Skip to main content
sharethis

วงเสวนาวิเคราะห์เหตุที่มหาธีร์และฝ่ายค้านพลิกล็อค ความเบื่อที่สะสมจนเป็นสึนามิ ดูบทบาทประชาชน โซเชียลมีเดียและสื่อในการเลือกตั้ง ความแน่นอนทางการเมืองคือบทเรียนของไทย ชาญวิทย์คาด เลือกตั้งมาเลเซียทำให้มีคนร้อนๆ หนาวๆ เพราะคนเบื่อเลื่อนเลือกตั้งแล้ว

ซ้ายไปขวา: อัครพงษ์ ค่ำคูณ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน

15 พ.ค. 2561 ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ และวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานอภิปรายวิชาการชีพจรอุษาคเนย์ ครั้งที่ 4 หัวข้อ “เลือกตั้งมาเลเซียครั้งที่ 14: ทำไม ดร.มหาธีร์จึงชนะเลือกตั้ง กับ อนาคตที่ประชาชนเลือกเองได้” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์

งานอภิปรายมี ศ.พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ จากมูลนิธิโครงการตำราฯ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชัยวัฒน์ มีสันฐาน คณะศิลปศาสตร์ มธ. รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ จากมูลนิธิโครงการตำราฯ เป็นวิทยากร และเชิญปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง ผู้สื่อข่าวที่เดินทางไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่มาเลเซียเป็นวิทยากรผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ดำเนินรายการโดยอัครพงษ์ ค่ำคูณ จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ.

วิเคราะห์สาเหตุที่มหาธีร์และฝ่ายค้านหักปากกาเซียน กับ ‘ความเบื่อ’ ที่สะสมจนเป็นสึนามิ

อุบลรัตน์กล่าวว่าคำว่าเบื่อ เป็นคำกลางๆ ที่ประมาทไม่ได้ เพราะทำให้การเมืองพลิกมาแล้วไม่รู้กี่ที่ต่อกี่ที่ การเบื่อคือเหตุผลบวกกับอารมณ์ พอนายกรัฐมนตรีนาจิป ราซัค มาอยู่นาน แผนพัฒนาต่างๆ ก็เรื่อยๆ เฉื่อยๆ แต่กลับเอาเงินเข้าประเป๋าตัวเอง เมื่อเบื่อนาจิป เบื่ออัมโน่ จึงมีความอยากเปลี่ยนแปลง ชัยชนะครั้งนี้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นช้าๆ ค่อยๆ สะสมความอยากเปลี่ยนแปลง สะสมความไม่พอใจเป็นเวลานาน ยิ่งเมื่อมหาธีร์ที่เป็นที่ปรึกษาพรรคอัมโน่ลาออกจากพรรค คนเลยรู้สึกว่านาจิปคงไม่ไหวแล้ว เมื่อผู้นำ หรือที่ปรึกษาก็เบื่อไปด้วย ความเบื่อก็ขยายวง

ชัยวัฒน์กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าหักปากกาทุกสถาบัน เมื่อปี 2558 ที่มีข่าวฉาวเรื่องกองทุน 1MDB สมัยนั้นมีการชุมนุม bersih 4 ซึ่งโฟกัสที่การคอร์รัปชันครั้งใหญ่ที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวนาจิป และไม่มีคำอธิบายออกมา มีแต่การปลดอัยการ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีคนออกมาเขย่าเต็มไปหมด มหาธีร์และมุคลิซผู้เป็นลูกชายและเป็นมุขมนตรีประจำรัฐเกดะห์ก็ออกมาเขย่า จนลูกชายถูกปลดจากพรรคอัมโน่ที่นาจิปเป็นผู้นำ รองนายกฯ อย่างมุฮีดดีน ยัซซีน และชาฟิอี อับดอล ซึ่งเป็นผู้ช่วยพรรคอัมโน่ออกมาร่วมเขย่าก็ยังทำอะไรนาจิปไม่ได้ในช่วงที่คิดว่าเป็นจุดที่นาจิปเปราะบางที่สุด

