Skip to main content
sharethis

'บันทึก 6 ตุลา' เปิดคำให้การตำรวจพลร่มและพยานฝ่ายโจทก์ในคดี ระบุอาวุธที่ขนมาที่ธรรมศาสตร์ ได้แก่ เอ็ม 16 เอ็ชเค.33 เครื่องยิงระเบิด M79 และปืน ปรส. บอกถึงระดับความโหดเหี้ยมของฝ่ายขวาไทยในขณะนั้นได้ชัดเจน

16 พ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟสบุ๊คแฟนเพจ บันทึก 6 ตุลา - Documentation of Oct 6 โพสต์ เผยแพร่คำให้การของ ส.ต.ท.อากาศ ชมพูจักร หนึ่งในตำรวจพลร่มและพยานฝ่ายโจทก์ในคดี 6 ตุลา (https://doct6.com/archives/1637) ระบุว่าอาวุธที่ตำรวจพลร่มขนมาที่ธรรมศาสตร์ ได้แก่ เอ็ม 16 เอ็ชเค.33 เครื่องยิงระเบิด M79 และปืน ปรส. (ปืนไร้แสงสะท้อนหลัง – คืออาวุธปืนในภาพที่มีคนแบกอยู่กับอาวุธปืนที่ติดกล้องเล็งขนาดใหญ่ ที่เล็งยิงจากด้านพิพิธภัณฑ์สถาน) ในเช้าวันที่ 6 ตุลาตำรวจพลร่มประมาณ 40 คนถูกส่งมาที่ธรรมศาสตร์ จำนวนที่ไม่มากมายนี้คือสิ่งที่ชี้ว่าถึงจะเป็นหน่วยเล็กแต่พิษสงร้ายแรงยิ่งนัก

บันทึก 6 ตุลาฯ ระบุว่า ผู้ที่สนใจเรื่อง 6 ตุลาต่างทราบดีว่ากำลังหลักที่ใช้ในการปราบปรามนักศึกษาประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นคือตำรวจ ไม่ใช่ทหาร ประกอบด้วยตำรวจหน่วยปราบจลาจลหรือหน่วยคอมมานโด, ตำรวจจากสถานีตำรวจต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ, แผนกอาวุธพิเศษหรือหน่วยสวาท, สันติบาล, กองปราบฯ, ตำรวจตระเวนชายแดน และตำรวจพลร่มจากค่ายนเรศวร หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ 

ในบรรดาหน่วยเหล่านี้ หน่วยที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดน่าจะเป็น “หน่วยตำรวจพลร่ม” (the Royal Thai Police Aerial Reinforcement Unit – PARU) ชื่อทางการในปัจจุบันคือ “กองกำลังสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน” แต่หน่วยพลร่มไม่ใช่ ตชด.ทั่ว ๆ ไป ไม่ได้ทำหน้าที่แค่กระโดดร่มเท่ๆ แต่เป็นหน่วยพิเศษที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิบัติการลับในสงคราม ก่อตั้งขึ้นมาด้วยฝีมือและแนวคิดของซีไอเอล้วน ๆ 

บันทึก 6 ตุลาฯ ระบุอีกว่า ตำรวจพลร่มเป็นหน่วยรบที่ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลจอมพล ป. ภายใต้ การสนับสนุนทั้งด้านการเงินและการฝึกฝนจากซีไอเอ มีความเชี่ยวชาญระดับสูงในการรบแบบสงครามกองโจร โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขาทุรกันดารที่ไม่มีระบบขนส่งสำหรับขนอาวุธหนักและกำลังพลจำนวนมากเข้าไปได้ สมาชิกของหน่วยนี้จึงต้องมีความอดทนในการใช้ชีวิตในป่าได้เป็นเวลานาน เข้าสู่พื้นที่ด้วยการกระโดดร่มชูชีพ เชี่ยวชาญการใช้อาวุธทุกชนิด สามารถแฝงตัวเข้าไปในชุมชนและเข้าใจภาษาของคนท้องถิ่นเพื่อสามารถสืบความลับได้ด้วย แต่ละทีมประกอบด้วยกำลังคน 5 หรือ 10 คน และจะต้องมีคนที่ฝึกจนเชี่ยวชาญด้านระบบสื่อสารวิทยุติดต่อและการแพทย์เพื่อช่วยชีวิตของทีมด้วย แต่ตำรวจพลร่มในยุคจอมพล ป. ก็ยังไม่เคยสำแดงฝีมือจริง ๆ จนกระทั่งเกิดวิกฤติการณ์ในลาวในปี 2503
 
ในปี 2503 เมื่อนายทหารหนุ่มชื่อร้อยเอก กองแล ทำรัฐประหารและยึดเวียงจันทน์จากรัฐบาลฝ่ายขวาของลาวที่นำโดยนายพล ภูมี หน่อสะหวัน (ลูกพี่ลูกน้องของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ได้สำเร็จ แม้ว่าฝ่ายนายพลภูมีจะมีกำลังทหารและอาวุธที่ดีกว่าเพราะได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอแต่ก็ไม่สามารถยึดเวียงจันทน์คืนได้ ซีไอเอและไทยตระหนักว่าหนทางเดียวที่จะช่วยฝ่ายขวาในลาวให้ยึดเวียงจันทน์คืนได้คือ ต้องส่งกองกำลังต่างชาติเข้าไปช่วยเพราะทหารลาวลุ่มขาดระเบียบวินัยและเจตจำนงในการรบ
 
