Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ในที่สุด หนังสือเรื่อง “A Plastic Nation: The Curse of Thainess in Thai-Burmese Relations” ก็ได้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งไทยศึกษาอย่างเต็มตัว โดยได้รับการแปลเป็นภาษาไทย โดยมีผมเป็นผู้แปลเอง และได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ในการจัดพิมพ์และออกวางจำหน่าย ทั้งนี้ ผมต้องขอขอบคุณผู้รีวิวหนังสือเล่มนี้ฉบับภาษาไทย พร้อมให้ข้อคิดและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ต่อการปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนไปในความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ 

หนังสือเล่มนี้ฉบับดั้งเดิมเป็นภาษาอังกฤษ ได้รับการแปลงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมภายใต้ชื่อเรื่อง “Thainess: Hegemony and Power: A Study of Thai Nationhood and Its Implications on Thai-Burmese Relations, 1988-2000” จากมหาวิทยาลัยที่ผมจบการศึกษามา นั้นคือ School of Oriental and African Studies (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อปี พ.ศ.2545 ฉบับที่ออกมาเป็นหนังสือครั้งแรกตีพิมพ์โดยสำหนักพิมพ์ University Press of America ในปี 2548 จากนั้น ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 จากสถาบัน Institute of Southeast Asian Studies ของสิงคโปร์ในปี 2553 เล่มที่แปลเป็นภาษาไทยนี้ ผมได้เพิ่มเติมส่วนคำนำนี้ และบทส่งท้ายสั้นๆ สรุปถึงสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า ในช่วงต่อจากที่ผมได้ทิ้งไว้ในหนังสือต้นฉบับ และวิเคราะห์ว่า แนวคิด “ความเป็นไทย” ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้หรือไม่และอย่างไร

ในระหว่างที่ผมศึกษาเรื่องความเป็นไทยในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่านั้น ผมได้วิเคราะห์สามประเด็นหลักที่มีความเกี่ยวโยงกับแนวคิดการสร้างชาติของไทย ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับเพื่อนบ้าน ในส่วนของพม่า ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ผมหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เป็นที่ประจักษ์ว่า ความเป็นไทยเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมทัศนคติบางอย่างในผู้นำไทยต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่มีกับพม่า ในหลายครั้ง พม่าคือศัตรูหมายเลขหนึ่ง ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ พม่ายังคงแสดงบทบาทการเป็นอริสำคัญที่ทำลายกรุงเก่า--อยุธยาของไทย

นอกเหนือไปจากการตอกย้ำถึงความยาวนานของความเป็นชาติไทยในประวัติศาสตร์ การวาดภาพพม่าให้เป็นอริก็เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำไทยในการดำเนินนโยบายต่อต้านพม่า บนการปลุกระดมความรักชาติ (patriotism) ในหลายครั้งเพื่อเรียกร้องให้ประชาชนคนไทยยอมเสียสละตัวเองเพื่อต่อสู้กับภัยที่มาจากต่างประเทศ และขณะเดียวกัน ในการยอมรับต่อความจำเป็นของการมีอยู่ของระบอบการเมืองทหารหรือเผด็จการ เพราะเชื่อว่า เป็นระบอบเดียวที่สามารถพาชาติพ้นภัยได้

ทั้งหมดนี้ ผู้นำไทยอธิบายทัศนคติดังกล่าวผ่านความเป็นไทย คอนเซ็ปท์ความเป็นไทยจึงมีลักษณะรวบอำนาจ (authoritative) กลายมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (sacred) ที่ค้ำจุนสถาบันหลักของชาติ ใครก็ตามที่ทำลายหรือย่ำยีความเป็นไทย คนเหล่านั้นต้องถูกกำจัดไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม เมื่อพม่าถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของภัยต่อความเป็นไทย จึงสมควรต้องถูกกำจัดไปด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ความเป็นไทยมีความไหลลื่น (fluid) และเปลี่ยนแปลงง่าย (malleable) ไม่มีลักษณะตายตัว ขึ้นอยู่กับการหล่อหลอม ปั้นแต่ง ของผู้นำไทย เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของผู้นำในแต่ละยุค จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ทำไม นโยบายของไทยต่อพม่าจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงจากขั้วหนึ่งไปยังขั้วตรงข้าม จากศัตรูอันดับหนึ่งของชาติกลายมาเป็นพันธมิตร จากอริที่เคยเผากรุงเก่า กลายเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยในยุคต่อมา

ในกระบวนการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพม่านี้ ความเป็นไทยถูกนำมาใช้ในการให้ความชอบธรรมกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความเป็นไทยก็ถูกเปลี่ยนความหมาย หน้าที่และความรับผิดชอบ สิ่งที่ผู้นำเคยคิดว่าเป็นหัวใจของชาติกลับถูกเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือเรื่องนี้ A Plastic Nation หรือชาติพลาสติก เพราะต้องการสื่อความหมายว่า ความเป็นชาติของไทยมันผกผันไปตามผลประโยชน์ของผู้นำ มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ ของปลอม เป็นพลาสติก ที่หล่อให้เป็นรูปแบบใดๆ ก็ได้ แต่ยังคงอานุภาพที่ร้ายแรงและยังมีความศักดิ์สิทธิ์ไม่ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบหรือความรับผิดชอบใด

ในหนังสือเล่มนี้ ผมได้ศึกษาความสัมพันธ์ไทย-พม่าระหว่างปี 2531-2543 ช่วงที่ศึกษานี้ ผมได้พบเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งในความหมายของความเป็นไทยและผลกระทบที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ที่ไทยมีต่อพม่า ปี 2531 เป็นปีเริ่มต้นของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เกิดการเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญ ทั้งในด้านการเมืองภายในที่ไทยหลุดพ้นจากรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และได้มีการเลือกตั้งที่นำไปสู่รัฐบาลพลเรือน ขณะที่การเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคก็เห็นเด่นชัด สงครามเย็นใกล้จะสิ้นสุด กำแพงเบอร์ลินถูกโค่นจากนั้นไม่นาน จักรวรรดิของสหภาพโซเวียดก็แตกสลายต่อมา ประเทศเพื่อนบ้านที่ตกอยู่ในการครอบงำของคอมมิวนิสต์เริ่มหาหนทางในการ reinvent ตัวเอง

พลเอกชาติชายจึงได้เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ความเป็นไทยเพื่อให้สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวในภูมิภาค จากสนามรบในอินโดจีนกลายเป็นสนามการค้า จากอริกลายเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และความเป็นไทยที่เคยตั้งอยู่บนความสำคัญของความมั่นคงแห่งชาติ กลายมาเป็นความเป็นไทยที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

แนวคิดนี้ได้รับการผลิตซ้ำในยุคของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่หล่อหลอมความเป็นไทยแบบใหม่ แบบที่ “โกอินเตอร์” โลกไร้พรมแดน แบบที่ธุรกิจนำการเมือง แต่ความเป็นไทยทั้งแบบของชาติชายและทักษิณถูกปฏิเสธจากกลุ่มอำนาจเดิม ผลที่ปรากฏก็คือ การทำรัฐประหารล้มทั้งสองรัฐบาล (ในความเป็นจริงคือทั้งสามรัฐบาล หากรวมรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรด้วย) สิ่งที่ปรากฏขึ้นจากนั้น คือการดึงเอาความเป็นไทยกลับไปสู่ความหมายเดิมที่เต็มไปด้วยชาตินิยมแบบสุดโต่ง ความรักสถาบันกษัตริย์แบบสุดโต่ง (จนมีกำเนิดศัพท์ใหม่ว่า “ไฮเปอร์รอยัลลิสต์”) และ obsession ที่มีต่อการยึดติดกับหลักกฎหมาย (แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมจะตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองไปแล้ว) ความเคร่งครัด ระเบียบและวินัยตามแนวทางของกองทัพ (ส่วนหนึ่งเพราะไทยอยู่ภายใต้ระบอบทหารในขณะนี้) ดังที่ปรากฏให้เห็นล่าสุดถึงอุดมการณ์ “ไทยนิยม” ที่ได้รับการเผยแพร่และสนับสนุนโดยรัฐบาล คสช.

