Skip to main content
sharethis
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมิน 4 ปี รัฐบาล คสช. ระบุการปฏิรูปด้านต่างๆ อาจมีความก้าวหน้ามากขึ้น หาก คสช. ไม่คิดสืบทอดอำนาจและหาทุนจัดตั้งพรรคการเมือง ใช้อำนาจหรือผลประโยชน์ในการดูดกลุ่มการเมืองให้สนับสนุนตัวเองหลังการเลือกตั้ง
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพ)
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นและประเมินผลงานเศรษฐกิจและผลงานด้านต่างๆ ในช่วง 4 ปีหลังการยึดอำนาจของ คสช. และอนาคต คสช.ว่าปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การปิดกั้นเสรีภาพและการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การรวมศูนย์อำนาจมากเกินไปเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การทำงานต่างๆ ของรัฐบาลไม่บรรลุเป้าหมายการกระจายอำนาจ กระจายโอกาส การเปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจะช่วยให้การแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ผลงานต่างๆ และการปฏิรูปด้านต่างๆ อาจมีความก้าวหน้ามากขึ้นหาก คสช. ไม่คิดสืบทอดอำนาจและหาทุนจัดตั้งพรรคการเมืองหรือใช้อำนาจหรือผลประโยชน์ในการดูดกลุ่มการเมืองให้สนับสนุนตัวเองหลังการเลือกตั้ง การไม่สืบทอดอำนาจจะทำให้รัฐบาล คสช. เป็นอิสระจากการเสพติดอำนาจและผลประโยชน์และสามารถใช้เวลาไปกับการแก้ปัญหาให้บ้านเมืองและการปฏิรูปมากขึ้น สามารถเอาเวลาและเอาทรัพยากรที่มีอยู่ไปนั่งพิจารณาว่าควรเร่งรัดการปฏิรูปอะไรบ้างด้วยการกำหนดวาระและกรอบเวลาให้ชัดเจน เปลี่ยนการปฏิรูปในเอกสารมาเป็นการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ การดำเนินการไม่ควรล่วงเลยเกินกว่าเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าตามที่สัญญาเอาไว้และส่งมอบภารกิจให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต่อไป 
 
การไม่สืบทอดอำนาจจะช่วยลดความขัดแย้งก่อนและหลังเลือกตั้งจากการเผชิญหน้าของแนวร่วมประชาธิปไตยและแนวร่วม คสช. ควรปล่อยให้การเลือกตั้งเป็นกลไกในการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง บ้านเมืองจะได้กลับคืนสู่ประชาธิปไตย กลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งเป็นการลดความเสี่ยงของประเทศในการเดินเข้าสู่วิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่จากการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. และคัดค้านรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นอกจากนี้ จะได้หลีกเลี่ยงกับดักทางการเมืองอันเป็นต้นทุนและอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชนและภาคการลงทุน  
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่ายุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศจะสามารถดำเนินการภายใต้ความต้องการของประชาชนผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ รัฐบาล คสช. ควรเปิดกว้างให้มีสิทธิเสรีภาพ กระบวนการสานเสวนา และ วางตัวเป็นกลางและเป็นธรรม หลีกเลี่ยงการเป็นคู่ความขัดแย้ง เลิกกดทับโดยใช้อำนาจเพื่อยุติการวิพากษ์วิจารณ์เพราะไม่ได้ช่วยทำให้ความขัดแย้งลดลงแต่อย่างใด 
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าแม้นว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่อัตราการเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนตลอดสี่ปีที่ผ่านมาและมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ 1% ในปี 2557 มาอยู่ที่ 3.9% ในปี 2560 โดยคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจอาจจะเติบโตได้มากกว่า 4% โครงสร้างการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเข้มแข็งมากขึ้นทำให้การกระจายตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมายังประชาชนและกิจการขนาดเล็กขนาดกลางมีข้อจำกัดและอุปสรรค ทำให้เกิดสภาวะความเป็นไม่ธรรมโดยทั่วไป ผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ดีขึ้นโดยภาพรวมแต่กิจการขนาดย่อยยังประสบปัญหา ประชาชนฐานรากยังคงเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต เนื้อหาบางส่วนของรัฐธรรมนูญ เพิ่มอำนาจรัฐ ลดทอนอำนาจประชาชน การกระจายอำนาจถดถอยลง และการบริหารงานแบบขาดการมีส่วนร่วมและการสั่งการจากบนลงล่างตลอดระยะสี่ปีที่ผ่านมา จะไม่สามารถแก้ไขปัญหารวยกระจุก จนกระจายได้  
 
