Skip to main content
sharethis

ข่าวรัฐบาลอินเดียตรวจสอบวุฒิปริญญาเอกจาก 'มหาวิทยาลัยมคธ' สะเทือนไทย หลังมีนักศึกษาเข้าไปเรียนในช่วงต้องสงสัย ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยคุยที่มาปัญหา เมื่อข้อกำหนดจากรัฐและค่านิยมในสังคมทำให้คนแสวงหา 'ดอกเตอร์' แบบไม่สมควรแก่ได้

 

ปัญญา มีขาย ที่นี่หรือ

จะแย่ง ซื้อได้ ที่ไหน

อย่างที่โก้ หรูหรา ราคา เท่าใด

จะให้พ่อ ขายนา มาแลกเอา

...

ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง

ฉันจึง มาหา ความหมาย

ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย

สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว

เป็นส่วนหนึ่งของ ‘เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน’ ที่หลายคนเคยผ่านหูผ่านตารู้จักสะท้อนทรรศนะคุณค่าและราคาของมหาวิทยาลัยของผู้แต่ง สถาบันอุดมศึกษา และดอกผลแห่งการศึกษา ก็คือปริญญา ถูกให้ความหมายในหลายแบบ เป็นกระดาษใบเดียวบ้าง เป็นใบผ่านทางสู่หน้าที่การงานและสถานะทางสังคมที่ดีกว่าบ้าง การตีความผลลัพธ์ทางการศึกษาที่แตกต่าง ทำให้มีสถานศึกษาและหลักสูตรสร้างประดิษฐกรรมที่สอดรับกับความต้องการวุฒิ

ผลการค้นหาใน Google เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2561

ปัจจุบันถ้าค้นหาคำว่า ‘วุฒิปลอม ตรวจสอบได้’ ใน Google จะพบเว็บรับทำวุฒิปลอมอยู่เรื่อยๆ แต่คำครหาเรื่อง ‘วุฒิจริง’ ที่ออกมาจากกระบวนการศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐานที่ถือเป็นเรื่อง ‘สีเทา’ และไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงแบบเสียงดังๆ อย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้คำครหาเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย

เมื่อเดือน เม.ย. ปีนี้  สื่อเดอะเทเลกราฟ และไทม์ออฟอินเดียรายงานว่า หิมันตา บิสวา ซาร์มา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของอินเดียถึงกับเรียกมหาวิทยาลัยมคธว่าเป็น ‘มหาวิทยาลัยปลอม’ ที่ออกปริญญาบัตรมาให้บัณฑิตที่ตอนนี้กำลังประกอบอาชีพอาจารย์ ข้าราชการ โดยตอนนี้กำลังจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบเรื่องนี้

ที่ผ่านมารัฐบาลได้เคยจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้แต่ไม่ได้คืบหน้าอะไรมาก เนื่องจากอาจารย์ใหญ่ของหลายวิทยาลัยไม่ได้ส่งบันทึกเรื่องวุฒิการศึกษาของอาจารย์ในวิทยาลัยให้คณะกรรมการ

“แต่ครั้งนี้เราตัดสินใจจะระงับเงินเดือนของพวกอาจารย์วิทยาลัยที่ไม่ส่งรายงานมา” ซาร์มากล่าว

ปัญหาปริญญาในอินเดียไม่ได้เพิ่งเกิด เมื่อปี 2559 สื่อไทม์ออฟอินเดียก็ได้รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นแคว้นคยา ที่ตั้งของพุทธคยา พุทธศาสนสถานชื่อดังในประเทศอินเดียได้ทำการตรวจสอบเรื่องการออกปริญญาดุษฎีบัณฑิตหรือเรียกอีกอย่างว่าปริญญาเอก จำนวนกว่า 300 ฉบับโดยมหาวิทยาลัยมคธว่ามีเรื่องของการคัดลอกงานวิชาการ (Plagiarism) นำเอาดุษฎีนิพนธ์ของคนอื่นมาวนใช้ แถมยังไม่ได้เข้าเรียนอีกด้วย โดยวุฒิดังกล่าวออกให้กับนักศึกษาจากหลายประเทศทั้งเกาหลี พม่า รวมถึงไทย ที่ศึกษาในหลักสูตรพุทธศาสนศึกษา (Buddhist Studies) ซึ่งมีข้อสงสัยว่าจะออกวุฒิลวงเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2554

