Skip to main content
sharethis

UNHCR ร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรี และสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แถลงข่าวโครงการ “รอมฎอน นี้เพื่อพี่น้อง” ส่งเสริมให้ชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศร่วมบริจาคเงิน ในเดือนรอมฎอน ส่งต่อความช่วยเหลือไปยังผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ไม่มีโอกาสได้เฉลิมฉลอง

16 พ.ค.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรี และสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี แถลงข่าวโครงการ “รอมฎอน นี้เพื่อพี่น้อง” ส่งเสริมให้ชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศร่วมบริจาคเงิน ในเดือนรอมฎอน ผ่านสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี โดยเงินบริจาคบางส่วนนำไปสนับสนุนการทำงานของ UNHCR เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปยังผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ไม่มีโอกาสได้เฉลิมฉลองเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ในประเทศของตนเอง

“คำสอนของทุกศาสนามีหลักการด้านมนุษยธรรมส่งเสริมให้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสโดยไม่แบ่งแยกสีผิว หรือเชื้อชาติ” อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน กล่าว “ท่ามกลางวิกฤติผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก เราต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่ส่งต่อความช่วยเหลือถึงกันและกันโดยไม่มีกำแพง หรือการแบ่งแยก”

ปัจจุบัน สถานการณ์ผู้ลี้ภัยทั่วโลกอยู่ในขั้นวิกฤติจำนวน 65.6 ล้านคน สูงที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง

“สงคราม ความขัดแย้ง การประหัตประหาร ส่งผลให้คนบริสุทธิ์ต้องตกอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย”  ซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการ จุฬาราชมนตรี กล่าว “ไม่มีใครเลือกเกิดมาเป็นผู้ลี้ภัย ต้องทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลัง และขออาศัยในประเทศที่ไม่ใช่บ้านของตนเอง วิกฤติผู้ลี้ภัยจึงเป็นประเด็นที่ประชาคมโลกต้องใส่ใจ และร่วมช่วยเหลือให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น”

ในเดือนรอมฎอน ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนมาก ต้องระลึกถึงช่วงเวลานี้นอกประเทศ นอกจากนี้หลังการลี้ภัยที่ยากลำบาก พวกเขากำลังเผชิญวิกฤติครั้งใหม่จากฤดูมรสุม และดินโคลนถล่มในบังคลาเทศ

“รอมฎอน เป็นช่วงเวลาที่ชาวมุสลิมได้ทบทวนถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้นในโลก เป็นโอกาสในการแบ่งปันสิ่งที่เรามีให้แก่คนด้อยโอกาส ยากจน และเปราะบาง”  ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี กล่าว “นอกจากนี้ รอมฎอน คือเวลาอันมีค่าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ชุมชน และช่วยให้เรานึกถึงครอบครัวต่างๆที่ไม่สามารถอยู่กับคนที่พวกเขารักในเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์นี้”

โครงการ “รอมฎอน นี้เพื่อพี่น้อง” ได้รับการสนับสนุนจาก ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ในฐานะทูตสันถวไมตีของ UNHCR ประเทศไทย

“ปูรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือจากทุกศาสนา เพื่อมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับ UNHCR” ปู ไปรยา กล่าว “ในเวลา 30 วันที่พี่น้องชาวมุสลิมอยู่ในเดือนรอมฎอน ปูขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และขอขอบคุณพี่น้องชาวมุสลิมในความเมตตาที่ให้แก่ผู้ลี้ภัยด้วยค่ะ”

สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ยินดีร่วมมือและสนับสนุนการทำงานของ UNHCR ในภารกิจช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ในฐานะองค์กรภาคีเพื่อมนุษยธรรม โดย UNHCR จะนำเงินบริจาคทั้งหมดไปช่วยซ่อมแซมที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในประเทศบังคลาเทศที่เสียหายจากฤดูมรสุมที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ โดยเงินบริจาคจะนำไปถึงมือผู้ลี้ภัยทั้งในเดือนรอมฎอน และหลังจากสิ้นสุดรอมฎอนแล้ว โดย UNHCR เน้นส่งมอบความช่วยเหลือไปที่กลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็กกำพร้า แม่เลี้ยงเดี่ยว และหญิงหม้าย เป็นต้น

รายงานข่าวยังระบุช่องทางสำหรับผู้สนใจร่วมบริจาคได้ที่ บัญชี สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรีเพื่อโรฮิงญาและผู้ลี้ภัย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ibank) : 034-108-7440 หรือ www.unhcr.or.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net