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาเลเซียให้อำนาจนายกฯ จัดการกิจการต่างๆ ในรัฐได้อย่างเต็มที่ และสามารถเปลี่ยนนายกฯ ได้ผ่านสามช่องทาง ได้แก่ หนึ่ง การเลือกตั้ง สอง อภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งไม่น่ากิดขึ้นเพราะสมาชิกสภาผู้แทน (ส.ส.) ส่วนใหญ่อยู่ฝั่งรัฐบาล คนไหนที่ไม่พอใจนาจิปก็ถูกปลดออก สาม อำนาจจากสมเด็จพระราชาธิบดี แต่ด้วยการที่มาเลเซียมีการเปลี่ยนราชาธิบดีทุก 5 ปี ทำให้ไม่มีสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ไหนเข้ามาแทรกแซงมากนัก ทางเดียวที่จะเปลี่ยนนาจิปได้คือการเลือกตั้ง

ชัยวัฒน์กล่าวต่อไปว่า แกนนำฝ่ายค้านเองก็ยังไม่อยากจะเชื่อว่าจะออกมาขนาดนี้ เพราะเหตุผลสามประการ ประการที่หนึ่ง คนมาเลเซีย หรือภูมิบุตร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมทั้งกลุ่มมลายู ซาบาห์ ซาราวัก แม้กระทั่งคนสยามในมาเลเซีย (โอรังเซียม) ยังคงยึดติดผลประโยชน์ที่ได้จากอัมโน่และพรรคร่วมรัฐบาล จึงไม่น่าจะเสี่ยงที่จะเอาพรรคฝ่ายค้านที่มีพรรค DAP ที่ไม่เอานโยบายภูมิบุตร

สอง ด้วยสรรพกำลังที่นาจิปมี คืออำนาจต่างๆ ไม่ว่าการจัดการเลือกตั้งวันพุธ ที่สำคัญคือต้องไปยืนยันสิทธิผู้มีสิทธิการเลือกตั้ง ถึงจะไปเลือกตั้งได้ และลงทะเบียนที่ไหนก็ต้องไปลงคะแนนเสียงที่นั่น คนส่วนใหญ่ก็ลงทะเบียนกันที่บ้านเกิด แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยเรียนต่างก็เข้ามาเรียนในเมืองกันหมด การเลือกตั้งวันพุธก็ถูกมองว่าเป็นการขัดขวางคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เอานาจิปเท่าไหร่

นับคะแนนเลือกตั้งมาเลเซีย 2018 ฝ่ายค้านแซงชนะรัฐบาล-รัฐมนตรีสอบตกแล้ว 6 ราย

สาม เวลาหาเสียงที่กระชั้นชิดเพียง 12 วัน แถมเวลาจะหาเสียงก็ต้องแจ้งก่อนที่จะออกไปหาเสียงนอกพื้นที่ล่วงหน้า 10 วัน สรุปคือเหลือเวลาหาเสียงนอกพื้นที่แค่ 2 วัน นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติกฎหมายข่าวปลอม เพื่อป้องกันการโจมตีเรื่องคอร์รัปชันในโครงการ 1MDB เพราะว่าคดียังไม่ตัดสิน

