Skip to main content
sharethis

หนึ่งในมรดกของนักสู้เพื่อสิทธิพลเมือง มาร์ติน ลูเทอร์ คิง คือการเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจให้คนจน องค์กรที่สานต่อแนวทางของเขาคือ "พัวร์พีเพิลแคมเปญ" จัดการชุมนุมต่อเนื่อง 40 วัน เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา (14 พ.ค.) เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ มีนโยบายแก้ไขปัญหาความากจนครอบคลุมมากขึ้น พร้อมทั้งพูดถึงปัญหาประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป้น สิทธิการเลือกตั้ง สวัสดิการสุขภาพ สิทธิสตรี ฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องความยากจน

องค์กรเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ "พัวร์พีเพิลแคมเปญ" ที่สานต่อการทำงานของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ผู้ถูกสังหารไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เริ่มต้นการประท้วงต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2561 ทั้งในรัฐวอชิงตันและในเมืองหลวงของรัฐอื่นๆ มากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ

องค์กรพัวร์พีเพิลแคมเปญมีเป้าหมายจะประท้วงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 40 วันไปจนถึงวันที่ 23 มิ.ย. 2561 โดยเน้นเรื่องการขับเคลื่อนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการอารยะขัดขืน โดยมีเป้าหมายเรียกร้องกฎหมายค่าแรงที่ "ได้สัดส่วนกับเศรษฐกิจศตวรรษที่ 21" รวมถึงเรียกร้องให้ยกเลิกแผนเก็บภาษีที่เอื้อต่อคนรวยและกระทบต่อสวัสดิการสุขภาพ รวมถึงเรียกร้องให้มีระบบที่อยู่อาศัยที่เป็นธรรมมากขึ้น

การประท้วงใหญ่ในครั้งนี้นำโดยวิลเลียม บาร์เบอร์ ผู้จัดตั้งการชุมนุมในนอร์ทแคโรไลนา โดยจะมีแผนการชุมนุมในทุกวันจันทร์ และแต่ละสัปดาห์ก็จะสับเปลี่ยนประเด็นที่จะสื่อสาร โดยวางอยู่ในกรอบใหญ่ๆ เรื่องความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ เช่น เรื่องผู้หญิงและเด็กภายใต้ความยากจน สิทธิการเลือกตั้ง สวัสดิการสุขภาพ และที่อยู่อาศัย

บาร์เบอร์ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเดโมเครซีนาวว่าพวกเขาจะถูกช่วงชิงประชาธิปไตยไปถ้าหากยังคงมี "ความรุนแรงทางการเมือง" เกิดขึ้นในทุกวัน เขาบอกว่าในการพูดถึงเรื่อง "การเมือง" ในสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งในสื่อต่างๆ ล้วนแล้วแต่ละเลยที่จะพูดถึงว่ามีคนตาย 250,000 คน ต่อปีเพราะความยากจนและการขาดแคลน

โครงการพัวร์พีเพิลของคิงมีเป้าหมายเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายสิทธิทางเศรษฐกิจ (Economic Bill of Rights) ที่การันตีรายได้ต่อปีและการจ้างงานเต็มเวลาของประชาชน มีการนำงบประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์ไปแก้ไขปัญหาความยากจนและจัดตั้งที่อยู่อาศัยราคาถูกให้กับคนจน

บาร์เบอร์และสถาบันเพื่อการวิจัยนโยบายประเมินว่าในปัจจุบันมีชาวอเมริกัน 140 ล้านคนใช้ชีวิตอยู่อย่างยากจน มากกว่าการประเมินของสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ ราว 100 ล้านคน

สำหรับโครงการพิวร์พีเพิลแคมเผญในยุคใหม่นั้น พวกเขาเรียกร้องให้มีนโยบายการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างมากขึ้นเพื่อการทำให้คนยากจนไม่ต้องแบกรับภาระทางเศรษฐกิจ

การเคลื่อนไหวของกลุ่มพัวร์พีเพิลแคมเปญนี้มีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการประท้วงของที่เน้นเรื่องแรงงานเกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯ จากการที่ขบวนการครูประท้วงวอล์กเอาท์เพื่อไปเดินขบวนประท้วงค่าแรงที่น้อยนิดและประท้วงที่งบประมาณโรงเรียนน้อยเกินไป ขณะที่วุฒิสมาชิกของรัฐเวอร์มอนต์ เบอร์นี แซนเดอร์ส เสนอร่างกฎหมายที่จะทำให้สหภาพแรงงานในสหรัฐฯ เข้มแข็งขึ้น

บาร์เบอร์กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อเดโมเครซีนาวอีกว่าการที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลกยังคงมีปัญหาความยากจนและละทิ้งแรงงานแสดงให้เห็นว่ารัฐบาล "ล้มเหลวในทางศีลธรรม" จึงตองมีการเผชิญหน้าอย่างสันติกับรัฐบาลเพื่อเรียกร้องศีลธรรมเช่นนี้ ไปพร้อมๆ กับการปรับความหมายของศีลธรรมให้กลายเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่ประชาชนทั่วไปสามารถได้รับค่าจ้างที่ทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ (Living wage)

 

เรียบเรียงจาก

'Time for a Moral Confrontation': Poor People's Campaign Launches With Local Rallies Nationwide, Common Dreams , 14-05-2018

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net