Skip to main content
sharethis
ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด 'รพิพรรณ' ภรรยาของ อริสมันต์ ร่ำรวยผิดปกติกว่า 42 ล้านบาท ส่งสำนวนให้ อัยการสูงสุดฟ้องยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน พร้อม  ชี้มูลความผิดหัวหน้าสนง.จังหวัดพิษณุโลกพร้อมพวกทุจริตจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ทั้งอาญาและวินัยร้ายแรง
 

21 พ.ค.2561 วันนี้ วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด รพิพรรณ พงศ์เรืองรอง ภรรยาของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.กรณีเข้ารับตำแหน่ง กรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี  โดย ป.ป.ช.ตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางบัญชีกรณีเข้ารับตำแหน่งกับกรณีพ้นจากตำแหน่ง พบว่า รพิพรรณ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่า 21 ล้านบาท (21,534,084.34 บาท) จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของ รพิพรรณ โดยมี สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ

วรวิทย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีเงินฝาก รพิพรรณ พบว่าทำรายการฝากเงินและถอนเงินออกจากบัญชีจำนวนมาก และยังพบการซื้อทรัพย์สินระหว่างดำรงตำแหน่งจำนวนมาก อันเป็นพฤติการณ์โอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สิน จึงมีคำสั่งอายัดบัญชีเงินฝาก ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และยานพาหนะ รวมมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท (15,545,143.33 บาท) ซึ่ง รพิพรรณ ไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ รวมมูลค่ากว่า 42 ล้านบาท (42,816,226.64 บาท) ประกอบด้วย บัญชีเงินฝาก 6 บัญชี จำนวนกว่า 27 ล้านบาท (27,618,954.64 บาท) ที่ดิน 3 แปลง มูลค่ากว่า 9 ล้านบาท (9,492,000บาท) สิ่งปลูกสร้าง 1 หลัง มูลค่า 2 ล้านบาท รถยนต์ 1 คัน มูลค่า 1.8 ล้านบาท และเงินที่นำมาชำระหนี้เงินกู้ธนาคาร 1.9 ล้านบาท ดังนั้น ป.ป.ช. จึงส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อยึดทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 38 หากไม่สามารถบังคับคดีเอาทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของ รพิพรรณได้ ป.ป.ช.จะขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นภายในอายุความ 10 ปี

ชี้มูลความผิดทุจริตจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ทั้งอาญาและวินัยร้ายแรง

วันเดียวกัน เลขาธิการ ป.ป.ช. ยัง แถลงว่า ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดว่าที่ร.ต.สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก กรณีทุจริตโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจค้นยาเสพติด หรือ อัลฟ่า6  โดยวิธีพิเศษ ในวงเงิน 1,650,000 บาท ซึ่งเป็นการลงนามแทนผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งที่ไม่มีอำนาจ โดยขั้นตอนการจัดซื้อ ว่าที่ร.ต.สุรศักดิ์ได้นำใบเสนอราคาของบริษัท แอม เบส พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งไม่เคยจำหน่ายเครื่องตรวจค้นยาเสพติด แต่นำมาเป็นคู่เปรียบเทียบกับบริษัท เอ็ม-แลนดาร์ซ จำกัดที่เสนอราคาถูกกว่า

เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า คณะกรรมการจัดซื้อไม่เคยสืบราคาจากบริษัทต่างๆ แต่มีความเห็นว่าบริษัทเอ็ม-แลนดาร์ซ จำกัดเสนอราคาต่ำที่สุด จึงอนุมัติให้จัดซื้อเครื่องอัลฟ่า6 จำนวน 1 เครื่อง พร้อมลงโปรแกรมให้สามารถตรวจสารเสพติดได้ 6 ชนิด นอกจากนี้ยังพบว่าว่าที่ร.ต.สุรศักดิ์ยังเป็นกรรมการตรวจรับเพียงคนเดียวจากจำนวนกรรมการทั้งหมดที่ต้องมี 3 คน โดยสั่งให้ ขวัญชัย คำชุ่ม กรรมการตรวจรับอีกคนมาลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุภายหลัง ขณะที่หลังการจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า6 ได้นำไปทดสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ทดสอบเฉพาะการตรวจหายาบ้าเพียงชนิดเดียว
 
“คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติชี้มูลความผิดว่าที่ร.ต.สุรศักดิ์มีความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86, มาตรา 162 (1), (4) ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 162 (1), (4) ประกอบมาตรา 84 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” วรวิทย์ กล่าว
 
เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า ส่วน วีระกิตติ์  อินทรประสิทธิ์ ประธานกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1), (4) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และ ทรงศักดิ์ ภูมิผล กรรมการตรวจรับพัสดุ มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1), (4) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และให้กัน นางหทัยกาญจน์ แปงแก้ว กรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และ ขวัญชัย คำชุ่ม กรรมการตรวจรับพัสดุ เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี
 
เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า สำหรับเรื่องร้องการทุจริตการจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 และจีที 200 เกิดขึ้นหลัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องอัลฟ่า 6 ซึ่งปรากฎว่าไม่มีประสิทธิภาพตามคุณลักษณะ จึงนำมาสู่การยื่นเรื่องร้องเรียนต่อป.ป.ช. เมื่อปี 2555 โดยป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวน 12 คดีและพิจารณาชี้มูลแล้วเสร็จ 1 เรื่อง คือการจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ของ จ.พิษณุโลก ซึ่ง จะนำสำนวนคดีนี้เป็นแนวทางในการไต่สวนสำนวนคดีที่เหลืออีก 11 คดี
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net