ชัยวัฒน์วิเคราะห์กระแสการเลือกพรรคฝ่ายค้านแบบพลิกล็อคจากขั้วอุดมการณ์ทางการเมืองว่า พรรคการเมืองมาเลเซียมีด้วยกันสองกลุ่มหลัก กลุ่มหนึ่งคือพรรคที่สร้างบนฐานนโยบายอิงกับชาตินิยม อีกกลุ่มเน้นความเท่าเทียมกัน พรรคอัมโน่ พรรคจีนฝั่งร่วมรัฐบาลตั้งขึ้นบนฐานชาติพันธุ์ ขณะที่ PH ตั้งบนฐานความเท่าเทียมกัน และพรรค DAP เป็นพรรคที่ออกตัวค่อนข้างแรงเรื่องการไม่เอาภูมิบุตร แต่เมื่อมหาธีร์ผู้ผลักดันเรื่องภูมิบุตรเข้ามาจึงทำให้เข้าใจว่าคนภูมิบุตรเองจะเสียสิทธิพิเศษเรื่องการเข้าทำงานในระบบราชการ เรื่องการศึกษา จากปัจจัยนี้ทำให้คิดว่าพรรคฝ่ายค้านไม่น่าจะชนะ แต่กลายเป็นว่า ความไม่ชอบนาจิปมากกว่าคนชอบมหาธีร์ คะแนนทั้งหมดจึงเทไปที่พรรคฝ่ายค้าน และมองว่าต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง แม้จะไม่เห็นว่าคืออะไร แต่รู้ว่าการอยู่ของนาจิปนั้นชาวมาเลเซียรีบไม่ได้ ก็ใช้โอกาสที่มีครั้งเดียวในการเลือกตั้ง ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าการทำงานรัฐบาลจะไม่แตกต่างไปจากเดิม เพราะคนที่ไปทำงานก็เป็นคนเดิมๆ ที่เคยทำงานกับมหาธีร์ สมัยที่เป็นนายกฯ ในอดีตเสียส่วนใหญ่

ส่วนสาเหตุที่อันวาร์ อิบราฮิม คู่อริทางการเมือง ซึ่งปัจจุบันหันมาฟอร์มทีมเดียวกันกับมหาธีร์ และได้รับอภัยโทษออกจากการจำคุกวันนี้ หลังถูกฟ้องในข้อหาคอร์รัปชันและร่วมเพศทางทวารหนัก และเคยถูกมหาธีร์ปลดออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2542 เพราะอันวาร์ไม่เอาพรรคอัมโน่ เมื่อมหาธีร์ไม่อยู่กับอัมโน่ อันวาร์ก็บอกว่าเรามองข้ามความขัดแย้งไปแล้ว มหาธีร์เองก็ยังคงรักอัมโน่อยู่ แต่ไม่เอาคือนาจิป ช่วงที่มีข่าวนาจิปคอร์รัปชั่น มหาธีร์พยายามเขย่าอำนาจนาจิป แต่ไม่มีท่าทีจะออกจากอัมโน่ แต่ออกจากพรรคหลังลูกชายถูกปลดจากพรรค จากนั้นก็มีอีกหลายคนที่มีภาพลักษณ์ดีๆ ที่ถูกปลดออกจากพรรคไป สะท้อนว่านาจิปได้ตัดคะแนนเสียงของตัวเองออกไป

อีกเรื่องหนึ่งที่สังเกตคือ การเลือกตั้งปีนี้มีการหาเสียงด้วยนโยบายระยะสั้น  เช่น โค่นนาจิป ปราบปรามคอร์รัปชัน นโยบายด้านการเมือง เศรษฐกิจ การพัฒนาต่างๆ ยังไม่ได้พูดอะไร เพราะสุดท้ายก็ได้แต่โจมตีกันไปกันมา นาจิปก็หาว่ามหาธีร์แก่ มหาธีร์ก็หาว่านาจิปขี้โกง

(บนจอ) ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง

ปรางค์ทิพย์กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องยกให้ประชาชนเป็นพระเอกและนางเอกตัวจริง เมื่อวานนี้ ลิมกิตเสียง นักการเมืองอาวุโสพรรค DAP อยู่ในการเมืองมา 52 ปี เป็น ส.ส. มา 11 สมัยก็กล่าวกับนักข่าวว่าตัวเองคิดไม่ถึง สิ่งที่เห็นคือการเปลี่ยนประวัติศาสตร์การเมือง เพราะมาเลเซียมีประเด็นคาใจทางการเมืองเรื่องการแตกแยกทางเชื้อชาติตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ เพราะประชากรพลุ่มภูมิบุตรมีสัดส่วนมาก คนจีนก็มีสัดส่วนไม่น้อย  ปัญหาคาใจคือกลุ่มภูมิบุตรถูกแบ่งแยกจากกลุ่มอื่นๆ ด้วยการเมือง พรรคอัมโน่ใช้นโยบายเรื่องนี้มาตลอด ทำไมอะไรที่ฝั่งรากลึกในเชิงอุดมการณ์ ถึงไม่เวิร์คแล้ว ทำไมถึงเกิดสิ่งที่เรียกว่ามาเลย์สึนามิ

