Skip to main content
sharethis

จ่อประกาศ! กฎหมายคุ้มครองคนทำงานที่สูง หากฝ่าฝืนโทษหนักคุก 1 ปี

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการ   ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานที่ที่อันตรายจากการตกจากที่สูงวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยมีสาระสำคัญ อาทิ กำหนดให้นายจ้าง  จัดให้มีข้อบังคับและขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยเพื่อการทำงานในที่สูงดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสมตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน รวมไปถึงการบำรุงรักษาและตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ให้มีความปลอดภัยก่อนใช้งาน กรณีที่ลูกจ้างทำงานในที่สูงหรือที่ลาดชัน นายจ้างต้องจัดให้มีนั่งร้าน ราวกั้นหรือรั้วกันตก เข็มขัดนิรภัยและสายช่วยชีวิตหรืออุปกรณ์อื่น ๆ สำหรับการป้องกันอันตรายจากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย นายจ้างต้องจัดให้มีราง ปล่อง เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมป้องกันอันตรายจากวัสดุสิ่งของกระเด็น ตลอดจนกำหนดเขตอันตรายและติดป้ายเตือน รวมทั้งจัดให้มีสิ่งปิดกั้นเพื่อป้องกันลูกจ้างได้รับอันตรายจากการตกลงไปภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ ทั้งนี้ หากนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า การยกร่างกฎหมายดังกล่าวก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้และคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานให้กับลูกจ้างที่ทำงานที่สูงได้อย่างทั่วถึง ซึ่งขณะนี้กฎกระทรวงดังกล่าวอยู่ระหว่างนำส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพื่อเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ที่มา: สปริงนิวส์, 20/5/2561

ก.แรงงาน แจง รัฐบาลคุ้มครองแรงงานประมง ยึดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียม

เพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณี ที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่ผลการวิจัยเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานประมงและการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน ซึ่งเป็นผลการวิจัยของเครือข่ายประมงพื้นบ้านร่วมกับองค์การภาคประชาสังคมด้านแรงงาน สาระสำคัญระบุว่า 1) ขอให้ภาครัฐเข้ามาตรวจสอบชั่วโมงการทำงานให้ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น 2) แรงงานส่วนใหญ่ถูกนายจ้างยึดเอกสารสำคัญไว้ 3) ขอให้รัฐบาลและภาคเอกชนร่วมกันออกกฎหมายห้ามเรียกเก็บค่านายหน้าจากแรงงานข้ามชาติ ปรับปรุงให้มีช่องทางการสื่อสารร้องเรียนกับแรงงาน จัดตั้งศูนย์สวัสดิการฯ 4) ปัจจุบันยังมีการทำประมงด้วยอวนลากและอวนล้อมปั่นไฟกลางคืน ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อทะเลไทย 5) ขอให้รัฐบาลบริหารจัดการทรัพยากรทะเล รวมทั้งยังระบุว่าการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU ยังทำไม่ได้จริง

นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิของแรงงานในกิจการประมง ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยมุ่งเน้นการตรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิหน้าที่ และการดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแก่ลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยได้ดำเนินการ ดังนี้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้พยายามปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ให้แรงงานภาคประมงได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายอย่างเต็มที่ ซึ่งมีความคืบหน้ามาโดยลำดับ ได้แก่ การตรวจแรงงาน หากพนักงานตรวจแรงงานพบว่ามีกำหนดเวลาพักไม่ถูกต้อง และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในทันที ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2561 เป็นต้นมา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งทีมตรวจจับพิเศษทางทะเลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น

สำหรับการติดตามผลการดำเนินการ ได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (PIPO) ใน 22 จังหวัดติดชายทะเลให้ตรวจสอบเรือประมงทุกลำ ที่แจ้งเข้า - ออก พร้อมรายงานผลการตรวจแรงงานเป็นประจำทุกวัน โดยระหว่าง 1- 18 พ.ค. 2561 พบการกระทำความผิดทั้งหมด 70 ลำ โดยเป็นกรณีกระทำผิดในเรื่องเวลาพัก จำนวน 20 ลำ ซึ่งได้ออกคำสั่งให้นายจ้างดำเนินการแก้ไขให้ปฏิบัติถูกต้องตามระยะเวลาที่ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะส่งเรื่องดำเนินคดีต่อไป ส่วนปัญหาสำคัญที่พบ คือ การสื่อสารด้านภาษากับแรงงานต่างด้าว ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการจัดจ้างผู้ประสานงานด้านภาษาประจำศูนย์ (PIPO) ทุกศูนย์ จำนวน 30 ศูนย์ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ โดยได้เผยแพร่ข้อมูลกฎระเบียบและมาตรการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน รวมถึงกรมการจัดหางานได้เปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ อาทิ โทรศัพท์สายด่วน กรมการจัดหางาน โทร.1694 และเปิดระบบรับแจ้งปัญหาแรงงานต่างด้าว/แรงงานไทย ชื่อ  DOE Help Me ทางเว็บไซต์ www.doe.go.th/helpme โดยแรงงานสามารถเลือกภาษาได้ 6 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษากัมพูชา ภาษาลาว ภาษาเมียนมา และภาษาเวียดนาม เพื่อให้แรงงานข้ามชาติ ในภาคประมง มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ในภาษาของแรงงานต่างด้าว พร้อมกันนี้ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในภาคประมงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ส่วนกรณีการเรียกเก็บค่านายหน้าและการยึดใบอนุญาตทำงานจากแรงงานต่างด้าวนั้น ปัจจุบันกฎหมายก็ได้กำหนดไว้แล้วว่า ห้ามเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่าย จากคนต่างด้าวทุกกรณีในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย และการยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวของแรงงานต่างด้าวไว้นั้นถือเป็นความผิดตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามจากการตรวจที่ผ่านมายังไม่พบการกระทำผิดในเรื่องดังกล่าว

“ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน จะยังคงดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมงไปอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนากลไกการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าวและสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน”นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวในท้ายสุด

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 19/5/2561

เทรนเด็ก ปวส. 2 ป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ฝึกประสบการณ์จริง 10 เดือน

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการประมาณความต้องการกำลังคน 5 ปีข้างหน้าของกระทรวงแรงงาน โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติ ระหว่างปี 2558 –2568 พบว่ากลุ่มผู้ประกอบรถยนต์ จะมีความต้องการแรงงานในระยะ 5 ปี จำนวนทั้งสิ้น 118,373 คน เป็นผู้จบการศึกษาระดับ ปวช./ ปวส.จำนวน 27,211 คน ที่เหลือต้องการผู้จบการศึกษาในระดับ ม.3 หรือต่ำกว่า และจบระดับปริญญาตรี,ปริญญาโท ในขณะที่ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ระดับที่ 1 (Tier 1) มีความต้องการแรงงานระยะ 5 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 339,153 คน เป็นในระดับ ปวช./ปวส. จำนวน 71,051 คน ที่เหลือต้องการผู้จบการศึกษาในระดับ ม.3 หรือต่ำกว่า และระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท

นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การพัฒนากำลังแรงงานของประเทศสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ที่มีความต้องการช่างฝีมือจำนวนมาก และ กพร.เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือให้กับแรงงานไทย จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัดและในกรุงเทพมหานคร ร่วมกันขับเคลื่อนโดยใช้แนวทางประชารัฐ ดำเนินการฝึกทักษะให้กับคนทำงาน นักเรียน นักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถตรงกับความต้องการ โดยมีเป้าหมายดำเนินการพัฒนาทักษะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ในปี 2561 จำนวน 9,800 คน ดำเนินการแล้ว 6,831 คน (ณ 14 พฤษภาคม 2561)

นายสุรพล พลอยสุข รองอธิบดี กพร. กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) เป็นหน่วยงานของ กพร. ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเป็น Excellence Center ด้านยานยนต์ จึงร่วมกับคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ยกระดับทักษะฝีมือให้แก่นักศึกษา ปวส.ปีที่ 2 ในสาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยมีระยะเวลาการฝึกทั้งสิ้น 162 ชั่วโมง เนื้อหาประกอบด้วย การใช้งานโปรแกรม CAD/CAM สำหรับงานกัดและงานกลึง ทักษะงานช่างอุตสาหกรรมการ  ไฟฟ้าเบื้องต้น การเชื่อม MAG สำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์  Introduction (QCDS, 5S) และนิสัยอุตสาหกรรม มีวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 7 แห่ง ระยะเวลาการฝึกอบรมดังกล่าว มีการฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบกิจการ 10 เดือน โดยมีสถานประกอบกิจการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานถึง 15 แห่ง โครงการนี้ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2560 มีนักศึกษาผ่านการอบรมจำนวน 63 คนและทุกคนมีงานทำ สำหรับในปี 2561 AHRDA มีเป้าหมายและดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วรวม 108 คน

ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน จะช่วยยกระดับฝีมือของแรงงานไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น นักศึกษามีความพร้อมเข้าสู่การทำงาน สถานประกอบกิจการได้พนักงานที่มีทักษะในการทำงานสูงและตรงกับความต้องการ สามารถลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมให้แก่พนักงานใหม่ กรณีรับนักศึกษากลุ่มนี้เข้าทำงาน และหากทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจะมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความแข็งแกร่ง และเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในเอเชียได้ในที่สุด อธิบดี กพร. กล่าว

ที่มา: สปริงนิวส์, 18/5/2561

กรมการจัดหางานรับสมัครทดสอบภาษาและทักษะไปทำงานเกาหลี

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) เพื่อไปทำงานเกาหลีในกิจการ เกษตรกรรม/ปศุสัตว์ และกิจการก่อสร้าง ระหว่างวันที่ 1-3 มิ.ย. 2561 และสามารถลงทะเบียนออนไลน์เลือกวันเวลาที่จะสมัครได้ที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึง 3 มิ.ย. 2561

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานเปิดรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ครั้งที่ 5 ใน 2 ประเภทกิจการคือกิจการเกษตรกรรม/ ปศุสัตว์ และกิจการก่อสร้าง โดยจะขึ้นบัญชีไว้ประเภทกิจการละ 1,100 คน คุณสมบัติเป็นเพศชาย หรือหญิง อายุ 18 39 ปีบริบูรณ์ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา สายตาไม่บอดสี ร่างกายสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง ไม่มีประวัติกระทำผิดทางอาญาหรือเป็นภัยต่อสังคมและความมั่นคง เป็นบุคคลซึ่งไม่ถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เป็นบุคคลซึ่งไม่มีประวัติการถูกเนรเทศ หรือเคยถูกปฏิเสธการเข้าสาธารณรัฐเกาหลี หรือเคยกระทำผิดกฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี เป็นบุคคลซึ่งไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกชนิด ไม่เคยพำนักอาศัยในสาธารณรัฐเกาหลีด้วยวีซ่า E-9 หรือ E-10 หรือ วีซ่า E-9 และ E-10 รวมกัน 5 ปี หรือมากกว่า 5 ปีขึ้นไป

หลักฐานที่ใช้ในการสมัคร ได้แก่ สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) ต้องระบุวันเดือนปีเกิดให้ครบถ้วน จำนวน 2 ใบ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ต้องชัดเจนและระบุวันเดือนปีเกิดให้ครบถ้วน จำนวน 2 ใบรูปถ่ายสีขนาด 1.5 นิ้ว ฉากด้านหลังสีขาว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 3 เดือน ผู้สนใจต้องยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ณ ศูนย์การรับสมัคร มี 4 แห่งคือ 1. ศูนย์การรับสมัครกรุงเทพฯ อาคารเดอะฮับ รังสิต ชั้น 3 บริเวณศูนย์การค้าเซียร์รังสิต 2. ศูนย์การรับสมัครจังหวัดลำปาง หอประชุมจังหวัดลำปาง ศาลากลางจังหวัดลำปาง 3. ศูนย์การรับสมัครจังหวัดอุดรธานี ศูนย์การค้า ตึกคอมแลนด์มาร์คอุดรธานี 4. ศูนย์การรับสมัครจังหวัดนครราชสีมา ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 สมัครตั้งแต่วันที่ 1-3 มิถุนายน 2561 เวลา 09.00-16.00 น.

โดยให้คนหางานที่ประสงค์จะสมัครไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีลงทะเบียนเพื่อเลือกประเภทกิจการ ศูนย์ที่จะสมัคร และวันที่ที่จะสมัครได้ที่เว็บไซด์ toea.doe.go.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2561 เวลา 14.00 น. ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนหางาน

นายอนุรักษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สนใจสามารถสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานการสมัครภายในวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวข้างต้น และเมื่อลงทะเบียนเลือกวัน เวลาที่จะสมัครทางเว็บไซต์แล้ว ขอให้ไปสมัครตามวัน เวลาที่ได้ลงทะเบียนไว้ เพื่อความสะดวกในการสมัคร จะได้ไม่ต้องรอนาน ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการทางออนไลน์ได้ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 02245-9429 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: เนชั่นทีวี, 18/5/2561

รมว.แรงงาน หารือประเด็นด้านแรงงานกับเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ในปีนี้ทางอิสราเอลจะเปิดโควต้าให้แรงงานไทย 5,000 คน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายเมอีร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และคณะเข้าเยี่ยมคารวะ ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน วันนี้ (17 พ.ค. 61) เวลา 10.30 น. โดยหารือประเด็นความร่วมมือให้มีการจัดการด้านการตรวจสุขภาพประจำปีและกำหนดโรคต้องห้าม/พาหะของโรคสำหรับแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอล การบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานไทยตามสัญญาจ้าง การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอล โดยจะปรับปรุงกระบวนการคัดเลือกและจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอล กลไกการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือแรงงานไทย และการพัฒนาศักยภาพแรงงานก่อนเดินทางไปทำงาน โดยการอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถด้านทักษะเกษตรแก่แรงงานที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (Thailand Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC)

ทั้งนี้ นายเมอีร์ฯ กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่มีความตกลงโครงการ TIC ทำให้สามารถประหยัด ค่านายหน้าให้กับแรงงานไทยไม่ต่ำกว่า 200 ล้านนิวเชเกล และเป็นช่องทางที่ทำให้มีการคัดเลือกแรงงานไทยที่มีคุณภาพไปทำงานที่อิสราเอล

รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือว่า “แรงงานไทยที่จะไปทำงานภาคเกษตรกรรมที่อิสราเอล จะต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งในปีนี้ทางอิสราเอลจะเปิดโควต้าให้แรงงานไทย 5,000 คน โดยคัดเลือกผ่านโครงการ TIC พร้อมตรวจสุขภาพและอบรมเตรียมความพร้อม ทั้งในเรื่องวัฒนธรรมและข้อมูลต่างที่เป็นประโยชน์ก่อนไปทำงาน รวมทั้งมีหลักประกันสังคมให้แก่แรงงานที่ไปทำงานในอิสราเอล ส่วนปัญหายาเสพติดที่เกิดจากแรงงานไทย ที่อยู่เกินกำหนดระยะอนุญาตการทำงาน และนำยาเสพติดไปจำหน่ายแก่แรงงานไทยในอิสราเอล ทางการอิสราเอลจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ในส่วนของแรงงานไทยที่เสพยาจะมีการสุ่มตรวจ แล้วส่งแรงงานที่กระทำผิดกลับประเทศไทย เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ขยายของยาเสพติดอีกต่อไป”

สถิติแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (Thailand Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC) ตั้งแต่ 27 มิถุนายน 2555 - 31 มีนาคม 2561 รวมทั้งสิ้น 29,768 คน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 17/5/2561

AIA ปรับตัวรับแข่งขันตั้งเป้าลดพนักงาน 10%

รายงานข่าวจากบริษัท เอไอเอ ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากทั้งเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีนโยบายเปิดให้พนักงานสามารถเกษียณอายุก่อนกำหนด และยังคงได้รับสวัสดิการการเกษียณอายุตามปกติ ปีที่ผ่านมามีนโยบายปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยพิจารณาอนุมัติให้พนักงานสามารถเกษียณอายุก่อนกำหนด และยังคงได้รับสวัสดิการการเกษียณอายุตามปกติ" รายงานข่าวระบุรายงานข่าวยืนยันว่า การปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากเอไอเอ ประเทศไทยยังคงมีอัตราการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีในงานฉลองครบรอบ 80 ปีของบริษัท มีการประกาศรายชื่อพนักงานที่ถูกให้ออกจากงานให้กับหัวหน้าแต่ละแผนก คาดว่าจะมีประมาณ 10% ของพนักงานทั้งหมด 2,000 คนทั่วประเทศ หรือประมาณ 200 คน ซึ่งบางแผนกที่มีพนักงานประมาณ 200 คน จะมีรายชื่อให้ออก 18 คน โดยไม่ทราบล่วงหน้า เพราะบริษัทไม่ได้ประกาศโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พนักงานที่ถูกให้ออกจะได้รับการชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

สำหรับผลประกอบการ 3 เดือนแรกของเอไอเอ มียอดขายเบี้ยปีแรก 4,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เบี้ยต่ออายุของลูกค้าเก่า 23,330 ล้านบาท อัตราการต่ออายุ 87% เบี้ยชำระครั้งเดียว หรือซิงเกิลพรีเมียม 1,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% รวมเบี้ยทุกประเภท 29,865 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% ซึ่งเอไอเอยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 1

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บริษัท แมนูไลฟ์ ประกันชีวิต (ประเทศไทย) ได้ประกาศยกเลิกช่องทางการขายผ่านตัวแทนอย่างเป็นทางการ นับเป็นบริษัทประกันชีวิตรายแรกในไทย ทั้งนี้เพื่อหันมาพัฒนาใช้ช่องทาง การขายผ่านระบบออนไลน์และช่องทางขายตรงแทน เพื่อรองรับแนวโน้มธุรกิจดิจิทัล ซึ่งกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้กำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจประกันเหมือนที่เกิดขึ้นกับธุรกิจอื่นๆ

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 17/5/2561

เครือข่ายแรงงานระบุ ‘ลูกจ้างราชการ’ 4-5 แสนคน ถูกจ้างเหมาไม่เป็นธรรม-ไร้สิทธิสวัสดิการ

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2561 นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.)  และประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่านอกจากประเด็นค่าจ้างที่ลูกจ้างในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่แม้จะได้ค่าจ้างตามเกณฑ์กฎหมายแรงงาน แต่กลับพบว่าไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการใดๆ เลย และไม่ใช่แค่ลูกจ้างในกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่พบว่า มีทุกกระทรวงที่มีปัญหาดังกล่าว นั่นคือ กลุ่มลูกจ้างเหมาบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มสัญญาจ้างเหมาทำของ โดยในส่วนนี้เป็นลูกจ้างส่วนราชการ เพราะส่วนเอกชนจะได้สิทธิจากประกันสังคมอยู่แล้ว แต่ส่วนนี้พวกเขาจะถูกจ้างงานเฉลี่ยได้เดือนละ 8,600 บาทบวกกับค่าครองชีพ 1,200 บาท ก็จะเป็น 9,800 บาทต่อเดือน แต่สิทธิสวัสดิการอื่นๆไม่ได้รับ ส่วนสิทธิรักษาพยาบาลก็ต้องไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ซึ่งให้กับคนไทยทุกคนอยู่แล้ว

“ปัญหาคือแม้ขณะนี้จะมีการเดินหน้าเรื่องร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินทดแทน ฉบับ พ.ศ. ซึ่งจะให้สิทธิสวัสดิการเงินทดแทนการขาดรายได้ หรือการประสบอุบัติเหตุเจ็บป่วยจากการทำงานก็จะได้รับการช่วยเหลือ และหากพิการ ทุพพลภาพก็จะได้รับเงินช่วยเหลือไปตลอดนั้น ปัญหาคือ พ.ร.บ.นี้เมื่อประกาศใช้ในช่วงปี 2561 แม้จะครอบคลุมลูกจ้างทั้งส่วนราชการ และส่วนเอกชน แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาภายใน พ.ร.บ.กลับพบว่าอาจไม่ได้รวมลูกจ้างเหมากลุ่มนี้ ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า มีกระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ ประมาณ 4-5 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบได้ทั้งพนักงานขับรถ พนักงานทำความสะอาดในบางกลุ่ม แม่บ้าน รวมทั้งธุรการ คนเดินเอกสารต่างๆ เป็นต้น ” นายมนัส กล่าว

นายมนัสกล่าวว่า ปี 2552  ที่ผ่านมาเคยมีกรณีลูกจ้างเหมาบริการร้องต่อศาลปกครองถึงกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งศาลมีคำสั่งออกมาในปี 2556 มองว่า พวกเขาเป็นลูกจ้าง ควรต้องเข้าประกันสังคมด้วย แต่จากร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ ฉบับใหม่ เมื่อไปพิจารณาในรายละเอียดกลับไม่ได้ครอบคลุมลูกจ้างกลุ่มนี้ และจากที่เคยหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทราบว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความและระบุว่า เนื่องจากการจ้างงานเป็นการนำเงินหมวดวัสดุมาจ้างในคนเพื่อให้ทำงาน และมีสัญญาจ้างระบุว่า เป็นการทำของอิงจากการนำเงินหมวดวัสดุ ทำให้ต้องตีความว่า เป็นการจ้างทำของ ไม่ใช่จ้างคนทำงาน เครือข่ายฯ จึงห่วงว่า ในร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ จะครอบคลุมลูกจ้างส่วนราชการที่จะเข้าใหม่เพียง 940,000 คน และอีก 4-5 แสนคนที่เป็นลูกจ้างส่วนราชการด้วย แต่เป็นการจ้างคนละประเภทก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากจุดนี้

