Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
 
ภาพบรรยากาศ นักเรียนและผู้ปกครองมุสลิมมอบดอกไม้ให้ผู้อำนวยการและคณะครูโรงเรียนอนุบาลปัตตานีแทนการขอบคุณที่พวกเขาได้สวมใส่ฮิญาบเข้าเรียนได้ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นข่าวดังในโลกโซเซียลว่าเขาไม่สามารถแต่งได้  จนทำให้รัฐโดยรัฐบาลส่วนหน้าเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องหิญาบโดยนำเรื่องกฎระเบียบกระทรวงที่อนุญาตให้มุสลิมแต่งกายฮิญาบเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลปัตตานี (โรงเรียนของรัฐ)ได้ก่อนจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่เพิ่มดีกรีความรุนแรงชายแดนใต้เหมือนเหตุประท้วงที่ยะลา เมื่อ 30 กว่าปีที่วิทยาลัยครูยะลาขณะนั้นไม่อนุญาตให้มุสลิมสวมฮิญาบเข้าเรียน (โปรดอ่านรายละเอียดใน https://www.isranews.org/south-news/other-news/66105-apparel.htm)

ความเป็นจริงถึงแม้การใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ  และกฎกระทรวงที่อยู่เหนือระเบียบโรงเรียนเข้ามาแก้ปัญหาอาจเป็นทางออกหนึ่ง  แต่ลึกๆแล้วความขัดแย้งทางความรู้สึกแพ้ชนะแต่ละฝ่ายที่มีกองเชียร์ (สามารถดูได้จากกระแสโลกโซเซียล)กำลังคุกกรุนที่พร้อมจะระเบิดหากไม่สามารถใช้กระบวนการเสวนาอย่างมีศาสตร์และศิลป์ของข้องกังวลอีกฝ่ายได้และพร้อมจะเป็นเชื้อปะทุโหมกระหน่ำไฟใต้ได้ตลอดเช่นกันดังที่มีเเถลงการณ์ของชาวพุทธกลุ่มหนึ่งเเละพระส่วนหนึ่งประกาศไม่ยอมพร้อมสู้กับประกาศที่เขามองว่าขาดความชอบธรรม(โปรดอ่านรายละเอียดใน https://www.isranews.org/content-page/67-south-slide/66220-monk.html)
 
นายแพทย์ Fahmi Talebได้ตั้งข้อเกตปรากฏการณ์ฮิญาบครั้งนี้ผ่านเฟสส่วนตัวว่า   มีเรื่องชวนคิด จากเหตุการณ์เรื่องฮิญาบของรร.อนุบาล ปัตตานีเรื่องแรก คือ อิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย   ประเด็นเรื่องฮิญาบในสถานศึกษา ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น สมัย 30 ปี ก่อน มีประท้วงใหญ่    โรงเรียนอนุบาลปัตตานี เป็นโรงเรียนรัฐ ที่มีนักเรียนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนไทยพุทธ ครูก็เช่นกัน ตั้งอยู่ใจกลางเมืองปัตตานี อยู่ตรงข้ามวัด บริบททั้งหมดเหมาะสมแก่การศึกษาของบุตรหลานชาวไทยพุทธและชาวจีนในพื้นที่ ส่วนนักเรียนมุสลิมที่เข้าเรียนที่นี่ มักเป็นคนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง ลูกหลานของนักธุรกิจ หรือข้าราชการ   ภรรยาผมก็เป็นศิษย์เก่าที่โรงเรียน เข้าใจสภาพโรงเรียนดี   นักเรียนมุสลิมสมัยก่อนๆ ไม่ได้มาจากครอบครัวสาย Islamic conservative หรืออนุรักษ์นิยมตามวิถีอิสลาม   ส่วนครอบครัว Islamic conservative หรือ ชาวบ้านมุสลิมทั่วไปๆ ในตัวเมืองปัตตานี ก็มักหาตัวเลือกอื่นในการเรียนประถมศึกษาให้ลูกอยู่แล้ว  ก่อนหน้านี้หลายสิบปี ที่ไม่เคยมีปัญหา เพราะผู้ปกครองมุสลิมที่เข้าเรียนโรงเรียนอนุบาล ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากเรื่องฮิญาบ ซึ่งเป็นไปตามระดับความเคร่งครัดของครอบครัว ดังนั้นจึงไม่เคยมีปัญหาเรื่องเหล่านี้ หรืออาจมี แต่ผู้ปกครองที่อยากให้ใส่คงไม่ได้คัดค้านอะไรมากนัก
 