ประเด็นที่ผมพูดถึงในหนังสือเล่มนี้ ได้แก่ กลุ่มต่อต้านชมกลุ่มน้อยในพม่า ปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน และกรณีการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของพม่าในปี 2540 ในประเด็นแรกนั้น ในช่วงที่มีสงครามกลางเมืองในพม่า ไทยได้ให้การสนับสนุนชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มตามแนวพรมแดน โดยเปลี่ยนให้พื้นที่ที่ปกครองโดยชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เป็นรัฐกันชน (buffer states) เพื่อป้องกันภัยที่มาจากพม่า ในการให้ความช่วยเหลือนี้ ไทยเป็นส่วนหนึ่งของการส่งผ่านต่ออาวุธไปยังชนกลุ่มน้อย สร้างเศรษฐกิจตามแนวชายแดนเพื่อให้ชนกลุ่มน้อยมีรายได้ในการค้ำจุนสงครามกลางเมืองต่อไป

การดำเนินนโยบายรัฐกันชนนี้สอดคล้องกับความเป็นไทยที่ตั้งอยู่บนการกำหนดให้พม่าเป็นศัตรูสำคัญทั้งในยุคประวัติศาสตร์และในห้วงแห่งสงครามเย็น (แม้ในความเป็นจริงผู้นำทหารไทยยังมีความสัมพันธ์ปกติกับผู้นำทหารพม่าก็ตาม) แต่การวาดภาพพม่าให้เป็นภัยแห่งชาติได้รับการค้ำจุนจากการมีอยู่ของสงครามกลางเมืองในพม่าเอง และการที่ไทยได้ประโยชน์จากสงครามกลางเมืองนั้น ผมเองได้มีโอกาสลงไปทำงานวิจัยในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอก และได้สัมภาษณ์นักรบชนกลุ่มน้อยหลายคน ต่างเห็นพ้องกันว่า ไทยเองมีส่วนส่งเสริมให้สงครามกลางเมืองพม่าคงอยู่ ส่วนหนึ่งเพื่อที่จะพิสูจน์ความเป็นไทย แต่ในที่สุด ก็เพื่อคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้นำ

เมื่อมีการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ชนกลุ่มน้อยที่เคยเป็นมิตรกลับกลายมาเป็นศัตรู กรุงเทพฯ ได้เปิดการค้ากับย่างกุ้ง ซึ่งกลายมาเป็นมิตรใหม่ ขณะที่ชนกลุ่มน้อยที่ไทยเคยอุ้มชูกลับกลายเป็นเป็นภาระทางการเมืองและสังคม ความเป็นไทยแบบเดิมที่มองพม่าในทางลบ กลับเปลี่ยนแปลงไป ความเป็นไทยแบบใหม่เข้าแทนที่ แม้พม่าจะยังล้าหลัง ด้อยพัฒนา แต่พม่าต้องการความช่วยเหลือจากไทย และการให้ความช่วยเหลือพม่านี้ คือความเป็นไทยแบบใหม่ในยุคเศรษฐกิจนำการเมือง

ในประเด็นที่ 2 เรื่องการค้ายาเสพติดนั้น ส่วนสำคัญคือผลกระทบที่มาจากการสร้างรัฐกันชน การค้ายาเสพติดนำมาซึ่งเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการค้ำจุนสงครามกลางเมือง ในกระบวนการนี้ มีผู้มีอิทธิพลของไทย ทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ไทยกลายมาเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้า เป็นตลาดนัดยาเสพติดที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก แต่ภายใต้การเมืองสกปรกแบบนี้ ความเป็นไทยถูกนำมาใช้ในการฟอกขาวผู้มีอำนาจของไทย ความเป็นไทยถูกผูกกับหลักพุทธศาสนา ที่ใช้อธิบายถึงความขาวสะอาดและศีลธรรมของผู้ปกครอง เริ่มต้นจากวาทกรรมที่ว่า ยาเสพติดไม่มี “พื้นที่” ในความเป็นไทย ยาเสพติดคือ “สิ่งแปลกปลอม” (extrinsic) ที่มาจากภายนอก แม้เยาวชนไทยจะติดยาเสพติดอย่างแพร่หลาย แต่เยาวชนเหล่านี้เป็นเหยื่อของผู้ค้าที่มาจากต่างประเทศ

เมื่อยาเสพติดถูกเปลี่ยนให้เป็น “สิ่งภายนอก” มันเป็นการปกปิดภาพที่มืดดำให้กับผู้ค้าภายใน และเป็นอีกครั้งหนึ่ง ทั้งพม่าและชนกลุ่มน้อยคือ “คนอื่น” (othernesses) ในความเป็นไทย เป็น ”คนอื่น” ที่จ้องทำลายความเป็นไทยโดยการมอมเมาเยาวชนไทยด้วยยาเสพติด แม้ว่าในความเป็นจริง การค้ายาเสพติดก็มีต้นตอจากผู้ค้าภายในเช่นกัน

ในประเด็นสุดท้ายเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของพม่า ประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากชุมชนระหว่างประเทศอย่างมาก ประการเแรกเนื่องจาก พม่าเองในขณะนั้นยังอยู่ภายใต้ระบอบทหารที่โหดร้าย ยังถูกมองโดยตะวันตกว่าเป็น pariah state ที่ไม่นับรวมว่า ในฃ่วงเวลาเดียวกันนั้น อองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรค National League for Democracy (NLD) ยังถูกจองจำในบ้านพักตัวเอง

ประการที่สองเกี่ยวข้องการความต้องการอาเซียนที่ต้องการให้สังคมโลกมององค์การของตัวเองอย่างซีเรียส ส่วนหนึ่งโดยผ่านการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (solidarity) ของประเทศในภูมิภาค นั่นคือการนำเอาพม่าเข้ามาเป็นสมาชิก (พร้อมๆ กับลาว และต่อมาอีกสองปี คือในปี 2542 กัมพูชาก็เข้าเป็นสมาชิกเช่นเดียวกัน) ทั้งๆ ที่พม่ายังไม่มีความพร้อม ทั้งในแง่การขาดการปฏิรูปทางการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น การรับพม่าเป็นสมาชิกอาเซียนจึงได้รับการต่อต้านจากหลายประเทศในตะวันตก ในทางกลับกัน ไทยกลับให้การสนับสนุนพม่าอย่างเต็มที่ในการเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน เช่นเดียวกัน โดยการเปลี่ยนท่าทีเดิมของความเป็นอริ ไปสู่การสร้างภารดรภาพผ่านอาเซียน

ในจุดนี้ นอกจากความเป็นไทยจะเป็นเรื่องของการแสดงอัตลักษณ์แห่งชาติแล้ว ยังเป็นการแสดงออก (expression) ต่อความต้องการในภูมิภาคด้วย ความเป็นไทยแบบใหม่ที่อิงภูมิภาคนิยม (regionalism) ถูกนำมาใช้ในการต่อต้านตะวันตก การผูกขาดทางอุดมการณ์ของฝรั่ง และการปลดปล่อยประเทศ/ภูมิภาคจากการครอบงำทางการเมืองระหว่างประเทศ แม้ว่าในความเป็นจริง ไทยจะหวังผลประโยชน์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจจากพม่า อันเป็นผลมาจากสมาชิกภาพของพม่าในอาเซียนก็ตาม

หลังจากที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก สถานการณ์ความสัมพันธ์ไทยและพม่าได้เปลี่ยนไปมาก ผมได้สรุปส่วนเพิ่มเติมนี้ไว้ในบทส่งท้ายของหนังสือเล่มนี้ ความสัมพันธ์ทวิภาคีได้เปลี่ยนไป ยุคทักษิณนำมาซึ่งนโยบายต่างประเทศแบบใหม่ แม้จะอื้อฉาว แต่ก็เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานและการต้องการสร้างความเป็นเจ้าของไทยในภูมิภาค ในยุคนี้ความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับพม่ามีความราบรื่นมากขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากการที่ไทยเองก็มีการเปลี่ยนแปลง หลังจากเกิดรัฐประหารในไทยในปี 2549 โค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ไทยก็ตกอยู่ในวิกฤตการเมืองจนถึงปัจจุบัน จากจุดนั้น ได้เกิดรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 คราวนี้ โค่นรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ที่มีบทลงเอยโดยยิ่งลักษณ์ได้เดินทางหนีออกจากไทย และดังที่ปรากฏในข่าว กำลังอยู่ในระหว่างการขอลี้ภัยที่ประเทศสหราชอาณาจักร