เมื่อไทม์ออฟอินเดียติดต่อไปที่รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมคธ ศ. Md Ishtiaq ก็ไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธใดๆ ในกรณีความผิดปกติในการออกวุฒิปริญญาเอกให้ชาวต่างชาติ โดยระบุว่า ผู้ที่จะทำให้ความจริงปรากฏนั้นมีเพียงหน่วยงานสืบสวนที่เป็นมืออาชีพ เช่น สำนักงานสืบสวนสอดส่อง (Vigilance Investigation Bureau)

แหล่งข่าวจากแผนกการสอบวัดผลของมหาวิทยาลัยระบุว่า เอกสารสำคัญอย่างสำเนาพาสปอร์ตและวีซ่าของชาวต่างชาติที่ได้รับปริญญาเอกในสาขาพุทธศาสนศึกษา หายไปจากบันทึกของมหาวิทยาลัย ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจนำไปสู่การตั้งข้อหาในคดีฉ้อโกงได้

มหาวิทยาลัยมคธเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) หมายความว่าวุฒิจากมหาวิทยาลัยมคธสามารถใช้สอบบรรจุเข้ารับราชการได้ ข่าวจากอินเดียครั้งนี้จึงมีแนวโน้มจะหนาวมาถึงไทย เพราะถ้ากรรมการสืบสวนพบว่าเป็นเรื่องจริง ก็หมายความว่าทรัพยากรมนุษย์ทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชนได้วุฒิปริญญาเอกที่ต่ำกว่ามาตรฐานการศึกษาสากล นำไปสู่คำถามเรื่องอื่นๆ เช่น ศักยภาพด้านการทำงานและวิชาการที่แท้จริงของพวกเขาเหล่านั้น นอกจานั้น แก่นแท้ของปัญหาการแสวงหาปริญญาเอกแบบด่วนมาจากไหนก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่น่าถกเถียงกันต่อ

ระเบียบรัฐ ค่านิยมสังคม กับกระแสดอกเตอร์ทางด่วน

หากดูจากเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2558 โดยกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดหลักเกณฑ์ของบุคลากรทางวิชาการในระดับบัณฑิตศึกษาขึ้นไป จะพบว่าวุฒิปริญญาเอกเป็นหนึ่งในเงื่อนไขนอกจากประสบการณ์การทำงาน ผลงานทางวิชาการในหลายตำแหน่งตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ปริญญาโท และปริญญาเอก

นักวิชาการหลากสถาบันชี้ หลายหลักเกณฑ์ สกอ. ขัดการพัฒนาอุดมศึกษา

ในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิชาชีพ ปริญญาเอกเป็นวุฒิที่ระบุเป็นเงื่อนไขในตำแหน่งอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร ส่วนประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิชาชีพขั้นสูง ปริญญาเอกถูกระบุเป็นเงื่อนไขในตำแหน่งอาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร อาจารย์ผู้สอน

ในระดับปริญญาโท วุฒิปริญญาเอกถูกระบุเป็นหนึ่งในเงื่อนไขในตำแหน่งอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักและการค้นคว้าอิสระ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก

ในระดับปริญญาเอก มีการระบุว่าต้องการวุฒิปริญญาเอกในตำแหน่งอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ อาจารย์ประจำหลักสูตร ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก อาจารย์ผู้สอน

