เปิดมุมมองนักศึกษารัฐศาสตร์ กับ วาทกรรม ‘คนรุ่นใหม่’ ของพรรคการเมือง

เปิดมุมมองต่อวาทกรรม ‘คนรุ่นใหม่’ ของพรรคการเมือง ผ่านนักศึกษารัฐศาสตร์หลากมหา'ลัย ตั้งแต่ตอบโจทย์คนออกจากอาการแช่แข็ง เบื่อการเมืองความขัดแย้งที่พวกเขาไม่คิดว่าตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้อง จนถึงมองเป็นเพียงกระแส ชี้ความหวังมันอยู่ที่เรารวมตัวกันมากกว่าการที่พรรคการเมืองเปิดช่อง

ช่วงนี้หลายพรรคมีแนวคิดที่เตรียมนำเสนอแนวทางหรือนโยบายต่างๆ ต่อสังคม ที่น่าจับตามองโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือในเรื่องของวาทกรรม “คนรุ่นใหม่” ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคอนาคตใหม่ก็ นำเสนอแนวคิดคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ อาจจะสืบเนื่องมาจากการที่ประเทศห่างหายจากการเลือกตั้งมาระยะหนึ่งจึงทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ยังไม่ได้ใช้สิทธิพื้นฐานของตนในการเลือกตั้ง พลังของคนรุ่นใหม่นี่ จึงอาจเป็นพลังอันสำคัญในการพัฒนาประเทศไปข้างหน้ามากยิ่งขึ้น

ในโอกาสนี้จึงได้พูดคุยเพื่อเปิดมุมมองของนิสิตนักศึกษารัฐศาสตร์จากทุกภูมิภาคของประเทศไทยว่า ในฐานะผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับทางด้านสังคมการเมือง ปรากฏการณ์ทางสังคม ทฤษฏีทางการเมืองต่างๆ ถือเป็นศาสตร์ทางการเมืองโดยตรง และแน่นอนว่านิสิตนักศึกษารัฐศาสตร์เหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งในคนรุ่นใหม่ และมีความคิดเห็นต่อวาทกรรม “คนรุ่นใหม่” โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่พรรคต่างๆ ที่มีการนำเสนอประเด็นนี้ขึ้นมา

วิรัลพัชร รอดแก้ว นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่าวาทกรรม “คนรุ่นใหม่” มันขายได้ในยุคนี้ เพราะวัยรุ่น "คนรุ่นใหม่" อาจจะเบื่อการเมืองภายใต้ความขัดแย้งมานาน พวกเขาไม่คิดว่าตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดความขัดแย้งนี้ขึ้น แต่ผลกรรมกลับตกอยู่ที่พวกเขา ซึ่งเป็นผลกรรมที่หนักหนาเอาการ คือการมีรัฐบาลทหารที่อายุรวมกันได้หลายหมื่นปี ไม่มีความสามารถในการบริหาร ตามไม่ทันโลกที่กำลังหมุนเร็วขึ้น ทำให้โอกาสที่จะพัฒนาก่อร่างสร้างอนาคตของพวกเขาเป็นไปอย่างล่าช้ากว่าที่ควร ทั้งยังเป็นคนที่พวกเขาไม่ได้เลือกมาอีก นอกจากนี้ วาทกรรมคนรุ่นใหม่ยังมีนัยยะของความเป็นกลางทางการเมืองที่จะไม่เป็นการล้างแค้นในลักษณะทีใครทีมัน

ในส่วนที่พรรคการเมืองหลายพรรคมีความพยายามนำเสนอประเด็นดังกล่าวขึ้นมานั้นอาจจะตอบโจทย์สังคมหรือผู้ที่อาจจะได้เลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตของคนรุ่นใหม่หลายๆ คน นั้น ชยางกูร  กิตติวัฒนากูล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่าการที่ พรรคการเมืองต่างๆ ออกมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น สืบเนื่องจากหลายๆ เหตุผล อาทิ กลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นมีองค์ความรู้ในด้านการเมืองต่างๆ ที่ใหม่ที่สุดจึงทำให้บุคคลเหล่านี้มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยในการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศได้แต่ก็ไม่ควรที่จะมองข้ามกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสาขาอื่นๆ ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในสถาบันอุดมศึกษา

นอกจากนี้ วิรัลพัชร และ ชยางกูร กล่าวถึงการถูกแช่แข็งทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหารปี 57 ว่า ทั้งคนรุ่นใหม่และคนที่ต้องการออกจากอาการแช่แข็ง ในขณะนี้  มองเห็นว่า ประเทศนี้มีคนจำนวนมากที่บอบช้ำจากความขัดแย้งที่ผ่านมาจนไม่สามารถลืมสิ่งที่เกิดขึ้นหรือพร้อมที่จะไปต่อโดยที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาได้  ซึ่งหากมองอีกมุม คนรุ่นใหม่เองอาจจะมีความอยากรู้อยากเห็นอีกด้วย ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย คือ ทำให้คนรุ่นใหม่มีความเป็น พลเมืองตื่นรู้ (Active  citizen) มากขึ้น