ปัจจุบัน ชนชั้นกลางมุสลิมมีมากขึ้น รวมถึงสื่อการสอนศาสนาผ่านโลกออนไลน์มีมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงในด้านความเคร่งครัดในศาสนาของคนชั้นกลาง โดยผ่านตัวกลางคือสื่อออนไลน์ก็มีมากขึ้น ดังนั้นประเด็นเรื่องฮิญาบ จึงกลายเป็นความสนใจที่ผู้ปกครองเอาใจใส่มากขึ้น
 
มิติด้านพหุวัฒนธรรมที่ถูกพูดถึงในพื้นที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็ถูกใช้ในการเรียกร้องครั้งนี้ด้วยแต่มีข้อสำคัญที่ควรนึกถึง คือ ไม่ว่ากลุ่มใดก็ตาม ล้วนหวงแหนพื้นที่และอำนาจของตัวเอง และปฏิกริยาในการป้องกันพื้นที่ที่เขาหวงแหนนั้นก็อาจไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลรองรับ
เช่นกรณีที่บุคลากรหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใน รร.อนุบาลปัตตานี อ้างสิทธิ กฏระเบียบของโรงเรียน หรือ อ้างอิงถึงธรณีสงฆ์ กล่าวอ้างขึ้นมา แม้เป็นเหตุผลที่ฝ่ายเรียกร้องสิทธิฮิญาบบอกว่าไม่มีเหตุผล เพราะมีกฏหมายประเทศเรื่องระเบียบเครื่องแต่งกายตามศาสนาที่อยู่ในลำดับสูงกว่าอยู่   ความรู้สึกที่เห็นว่า พื้นที่ที่ตัวเองเคยมีอำนาจ (โรงเรียน, ชุมชน, มัสยิดศูนย์กลาง) กลับถูกท้าทายด้วยผู้เล่นใหม่ที่เข้ามา และการสกัดกั้นตามสัญชาตญาณจึงออกมาเช่นที่เป็นปรากฏ  ดังนั้นการได้รับอนุญาตให้นักเรียนมุสลิมคลุมฮิญาบในโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ไม่ใช่ชัยชนะของมุสลิม และไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของคนไทยพุทธในพื้นที่มุสลิมได้รับสิทธิที่ไม่ได้กระทบกับวิถีปฏิบัติของชาวไทยพุทธเรื่องนี้คือเรื่องพื้นฐานมากๆ

ปรากฏการณ์เรื่องนี้มีแค่นิดเดียวนั้นคือ นักเรียน 7 คนที่ครอบครัวและตัวนักเรียนต้องการสวมใส่ฮิญาบตามหลักศาสนา ได้รับอนุญาตจากทางโรงเรียน และทางโรงเรียนก็ไม่ได้สูญเสีย การเรียนการสอนก็ยังคงเป็นไปตามเดิม ครูทุกคนก็ทำหน้าที่เหมือนเดิม การทำความเข้าใจที่ดีในเรื่องซับซ้อนเช่นนี้คงต้องใช้เวลา เหตุผลที่ดีย่อมเอาชนะผู้มีปัญญาทั้งหลายแน่นอน ด้วยระยะเวลาและวิธีที่เหมาะสม ยกเว้นว่าต่างฝ่ายต่างไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลที่ดี และวิธีที่เหมาะสมได้ 

นางอังคณา  นีลไพจิต ได้แสดงทัศนะผ่านเฟสส่วนตัวว่า  #นักสิทธิมนุษยชนและนักสันติวิธีบางคนเรียกร้องให้ใช้กระบวนการทางศาล เรื่องระเบียบโรงเรียนขัดรัฐธรรมนูญ #ส่วนตัวขอยืนยันว่า การใช้หลักนิติศาสตร์เพียงลำพังไม่สามารถแก้ปัญหาความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ได้ หนำซ้ำยังอาจทำทำให้เกิดการปะทะทางความคิดมากขึ้น ซึ่งจะไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งไดๆได้ เรื่องนี้จึงควรใช้หลักรัฐศาสตร์ในการเจรจาประนีประนอม โดยยึดเอาผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ในระยะยาว  (โปรดดูข้อกังวลและข้อเสนอชาวพุทธจชต.ผ่านงานวิจัย1. https://mgronline.com/south/detail/9610000048952 2.https://deepsouthwatch.org/th/node/11160 ) ทุกฝ่ายควรเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยในทุกความคับข้องใจ เพราะน่าจะมีหลายเรื่องที่ควรพูดคุยระหว่างคนต่างศาสนาเพื่อหาทางออกในการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ท่านที่ติดตามเรื่องราวปัญหาใน จชต. คงทราบว่านอกจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานนับสิบปีแล้ว ยังมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ที่เคยอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน ไว้วางใจและร่วมทุกข์ร่วมสุข แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์และความรู้สึกดีๆเหล่านี้หายไป แถมยังแปรเปลี่ยนเป็นความหมางเมิน หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ เด็กๆที่เคยมีเพื่อนสนิทเป็นคนต่างศาสนิก ได้เรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนา พบว่าปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่เติบโตแบบแยกกันเรียน แยกกันเล่น เด็กมุสลิมส่วนมากเรียนในโรงเรียนที่สอนศาสนาอิสลามด้วย ส่วนเด็กพุทธก็เรียนในโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งบางโรงเรียนแทบไม่มีมุสลิมเรียน ไม่นานมานี้ มีกรณีความไม่สบายใจของคนไทยพุทธในพื้นที่กรณีที่โรงพยาบาลใหญ่ในจังหวัดยะลา ประกาศให้อาหารในโรงพยาบาลเป็นอาหารฮาลาลทั้งหมด โดยให้มีครัวฮาลาลครัวเดียว โดยให้เหตุผลว่า “อาหารฮาลาลทุกคนรับประทานได้” แต่หากผู้ป่วยประสงค์จะรับประทานอาหารทั่วไปก็ต้องนำอาหารพร้อมภาชนะมาเอง เรื่องนี้แม้ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็สร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรมต่อผู้ป่วยและญาติที่ไม่ได้เป็นมุสลิม ทั้งที่ที่จริงโรงพยาบาลสามารถจัดให้มีสองครัวได้ ทั้งครัวอาหารฮาลาลและครัวอาหารทั่วไป โดยต้องยอมรับว่าคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร หรืออาจอยากทานอาหารที่ตนเองคุ้นเคย ซึ่งก็ย่อมมีสิทธิที่กระทำได้ อีกทั้งต้องยอมรับว่า คนป่วยทุกคนไม่ได้มีญาติมาเยี่ยมทุกวัน หรือสามารถส่งอาหารให้ได้ทุกมื้อ ผู้ป่วยหลายคนนานๆจะมีญาติมาเยี่ยม เพราะอาจไม่สะดวกเรื่องการเดินทางหรือค่าใช้จ่ายอื่น ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมเรื่องโครงการ “พาคนกลับบ้าน” ที่เมื่อเร็วๆนี้ชาวบ้านอำเภอสุคิริน ที่ส่วนมาเป็นคนไทยพุทธออกมาคัดค้าน ไม่ต้อนรับผู้ “กลับบ้าน” ต่างศาสนา
 
ดร.สุชาติ เศรษฐมาลีนี นักวิชาการมุสลิมจากมหาวิทยาลัยพายัพเขียนไลน์มาให้บอกว่าเห็นด้วยกับผู้เขียนว่าการเเก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอเเละยั่งยืน ควรมที่มุสลิมเองเเละต่างศาสนิกหรือคู่ขัดเเย้งตั้งสติสานเสวนาหาทางออก" 
 
จากประสบการณ์..ไม่ว่าฝ่ายพุทธหรือมุสลิม... การแก้ปัญหาโดยอ้างสิทธิ์อันชอบธรรมของตนฝ่ายเดียวโดยไม่รู้จักใช้ฮิกมะฮ์(วิทยปัญญา)และไม่รู้สึกรู้สาความรู้สึกของอีกฝ่าย จะไม่มีทางนำความรุ่งเรืองสู่ศาสนาของตนเอง 
 
ผมเคยยกตัวอย่างหลายที่หลายทางเกี่ยวกับ ชุมชนแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซียยุคก่อนอิสลามซึ่งเป็นชุมชนฮินดู อิหม่ามขณะนั้นขอร้องมุสลิมอย่ากินเนื้อวัว เพราะถึงแม้จะเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของมุสลิมแต่ไปทำลายความรู้สึกชาวฮินดู มุสลิมจึงหันไปกินเนื้อควายแทน จนในที่สุด ด้วยความงดงามของอิสลามและวิถีของมุสลิมในชุมชนนั้น ชาวฮินดูจึงได้หันมารับอิสลามและกลายเป็นชุมชนมุสลิมที่แทบไม่กินเนื้อวัวมาจนทุกวันนี้ [ที่พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่า กรณีโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ต้องให้เด็กมุสลิมทิ้งอัตลักษณ์ตนเอง ต้องเลิกคลุมฮิญาบนะครับ] เพียงแต่ต้องการบอกว่า ทั้งฝ่ายพุทธและมุสลิมไม่ควรเริ่มต้นคุยกันด้วย “สิทธิ์” ของตนเป็นตัวตั้ง แต่หันมาคุยกันด้วยความรัก ด้วยเหตุด้วยผล ตอนนี้ฝ่ายพุทธก็ยืนยัน “สิทธิ์” และมองว่า “การที่โรงเรียนที่ตั้งบนพื้นที่วัดอนุญาตให้มุสลิมคลุมผมเป็นการทำลายแก่นของพุทธศาสนา” (คำพูดในคลิปของพระที่เป็นรองประธานสมาพันธ์ชาวพุทธ 3 จชต.) ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่อ่อนมากๆ ว่าการคลุมผมของเด็กมุสลิมไปทำลายแก่นของศาสนาพุทธอย่างไร ชาวพุทธไม่ควรยอมรับความคับแคบในการนิยามแบบนี้เพราะรังแต่จะสร้างความเสียหายให้พุทธศาสนามากกว่า เพราะศาสนาพุทธที่ผมเข้าใจมีความใจกว้าง และสันติกับทุกศาสนาโดยไม่ยึดติดกับอัตตาของตนเอง 
 