แม้จะมีเงื่อนไขอื่นในเรื่องผลงานทางวิชาการ ประสบการณ์การสอนหรือวุฒิและตำแหน่งทางวิชาการที่สามารถเทียบเท่าปริญญาเอกได้ แต่ปริญญาเอกก็ถูกใช้เป็นใบผ่านทางในการยกระดับ ขยับลำดับศักดิ์ หน้าที่การงานในทางวิชาการ

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย และอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปัจจุบันปริญญาเอกได้รับความสำคัญน้อยกว่าประสบการณ์ในโลกธุรกิจ แต่สังคมไทยยังคงก้าวไม่ผ่านค่านิยมเรื่องการเรียนสูง แต่มนุษย์มีเหตุผลในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไม่เหมือนกัน จึงมีมหาวิทยาลัยที่มาสอดรับกับความต้องการหลายแบบ จึงมีปรากฏการณ์เรื่องวุฒิที่ไม่มีคุณภาพ

“เพราะสังคมไทยให้ค่าใบปริญญา ต้องจบโท จบเอก คนก็ไม่ได้คิดจะเรียนโท หรือเอกเพื่อพัฒนาตัวเองทางวิชาการ คนเรียนเพื่อเอากระดาษไปนั้นมา คนจำนวนหนึ่งเมื่ออยู่ในการแข่งขันแบบนี้ก็ใช้เงินซื้อเอา จึงมีเคสไปเรียนอินเดีย เรียนมหาวิทยาลัยห้องแถวในอเมริกา หรือล่าสุดก็มีการจ้างทำวิจัย เปิดคอร์สทำวิจัยที่อบรมวันเดียวแล้วทำได้ มันคือคนไม่ได้ต้องการเรียนรู้ ต้องการใบปริญญาเพราะมองว่ามันเป็นพาสปอร์ตในการทำงาน ถ้าเราให้คุณค่าเรื่องพวกนี้ก็จะมีทรัพยากรมนุษย์ที่ล้มเหลวมาก ตอนนี้ผลมันชัดแล้วเพราะใบปริญญาไม่ได้มีผลกับการทำงานแล้ว ผมมองเห็นสัญญาณว่าองค์กรธุรกิจให้คุณค่ากับเรื่องพวกนี้น้อยลง แต่ค่านิยมในสังคมยังไม่เปลี่ยน มันยังเชื่อว่าต้องเหยียบขึ้นไปให้ได้ ต้องไปเรียนโทให้ได้ ตอนนี้การเรียนโทกลายเป็นเรื่องปรกติ ใครจบตรีแล้วยังไม่เรียนโทคือกลายเป็นโดนถามว่ายังไม่เรียนอีกเหรอ ทั้งที่คำถามจริงๆ คือเรียนไปทำไม เรียนโท เอกแล้วจะไปบุกเบิกความรู้อะไรให้สังคมเหรอ หรือจริงๆ อยากได้คำว่าดอกเตอร์นำหน้า มันก็จะกลายเป็นดอกเตอร์เฟ้อกันทั้งประเทศ ซึ่งก็เหมือนที่เกิดขึ้นในเวียดนามและหลายๆ ประเทศ สุดท้ายมันก็ไม่ได้การันตีว่าคุณเป็นคนเก่งหรือมีศักยภาพ”

“ความเป็นดอกเตอร์ไม่ได้อยู่กับเรานานนะ ปริญญานี่กระดาษใบเดียว แต่การเป็นคนที่มีความรู้ มีทักษะมันอยู่ในตัวเรา”

อรรถพลยังกล่าวว่า การนำเกณฑ์มาตรฐานเพียงเกณฑ์เดียวจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการมากำกับมหาวิทยาลัยทั้งหมดนั้นทำให้เกิดปัญหาเรื่องความคล่องตัวในการหาบุคลากรที่สอดคล้องกับหลักสูตร และสร้างข้อกังขาเรื่องศักยภาพในการบ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์เมื่อ ‘ดอกเตอร์’ กลายเป็นพาสปอร์ตในการเข้าทำงาน