วัชรพล นาคเกษม นักศึกษา คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มีความเห็นต่อ วาทะกรรม “คนรุ่นใหม่” ว่า เป็นเรื่องดี การที่พรรคการเมืองเปิดพื้นที่หรือชูประเด็นความเป็น “คนรุ่นใหม่” ออกมาให้เห็น เพราะเมื่อนึกถึง “คนรุ่นใหม่” กับ “การเมือง” ภาพฝันที่อยากให้สองคำนี้มาเชื่อมประสานกันได้อย่างลงตัวเลย คือการสร้างการมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปมีบทบาททางการเมือง มีสิทธิ์มีเสียงมีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ แต่การมองอีกด้านวาทกรรมที่ว่าด้วย “คนรุ่นใหม่” เป็นคำที่สร้างความพิเศษทางสถานะบางอย่างทางสังคม? แต่ก็ตั้งคำถามอีกว่าใครบ้างเป็นคนรุ่นใหม่? คนที่เรียนในระดับอุดมศึกษา คนที่เรียนอาชีวะศึกษา คนเมือง คนต่างจังหวัด เด็กแว้น กลุ่มคนที่ก้าวพลาดจากการกระทำในอดีต คนที่ไม่เรียนต่อตามเกณฑ์ที่กำหนด กลุ่มชาติพันธุ์ คนทุกกลุ่มที่พูดมานับรวมเป็นคนรุ่นใหม่ด้วยกันทั้งหมดหรือเปล่า แต่ก็มีคิดเห็นในทางตรงกันข้ามคือ การที่พรรคการเมืองชู วาทกรรมคนรุ่นใหม่ มองคำว่าคนรุ่นใหม่ได้ครอบคุมหรือไม่ หากใครสักคนหรือสักกลุ่มถูกทิ้งแล้วกลายเป็นคนชายขอบของคนรุ่นใหม่ด้วยกัน จึงอยากให้พรรคการเมืองที่ชูวาทกรรมนี้มอง คนรุ่นใหม่ในทุกมิติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษา รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เน้นย้ำในเรื่องการอยู่เคียงข้างกับผู้ถูกกดขี่ทุกมิติเช่นกัน ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ และเห็นว่า คนรุ่นใหม่ต้องต่อสู้ในฐานะผู้ถูกกดขี่ทางอายุตลอดเวลา ซึ่งก็อาจจะสืบเนื่องมาจากการถือครองทรัพยากรที่มากกว่า โดยสามารถมองเห็นถึงการแบ่งชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างชัดเจน ทำให้การแสดงออกไม่ว่าจะเป็นทางแนวคิดหรือการกระทำของคนรุ่นใหม่มักจะถูกควบคุมและมีกรอบ กฎเกณฑ์มากเกินไป

สาเล็ม มะดูวา นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี มีทัศนคติและมุมมองที่เห็นว่า การนำเอาคนรุ่นเก่ามาสร้างข้อกฎหมายให้กับอนาคตของประเทศ ผลของมันก็คือ สังคมไม่อยากที่จะให้คนแก่มาวางอนาคตให้กับคนรุ่นใหม่ สิ่งนี้เอง ที่ทำให้ หลายๆพรรคเริ่มที่จะเห็น การดึงคนรุ่นใหม่ (ที่มีความคิดใหม่ๆ) มาเป็น ผู้สมัคร (Candidate) ของตัวเอง เพื่อที่จะสร้าง ทัศนคติ ค่านิยม ความคิด ของผู้คนในการมองการเมืองว่า คนรุ่นใหม่ สามารถที่จะเข้าไปสร้างหนทางอนาคตของตัวเองได้”

นอกจากนี้ สาเลม มองว่า วาทกรรมเป็นสิ่งที่มีมาควบคู่กับเรื่องการเมือง ในทัศนะคติของเขามันคือ สิ่งที่หลายฝ่ายพยายามที่จะควบคุมการนิยามของมัน ช่วงเวลานี้ เราจะพบเห็นได้ว่า พรรคที่เรียกตัวเองว่า เสรีนิยม อนุรักษ์นิยม ต่างๆ มีความพยายามที่จะเรียกร้อง “คนรุ่นใหม่” ให้หวนกลับเข้ามาในพื้นที่ทางการเมือง เราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ช่วงเวลานี้สังคมพร้อมที่จะต้อนรับคนรุ่นใหม่ ที่มันสวนทางกับผู้ที่มีอำนาจอย่างผูกขาดอยู่ ณ ตอนนี้

นิสิตนักศึกษา​รัฐศาสตร์หลายๆ คนอาจจะมีความคาดหวังหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้กับพรรคการเมืองที่ออกมา​ นำเสนอประเด็น “คนรุ่นใหม่” แต่ ชาดไท น้อยอุ่นแสน นักศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลับมีความเห็นว่า ยังไม่มีอะไรที่คาดหวังได้เท่าไรมันดูจะเป็นเพียงแค่กระแสมากกว่า สำหรับพรรคการเมืองต่างๆ ที่บอกว่าให้คนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วม แต่สุดท้ายก็อาจจะถูกวัฒนธรรมของเขากลืนอยู่ดี  ซึ่งในมุมมองส่วนตัว ชาดไท เห็นว่า แนวทางที่ดีที่จะส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในสิ่งที่เราจะทำ จะเปลี่ยนแปลง เราจะต้องรวมเป็นกลุ่มการเมืองของตัวเอง ในรูปนั้นหวังได้มากกว่า ความหวังมันอยู่ที่เรารวมตัวกันมากกว่าการที่พรรคการเมืองเปิดช่องให้เราเข้าร่วมพรรคใหญ่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท