เหตุใดแผนประชุมสุดยอดสหรัฐ-เกาหลีเหนือจึงล่ม ท่าทีเปียงยางหรือสายเหยี่ยวรบ.สหรัฐ?

หลังแผนเจรจาสุดยอดผู้นำสหรัฐ-เกาหลีเหนือมีอันต้องพับไป สาเหตุของเรื่องนี้เป็นเพราะการต่อรองของเกาหลีเหนือประเภทไม่ยอมเร่งขจัดนิวเคลียร์ หรือเป็นเพราะสายเหยี่ยวในรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ที่พยายามจะบีบให้เกาหลีเหนือขจัดนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิงแต่ฝ่ายเดียว

ที่มาของภาพประกอบ: Wikipedia

ในวันพฤหัสบดี (24 พ.ค.) ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ยกเลิกแผนเจรจาสุดยอดกับผู้นำเกาหลีเหนือ คิมจองอึน ในวันที่ 12 มิถุนายน โดยทรัมป์ ได้ส่งจดหมายแจ้งให้ คิมจองอึน ทราบเรื่องนี้แล้ว จดหมายดังกล่าวที่เปิดเผยโดยทำเนียบขาว ระบุว่า

"จากความโกรธเคืองอย่างมากมายและความเป็นปรปักษ์ที่ปรากฎอยู่ในแถลงการณ์ล่าสุดของผู้นำ คิม จอง อึน ตนจึงรู้สึกว่าเวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการพบเจรจาตามแผนที่วางไว้อย่างยาวนาน"

ประธานาธิบดีทรัมป์ ระบุในจดหมายถึงผู้นำเกาหลีเหนือด้วยว่า "ผู้นำคิมเอาแต่พูดถึงศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ แต่สหรัฐฯ นั้นมีอาวุธนิวเคลียร์ที่มากมายและทรงพลัง ซึ่งแม้แต่ตนเองก็ยังต้องอ้อนวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าว่าอย่าให้ถึงเวลาที่ต้องใช้นิวเคลียร์เหล่านั้น" และยังระบุด้วยว่า "หากเกาหลีเหนือเปลี่ยนใจ และยังต้องการให้เกิดการประชุมสุดยอดที่มีความสำคัญอย่างที่สุดนี้จริงๆ ก็อย่าได้ลังเลที่จะโทรศัพท์หรือเขียนจดหมายมาหาตน"

"โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกาหลีเหนือ ได้สูญเสียโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับการสร้างสันติภาพที่ยืนยาว และความมั่งคั่งรุ่งเรือง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์" ทรัมป์อ้าง

อนึ่งในวันพฤหัสบดี เกาหลีเหนือเพิ่งปิดสถานที่ทดสอบนิวเคลียร์ Punggye-ri เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี

ทั้งหมดนี้ทำให้การหารือระหว่างสองผู้นำสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ มีอันต้องพับไป อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ฝ่ายเกาหลีเหนือดูจะส่งสัญญาณแสดงให้เห็นว่าการเจรจานิวเคลียร์เกาหลีเหนืออาจจะเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น เรื่องนี้เป็นเพราะการต่อรองของเกาหลีเหนือเอง? เป็นเพราะสายเหยี่ยวสหรัฐฯ? แม้กระทั่งปัจจัยจากเกาหลีใต้ก็มีส่วนทำให้เกิดขึ้น? มีสื่อต่างประเทศและนักวิชาการหลายสำนักวิเคราะห์เอาไว้ดังนี้

การประชุมล่ม เพราะเกาหลีเหนือไม่พอใจสหรัฐฯ
หรือสาเหตุจากสายเหยี่ยวในรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์?

ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว เกาหลีเหนือขู่ว่าจะยกเลิกการประชุมหารือกับโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ในเรื่องความขัดแย้งอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดในวันที่ 12 มิ.ย. โดยรองนายกรัฐมนตรีของเกาหลีเหนือออกแถลงการณ์ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์และจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ คนปัจจุบัน โดยกล่าวหาว่าบุคคลเหล่านี้พยายามจะบีบให้เกาหลีเหนือขจัดโครงการนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิงแต่ฝ่ายเดียว รวมถึงขู่ว่าจะไม่ไปร่วมประชุมหารือกับสหรัฐฯ ในเรื่องนี้

ขณะที่เรื่องนี้อาจจะมองได้ว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การต่อรองจากฝ่ายเกาหลีเหนือ เช่นนี้ ไมเคิล เจ กรีน รองประธานอาวุโสแผนกเอเชียของศูนย์เพื่อการศึกษาวิจัยยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CSIS) เคยประเมินไว้ บทความ "มองแง่ร้ายกรณีสันติภาพเกาหลีเหนือ อาจจะกลายเป็นการเดินตามเกมคิมจองอึน" เมื่อเดือนเมษายน แต่ก็มีนักวิเคราะห์อีกหลายคนที่มองว่าปัญหาในเรื่องนี้อาจจะมาจากท่าทีของสหรัฐฯ เอง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

อิชาน ทารูร์ ผู้เขียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวอชิงตันโพสต์ระบุถึงเรื่องนี้โดยเปรียบเทียบกับกรณีที่รัฐบาลทรัมป์ต้องการนำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่าน โดยอ้างว่าเพราะข้อตกลงเดิมที่ประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ลงนามร่วมกับอิหร่านยังกดดันพวกเขาไม่มากพอ

