Skip to main content
sharethis

ครม. เห็นชอบร่างกฎหมายยาเสพติด 3 ฉบับเตรียมประสานส่งเข้าสู่ สนช. เพื่อพิจารณา เผยสาระสำคัญในกฎหมาย แบ่งยาเสพติดเป็น 5 ประเภท วัตถุออกฤทธิ์ 4 ประเภท เปิดช่องให้ใช้กัญชาวิจัยกับคนได้ อนุญาต ป.ป.ส. กำหนดพื้นที่ปลูก แต่ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมโดยรัฐ

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบโดยร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด 3 ฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... , ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีหน้าที่ และอำนาจกำหนดมาตรการในการควบคุมยาเสพติดต่างๆ แบ่งประเภทของยาเสพติดให้โทษออกเป็น 5 ประเภท และแบ่งประเภทของวัตถุออกฤทธิ์ออกเป็น 4 ประเภท กำหนดการอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาต การอนุญาต และการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือ ประกาศ

นอกจร่างกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดมาตรการควบคุมพิเศษในการป้องกัน ปราบปราม แก้ไขปัญหาและควบคุมยาเสพติด โดยกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) อาจกำหนดพื้นที่ในการทดลองเพาะปลูกพืช ที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ หรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ หรือผลิตและทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติด

“การผ่านร่างกฎหมายนี้เป็นประเด็นสำคัญที่มีการจับตา เนื่องจากกัญชา ซึ่งเป็นสารเสพติดประเภท 5 จากที่เคยมีการอนุญาตให้สามารถปลูก สกัด และทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ยกเว้นการเสพ ทำให้ไม่สามารถวิจัยในคนได้ เมื่อ ครม.ผ่านร่างกฎหมายนี้ ก็จะทำให้สามารถศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในคนได้” พลโทสรรเสริญ กล่าว

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้

เรื่อง

สาระสำคัญ

1. ประมวลกฎหมายยาเสพติด

• กำหนดให้ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ                เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป

• เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับแล้ว ให้ยกเลิกบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดและกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 21 ฉบับ

2. ตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ

• กำหนดให้ข้าราชการของสำนักงาน ป.ป.ส. ที่ผ่านการฝึกอบรมเป็นตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และกำหนดให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ

                               

2. ประมวลกฎหมายยาเสพติด มีสาระสำคัญ ดังนี้

เรื่อง

สาระสำคัญ

1. การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด

• กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าว

• กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ติดตาม ดูแล และสนับสนุนให้มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าว

• กำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ให้เป็นหน่วยงานกลางในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด

2. การควบคุมยาเสพติด

• กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีหน้าที่และอำนาจกำหนดมาตรการในการควบคุมยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ และสารระเหย

• แบ่งประเภทของยาเสพติดให้โทษออกเป็น 5 ประเภท และแบ่งประเภทของวัตถุออกฤทธิ์ออกเป็น 4 ประเภท

• กำหนดการอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาต การอนุญาต และการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือประกาศ

• กำหนดมาตรการควบคุมพิเศษในการป้องกัน ปราบปราม แก้ไขปัญหาและควบคุมยาเสพติด โดยกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. อาจกำหนดพื้นที่ในการทดลองเพาะปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ หรือผลิตและทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติด

3. การตรวจสอบทรัพย์สิน

• กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

4. กองทุน

• กำหนดให้มีกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการบริหารและการดำเนินการของกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กำหนด

5. การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด

• กำหนดให้มีคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด รวมถึงวางแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์ที่จำเป็นและเหมาะสม และช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้ติดยาเสพติด หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษาให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้

• กำหนดให้ผู้กระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์เพื่อเสพ ซึ่งเข้ารับการบำบัดรักษาแล้ว พ้นจากความผิดฐานดังกล่าว โดยผู้กระทำความผิดสามารถสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาได้

• กำหนดให้มีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม มีหน้าที่และอำนาจในการติดตาม ดูแล ให้คำปรึกษา แนะนำ ให้ความช่วยเหลือ และสงเคราะห์แก่ผู้เข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อให้ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคม

6. ความผิดและบทกำหนดโทษ

• กำหนดความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ และความผิดเกี่ยวกับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด รวมถึงโทษสำหรับความผิดดังกล่าว

 

3. ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้

เรื่อง

สาระสำคัญ

1. ผู้รักษาการ

• เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติด

2. เพิ่มหน้าที่และอำนาจของกรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.

• เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้นเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามียาเสพติด มีบุคคลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งถ้าหากปล่อยให้เนิ่นช้าไป บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ทำลาย หรือสูญหาย

• ค้นบุคคลหรือยานพาหนะใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามียาเสพติดซุกซ่อนอยู่

• ค้นหรือจับกุมบุคคลใด ๆ ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

• ยึดหรืออายัดยาเสพติด หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับ

ยาเสพติด

• สอบสวนผู้ต้องหาในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

• ตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้น

มีสารเสพติดอยู่ในร่างกาย

• ควบคุมตัวผู้ถูกจับกรณีกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด

3. อุทธรณ์ และฎีกา

• กำหนดให้จำเลยต้องมาแสดงตนต่อเจ้าหนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ ยื่นคำขออนุญาตฎีกา และยื่นฎีกา

4. การบังคับโทษปรับ

• ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับทางปกครอง (นำไปกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายยาเสพติด)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net