“ขณะนี้เครือข่ายฯ และภาคีต่างๆ กังวลเรื่องนี้มาก และกำลังจะหารือร่วมกันว่า จะมีแนวทางช่วยหลืออย่างไร เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงานที่ต่ำกว่ากฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ หรือแม้แต่เรื่องสิทธิสวัสดิการต่างๆ การช่วยเหลือที่ลูกจ้างพึงได้รับ คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่ต้องออกมาเป็นนโยบาย และเดินหน้าเป็นกฎหมาย ซึ่งต้องออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ดำเนินการ โดยทางพเครือข่ายและภาคีต่างๆ จะมีการหารือร่วมกัน และคาดว่าจะทำหนังสือเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลมองเรื่องความเท่าเทียมเป็นสำคัญ แต่ในส่วนราชการกลับยังมีประเด็นเรื่องเหล่านี้อยู่ จึงมองว่า ควรทำในส่วนราชการด้วย ไม่ใช่มุ่งเน้นนโยบายออกมาเพื่อให้เอกชนทำเท่านั้น ” นายมนัส กล่าว

ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า ตามกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างที่มีนายจ้าง เพราะถือเป็นการจ้างงาน  แต่กรณีการจ้างทำของต้องดูในสัญญา เนื่องจากการจ้างทำของ จะกำหนดชัดเจนว่าทำอะไร เมื่อไร เช่น กวาดถูทำความสะอาดในบริเวณหนึ่ง หากเสร็จก็เป็นอันจบ ไม่มีการบังคับบัญชาเพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่ที่ผ่านมาอาจมีบางแห่งมีการจ้างผิดไป ซึ่งตรงนี้ลูกจ้างที่มองว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนและฟ้องต่อศาลแรงงานได้ เนื่องจากถือว่าขัดต่อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนฯ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งหากผ่านตามขั้นตอนต่างๆ คาดว่าภายในปีนี้น่าจะประกาศใช้ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับกลุ่มลูกจ้างเหมาดังกล่าว จะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร นพ.สุรเดช กล่าวว่า มีม.40 ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งให้ลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเอง โดยเฉลี่ยจะมีทางเลือกการจ่ายให้ เช่น จ่ายเดือนละ 300 บาท ก็จะได้กรณีหากหยุดงานเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุมีใบรับรองแพทย์ ก็สามารถมายื่นรับเงินทดแทนได้วันละ 300 บาท นอกจากนี้ยังมีเงินสงเคราะห์บุตร มีเงินทดแทนการทุพพลภาพ มีเงินค่าทำศพ เป็นต้น ซึ่งสามารถสอบถามมาได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506

ที่มา: มติชนออนไลน์, 17/5/2561

ก.แรงงาน ลุยตรวจสนามกอล์ฟ 4 แห่งใน กทม.ไม่พบแคดดี้ต่างด้าว

เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2561 นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า ชุดปฏิบัติการตรวจการทำงานของคนต่างด้าวทั่วประเทศ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทุกสนามกอล์ฟห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวทุกสัญชาติเป็นแคดดี้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว กัมพูชา หรือเมียนมา หากพบจะมีความผิดที่จ้างแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยใน กทม. มีหลายสนาม ได้ตรวจไปแล้ว 4 สนาม ยังไม่พบว่ามีการใช้ต่างด้าวเป็นแคดดี้ ได้ให้เร่งตรวจต่อไปทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด ซึ่งมีรวมกว่า 200 สนาม จะมีการรายงานภาพรวมการตรวจทั่วประเทศ ในวันที่ 17 พ.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน ได้ออกตรวจสอบการจ้างแรงงานต่างด้าว ในสนามกอล์ฟในพื้นที่ กทม. จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย สนามกอล์ฟ ปัญญา อินทรา กอล์ฟ คลับ ถนนรามอินทรา เขตคันนายาว พบว่ามีการจ้างหญิงไทย 577 คน แยกเป็น พริตตี้ 30 คน และแคดดี้ 547 คน มีอายุระหว่าง 18-55 ปี เดอะ เลกาซี่ กอล์ฟ คลับ ตั้งอยู่ถนนปัญญาอินทรา เขตคลองสามวา มีการจ้างคนไทยเป็นแคดดี้ 190 คน อายุระหว่าง 18-55 ปี สนามกอล์ฟ สมาคมกรุงเทพกรีฑา เขตบางกะปิ มีแคดดี้ 523 คน และบริษัท ชนาธิป พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด เขตสะพานสูง มีการจ้าง แคดดี้ 130 คน ผลการตรวจสอบไม่พบแรงงานต่างด้าวทำงานแคดดี้ เจ้าหน้าที่ได้สร้างความรับรู้ในการจ้างแรงงานต่างด้าว ให้นายจ้างปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่ากระทรวงแรงงานได้เร่งจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม. ให้สามารถทำงานกรรมกร และรับใช้ในบ้าน ได้เพียง 2 อาชีพ โดยเปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ทั่วประเทศ เพื่อทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานของแรงงาน ต่างด้าว ถึงวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าวลงทะเบียน 1,320,035 คน และได้เปิดศูนย์ฯ รอบสอง ระหว่าง 23 เม.ย.-30 มิ.ย. เพื่อดำเนินการกลุ่มที่ตกค้าง 479,299 คน โดยล่าสุดถึงวันที่ 16 พ.ค. มียอดเข้ามาดำเนินการแล้ว 147,319 คน แยกเป็น เมียนมา 90,493 คน กัมพูชา 50,032 คน ลาว 6,794 คน คงเหลือยอดที่ต้องดำเนินการ 331,980 คน

ที่มา: ไทยรัฐ, 16/5/2561

‘ปิยะสกล’ ประกาศทุก รพ.ต้องจ่ายค่าจ้างตาม กม.ขั้นต่ำ พร้อมตั้งทีมหารือเคลียร์ปมปัญหา 3 เดือนรู้ผล

จากกรณีสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) จากทั่วประเทศประมาณ 400- 500 คน นำโดย นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธานสสลท. และนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เดินทางมารวมตัวกันที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องประเด็นจ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม ไม่ถึงเกณฑ์ค่าจ้างขั้นต่ำ และได้เดินเท้าฝ่าสายฝนไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ปรากฏว่าต้องกลับมาค้างคืนที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรอหารือกับนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นั้น

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 16 พฤษภาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข และผู้บริหารสธ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.อริยะ พันธุฟัก ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี ได้เชิญตัวแทนของสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) ที่ออกมาเรียกร้อง คือ นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธาน สสลท. เพื่อหารือเรื่องดังกล่าว

นพ.ปิยะสกล กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากการหารือร่วมกันได้ข้อสรุปว่า จากข้อร้องเรียนเรื่องโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม เรื่องนี้กำชับแล้วว่าต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และในประเด็นข้อเรียกร้องอื่นๆ อีก 3 เดือนจะมีการนัดหารือกัน โดยในวันที่ 15 สิงหาคม เวลา 09.30 น. จะเชิญทุกฝ่ายมาหารือกันอีกครั้ง โดยระหว่างนี้ก็จะมีคณะทำงานย่อยหาข้อมูลต่างๆ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ทุกคนที่มาคือคนของกระทรวงสาธารณสุข อยู่กันมาเป็น 20 ปี เขาก็อยากได้สิ่งดีๆ ดังนั้น การมาเรียกร้องเรารับฟังและร่วมมือแก้ไขให้ดีขึ้น

เมื่อถามว่ากลุ่มที่มาเรียกร้องจะถูกหมายหัวหรือไม่ เนื่องจากมีข่าวว่ามีการเช็กชื่อ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขอยืนยัน จะไม่กระทบกับการทำงานแน่นอน ไม่ต้องห่วง ขอยืนยันว่า เราทำตามเป้าหมายของกระทรวงฯ คือ ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข นี่คือสิ่งที่เราจะร่วมกันทำงานต่อไป ส่วนข้อเรียกร้องกรณีพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่เสนอใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลจ้าง แทนเงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาลนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ต้องคุยในระดับนอกเหนือกว่านั้น เพราะถ้าทำได้ตนทำให้ไปนานแล้ว แต่ที่แน่ๆ กระทรวงฯ ทำได้คือ จากนี้ไป โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งต้องไม่มีการจ้างงานที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งตนได้มอบหมายให้ปลัดสธ.ไปดำเนินการ ซึ่งกรณีนี้ทำได้เลย ส่วนอีก 3 เดือนจะเป็นการตามงานและร่วมกันปรับแก้ไขในประเด็นข้อเรียกร้องต่างๆที่เสนอมา

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกรัฐมนตรี ได้กำชับอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ เนื่องจากทางกลุ่มเรียกร้องได้เดินทางไปทำเนียบเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่คิดว่าท่านนายกฯ ให้ความสำคัญ ซึ่งเราก็ต้องดำเนินการ เพราะเราทุกคนอยู่ในกระทรวง เราคุยกันได้

เมื่อถามว่าจะมีการออกหนังสือกำชับห้ามรพ.จ้างงานต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เรื่องนี้ท่านปลัดสธ.ดำเนินการอยู่แล้ว

นพ.เจษฎา กล่าวว่าเรื่องนี้เราทำมานานแล้ว และได้กำชับแล้วว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดสธ.ต้องจ้างค่าจ้างที่เป็นธรรม และไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องการจ้างงานของกระทรวงสาธารณสุขมีหลายรูปแบบมากทั้งการจ้างรายวัน รายเดือน จ้างเหมา ก็จะต้องมาดู ตอนนี้แนวทางเราอยากให้การจ้างงานเป็นระบบจะทำให้สามารถดูแลเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ และสิทธิอื่นๆ ได้เป็นระบบมากขึ้น และฝ่ายบริหารก็ต้องดูด้วยว่าจะบริหารจัดการเรื่องงบประมาณอย่างไรให้สามารถดำเนินการเรื่องการจ้างงานที่เหมาะสมกับภาระงานมากขึ้น ตอนนี้จะเร่งดึงเรื่องค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงานขึ้นมาดูทั้งหมดเพื่อการดูแลต่อไป

ด้านนายโอสถ กล่าวว่า จากการพูดคุยกันในวันนี้ ทางรัฐมนตรีฯ และท่านปลัดฯ ยืนยันว่า ตามข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อนั้น ในส่วนเงินงบประมาณนั้น กระทรวงก็จะมีคณะทำงานร่วมขึ้นมา และในวันที่ 15 สิงหาคมก็จะมาหารือกัน แต่ระหว่างนี้ก็จะมีชุดอนุกรรมการศึกษาแต่ละเรื่อง ส่วนเรื่องการจ้างลูกจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ท่านยืนยันว่า จะไม่มีอีกเด็ดขาด ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีการจ้างต่ำกว่าเกณฑ์มากน้อยแค่ไหน นายโอสถ กล่าวว่า มีหมดทั่วประเทศ มากน้อยเฉลี่ยกันไป บ้างก็ต่ำกว่า 10 % 20 % 30% อย่าง 10,200 บาท ในวุฒิการศึกษาปวส. ไปจ่ายแค่ 6,500 บาท

เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดจึงกลับมาค้างคืนที่กระทรวงสาธารณสุข นายโอสถ กล่าวว่า เดิมพวกตนตั้งใจไปเรียกร้องที่ทำเนียบ ซึ่งเมื่อไปถึงทางฝ่ายความมั่นคงได้มีตัวแทนมาหารือและไม่อยากให้พวกเราค้างคืน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายการชุมนุม แต่ขอให้เราประสานกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในนามตัวแทนรัฐบาล ให้มาหารือกันจะดีกว่า ซึ่งในวันนี้ (16 พ.ค.) ก็พอใจในระดับหนึ่งที่มีคณะกรรมการทำงานร่วมกัน และมีอนุกรรมการฯเพื่อดูแต่ละประเด็นเลย และสรุปกันอีกครั้งในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

นายโอสถ กล่าวว่า โดยข้อเรียกร้องมี 4 ข้อ คือ 1. ขอให้พิจารณาจัดจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขด้วยเงินงบประมาณของรัฐโดยตรง ไม่ใช่เงินบำรุงของโรงพยาบาลหรือหน่วยงานบริการ 2.ขอให้พิจารณาลูกจ้างทุกคนในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมารายเดือน รายวัน ให้ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขครบทุกคน 3. ขอทบทวนให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่บรรจุรอบก่อน ให้ได้รับการเยียวยาค่าประสบการณ์ ในการปฏิบัติงานมายาวนานตามอายุงาน 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี ตามที่สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขมาก่อน และ4. ขอให้ลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุขในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยตามนโยบายรัฐบาลและ คสช.

ที่มา: มติชนออนไลน์, 16/5/2561

ธุรกิจรับสร้างบ้านผวาแรงงานกัมพูชากลับบ้านเกิด

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ออกมาเรียกร้องให้แรงงานชาวกัมพูชาที่กำลังทำงานอยู่ในประเทศไทย ให้เดินทางกลับไปทำงานในบ้านเกิด โดยเฉพาะแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันกัมพูชาขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก เหตุเพราะมีโครงการลงทุนต่าง ๆ เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก โดยการออกมาประกาศของสมเด็จฮุนเซนในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมกับชาวกัมพูชา ที่เข้ามาค้าแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจหรือเลือกจะทำงานก่อสร้างกันแล้ว แม้ว่าจะได้ค่าแรงแพง นั่นก็เพราะเป็นงานที่หนักเหนื่อยและสกปรก ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทที่ต้องใช้ทักษะหรือกรรมกรก่อสร้างก็ตาม ฉะนั้นหากแรงงานกัมพูชาส่วนหนึ่งเดินทางกลับตามคำเรียกร้อง ปัญหาแรงงานก่อสร้างขาดแคลนก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น การปรับค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้นเพื่อแย่งชิงแรงงานก็จะย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีก

“สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) ประเมินว่า นับวันปัญหาแรงงานขาดแคลนและค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น หากผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายใด ไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจหรือผลประกอบการก็จะค่อย ๆ ถดถอยลงหรือรับงานได้น้อยลง และอาจถึงขั้นจะต้องออกจากธุรกิจนี้ไป เพราะการดำเนินธุรกิจและแข่งขันจะยากลำบากมากขึ้น เหตุผลหลัก ๆ เป็นเพราะว่าในปัจจุบันและในอนาคตพฤติกรรมหรือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ การตอบสนองจากสินค้าและบริการคือ “คุณภาพ สะดวก รวดเร็ว” ซึ่งการก่อสร้างรูปแบบเดิม ๆ ไม่ตอบโจทย์และควบคุมได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน ระบบพรีแฟบหรือโครงสร้างสำเร็จรูปก็เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วประเทศแล้ว สังเกตได้จากการที่ดีเวลลอปเปอร์และบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ เช่น กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แสนสิริ พฤกษา แลนดี้โฮม และ พีดีเฮ้าส์ ฯลฯ ที่ใช้ระบบพรีแฟบหรือโครงสร้างสำเร็จรูป ต่างมีมูลค่าแชร์ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นและขยายตลาดได้ทั่วประเทศ”

สถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งในปัจจุบันพบว่า ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ยังคงใช้ระบบก่อสร้างรูปแบบเดิม ๆ คือหล่อคอนกรีตในที่ หรือการผูกเหล็ก ประกอบไม้แบบ และเทคอนกรีตโครงสร้าง ณ สถานที่ก่อสร้างนั้น โดยยังคงต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก สวนทางกับดีเวลลอปเปอร์ที่ต่างเปลี่ยนมาใช้ระบบพรีแฟบกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว อย่างไรก็ดี ระบบพรีแฟบหรือโครงสร้างสำเร็จรูปนั้น ยังไม่เป็นที่นิยมของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านมากนัก สาเหตุเพราะว่าไม่คุ้นเคยและที่สำคัญคือ ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทั้งการออกแบบด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม การคำนวณต้นทุน การผลิต การขนส่งจากโรงงานไปยังสถานที่ก่อสร้าง และการติดตั้งที่ต้องอาศัยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ ฯลฯ เป็นต้น

นายสิทธิพร แนะว่าปัจจุบันมีโรงงานรับจ้างผลิตที่เป็นมืออาชีพและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ สามารถผลิตตามออเดอร์หรือความต้องการของลูกค้าได้ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่ต้องการหันมาใช้ระบบพรีแฟบ จึงไม่จำเป็นจะต้องลงทุนสร้างโรงงานผลิตของตัวเองเหมือนในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะอาศัยความเชี่ยวชาญของกันและกันในการสร้างบ้านทุกหลัง เหลือเพียงแค่ผู้ประกอบการกำหนดวิสัยทัศน์และเร่งปรับตัวเอง เพื่อให้พร้อมจะดำเนินธุรกิจต่อไปในระยะยาว เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ระบบพรีแฟบทั้งแบบโครงสร้างคอนกรีตและโครงสร้างเหล็ก จะเข้ามาแทนที่ระบบก่อสร้างแบบเดิม ๆ มากขึ้น และช่วยให้การส่งมอบคุณภาพงานสร้างบ้านทุกหลังเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภคมากขึ้น ภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านก็จะมีความเป็นมืออาชีพและน่าเชื่อถือในวงกว้างเพิ่มมากขึ้นตามกัน

อย่างไรก็ตามภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในช่วง 4 เดือนเศษที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค. 2561) ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ หรือคิดเป็นมูลค่า 6 เดือนแรก 7.5-8 พันล้านบาท สำหรับความต้องการสร้างบ้านในต่างจังหวัด พบว่าในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้หลาย ๆ จังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางเริ่มมีความต้องการและกำลังซื้อดีขึ้นมาก เช่น เชียงราย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา และสระบุรี ฯลฯ เป็นต้น 

ที่มา: บ้านเมือง, 16/5/2561

"ประกันสังคม" เร่งคืนสิทธิผู้ประกันตนตาม ม.39

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้ส่งหนังสือแจ้งเรื่องการกลับเป็นผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพไปให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนจำนวน 777,228 คน ได้กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมอีกครั้ง

ดังนั้นรีบดำเนินการติดต่อยื่นคำขอคืนสิทธิได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่งที่ท่านสะดวก หรือทางไปรษณีย์ (แนบแบบ สปส. 1-20/1) หรือทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 19 เมษายน 2562

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะต้องชำระเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้กลับเป็นผู้ประกันตน โดยจ่ายเงินสมทบครบตามเงื่อนไขได้หลายช่องทางด้วยกันคือ จ่ายด้วยเงินสด ณ สำนักงานประกันสังคมได้ทั่วประเทศ ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต ทุกสาขา ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกสาขา (seven-eleven) ผ่านระบบ Pay at Post ที่เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ หรือจ่ายทางธนาณัติ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ พร้อมแนบแบบส่งเงิน ( สปส.1-11) ส่งให้สำนักงานประกันสังคม ผ่านเคาน์เตอร์เซ็นเพย์ (บริษัทห้างเซ็นทรัล)

นอกจากนี้ยังสามารถจ่ายเงินสมทบโดยวิธีหักบัญชีธนาคาร 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาติ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับสิทธิประโยชน์ 6 กรณีเช่นเดิม คือ กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตรา กรณีคลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเสริมว่า ขอให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 กลุ่มที่สิ้นสภาพดังกล่าว ได้เห็นถึงความสำคัญถึงสิทธิความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคม ที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันทางสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ให้สามารถคุ้มครองแรงงานได้อย่างทั่วถึง โดยเพิ่มและปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในทุกกรณี คืนสิทธิให้ผู้ประกันตน มาตรา 39 ได้กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมอีกครั้ง

ที่มา: เนชั่นทีวี, 16/5/2561

แรงงานไทยหนีสงครามลิเบีย 200 คน เดือดร้อนหนัก-หนี้สินท่วม ร้องรัฐช่วยเยียวยา

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 15 พ.ค. ที่ห้องประชุมประจักษ์ศิลปาคม ศาลากลาง จ.อุดรธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิสิษฐ์ พึ่งกล่อม อายุ 51 ปี ตัวแทนแรงงานอุดรธานีที่เคยไปทำงานที่ประเทศลิเบีย พร้อมแรงงานกว่า 200 คน ที่ถูกส่งตัวกลับช่วงภาวะสงครามในประเทศลิเบีย เมื่อปี 2554 เดินทางเพื่อยื่นหนังสือต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ขอให้เร่งรัดความช่วยเหลือ โดยมีนายธรพล จันทรนิมิ รอง ผู้ว่าฯ อุดรธานี นายอำพัน เอกทัตร แรงงาน จ.อุดรธานี นายอภิชาติ วงศ์กาฬสินธุ์ รักษาราชการ จัดหางาน จ.อุดรธานี ร่วมรับฟังความต้องการ

นายพิสิษฐ์ พึ่งกล่อม ตัวแทนแรงงาน เปิดเผยว่าแรงงานที่ถูกส่งกลับจากลิเบียช่วงสงคราม ยังคงได้รับความเดือดร้อน จากการเสียค่าหัวคิวถึงคนละ 90,000-200,000 บาท มีแรงงานหลายคนที่ทำงานไม่ถึงปี บางคนเพิ่งไปได้เพียงเดือนเศษ ต้องหนีกลับและถูกส่งตัวกลับไทย ทำให้ต้องเป็นหนี้สินมาจนถึงทุกวันนี้ จึงรวมตัวกันเดินทางมายื่นหนังสือต่อ ผวจ.อุดรธานี เพื่อขอให้เร่งช่วยเหลือ