ผมเห็นว่าสถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วงครับ เพราะได้กลายเป็นสงครามอารมณ์ความรู้สึก และมุ่งเอาชนะคะคานกันมากกว่าพูดคุยกันด้วยเหตุผล อีกทั้งมีแนวโน้มจะลุกลามบานปลายขยายวงสร้างความเกลียดชังระหว่างศาสนามากยิ่งขึ้น น่าจะต้องมีทีมรีบพูดคุยทำความเข้าใจโดยเร็วครับ โดยเราต้องช่วยกันคิดโดยใช้ฮิกมะฮ์เพื่อให้เขายอมรับเราโดยไม่รู้สึกว่าเป็นการเสียหน้า เสียสิทธิ์ และหันหน้ามายอมรับซึ่งกันและกัน...

เพื่อนอีกคนขอสงวนนาม(ทำงานสานเสวนาเเก้ปัญหาความขัดเเย้งอธิบายว่า

" ถ้า เข้าใจเขาได้ เท้าก็สามารถแตะบันไดขั้นแรก ถ้า ไม่เข้าใจเขา ข้อดีก็คือแสดงว่าเราสามารถรู้ว่า "ทำไมเขาถึงไม่เข้าใจเรา "  หาให้เจอได้จากตัวเรานี่เอง (ถ้าเอาจริง)ก็จะเริ่มเข้าใจเขาในประเด็นสำคัญ "ความเข้าใจ"เป็นปฐมบทและเป็นแรงใจสำคัญ (เจอแรงม๊อบอาจท้อได้)
 
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนจะเป็นอย่างไรในอนาคต  ประชาชนก็ยังต้องอยู่กับประชาชนด้วยกัน" หากสามารถสานเสวนาพูดคุยด้วยใจท้ายสุดร่วมกันใช้อำนาจเพราะ อำนาจอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า อำนาจร่วม คือ ตัดสินโดยใช้อำนาจร่วมกัน เกิดจาก เข้าใจกัน เห็นฟ้องต้องกัน ยินยอมพร้อมใจกัน  
 
ถึงเเม้ตอนนี้ดูจะสายไป แต่อาจไม่สายไป เพราะปัญหาทุกอย่าง ความเสียหายทุกชนิดล้วนเป็นเหตุเตือนให้เราเริ่มต้นแก้ปัญหาให้ถูกทางอยู่เสมอ
 
ครับหวังว่า งานสานเสวนา Interfaith ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สูญเสียงบประมาณกันไปมากมายที่ดูอาจจะล้มเหลวต้องทำต่อไปและถอดบทเรียนว่าทำไม 

สิทธิทางศาสนาและวัฒนธรรม ไม่ได้หมายความว่า ศาสนาหรือวัฒนธรรมใดจะสามารถอยู่เหนือศาสนาและวัฒนธรรมอื่น แต่ทุกศาสนาและวัฒนธรรมล้วนมีความเท่าเทียมกันในการประพฤติปฏิบัติตามความเชื่อของตน หลักการศาสนาอิสลามเคารพสิทธิของคนกลุ่มน้อยในรัฐอิสลาม ไม่เบียดเบียน ไม่กดทับ และเชื่อว่านี่เป็นหลักการของทุกศาสนาด้วยเช่นกัน และหากปล่อยให้เหตุการณ์ความไม่เข้าใจในลักษณะเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้น ก็คงต้องยอมรับความจริงว่า “#พื้นที่พหุวัฒนธรรม” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นงานที่ท้าทาย
ครับหวังว่าข้อคืดเห็นที่หลากหลายเหล่าจะนำพาไปสู่ทางสว่างในการเเก้ปัญหาที่ท้าทายร่วมกันในจชต.เเละสังคมไทยในภาพรวม

 
 
เกี่ยวกับผู้เขียน: อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) เป็น  กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้  Shukur2003@yahoo.co.uk
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net