ส่วนภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกและการขยายตัวมากขึ้นของปริมาณการค้าโลก ด้านฐานะทางการคลังรัฐบาลได้ก่อหนี้มากขึ้นทุกปี ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นในปี 2558 ทำขาดดุลงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ปี 2559 3.9 แสนล้านบาท ปี 2560 ขาดดุล 5.5 แสนล้านบาท ปี 2561 ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท รัฐบาลไม่สามารถกลับคืนสู่งบประมาณสมดุลได้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังในปี 2560 และในปี 2458-2561 รัฐบาล คสช. ยังทำขาดดุลงบประมาณโดยรวมสูงถึง 16.4 ล้านล้านบาท หากการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โครงการลงทุนต่างๆไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามเป้าหมาย มีความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเผชิญกับวิกฤติฐานะทางการคลังในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าและปริมาณหนี้สาธารณะสะสมคงค้างอาจแตะระดับ 7 ล้านล้านบาทได้ในอนาคต
 
ขณะที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่พร้อมอิทธิพลของกลุ่มทุนข้ามชาติเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจึงควรเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยโดยเฉพาะกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ การลงทุนภาครัฐฟื้นตัวชัดเจนในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาแต่การทุจริตรั่วไหลจากการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐยังไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญแต่อย่างใด ผลบวกของการลงทุนภาครัฐต่อเศรษฐกิจโดยรวมจึงไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้น การบริโภคภาคเอกชนเติบโตแบบกระจุกตัวสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างผู้มีรายได้สูงและผู้มีรายได้ต่ำ ภาคการบริโภคยังขยายต่ำเพราะสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.88% ช่วงกลางปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 77.5% ในปี 2560 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ระดับ 81.2% ที่หนี้ครัวเรือนแตะระดับสูงสุด รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักจึงไม่เพียงพอต่อรายจ่ายนำมาสู่การก่อหนี้ ยอดรวมหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.13 ล้านล้านบาทมาอยู่ที่ 11.97 ล้านล้านบาท หลังการยึดอำนาจสี่ปี ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างสะสมเพิ่มขึ้นประมาณ 4.93แสนล้านบาท สะท้อนว่าภาระหนี้ครัวเรือนสะสมยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มต่อเนื่องแม้นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีจะเริ่มลดลงแล้วก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นโจทย์เรื่องการกระจายตัวของรายได้และความมั่งคั่งมากกว่าปัญหาการไม่มีวินัยทางการเงินและก่อหนี้เกินตัวหรือความไม่สามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ฉะนั้นต้องมุ่งไปที่ทำอย่างไรให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีการกระจายตัวมากกว่านี้ 
 
ภาคการลงทุนเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนเมื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยและได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของไทย แต่ พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกนั้นมีอำนาจซ้อนทับกับกฎหมายอื่น เช่น การจัดทำผังเมือง อำนาจจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม ในกฎหมายยังเขียนด้วยว่าคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ สามารถพิจารณาอนุมัติหรืออนุญาตหรือให้ความเห็นชอบแทนหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายได้ จึงต้องใช้อำนาจพิเศษนี้อย่างระมัดระวังและยึดหลักธรรมาภิบาลในการตัดสินใจ 
 
ส่วนภาคส่งออกที่เคยติดลบต่อเนื่องฟื้นตัวขึ้นในปีที่สามหลังการยึดอำนาจและในปีที่สี่ภาคส่งออกยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอันเป็นผลจากปัจจัยภายนอกเป็นด้านหลัก เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อต่ำแต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% มาโดยตลอดแต่มีสัญญาณว่าอัตราการว่างงานอาจปรับตัวสูงขึ้นในระยะต่อไปโดยอัตราการว่างงานล่าสุดในไตรมาสแรกปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.3% มีคนว่างงานเพิ่มขึ้น 500,000 คนและมีการลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การว่างงานเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างการผลิตโดยสถานประกอบการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานคนเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลควรเตรียมการรับมือผลกระทบของเทคโนโลยีต่อตลาดแรงงาน 
 
ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางกิจการและการไหลกลับของแรงงานต่างด้าว ขณะที่รัฐบาลสามารถจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวได้และแก้ปัญหาการใช้แรงงานทาสได้ดีระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามรายได้ภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่องในช่วงสามปีแรกของ คสช และเพิ่งจะปรับตัวดีขึ้นช่วงต้นปีนี้ รัฐบาลลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรทำให้ภาระทางการคลังลดลงแต่ก็ทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทอ่อนตัวลงมาก ส่วนการไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลา 3 ปีและเมื่อปรับเพิ่มในปีนี้ก็ปรับเพียงเล็กน้อยทำให้แรงงานระดับล่างทักษะต่ำยังคงประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ  
 
ด้านการปฏิรูประบบสวัสดิการให้มีความยั่งยืนทางการเงินโดยเฉพาะในส่วนของกองทุนประกันสังคมมีความคืบหน้าดีพอใช้ ส่วนในระบบสาธารณสุขนั้นยังไม่มีข้อสรุปหรือความก้าวหน้าชัดเจนนัก การปฏิรูประบบสวัสดิการสาธารณสุขต้องอยู่ฐานคิดของการทำให้สวัสดิการสาธารณสุขเป็นสิทธิของประชาชนไม่ใช่เป็นเรื่องการสงเคราะห์โดยรัฐ   
  