การใช้ลูกเล่นต่างๆ ของอัมโน่และนาจิปมีมานานแล้ว โดยทำมาตั้งแต่หนึ่งปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง มีการหาเสียงกลายๆ ด้วยการประกาศงบประมาณประจำปี 2561 โดยให้สิทธิประโยชน์กับกลุ่มภูมิบุตรที่เป็นนายทหารเกษียณอายุ และภูมิบุตรที่ยากจนที่ถูกย้ายไปอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน มีกฎหมายปราบปรามข่าวปลอม รวมถึงประกาศเปลี่ยนเขตการเลือกตั้งอย่างกระชั้นชิด

ส่วนร่วมของประชาชน บทบาทโซเชียลมีเดียและสื่อในการเลือกตั้ง

ชาญวิทย์คิดว่าเหตุผลที่มหาธีร์ชนะการเลือกตั้งมาเลเซียน่าจะมาจากเฟซบุ๊กไลฟ์ เพราะไลฟ์ของมหาธีร์ในคืนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งมีคนดูกว่า 2 แสนคน และมีคนแชร์ต่อในเพจมากมายมหาศาล แปลว่าข้อมูลข่าวสารจากมหาธีร์ถึงคนทั่วไปอย่างไม่น่าเชื่อ คิดว่าเป็นปรากฎการณ์ ในแง่สื่อสมัยใหม่มีพลังมหาศาล การเลือกตั้งของไทยถ้าจะมีปีหน้าตามโรดแมป โซเชียลมีเดียจะมีพลังมหาศาล ก็คอยดูกันต่อไป

ชาญวิทย์เล่าต่อว่า เมื่อปีสองปีที่แล้วได้ไปอยู่ที่ University of Malaya ที่มาเลเซีย 9 เดือน ได้สัมผัสอะไรเยอะ ไปเจอนักเขียนการ์ตูนการเมืองคนหนึ่งที่ชื่อซูนาร์ (Zunar) โดยบังเอิญเพราะเขาไปแสดงนิทรรศการแถวที่พัก การ์ตูนของเขาบอกว่า กระแสการให้ข้อมูลในแง่การเมืองกับประชาชนมาเลเซียนั้นฝังรากลึกมาก เขาจะใช้การล้อเลียนเรื่องคอร์รัปชันของนาจิป

นอกจากนั้นยังเจอการเดินขบวนเป็นระยะๆ ซึ่งก็ได้ไปดูการเดินขบวนด้วยความอยากรู้อยากเห็น มีการเดินขบวนที่ตึกเปโตรนาส กรุงกัวลาลัมเปอร์ ชื่อว่า bersih 5 (เบอร์เซะ) แปลว่า สะอาดทั้ง 5 กลุ่มผู้ชุมนุมมีเรียกร้อง 5 ข้อ ที่น่าสนใจคือไม่มีความรุนแรง เดินขบวนบ่าย 2-6 โมงเย็น มาเป็นทิวแถว และจบเร็ว ไม่ยืดเยื้อ

อุบลรัตน์กล่าวว่า โซเชียลมีเดียมีความสำคัญกับประชาชนมากขึ้น ในปี 2556 ชาวมาเลเซียมีสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ร้อยละ 58 มาเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ในปี 2558 สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอยู่ในพื้นที่ชนบท หมายถึงกลุ่มที่เป็นภูมิบุตรส่วนหนึ่ง เกษตรกรมลายูส่วนหนึ่ง เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 77 โดยเป็นผู้ใช้มือถือในการสื่อสารประจำวันประมาณร้อยละ 90 ใช้เฟซบุ๊กกับวอทส์แอพเป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง เป็นผลให้ข้อมูลข่าวสารกระจายตัวมากขึ้น