“เป็นที่ถกเถียงกันเรื่องการมีหลักเกณฑ์เพียงเกณฑ์เดียวมันเป็นดาบสองคม เพราะมันทำให้การรับคนเข้าทำงานมีช่องว่างเรื่องความเหมาะสม ศักยภาพ ความสามารถ กันหน้าที่และความรับผิดชอบ เราจึงมีดอกเตอร์จบใหม่เยอะแต่ไม่พร้อมในการทำงาน อาจจะโปรไฟล์ดี อายุน้อย ทำวิจัยได้ตำแหน่งวิชาการตามเงื่อนไขที่มันต้องต่ออายุในสัญญา แต่ไม่ได้รับการยอมรับในทางวิชาการเพราะความเป็นเด็กดีของระบบ เขาบอกให้เรียนเอกก็เรียน ทำงานไปก็ได้ ผศ. มีตำแหน่งรุงรังนำหน้าชื่อ แต่สุดท้ายไม่ได้รับการยอมรับในวงวิชาการก็เหมือนฆ่าตัวตายทางวิชาการไปแล้ว ดังนั้น เวลา สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ออกเกณฑ์พวกนี้ก็เต็มไปด้วยความหวังดี แต่มันมีด้านมืดที่มองไม่รอบ”

“ตอนนั้นมันก็เต็มไปด้วยความหวังดีว่า ถ้าคุณไม่ได้จบเอกแล้วจะมาคุมวิทยานิพนธ์เด็กปริญญาเอกได้อย่างไร เพราะเราไปให้ค่าเรื่องวุฒิต้องเหนือกว่า ผมมั่นใจว่าปัญหานี้ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย แต่เกิดในประเทศอื่นๆ ด้วย เป็นกับดักเดียวกัน พอเชื่อว่าคนที่ยิ่งเรียนและทำวิจัยได้เยอะก็จะมีความลุ่มลึกในเนื้อหาสาขานั้นๆ หลายประเทศก็มีเนื้อหานี้เหมือนกัน และก็จำเป็นต้องรับคนในระดับวุฒิที่สูงกว่า แต่มันก็ทำก็ให้เกิดค่านิยมในการเรียนที่ผิดเพี้ยน เราจึงมีเด็กจำนวนมากที่มีเป้าหมายว่าอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เรียนจบปริญญาเอกก่อนอายุ 30 ปี แต่ไม่มีประสบการณ์อะไรมากไปกว่าชีวิตในการเรียน และบางสาขาวิชามันต้องการประสบการณ์ในสายงานเหล่านั้น เช่น คุณเรียนสังคมสงเคราะห์ มาเป็นคนทำงานเรื่องสวัสดิการสังคม แต่ไม่มีประสบการณ์กับชาวบ้านเลย คุณก็มีแต่ตำรา"

"มันก็เป็นดาบสองคมเวลาคุณออกเกณฑ์แบบเดียวแล้วไม่เปิดช่องให้มีความยืดหยุ่นกับสายวิชาชีพที่แตกต่างกัน...เช่น คนเป็นศิลปินแห่งชาติเขามีชั่วโมงบินและทำงานมาขนาดไหน มันเทียบเท่ากับดอกเตอร์อยู่แล้ว หรือคนเป็นศิลปินศิลปาธร ที่เป็นศิลปินรุ่นกลางหน่อยก็ควรจะสอนเด็กปริญญาโทได้ด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้วุฒิเขาปริญญาตรีก็สอนปริญญาโทไม่ได้ทั้งที่ทำละครมาไม่รู้กี่สิบเรื่อง ก็มีกรณีพี่ๆ ศิลปาธรบ้านเรา เช่นนาค พระจันทร์เสี้ยว ที่สอนตรีได้อย่างเดียว สอนโทไม่ได้ เพราะเขาไม่จบโท ทั้งที่ในชีวิตกำกับละครมาเป็นร้อยเรื่อง ชั่วโมงบินขนาดนี้ (ถ้าเป็น) ฝรั่งเขาให้คุณค่ากับประสบการณ์ ไม่ใช่ใบปริญญา

ถ้าคุณใช้วิธีการนี้คุณก็ต้องเจอคนจบดอกเตอร์ด้านดนตรีถึงจะมาสอนดนตรี แล้วคนที่เป็นศิลปินหรือนักดนตรีมาทั้งชีวิต มีประสบการณ์ มีทักษะจะมาสอนไม่ได้เหรอ

เรื่องดอกเตอร์ตามหลักสูตรมันก็เป็นกระจกสะท้อน เพราะมหาวิทยาลัยจำนวนมากก็ลักไก่เอาคนจบวุฒิไม่ตรงมาสอน ขอเปิดๆ ไปก่อน การดีไซน์ระบบก็ควรทำให้คนในระบบมีความรับผิดรับชอบด้วย ตอนนี้ระบบถูกออกแบบมาให้แก้ปัญหา แก้แล้วก็เจอปัญหาใหม่”

อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่าควรให้แต่ละคณะวิชามีเกณฑ์การรับคนตามความเหมาะสมของตนเอง กฎเกณฑ์จากส่วนกลางควรมีลักษณะกลางๆ ไม่ผูกมัดมาก เพราะแต่ละสาขาวิชาต่างมีวิถีและแนวทางบ่มเพาะทางวิชาการก่อนจะเป็นอาจารย์ไม่เหมือนกัน

“จริงๆ ต้องให้แต่ละคณะวิชามีเกณฑ์การรับคนของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน สกอ. ต้องเป็นแพลตฟอร์มกลางๆ อย่าไปมัดมือมาก สมัยผมเป็นนิสิต อาจารย์ผมแต่ละคนมีประสบการณ์การทำงานถึงได้มาสอนพวกเรา เคยเป็นครูใหญ่โรงเรียนมาก่อนจึงมาสอนบริหารการศึกษา ตอนนี้กลายเป็นเรียนรวดเดียวแล้วมาเป็นอาจารย์ พอประสบการณ์น้อย แล้วยิ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นวิชาชีพที่ต้องการประสบการณ์ ชั่วโมงบินในการทำงานวิจัย มันต้องถูกบ่มเพาะขึ้นมา ไม่ใช่ว่าเรียนตรีสี่ปี เรียนโทสองปี เอกอีกสามปีแล้วพร้อมใช้งาน มันต้องการเวลาในการลงหลักปักฐานทางวิชาการ ต้องมีระบบสนับสนุนให้เขาเติบโต วิธีคิดของ สกอ. ที่ทื่อๆ แบบให้คนจบ ป.เอกมาสอนโท สอนตรีมันใช้งานไม่ได้แล้วกับโลกยุคปัจจุบัน”

เหตุผลหลากหลายในการไขว่คว้าคำนำหน้าว่า ‘ดอกเตอร์’ คงไม่ผิดและไม่ถูก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสริมศักยภาพทางวิชาการ หาองค์ความรู้ใหม่ให้กับสังคม หรือเป็นบันไดเลื่อนหน้าตาทางสังคมและหน้าที่การงาน แต่คุณภาพของการได้มาซึ่งวุฒิ และโครงสร้างที่ทำให้คนมุ่งมั่นหาดอกเตอร์แบบไม่ควรค่าแก่การได้ควรถูกตรวจสอบและพิจารณา ไม่เช่นนั้นดอกเตอร์เกลื่อนเมืองคงไม่ได้ทำให้ประเทศไทยฉลาดขึ้น และอาจจะยิ่งผลิตซ้ำค่านิยมการหาคำนำหน้าชื่อต่อไป

ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว (ก็พอใจแล้ว?)

แปลและเรียบเรียงจาก

Panel to detect fake PhDs, The Telegraph, Apr 9, 2018

Fake PhD degrees under government scanner, The Times of India, Apr 12, 2018

300 Magadh University PhD degrees under cloud, The Times of India, Mar 2, 2016

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net