“จากแรงงานเคยไปร้องเรียน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี แจ้งประสานส่งเรื่องให้กระทรวงแรงงาน และศาลแรงงานกลาง ดำเนินการกับผู้จัดส่งแรงงาน แต่ก็ยังประสบปัญหา การยื่นเรื่องของแรงงานแต่ละคน จึงมาขอให้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ให้แจ้งประชาสัมพันธ์ถึงแรงงานที่เคยไปทำงานที่ประเทศลิเบีย แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือได้รับทราบ มาลงชื่อสำหรับการรับความช่วยเหลือ ”นายพิสิษฐ์กล่าว

นายอภิชาติ วงศ์กาฬสินธุ์ รักษาราชการจัดหางาน จ.อุดรธานี กล่าวว่าเป็นแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามในลิเบียปี 2554 ซึ่งมีทั้งที่ทำงานมานาน และที่เพิ่งเดินทางไป ยังไม่ได้ค่าจ้างงาน โดยเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปจำนวนมาก ซึ่งแรงงานเหล่านี้เมื่อเดินทางกลับจากภัยสงครามมา ทางกระทรวงแรงงานได้ช่วยเหลือรายละ 15,000 บาท และค่าพาหนะอีก 1,500 บาท รวมกว่า 2 หมื่นคน โดยเป็นชาวอุดรธานี 559 คน ซึ่งแรงงานที่มาวันนี้ก็ได้รับตามสิทธิไปแล้ว

“การเดินทางมาวันนี้ เพื่อต้องการใช้สิทธิตามกระบวนการทางศาล เรื่องของสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ทางบริษัทฯจัดส่งเรียกเก็บเกิน ซึ่งในส่วนของกรมการจัดหางาน มีแกนนำส่วนหนึ่งจะมาขอรายชื่อแรงงานที่เคยไปทำงานที่ลิเบีย แต่ติดที่เป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล ทางกรมการจัดหางานจึงไม่สามารถให้รายชื่อไปได้ โดยเราได้แจ้งแกนนำให้รับทราบแล้ว แต่ทางแกนนำเป็นห่วงว่า รายชื่อจะต้องนำไปใช้ตามกระบวนการทางศาล อยากให้ทางจังหวัดนำรายชื่อแรงงานเหล่านี้ให้

นายอภิชาติ กล่าวต่อว่าจังหวัดจะให้นายอำเภอทั้ง 20 อำเภอ สั่งการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้สำรวจรายชื่อแรงงานที่เคยไปทำงานที่ลิเบีย ส่งไปให้ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อที่จะส่งให้กับทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามขั้นตอน และจะส่งต่ออีกครั้งให้ทางนิติกรของศาลแรงงานกลาง เพื่อดำเนินการฟ้องร้องให้กับแรงงานที่ไปทำงานที่ลิเบียต่อไป ตามสิทธิที่แรงงานจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงค้างจ่าย ค่าหัวที่เดินทางไป แต่ยังไม่ได้ทำงาน ซึ่งค่าหัวที่บริษัทฯจัดส่งเก็บเกินจากที่กฎหมายกำหนด ทางกรมการจัดหางาน ก็มีการดำเนินการทั้งพักใบอนุญาต

“เรื่องเหล่านี้ทางแรงงานจังหวัดรับเรื่องไปดำเนินการ แต่ขณะนี้ติดปัญหาที่สถานฑูตไทยที่ลิเบียเปิดไม่ได้ จึงไม่สามารถตามสิทธิประโยชน์กับทางนายจ้างให้ได้ และเรื่องดังกล่าวทาง สนช.มีมติออกมา ที่จะให้ความช่วยเหลือกับแรงงานเหล่านี้ จึงเกิดความหวังว่า จะได้รับความช่วยเหลือจากส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายอภิชาติกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 15/5/2561

สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทยกว่า 500 คน รวมตัวที่ สธ. เรียกร้องรัฐบาลส่งตัวแทนเจรจา เสนอขอให้จ้างด้วยเงินงบประมาณ

15 พ.ค. 2561 เมื่อเวลา 08.00 น. สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) จากทั่วประเทศกว่า 500 คน นำโดย นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธาน สสลท. และ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เดินทางมารวมตัวกันที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเตรียมเคลื่อนย้ายไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้จ้างลูกจ้างของ สธ. ด้วยเงินงบประมาณ แทนการจ้างผ่านระบบเงินบำรุงโรงพยาบาล โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.นนทบุรี และตำรวจควบคุมฝูงชนกว่า 100 นาย เข้ามาดูแล

ทั้งนี้ แกนนำได้เข้าไปเจรจรากับ นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษา รมว.สธ. เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะออกมาปลุกระดมลูกจ้างอีกครั้ง พร้อมยืนสงบนิ่งให้ นายคณาพันธุ์ ปานตระกูล อดีตลูกจ้างชั่วคราวแผนกฟอกย้อมของ รพ.โพธาราม ที่ฆ่าตัวตายเซ่นความอยุติธรรมของระบบ 1 นาที

นายโอสถ กล่าวว่า บรรดาลูกจ้าง สธ. ทั้งลูกจ้างรายวันและรายเดือน พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) มีความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ สธ.มีบัญชีโครงสร้างค่าจ้างตั้งแต่ปี 2556 แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้าง ขนาดแรงงานข้ามชาติทั้งหมดยังอยู่ภายใต้การคุ้มครองของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน แต่ สธ. มีระเบียบคุ้มครองแต่ปล่อยปละละเลย ไม่สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้ลูกจ้างอย่างเป็นธรรม เช่น ลูกจ้างที่จบ ปวช. ด้านบัญชีระเบียบให้จ่าย 10,200 บาท แต่ต้นสังกัดจ่าย 6,500 บาท ถือว่า สธ. ปล่อยปละละเลยหรือ ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งเป็นแบบนี้ทั้งประเทศ

นายโอสถ กล่าวว่า สธ. ออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 11 ให้ผู้ปฏิบัติงาน แต่ให้การคุ้มครองข้าราชการเงินเดือน 4 - 5 หมื่น แต่ลูกจ้างไม่ได้รับเลย อ้างว่า จ่ายไม่ได้เดี๋ยวผิดระเบียบ ถามว่าผิดระเบียบตรงไหน เพราะ สธ. ออกระเบียบมาเอง เคยเสนอให้ออกระเบียบอีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้ได้รับใหม่ แต่ก็ไม่ทำ ทั้งนี้ สธ.รับปากหลายเรื่องจะแก้ปัญหา แต่ก็ไม่เคยทำ จึงตัดสินใจไปพบยังนายกรัฐมนตรีให้จ้างเราโดยเงินงบประมาณโดยตรง เพราะได้ตามที่จ้างจริง เช่น จ้าง 1 หมื่นบาทเราก็ได้ 1 หมื่นบาท แต่ถ้าจ้างผ่านนายหน้าอย่าง สธ. บอกว่าจ้าง 1 หมื่น เราได้รับแค่ 6 พัน แบบนี้ไม่เป็นธรรม ไม่แตกต่างจากการค้ามนุษย์ สธ. ปากก็บอกว่าไม่มีเงิน แต่มีเงินไปศึกษาดูงาน ไปออกระเบียบค่าตอบแทนฉบับนั้น ฉบับนี้เพิ่มเงินผู้บริหาร พวกเราแม้แต่พันบาทก็ไม่ได้