ในอีกด้าน รัฐบาลกลับมีมาตรการควบคุมสื่อเยอะ ทั้ง พ.ร.บ. ข่าวลวง พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน การควบคุมสื่อผ่านเอกชนผ่าน พ.ร.บ. หนังสือพิมพ์ รัฐเป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ส่วนใหญ่และควบคุมการหาเสียงของฝ่ายค้านในสื่อกระแสหลัก

อุบลรัตน์กล่าวต่อไปว่า กระแสที่มาแรงปีนี้คือการปฏิรูป  (Reformasi) รัฐบาลนาจิปสัญญาว่าจะเข้ามาปฏิรูปหลายๆ ส่วนพรรคฝ่ายค้านเสนอนโยบายปฏิรูปหลายด้านเช่น การรื้อฟื้นเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมด้านบริการยุคข้อมูลข่าวสารและความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย พรรคฝ่ายค้านใช้ยุทธศาสตร์เน้นปราศรัยหาเสียงในเขตที่เป็นฐานเสียงสำคัญ ใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด ส่วนพรรคฝ่ายรัฐบาลเสนอนโยบายเฉพาะหน้า เช่น ลดภาษี ลดค่าผ่านทาง เน้นการรณรงค์หาเสียงแบบเก่า เช่น การติดโปสเตอร์ เดินแห่ เปิดตลาดนัดเพื่อความบันเทิง เพิ่มทุนและความเข้มข้นในการรณรงค์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย สร้างแคมเปญเช่น #NegaraKru ดึงผู้นำความคิดเห็น ศิลปินท้องถิ่นช่วยรณรงค์

ในการปราศรัยคืนสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง ฝ่ายรัฐบาลเลือกใช้สื่อโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐ คือ TV 3 ปราศรัยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในเวลาเดียวกันกับฝ่ายค้าน ส่วนแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านปราศรัยออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ที่ลังกาวี ในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนบนพื้นที่โซเชียลมีเดีย มีการตั้งกลุ่มรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปลงคะแนน เช่น  #PulangMengundi (กลับไปโหวต - Return to Vote) หรือ @CarPoolGE14 ที่รณรงค์ให้คนติดรถกันเดินทางไปโหวต รวมถึงใช้โซเชียลมีเดียประสานกับการรณรงค์ออฟไลน์ เช่น นัดหมายวัน เวลา และสถานที่ปราศรัยเพื่อระดมคนไปฟังปราศรัยหรือร่วมขบวนแห่ในวันลงคะแนน

นอกจากนั้นยังใช้เฟซบุ๊กและวอทส์แอพหาข้อมูลข่าวสาร มีการแชร์และสนทนาข่าวที่ได้รับ ทั้งข่าวเลือกตั้ง ข่าวลวง ข่าวป้ายสี ทำให้ตรวจสอบข่าวได้ อุบลรัตน์ชวนตั้งคำถามว่า เมื่อใช้สื่อแล้วพาคนออกไปได้ไหม คนนอนหลับทับสิทธิ์ไหม ไปแล้วไปโหวตใคร ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องวินิจฉัยของแต่ละบุคคล ดังนั้นโลกออนไลน์กับออฟไลน์ต้องไปด้วยกัน

บทเรียนมาเลเซียถึงไทย ความคงเส้นคงวาบนกติกาที่กำหนดไว้ และแนวโน้มนโยบายสาม จ.ชายแดนใต้

ปรางทิพย์กล่าวว่า มาเลเซียอยู่ในระบบพรรคการเมืองมาตลอด สถาบันพรรคการเมืองเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในความต่อเนื่อง 62 ปีนี้มีทั้งเรื่องร้ายและเรื่องดี ในกระบวนการพัฒนาสถาบันพรรคการเมืองมาเลเซียจะเห็นพรรคที่อยู่มานาน ไม่เพียงแต่พรรคอัมโน่ แต่ละพรรคพัฒนาบุคลิก ลักษณะ อุดมการณ์และฐานเสียงอย่างชัดเจน เวลาชนะก็ชัดเจน เวลาแพ้ก็ชัดเจน นับแต่นี้เป็นต้นไปจะมีเรื่องทั้งผิดหวัง สมหวัง อกหัก ของคนหลายกลุ่ม แต่มันจะยังอยู่ในกรอบนี้ (ระบบพรรคการเมือง)

