Skip to main content
sharethis
สื่อ 'เบนาร์นิวส์' ระบุ โฆษกองค์กรมาราปาตานี เผยแพร่บทความ “การเจรจาถึงทางแยกอีกครั้ง” ระบุว่าคณะกรรมการทางเทคนิคฝ่ายไทยปฏิเสธการลงนามในเอกสารข้อตกลงในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เซฟเฮ้าส์ และคณะกรรมการทำงานร่วมในพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าการเจรจายังอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน จึงไม่จำเป็นต้องมีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยนั้นจำเป็นต้องยืดเวลาออกไป
 
สำนักข่าวเบนาร์นิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 ว่านายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮากิม โฆษกองค์กรมาราปาตานี ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “การเจรจาถึงทางแยกอีกครั้ง” โดยกล่าวว่า คณะกรรมการทางเทคนิคฝ่ายไทยปฏิเสธการลงนามในเอกสารข้อตกลงในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เซฟเฮ้าส์ และคณะกรรมการทำงานร่วมในพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าการเจรจายังอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน จึงไม่จำเป็นต้องมีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยนั้นจำเป็นต้องยืดเวลาออกไป
 
นายอาบู ฮาฟิซ ได้ส่งบทความถึงผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 23 พ.ค. โดยได้กล่าวว่า ทีมเทคนิคร่วมของสองฝ่ายได้เจรจากันครั้งหลังสุด เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ของปีนี้ ซึ่งเป็นการพิจารณาการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เซฟเฮ้าส์ และคณะกรรมการทำงานร่วมในพื้นที่ ก่อนที่นำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบ ในการเจรจาของคณะพูดคุยชุดใหญ่ ซึ่งสำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข เป็นผู้อำนวยความสะดวกที่ฝ่ายรัฐบาลมาเลเซียจัดตั้งขึ้นมา
 
“มีการประชุมกันของคณะกรรมการทางเทคนิคของสองฝ่าย เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2561 เป็นการพิจารณาการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เซฟเฮ้าส์ และคณะกรรมการทำงานร่วมในพื้นที่ ก่อนที่จะส่งต่อให้คณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข (Joint Working Group-Peace Dialogue Process - JWG-PDP) เพื่อการรับรองก่อนหน้าที่จะมีการลงมือจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย สองฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกันถึงการกำหนดวัน ที่จะมีการประกาศการจัดตั้งอย่างคร่าวๆ แต่มสามารถตกลงกันได้ในการลงนามในเอกสารความตกลง ฝ่ายไทยแย้งว่าการเจรจายังอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน จึงไม่จำเป็นต้องมีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร” นายอาบู ฮาฟิซ กล่าวในบทความ
 
ทางด้าน พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ แต่เพียงว่า มาราปาตานี สามารถแถลงถึงความคืบหน้าในการเจรจาได้ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดถึงข้อกล่าวอ้างของนายอาบู ฮาฟิซ
 
“เขาแถลงของเขาไป เราก็แถลงของเรา มีการดำเนินการก็ต้องมีการชี้แจง มีการประชุม มีการแถลงให้ทราบ ทุกอย่างของกระบวนการพูดคุยยังเดินหน้า ทุกฝ่ายยังปฏิบัติภารกิจปกติ ทุกอย่างมีความคืบหน้า” พลเอกอักษรา กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับเบนาร์นิวส์
 
ในก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า จะมีการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง
 
ความไม่แน่นอนหลังมหาเธร์คืนสู่อำนาจ
 
ในบทความดังกล่าว นายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮากิม ได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศมาเลเซีย โดยพรรคนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด เอาชนะพรรคการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ไปได้อย่างถล่มทลายเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะมีผลกระทบต่อการเจรจาสันติภาพ
 
“เมื่อพูดถึงกระบวนการพูดคุย ย่อมได้รับผลกระทบไม่โดยทางใดก็ทางหนึ่ง จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของมาเลเซียหรือไทยก็ตาม ซึ่งเป็นความจริง เช่นเดียวกับการที่ทหารไทยยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2557 และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในมาเลเซียในตอนนี้ คงมีผลกระทบบางอย่างต่อกระบวนการพูดคุย” นายอาบู ฮาฟิซ กล่าว
 
ในปี 2556 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พยายามดำเนินการเจรจากับฝ่ายกองกำลังแบ่งแยกดินแดน โดยการสนับสนุนของรัฐบาลของนายนาจิบ ราซัค ในขณะนั้น โดยมาเลเซีย รับเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาให้กับทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งถึงสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่ายขบวนการส่วนหนึ่ง ได้ก่อตั้งองค์กรร่มขึ้นมาชื่อว่า มาราปาตานี เพื่อเจรจากับรัฐบาลไทย เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 โดยมี ดาโต๊ะซัมซามิน เป็นผู้ดูแลผ่านทางสำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข ซึ่งการเจรจาได้สะดุดลงเป็นช่วงๆ
 
นายอาบู ฮาฟิซ กล่าวว่า ในเดือน ก.ย. 2556 คณะกรรมการทางเทคนิคร่วมของสองฝ่าย ได้ตกลงในเงื่อนไข (ทีโออาร์) ในการจะจัดตั้งเรื่องพื้นที่ปลอดภัยและได้มีการพูดคุยกันมา สิบเก้าเดือนหลังจากนั้น ได้มีการบรรลุกรอบทั่วไปในการตั้งพื้นที่ปลอดภัย การจัดตั้งเซฟเฮ้าส์ และคณะกรรมการทำงานร่วมในพื้นที่ ซึ่งรวมเงื่อนไขการปล่อยตัว “นักโทษการเมืองชาวมลายูด้วย
 
ด้าน พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 ว่า กระทรวงยุติธรรม กำลังดำเนินการเรื่องการพักโทษนักโทษสามรายอยู่ และกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมาเลเซีย ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการพูดคุยมากนัก
 
“การพูดคุย เป็นเรื่องของนโยบายเป็นความร่วมมือระหว่างสองประเทศ การเปลี่ยนรัฐบาลก็ถือว่ามีผลกระทบบ้าง... ปัจจุบันโลกแสวงหาสันติภาพอยู่ แนวทางการพูดคุยถือว่าเป็นแนวทางสันติวิธี เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ย่อมดำเนินวิธีที่ถูกต้อง เพราะเรื่องนี้ เป็นผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ" พล.อ.อักษรา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
 
ชาวบ้านอย่างนายอับดุลปอซู เจ๊ะแมเราะ อายุ 58 ปี ชาวบ้านในอำเภอสุไหงปาดี นราธิวาส กล่าวว่า ตนเองไม่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีมหาเธร์ จะเดินหน้าการพูดคุยฯ
 
“นายกมาเลเซีย มีนโยบายที่ค่อนข้างแข็งกร้าวและเป็นคนที่ชาญฉลาดในการเดินหมาก เรื่องใดที่จะส่งผลกกระทบต่อประเทศเขา คำนวณแล้วเสียเปรียบ เขาจะไม่ทำแน่นอน เพราะมีหลายอย่างที่ซับซ้อนเกี่ยวกับกลุ่มขบวนการในมาเลเซีย” นายอับดุลปอซู กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net