“ลูกจ้าง สธ. มี 1.4 แสนคน ค่าจ้างต่ำสุดที่ลูกจ้างได้รับวันนี้ คือ 5,500 บาท สูงสุด 11,000 บาท แต่กว่าจะได้ก็ต้องทำงานจนหัวขาว ถามว่า มีด้วยหรือในสังคมไทยขณะนี้ ค่าครองชีพอย่างนี้ อัตราเงินเฟ้อแบบนี้ แต่ลูกจ้าง สธ. ได้ค่าจ้างแค่นี้ ต่ำว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เงินสวัสดิการอย่างอื่นไม่มี มีเพียงโอทีที่ต้องทำกันอย่างหนักหากอยากได้เงินเพิ่ม เงินค่าเสี่ยงภัยต่างๆ ก็ไม่มี การจ่ายค่าตอบแทนมต้องสามารถดูแลคนในครอบครัวได้อีก 2 คน ตามกติกาสากล แต่เราทำงานกันทั้งบ้านก็ยังไม่พอส่งลูกเรียน เรื่องนี้คุยกับผู้บริหารมาตั้งแต่ปี 2559 แต่ไม่เคยได้รับการเยียวยาแก้ไข เลยขอเรียกร้องรัฐบาลนำเราเข้าสู่เงินงบประมาณ ไม่ต้องผ่านนายหน้าอย่าง สธ. อีกต่อไป” นายโอสถ กล่าวและว่า วันนี้เราไม่คุยกับ สธ.แล้ว เพราะคุยมาหลายครั้ง ดังนั้น จะขอคุยกับรัฐบาล ตัวแทนรัฐบาลที่มีอำนาจในการลงนามข้อตกลง มีการตั้งคณะทำงานต่างๆ ถ้าส่งตัวแทนมาที่ สธ. ก็พร้อมเจรจา หากไม่มาเราจะเคลื่อนพลทั้งหมดไปที่ทำเนียบรัฐบาล และหากไม่มีข้อตกลงที่เป็นธรรมก็จะปักหลักค้างคืน ขอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ เพราะ สธ. เป็นเจ้าภาพที่ล้มเหลวไปแล้ว

นายสาวิทย์ กล่าวว่า สสลท. เป็นลูกจ้างภาครัฐ การให้ขวัญกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น แต่หลายปีที่ผ่านมาเครือข่ายนี้ได้มาเรียกร้องเรื่องค่าจ้างว่าให้มีการจ้างด้วยเงินงบประมาณ แต่รัฐก็ไม่ได้ให้ความสนใจ ถ้าดูการจ้างงานตอนนี้จะเห็นว่าเป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ต่ำกว่าแรงงานกัมพูชา ลาว พม่า ซึ่ง สธ.บอกว่าเป็นรัฐไม่สามารถไปคิดตามเรตของกระทรวงแรงงานได้ ซึ่งไม่จริง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คือ การจ้างงานที่ต่ำที่สุดแล้วทุกหน่วยงานไม่ควรจ้างต่ำกว่ายิ่งเป็นหน่วยงานของรัฐยิ่งต้องทำให้เป็นตัวอย่าง ถ้าจากนี้ยังไม่ได้ตามที่เสนอทาง สรส. ที่มีสมาชิกกว่า 47 สหภาพแรงงานก็จะมีการประสานหารือกันเพื่อร่วมกันเรียกร้องให้ทุกอาชีพมีหลักประกัน โดยเฉพาะอาชีพลูกจ้าง สธ. มีความเสี่ยงโรคภัย ต่างหากเขายังไม่ได้รับการดูแลที่ดีแล้วจะไปดูแลใครได้ ไม่คิดจริงๆ ว่า สธ. จะใจจืดใจดำกับลูกจ้างขนาดนี้

ที่มา: MGR Online, 15/5/2561

DEPA เผยผลสำรวจร่วม TDRI ชี้ชัดแรงงานดิจิทัลไทยไม่ขาดแคลนแต่ทักษะต่ำเกินทำงานได้

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เปิดเผยผลการศึกษาโครงการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Manpower) รองรับอุตสาหกรรมS-Curve และ หนุนการเติบโตพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI เปิดเผยว่าผลจากการศึกษาพบว่าในภาพรวมเหมือนประเทศไทยขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัล แต่จริงๆ แล้วกำลังคนด้านดิจิทัลที่จบมาจากสถาบันการศึกษามีจำนวนมากในปี 2560 ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เฉพาะสาขาคอมพิวเตอร์มีเกือบ 20,000 คน โดยยังไม่รวมผู้จบการศึกษาในสาขาอื่น ๆ แต่ปรากฏว่าในจำนวนนี้มีผู้ว่างงานเกือบ 7,000 คน ขณะที่กำลังคนด้านดิจิทัลที่ภาคธุรกิจต้องการมีเพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 คน ทั้งยังสะท้อนปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้จริง

ดังนั้นปัญหาที่แท้จริงของประเทศไทยคือ คนไม่ได้ขาดแคลน แต่บุคลากรที่ผลิตออกมามีทักษะต่ำเกินกว่าจะทำงานได้ ซึ่งหากยังไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง ก็จะใช้ทางแก้แบบเดิมคือ คิดว่าคนขาดแคลนและเร่งผลิตจนมีแต่ผู้ที่มีทักษะต่ำล้นตลาดแรงงาน

โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้คือ หลักสูตรในสถาบันการศึกษาปัจจุบันไม่ได้ปรับให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และไม่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะที่จำเป็น จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาอย่างเร่งด่วน ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรและสร้างหลักสูตรอบรมระยะสั้นด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT) เพื่อเพิ่มทักษะให้กับแรงงานที่มีอยู่ในตลาดแล้ว ทั้งยังควรกำหนดมาตรการที่เอื้อต่อการเข้ามาทำงานของผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ อาทิ มาตรการสมาร์ทวีซ่า แต่ต้องครอบคลุมทั้งผู้เชี่ยวชาญระดับสูงและระดับกลาง เพื่อจะนำเข้ามาอบรมผู้ปฎิบัติการระดับต้นได้มาขึ้น

ทั้งยังต้องสร้างกลไกในระยะยาวที่จะให้เอกชนให้ข้อมูลทักษะกำลังคนที่ต้องการแก่สถาบันการศึกษา เพื่อให้วางแผนผลิตคน รวมถึงปรับปรุงหลักสูตรได้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 15/5/2561

เผย 'นายกฯ' ห่วงแรงงานต่างด้าวเป็นแคดดี้ แย่งคนไทย

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แสดงความเป็นห่วงกรณีกระแสข่าวแรงงานต่างด้าวทำอาชีพแคดดี้ สนามกอล์ฟจำนวนมาก โดยเป็นการบีบแรงงานไทย ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นห่วงว่าผู้มีรายได้น้อยจะถูกเอาเปรียบ ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวกระทรวงแรงงานไม่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำงานเป็นแคดดี้ แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จะได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพกรรมกรและแม่บ้านเท่านั้น แรงงานที่ทำงานผิดประเภทจะมีความผิด อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่แรงงานทุกจังหวัดตรวจสอบ พร้อมพูดคุยกับผู้ประกอบการเพื่อทำความเข้าใจแล้ว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 15/5/2561

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net