ไอลอว์ ระบุว่า นับตั้งแต่เข้ายึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค. 2557 คสช. ออกประกาศและคำสั่ง คสช. รวมอย่างน้อย 335 ฉบับ และในเวลาต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 ถูกประกาศใช้ในวันที่ 22 ก.ค. 2557 หรือสองเดือนเต็มหลังการยึดอำนาจ หัวหน้า คสช. ก็อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. อีกอย่างน้อย 188 ฉบับ (นับถึง 21 พ.ค. 2561) รวมแล้ว คสช. และหัวหน้า คสช. ให้อำนาจออกประกาศคำสั่งรวมอย่างน้อย 525 ฉบับ
ประกาศและคำสั่งจำนวนมากถูกนำมา
ใช้จำกัดสิทธิทางการเมืองของประชาชน เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งห้ามและกำหนดโทษสำหรับที่ที่ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรียกบุคคลมากักตัวเพื่อ "พูดคุย" และกำหนดโทษผู้ไม่ยอมมาตามคำสั่งเรียก คำสั่งนี้มักถูกหยิบใช้กับผู้แสดงความเห็นต่างจากคสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 ซึ่งงดเว้นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทุกระดับ เป็นต้น ขณะที่ประกาศคสั่งบางส่วน เช่น คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 และ 66/2557 ซึ่งเป็นเรื่องนโยบายทวงคืนผืนป่าก็ส่งผลกระทบต่อสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของประชาชน
จำนวนของประกาศ-คำสั่งคสช.และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ถูกออกมามากกว่า 500 ฉบับหรือเฉลี่ย 125 ต่อปีตลอดระยะเวลาที่ คสช. ยึดอำนาจและบริหารประเทศ ทางหนึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็นความพยายามของ คสช. พยายามจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่ประเทศนี้เผชิญอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพแนวคิดการแก้ปัญหาแบบอำนาจนิยมที่เลือกใช้ "อำนาจพิเศษ" ในการแก้ไขปัญหาแทนที่จะใช้กลไกปกติอื่นๆหรือสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย
ขณะที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น ไอลอว์ รายงานว่า เริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 7 ส.ค.2557 ในแง่ขององค์ประกอบอาจกล่าวได้ว่า สนช. คือ แหล่งรวมของข้าราชการสูงอายุ ในจำนวนสมาชิก สนช. 248 คนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน (21 พค 2561) มีข้าราชการทหาร 73 คน ตำรวจ 11 คน และข้าราชการอื่นๆอีก 66 คน รวม 150 คนจากสมาชิกสภาทั้งหมด 248 คน ขณะที่อายุเฉลี่ยของสนช.ชุดปัจจุบันก็อยู่ที่ 65 ปี โดยสมาชิกที่อาวุโสที่สุดมีอายุ 93 ปี
ตลอดระยะเวลาประมาณสามปีเก้าเดื
อนที่ สนช. ปฏิบัติหน้าที่มีการผ่านกฎหมายออกมาอย่างน้อย 292 ฉบับหรือเฉลี่ยปีละ 73 ฉบับ ในจำนวนนี้มี 17 ฉบับ ที่ใช้เวลาพิจารณาผ่านเป็นกฎหมายสามวาระรวดโดยใช้เวลาเพียงวันเดียว เช่น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 63) พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน เป็นต้น โดยในกรณีของการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สงฆ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 29 ธันวาคม 2559 สนช.ใช้เวลาแก้ไขกฎหมายดังกล่าวสามวาระรวดโดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง 10 นาที http://www.nationtv.tv/main/content/378529075/
ไอลอว์ ยังมีข้อน่าสังเกตด้วยว่า สนช. เคยให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับงบประมาณมหาศาลอย่างน้อยสามฉบับโดยใช้เวลาพิจารณาเพียงวันเดียว ได้แก่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณฯ รวมสามฉบับ โดยพิจารณาแบบสามวาระรวดในวันเดียว ครั้งแรกคือการผ่าน"ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559" อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม 59,000,000,000 บาท ครั้งที่สองอนุมัติ "ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560" วงเงิน 190,000,000,000 บาทและครั้งที่สามผ่าน"ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561" อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมวงเงิน 150,000,000,000 บาท