ชัยวัฒน์กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างไทยกับมาเลเซียเรื่องความคงเส้นคงวาทางการเมืองและวิสัยทัศน์ว่า วิสัยทัศน์ของมหาธีร์ที่ตั้งไว้ในปี 2020 คิดว่าน่าจะขยับออกไป แต่ขยับไม่ไกล เพราะสิ่งที่จะทำให้ไปไม่ถึง เช่น การศึกษาตอนนี้ก็กำลังมาแรงดีมาก ระบบขนส่งที่เลือกใช้การขนส่งทางราง แผนที่ต่อเนื่องมาและชัดเจน ในขณะที่ไทยนั้น เป้าหมายระยะสั้น กลาง ยาว ของไทยยังไม่มีการกำหนดเรื่องการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีเพียงการจัดการด้านสาธารณูปโภค นี่คือสิ่งที่ไทยแตกต่าง คือการขาดเป้าหมายที่ชัดเจนกับประเทศและมุ่งเดินไปทางนั้นแม้จะมีปัญหา

“อย่างกรณีมาเลเซีย ก็เลือกที่จะเดินบนเป้าหมาย บนพื้นฐานกติกาที่ตกลงร่วมกัน ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มาเลเซียสามารถพัฒนามาได้ตั้งแต่ปีที่มหาธีร์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจนถึงวันนี้ คือการพัฒนาประเทศที่ชี้ให้เห็นว่าการเดินตามกติกา แล้วรอเวลาที่เหมาะสม รอโอกาสที่ดี รอจังหวะที่ไม่ผิดกติกา สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ สุดท้าย ประชาธิปไตยหนึ่งวินาทีที่หลายคนดูถูก เปลี่ยนโลกให้เราเห็นได้จริงๆ” ชัยวัฒน์กล่าว

ชัยวัฒน์ตอบคำถามเรื่องการเปลี่ยนรัฐบาลกับทิศทางกระบวนการสันติภาพในบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียว่า หากดูนโยบายพรรคฝ่ายค้านที่ประกาศว่าจะทำให้มาเลเซียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make Malaysia Great Again) มีนโยบายระยะสั้นคือการปราบทุจริตที่ตัวมหาธีร์ประกาศ 5 ประการด้วยกัน ที่จะทำใน 100 วัน คือ จับนาจิปเข้าคุก ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโครงการ 1MDB และในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ว่ามีการทุจริตหรือไม่ ตั้งกรรมการอิสระเพื่อนำทรัพย์สินจากการคอร์รัปชันออกมา จัดตั้งหน่วยงานปราบปรามคอรัปชั่นให้ขึ้นตรงกับสภาผู้แทนราษฎร และทำการยกเลิกการเจรจาต่างๆ รวมถึงการให้อำนาจกับจีนด้วย ในระยะสั้นนั้นเรื่องอื่นๆ หรือเรื่องภายนอกจะถูกลำดับให้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในลำดับรองก่อน ส่วนปัญหาและสิ่งที่สัญญากับประชาชนจะถูกนำมาไว้เป็นลำดับแรก แต่กรรมการที่ดำเนินการเรื่องจะยังใช้ชุดเดิมหรือจะเปลี่ยนคณะทำงานหรือไม่ ในฐานะที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็คงตอบไม่ได้

ชาญวิทย์กล่าวว่า ในอีกแง่หนึ่ง เมื่อฝ่ายพรรคมหาธีร์ชนะ ตนคิดว่าเราจะพูดได้ว่ามาเลเซียกำลังเป็นประชาธิปไตยก็พูดได้ แต่มาเลเซียก็เป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่เป็นคณาธิปไตย กลุ่มหนึ่งไป อีกกลุ่มหนึ่งมา คล้ายกับเมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แต่การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดกระแสที่คนตื่นเต้นมาก มันจะมีผลสูงมากต่อการเมืองภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อไทย เชื่อว่าคนจำนวนหนึ่งกำลังหนาว และคิดว่าทำอย่างไรจะเลื่อนเลือกตั้งได้อีก แต่ก็เชื่อว่ามันเลื่อนได้ยากเพราะเลื่อนมาหลายหนแล้ว คนก็เบื่อ แรงกระเพื่อมน่าจะแรงมากทันทีที่มหาธีร์กลับมา รัฐบาลไทยกับมาเลเซียจะเอาอย่างไรกันดี

ศ.จรัญ มะลูลีม ผู้อำนวยการหลักสูตรอินเดียศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ผู้มาร่วมฟังเสวนา ให้ความเห็นในช่วงถาม-ตอบ ว่า รัฐประหารในมาเลเซียเกิดยากมากเพราะมาเลเซียมีนายพลแค่แปดคน ไม่เหมือนไทยที่มีเป็นร้อย และมีความเป็นทหารอาชีพ ไม่ได้ปฏิวัติง่ายเหมือนบ้านเรา คิดว่าคงเหมือนกับอินเดียที่ถ้ามีรัฐประหารคนนับล้านคงลุกขึ้นมาประท้วง ในแง่ประชาธิปไตย ไม่ว่าสถานการณ์อย่างไรมาเลเซียก็ผ่านการเลือกตั้งมาได้ มหาธีร์ผ่านการเป็นนายกฯ มา 22 ปี ผ่านนายกฯ ไทยมา 5 คน เขาก็รู้นโยบายไทย

จรัญกล่าวต่อไปว่า ในความสัมพันธ์กับไทยก็น่าสนใจ เพราะไทยเคยมีความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านและใกล้เคียงมา ไม่ว่าจะเป็นลาว เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา แต่ในกรณีมาเลเซีย ตั้งแต่ได้รับเอกราชมา มาเลเซียกับไทยไม่เคยยิงกระสุนใส่กันแม้แต่นัดเดียวแม้จะมีปัญหาภาคใต้อย่างไรก็ตามแต่

ทั้งนี้ นโยบายภาคใต้ระหว่างไทยกับมาเลเซียนั้น ระยะหลังฝ่ายที่ไปเจรจาก็คือมารา (มารา ปาตานี) ไม่อยากให้มาเลเซียเป็นแค่ facilitator (ผู้อำนวยความสะดวก) แต่อยากให้มีส่วนรับรู้ด้วย แต่ไทยก็ยังไม่ยอม นโยบายสามจังหวัดชายแดนใต้คงจะไม่เปลี่ยนมาก แม้สมัยก่อนมหาธีร์เคยเสนอให้สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ แต่ไทยก็ประท้วง การกลับมาครั้งนี้จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ แต่ตอนนี้มหาธีร์ได้เตรียมไว้แล้วว่าต่อไปนายกฯ ของมาเลเซียอยู่ได้แค่ 2 วาระ เท่ากับวางกฎเกณฑ์ใหม่ และอีกฝันหนึ่งของมหาธีร์คือทำให้มาเลเซียเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือที่เรียกว่า vision 2020 ทั้งหมดก็น่าสนใจว่ามาเลเซียหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

อุบลรัตน์กล่าวว่า คนไทยทำไมถึงตื่นเต้นกับการเลือกตั้งมาเลเซีย คิดว่าหรือเป็นเพราะเราเองก็อยากได้ประชาธิปไตยแต่ไม่กล้าลุกมาทำ ตอนเมียนมาร์เลือกตั้งไทยเราก็ตื่นเต้น สื่อพูดได้เยอะแยะ แต่พอเป็นเมืองไทยกลับไม่มี ลึกๆ เราก็เหมือนรู้ว่าประชาธิปไตยมีคุณค่า แต่ก็ไม่กล้าออกมาสะสมพลังเหมือนกับที่ชาวมาเลเซียทำ ทั้งที่สื่อเขาก็ถูกปิดปากเหมือนกัน ประชาชนก็อยากมีเศรษฐกิจที่ดี สง่าผ่าเผยในเวทีโลก คนไทยเริ่มรู้สึกว่าเพื่อนบ้านเริ่มดีกว่าเราขึ้นเรื่อยๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net