ประเมินผลงานด้านการยุติความขัดแย้งรุนแรงและลดความเสี่ยง ขจัดเงื่อนไขเฉพาะหน้าอันนำไปสู่ความรุนแรงและการนองเลือดได้ระดับหนึ่งด้วยวิธีกดทับปัญหาเอาไว้ ซึ่งอาจไม่เกิดสันติสุขอย่างแท้จริงในระยะยาวและไม่สามารถสร้างความปรองดองได้อย่างแท้จริง เนื่องจากการปรองดองอย่างแท้จริงต้องเกิดจากกระบวนการปรึกษาหารืออย่างเปิดกว้าง ใช้กระบวนการประชาธิปไตย แสวงหาข้อเท็จจริง สถาปนานิติรัฐเอาผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ คืนความเป็นธรรมให้นักโทษทางการเมือง 
 
ประเมินผลงานด้านสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ การผ่อนคลายทางด้านสิทธิเสรีภาพยังไม่เกิดขึ้นทั้งที่ควรดำเนินการโดยด่วน ยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ มีการสร้างกลไกสถาบันและกฎหมายที่ไม่ส่งเสริมและไม่ให้หลักประกันในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ นอกจากนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆการรับรองอนุสัญญาต่างๆขององค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและสิทธิแรงงานให้ดีขึ้น
 
ประเมินผลงานทางด้านการศึกษา มียุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจนและกระบวนการในการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ระยะยาวทางการศึกษาอยู่บนข้อมูลการวิจัยและการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน แต่ยังต้องเพิ่มการกระจายอำนาจทางการศึกษา ปฏิรูปครูและปฏิรูปการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น มีแผนปฏิรูปโครงสร้างระบบการศึกษาและระบบวิจัยของประเทศ 4 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในการปฏิรูประบบวิจัยและระบบการศึกษาได้ดีระดับหนึ่งอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับผลิตภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปีที่ 4 ของ คสช. ก่อนการเลือกตั้ง ควรเพิ่มงบประมาณทางด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้อยู่ในสัดส่วนเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว วางรากฐาน 6 ยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปีให้เข้มแข็งและรัฐบาลในอนาคตสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วง เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการจาก Supply-side เป็น Demand-side มากขึ้นเพื่อลดความสูญเปล่าทางการศึกษาและงบประมาณ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น    
 
ผลงานด้านความมั่นคงและระบบการป้องกันประเทศ มีการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ แทนที่จะนำงบประมาณมาลงทุนวิจัยพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศเองผ่านทางสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ ควรนำงบประมาณลงทุนพัฒนาบุคลากรของกองทัพให้เป็นทหารอาชีพ เพิ่มระบบทหารอาสา ลดสัดส่วนทหารเกณฑ์และทำให้คุณภาพชีวิตและผลตอบแทนของทหารเกณฑ์และกำลังพลดีขึ้น ขณะที่การก่อเหตุความไม่สงบในประเทศลดลงแต่ไม่ได้หมดไปจึงต้องลดเงื่อนไขการก่อเหตุที่กระทบความมั่นคงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนลดลงอย่างชัดเจนอันเป็นผลบวกต่อการค้าการลงทุนและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวชายแดน ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช ไม่ได้ปฏิรูปกองทัพเลย จึงเสนอให้ปฏิรูปกองทัพให้มีสมรรถนะสูงสุดในการป้องกันประเทศโดยยึดหลักการดังนี้ กองทัพต้องยอมรับอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายและการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทหารต้องเน้นภารกิจหลัก โดยลดภารกิจที่ไม่ใช่กิจการของกองทัพ ทหารต้องเป็นทหารอาชีพและไม่แทรกแซงระบบการเมือง 
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า “รัฐธรรมนูญปี 2560 อาจสร้างปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งและทำให้สถาบันพรรคการเมืองอ่อนแอ ทำให้การเลือกตั้งขึ้นอยู่กับความนิยมในตัวบุคคลมากกว่านโยบาย ระบบการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ คสช ไม่สามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนได้ การรัฐประหารในปี 2557 เป็นความต่อเนื่องของรัฐประหารปี 2549 เป็นการต่อสู้กันระหว่างพลังอำนาจที่อิงระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง กับพลังอำนาจที่ไม่เชื่อในระบบเลือกตั้ง ทำอย่างไรที่จะทำให้การแข่งขันเชิงอำนาจอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่สูญเสียหลักการประชาธิปไตยและความมั่นคงของระบบการเมืองอันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคมสันติธรรม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งคืนความเป็นธรรมให้กับทุกคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมต้องได้รับการแก้ไข สร้างโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ลดปัญหาสองมาตรฐานในระบบยุติธรรมไทย” 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net