้ต่างทำตัวเองทั้งสิ้น นอกจากสิ้นเปลืองงบประมาณสนับสนุนการศึกษาโดยรัฐแล้ว สถาบันฯแบบนี้ยังเป็นกาฝากของสังคมอีกด้วย เพราะไร้ประโยชน์ มีชื่อและอยู่ได้เพราะดูดทรัพยากรที่ประชาชนอุดหนุนอยู่อย่างน่าละอายยิ่ง

เลยไปจากเทคโนโลยีที่จับต้องได้แล้ว ความจำเป็นของ Critical thinking จึงอยู่ในสายการศึกษาปรัชญาและสังคมศาสตร์ มิใช่ว่าจะวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีเพียวๆ จะไปได้ เพราะทักษะการคิด การวิเคราะห์และการวิจารณ์ ถือว่าสำคัญมากในโลก 4.0

อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาจากการเรียนการสอนตามสถาบันการศึกษาของไทยส่วนใหญ่ ยังปรากฏว่า บรรยากาศห้องเรียนยังไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัย คือยังมีลักษณะเผด็จการในห้องเรียนอยู่ ครูอาจารย์กับวิธีการเรียนการสอนแบบเกรียนหรือแบบล้าหลังที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายเลิกใช้กันมานานแล้ว

โดยที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนนั้น กล่าวได้ว่าสิงคโปร์คือแม่แบบของการเรียนการสอนแบบ critical thinking เลยก็ว่าได้ เป็นเหตุให้สิงคโปร์ ติดอันดับประเทศชั้นดีทางการศึกษาแบบเดียวกับกลุ่มประเทศ OECD

กรณีของประเทศไทยนั้น นอกจากต้องแก้ไขตัวสังคมที่เป็นไปในเชิงอำนาจนิยมโดยส่วนใหญ่แล้ว การจัดตั้งองค์กรเพื่อขับเคลื่อนด้านพัฒนาการศึกษาก็ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน เหมือนที่เพื่อนคนไทยของผู้เขียนจากสหรัฐอเมริกาดำริที่จะทำ กล่าวคือจัดตั้งมูลนิธิการศึกษาเพื่อเสรีภาพ หรือ Education for Freedom Foundation ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อช่วยกันกระตุ้น ขับเคลื่อนและยกระดับให้ระบบการศึกษาของไทยสอดคล้องกับสังคมโพสต์โมเดิร์น ยุค 4.0

เพราะเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สถาบันการศึกษาของไทยและหน่วยงานของรัฐทางด้านการศึกษา ณ เวลานี้ แทบไม่เคยติดที่จะทำเอาเลย น้ำเน่าเต็มตัว อาจารย์ผู้สอนเองทำงานรูทีนแบบซังกะตายไปวันๆ เท่านั้น ไม่รวมถึงว่าเราได้งานวิจัยแบบห่วย แตกจากสถาบันอุดมศึกษาโหลยโท่ยที่เห็นๆ กันอยู่ โดยที่งานวิจัยดังกล่าวไม่ตอบโจทย์ปัญหาสังคมใดๆ ดังที่เห็นกัน ภาพของสถาบันอุดมศึกษาไทยจึงไม่ต่างไปจากหอคองาช้าง นักวิชาการส่วนใหญ่เท้าลอยเหนือดิน ไม่ลงมาสัมผัสปัญหาที่แท้จริงของสังคม

ไม่รวมถึงการประเมินผลและวัดคุณภาพการศึกษาโดยหน่วยงานคุมมาตรฐานการศึกษาของรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) ที่โดนวิพากษ์วิจารณ์ว่า เกี๊ยเซี๊ยะตามฟอร์มของระบบอุปถัมภ์ เล่นพรคเล่นพวกในบรรดาคณาจารย์ และสองมาตรฐานชัดเจน เช่น มีคนมองว่า มาตรฐานการตรวจสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษาของสงฆ์กับสถาบันการศึกษาของคฤหัสถ์ต่างกัน เป็นต้น ทั้งที่วุฒิบัตรที่ออกโดยสถาบันการศึกษาภายใต้สกอ.เหมือนกัน

สรุปคือ การศึกษาไทยยังบกพร่องด้านการเรียนการสอนและการปฏิบัติเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับ critical thinking และควรปรับเปลี่ยนแบบแผนการเรียกการสอนให้เป็นแบบเปิดคือคำถามเปิดมากขึ้นให้ผู้เรียนใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์ด้วยตัวของเขาเอง

เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสโลกหรือกระแสสากล มิเช่นนั้น ไทยก็จะคงระบบล้าหลังทางการศึกษาเอาไว้อย่างนี้ ซึ่งรังแต่จะบั่นทอนโอกาสการพัฒนาและศักยภาพของประเทศในทุกๆ ด้านลงเรื่อยๆ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net