แม้ช่วงทักษิณ การทูตของไทยมีความคึกคัก แต่หลังจากจบยุคทักษิณไปแล้ว รัฐบาลไทยในหลายๆ ชุดให้ความสนใจกับประเด็นทางการเมืองภายในเท่านั้น ในด้านนโยบายต่างประเทศ จะมีแต่ก็เพียงการต้องคอยตอบคำถามประเทศในตะวันตกเกี่ยวกับความคืบหน้าของปัญหาการเมืองภายในเป็นหลักเท่านั้น จนมาถึงไทยในยุค คสช การต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถวัดความอยู่รอดของรัฐบาลทหาร ไทยได้ใช้ความสำคัญของที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในการสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ที่มีกับมหาอำนาจ ในบริบทนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและจีน เมื่อไทยถูกกดดันจากประเทศตะวันตกอย่างมาก มันกลับเป็นแรงผลักดันให้ไทยหันไปสู่จีนมากขึ้น และการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพม่าเป็นส่วนหนึ่งของความอยู่รอดของระบอบทหารของไทย

ในพม่าเองก็มีการเปลี่ยนแปลง ในที่สุด กองทัพตัดสินใจเดินออกจากการเมือง แม้จะไม่ออกไปอย่างเต็มตัว (เพราะกองทัพยังคงที่นั่งในรัฐสภาไว้มากถึงร้อยละ 25) แต่ก็เป็นการเปิดทางให้ระบบการปกครองค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่ความเป็นพลเรือนมากขึ้น หรือ civilianisation มีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 คือในปี 2553 และอีกครั้งในปี 2558 ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรค NLD ของซูจีได้รับชัยชนะแบบถล่มทลาย ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เนื่องจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ทำให้ซูจีไม่สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ จึงนับว่า การเมืองพม่ายังไม่นิ่ง ยังมีประเด็นที่ท้าทายรัฐบาลของซูจีอย่างมาก รวมไปถึงความสัมพันธ์ที่มีกับกองทัพ และที่สำคัญไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ที่มีต่อชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะในกรณีของชาวโรฮิงญา

ความเป็นไทยเปลี่ยนโฉมไปตามการเวลาและระบอบการปกครอง ระยะเวลาของการศึกษาในหนังสือเล่มนี้ เมื่อผู้อ่านได้อ่านสาระที่อยู่ข้างในเล่ม จะเห็นการเปลี่ยนแปลงนั้น จวบจนวันนี้ แม้ความเป็นไทยเปลี่ยนแปลงไป แต่การฉวยประโยชน์จากความเป็นไทยของผู้นำยังไม่เคยเปลี่ยน ความเป็นไทยในวันนี้ต่างไปจากความเป็นไทยภายใต้ทักษิณ แต่ขณะเดียวกันก็มีความเหมือนกับยุคที่มีเผด็จการครองเมืองในอดีต ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถปั้นแต่งได้ใหม่ ดึงให้ยืด ลดให้หด ตามความต้องการของรัฐไทย และในที่สุด ความเป็นไทยมันยังสามารถนำเอามาอธิบายความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับพม่าได้ แม้แต่ในยุคปัจจุบันเช่นกัน

แต่เนื่องจากส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้ยังอยู่คงอยู่ในห้วงเวลา 2531-2543 ผมจึงขอยุติการวิเคราะห์ไว้เพียงในห้วงเวลานั้น บทส่งท้ายเป็นแต่การสรุปเพียงสั้นๆ เพื่ออัพเดทสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศและการเปลี่ยนความหมายของความเป็นไทย นับตั้งแต่ยุคทักษิณ จนถึงยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่ากำลังหันไปทิศทางใด และมันตกอยู่ในวาทกรรมความเป็นไทยมากน้อยแค่ไหนในวันนี้ เพื่อพิสูจน์ว่า ความเป็นชาติไทยยังมีความพลาสติก จอมปลอม และเป็นเครื่องมือของผู้นำอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง

 

 

หมายเหตุ: ชาติพลาสติก จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน รายละเอียด ติดต่อสั่งซื้อได้ที่
https://www.facebook.com/commerce/products/2032980793413078/?rid=154616211254113&rt=6

เกี่ยวกับผู้เขียน: รศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการ สังกัดศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net