เพจ บันทึก 6 ตุลาฯ ยังระบุว่า ซีไอเอและรัฐบาลสฤษดิ์เห็นตรงกันว่าหน่วยพลร่มของไทยมีความเหมาะสมสำหรับปฏิบัติการลับในลาวครั้งนี้ กล่าวคือ ในทางปฏิบัติมีแต่ไทยเท่านั้นที่แสดงความยินดีที่จะส่งทหารเข้าไปปฏิบัติภารกิจในลาว แต่หากไทยทำเช่นนั้นอย่างเปิดเผยก็จะถูกประณามจากนานาชาติว่ากำลังแทรกแซงกิจการของลาว และอาจทำให้ไทยถูกตอบโต้จากจีนและเวียดนามเหนือได้ ขณะที่สหรัฐฯก็ไม่ต้องการส่งทหารของตนเข้าไปช่วยฝ่ายภูมีเพราะจะถูกประณามจากนานาชาติเช่นกัน จุดนี้นำไปสู่ข้อตกลงลับระหว่างซีไอเอและรัฐบาลสฤษดิ์ ในการก่อตั้งปฏิบัติการลับในลาวด้วย “หน่วยตำรวจพลร่ม” ของไทย และทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการทหารให้กับกองกำลังของภูมี โดยมี นายทหารอเมริกัน เจมส์ วิลเลียม แลร์ (James William Lair) หรือ บิล แลร์ (Bill Lair) และพันตำรวจตรีประเนตร ฤทธิฦๅชัย ผู้บังคับบัญชาหน่วยพลร่ม เป็นผู้ควบคุมดูแลปฏิบัติการนี้
 
ปฏิบัติการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยเป็น “ฝ่ายให้” ความช่วยเหลือทางทหารแก่ประเทศอื่น โดยก่อนหน้านี้ไทยเป็นผู้รับมาโดยตลอด เพียงแต่การให้นี้เปิดเผยไม่ได้ เพราะเท่ากับไทยกำลังละเมิดสนธิสัญญาสันติภาพเจนีวาปี 1954 ที่ห้ามกองกำลังต่างชาติเข้าไปตั้งในลาว
 
ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ของไทยทุกคนที่เข้าร่วมในปฏิบัติการลับในลาวจะต้องยื่นใบลาออกจากราชการก่อนเดินทางเข้าสู่ลาว เพื่อป้องกันการถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลอยู่เบื้องหลัง หากพวกเขามีชีวิตรอดจากภารกิจเหล่านี้ ใบลาออกดังกล่าวก็จะถูกทำลาย และจะไม่ปรากฏประวัติว่าเคยเข้าร่วมในปฏิบัติการนี้ ในที่สุด หน่วยพลร่มสามารถช่วยให้ฝ่ายภูมีสามารถยึดเวียงจันทน์คืนจากฝ่ายกองแลได้สำเร็จในวันที่ 18 ธันวาคม 2503/1960 แม้ว่าฝ่ายกองแลจะได้รับอาหารและอาวุธจากสหภาพโซเวียต แต่ปฏิบัติการลับนี้ไม่สามารถเป็นความลับได้จริง ทั้งรัฐบาลจีนและเวียดนามได้ออกมากล่าวประณามการแทรกแซงของไทยและซีไอเอ
 
ซีไอเอและหน่วยพลร่มของไทยยังมีบทบาทสำคัญในการฝึกและจัดตั้งกองกำลังชาวม้งภายใต้การนำของนายพลวังเปา ซึ่งเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งกว่าฝ่ายขวาลาวอื่น ๆ เพื่อต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์อีกด้วย
 
"อันที่จริง การปราบปรามนักศึกษาประชาชนด้วยกำลังตำรวจธรรมดาก็น่าจะเกินพอแล้ว อีกทั้งยังมีหน่วยสวาทและตระเวนชายแดนที่คุ้นเคยกับการใช้อาวุธสงคราม แต่การเรียกใช้กองกำลังที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำสงครามลับและมีความสามารถในการสังหารขั้นสูงในภารกิจปราบปรามนักศึกษาประชาชนในเช้าวันที่ 6 ตุลานี้ บอกเราถึงระดับความโหดเหี้ยมของฝ่ายขวาไทยในขณะนั้นได้ชัดเจนทีเดียว" เพจ บันทึก 6 ตุลาฯ โพสต์ทิ้งท้าย
 
สำหรับ เพจ บันทึก 6 ตุลาฯ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ "บันทึก 6 ตุลา" เป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์ (Online archives) ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลที่ยังกระจัดกระจายในที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อต่ออายุความสนใจและการค้นคว้าเกี่ยวกับ 6 ตุลาให้ไปอีกไกลในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net