แต่เจเรมี ชาร์ปิโร นักวิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปก็มองว่าข้อเรียกร้องกดดันอิหร่านจากฝ่ายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ดูเหมือน "เรียกร้องให้พวกเขายอมจำนนแบบไม่มีเงื่อนไข มากกว่าจะเป็นการพยายามเจรจาต่อรอง" ขณะที่ฝ่ายอิหร่านมองว่าสหรัฐฯ กำลังถดถอยกลับไปสู่การเป็นมหาอำนาจจอมอันธพาล

เรื่องนี้โยงได้กับกรณีเกาหลีเหนือในแง่ที่ว่ารัฐบาลทรัมป์เคยแสดงการชื่นชมต่อแผนการ "กดดันเกาหลีเหนืออย่างถึงที่สุด" เช่นกัน นั่นอาจจะทำให้เกาหลีเหนือแสดงท่าทีอย่างที่เห็น แต่ในขณะเดียวกันสื่อหลายแห่งก็ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงคนใหม่ของสหรัฐฯ จอห์น โบลตัน เป็นคนที่ทำตัวจ้องจะหาเรื่องเกาหลีเหนือ จนแม้แต่เจ้าหน้าที่ผู้ใกล้ชิดกับยังบอกว่าคนของทางการเกาหลีใต้ไม่ว่าจะฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายเสรีนิยมต่างก็ไม่ชอบโบลตัน และมองว่าโบลตันเป็นคนอันตรายที่พยายามปลุกปั่นให้มีสงครามคาบสมุทรเกาหลีอีก

วูซังโฮ ส.ส. ในพรรคประชาธิปไตยเกาหลีของรัฐบาลมุนแจอินแสดงความเห็นไม่ไว้ใจโบลตันเช่นกัน เขาบอกว่าการที่โบลตันกล่าวถึง "ลิเบียโมเดล" ในฐานะแนวทางพูดคุยเรื่องนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือเป็นเรื่อง "น่าขัน" และเป็นเหตุที่ทำให้เกาหลีเหนือกล่าวโต้ตอบในทำนองไม่อยากเจรจากับสหรัฐฯ

คอมมอนดรีมส์รายงานว่าโบลตันเป็นคนที่มีประวัติมายาวนานในการเรียกร้องให้สหรัฐฯ โจมตีเกาหลีเหนือก่อนมาตั้งแต่สมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช ทำให้เขาดูมีภาพลักษณ์เป็นคนกระหายสงคราม ซึ่งทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้รู้เรื่องนี้ดี

ขณะที่โรเบิร์ต อี เคลลี นักวิเคราะห์ประเด็นคาบสมุทรเกาหลีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติปูซานของเกาหลีใต้กล่าวว่าเรื่องนี้ต้องกล่าวย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนที่ประธานาธิบดีมุนแจอินของเกาหลีใต้ได้รับตำแหน่งใหม่ๆ ในเดือนพฤษภาคม 2560 ในตอนนั้นทรัมป์กำลังขู่เกาหลีเหนือเต็มที่ ทำให้มุนแจอินต้องพยายามหาวิธีคลายความตึงเครียดระหว่างสองประเทศให้ได้ แม้จำเป็นจะต้องหาวิธีเอาใจทั้งสองฝ่าย

เคลลีระบุว่าจากเรื่องนี้ทำให้มีการพยายามล่อทรัมป์ด้วยการให้เครดิตหรือแม้กระทั่งรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้เองจะพยายามไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่ายอย่างไรก็ตาม มันก็มีเรื่องที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้คือเรื่องที่ทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือต้องอะไรไปคนละทิศละทาง แต่สิ่งที่เกาหลีใต้พยายามทำมาตั้งแต่ปีที่แล้วก็เป็นการเดิมพันไม่ให้สหรัฐฯ ทำสงครามกับเกาหลีเหนือเท่านั้น

สำหรับเรื่องการเจรจาสุดยอดผู้นำ เคลลีมองว่ามีความเป็นไปได้ที่มันจะไม่ราบรื่น ส่วนหนึ่งเพราะโวหารของทรัมป์และกลุ่มสายใช้กำลังในรัฐบาลทรัมป์ทำให้อะไรๆ ดูแย่ลงไปด้วย เคลลีมองว่าแม้แต่การเลื่อนการเจรจาออกไปก็อาจจะมีความเสี่ยงในตัวมันเอง เพราะสำหรับรัฐบาลเกาหลีใต้แล้วการเลื่อนเจรจาจะเปิดทางให้โบลตันแสดงออกมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ประเมินว่าทรัมป์เองก็อาจจะฉวยใช้โอกาสนี้ในการเรียกร้องความสนใจเพื่อทำให้ตัวเองดู "ชนะ" ทางการเมืองและสามารถกลบเรื่องปัญหาอื้อฉาวต่างๆ ในบ้านตัวเองไปในตัวด้วย

เรียบเรียงจาก

Trump Calls Off Upcoming North Korea Summit, VOA, 24-05-2018

The White House’s wishful thinking on Iran and North Korea, The Washington Post, 22-05-2018

North Korea threatens to cancel Trump summit, reminds world it really loves its nukes, Vox, 16-05-2018

As Trump-North Korea Talks Falter, South Korea Says 'Landmine' John Bolton to Blame, Common Dreams, 21-05-2018

Why Trump’s North Korea summit is going off the rails, explained by an expert, Vox, 21-05-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท