ทิศทางและบทบาทของขบวนการทางสังคมในกระแสก่อตั้งพรรคการเมือง [คลิป]

คลิปจากวงเสวนา “ทิศทางและบทบาทของขบวนการทางสังคมในกระแสก่อตั้งพรรคการเมือง" จัดเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ห้องประชุม ศูนย์กลางนักเรียนคริสเตียน สะพานหัวช้าง

ร่วมเสวนาโดย 1. จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 2. อ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน 4. สรวิศ เหลาเกิ้มหุ่ง สมาชิก Group of Comrades ดำเนินรายการโดย โชติศักดิ์ อ่อนสูง

ความจำเป็นของการมีพรรคฐานมวลชน

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า การที่ คสช.ขึ้นมายึดอำนาจได้ส่วนหนึ่ง เกิดจากประชาชนในประเทศเกิดความเบื่อหน่ายต่อระบบพรรคการเมืองในประเทศไทยส่วนหนึ่ง อันนี้ไม่ใช่ข้อแก้ตัวให้แก่ คสช. เพราะว่าเราจะต้องคัดค้านการยึดอำนาจทุกกรณี แต่เราคงจะต้องยอมรับว่า ระบบพรรคการเมืองของประเทศไทย โดยเฉพาะเราขาดพรรคการเมืองที่มีฐานรากหญ้า ฐานประชาชนกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ ถ้าเราดูการตั้งพรรคการเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่ เรื่องจากกลุ่มมหาเศรษฐีหรือกลุ่มนายทุนมีเงินที่จะตั้งพรรคได้ หาพรรคพวกและไปตามหัวเมืองต่างๆ ไปหาเจ้าพ่อมาสนับสนุนนี่คือรูปแบบที่เป็นมาโดยส่วนใหญ่

เปรียบเทียบในต่างประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาอย่างเข้มแข็ง พรรคการเมืองจะสะท้อนกลุ่มประชาชนที่สำคัญในประเทศนั้นที่มีคนไปเลือกตั้งกัน เช่น อังกฤษ เรามีพรรคใหญ่ 2 พรรค คือพรรคอนุรักษ์นิยมกับพรรคแรงงาน โดยพรรคแรงงานตั้งขึ้นต้น ศตวรรษที่ 20 จากสหภาพแรงงานต่างๆ ที่เป็นผู้แทนของผู้ใช้แรงงานในอังกฤษ เพราะฉะนั้นพรรคนี้ก็จะแทนผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน ขณะที่พรรคอนุรักษ์นิยมจะแทนผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของกลุ่มนายจ้าง กลุ่มนายทุน กลุ่มผู้มีอันจะกิน

ประเทศไทยยังไม่มีพรรคการเมืองที่มีฐานมวลชน หรือฐานในระดับรากหญ้าที่เข้มแข็ง แต่ควราจะมี และจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบันที่เราต้องการสร้าประชาธิปไตยให้ก้าวหน้ากว่าในอดีต ลักษณะของพรรคการเมืองที่มีฐานมวลชนในความเห็นตน สมาชิกต้องมาจากรากหญ้าไม่ใช่มาจากมหาเศรษฐีหรือผู้มีอิทธิพลในสังคม เริ่มจากระดับรากหญ้า สมาชิกต้องเป็นผู้กำหนดนโยบาย สมาชิกต้องเป็นผู้เลือกกรรมการ แทนที่จะเป็นลักษณะสั่งการจากบนลงล่าง แต่ต้องเป็นลักษณะเริ่มจากรากหญ้าขึ้นมา ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับท้องถิ่นหรือการเมืองระดับประเทศก็ต้องมาจากการเลือกของสมาชิกในพื้นที่ กรรมการพรรคต้องขึ้นกับสมาชิก รายได้ส่วนใหญ่ของพรรคตองมาจากสมาชิก เมื่อไหร่ที่เปิดให้ผู้มีอิทธิพล 3-4 คน เป็นผู้บริจาคเงินให้พรรคเป็นส่วนใหญ่นั้น อำนาจมันจะไม่อยู่ที่สมาชิแล้ว อำนาจไปอยู่ที่ผู้บริจาคใหญ่เหล่านั้น

สำหรับประเทศไทยมันจะเกิดพรรคการเมืองเหล่านี้ ประการแรกขอฟันธงว่า มันต้องเกิดและมันจะเกิด ถ้าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเราจะก้าวหน้ามันจะต้องเกิด และขณะนี้มีความพยายามทำให้มันเกิด แต่มันเกิดยาก มันจะเกิดเหมือนประวัติศาสตร์ในหลายๆ ประเทศที่มาจากขบวนการแรงงานได้หรือเปล่า ตนเห็นว่าโดยลำพังมันเกิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะขบวนการแรงงานในไทยยังไม่เข้มแข็งเพียงพอที่เป็นผลพวงของรัฐบาลทหารหลายสมัยกดขี่ทางด้านโครงสร้างองค์กรแรงงานไม่ให้เติบโต รวมทั้งทำให้เกิดการแย่งชิงกันขององค์กรแรงงาน ในขณะเดียวกัน 30 ปีที่ผ่านมาเราเห็นการเติบโตของขบวนการภาคประชาชนที่ไม่ใช่แรงงานอย่างเดียว รวมถึงชุมชนแออัดในเมือง เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายเกษตรกรทางเลือก เป็นเครือข่ายของเกษตรกรที่เป็นรายย่อยที่จะต้องสู้กับระบบทุนนิยม ฯลฯ เรามีเครือข่ายหลายเครือข่ายที่เป็นทำงานร่วมกันระหว่างเอ็นจีโอกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนประสบปัญหา และแต่ละเครือข่ายก็มีนโยบายที่ต้องการผลักดัน จึงเห็นว่าการขึ้นของพรรคการเมืองในไทยที่มีฐานมวลชนจริงๆ มันจะต้องช่วยกันผลักดันจากเครือข่ายภาคประชาสังคมเหล่านี้ โดยอาจจะยังไม่มุ่งลง ส.ส.

ยังไม่มีพรรคฐานมวลชน แต่จำเป็นต้องมี

จอน กล่าวว่า สำหรับพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่กำลังเกิดนั้นเป็นเรื่องดีมีนโยบายใหม่ๆ แต่เท่าที่เห็นขณะนี้ยังไม่มีพรรคที่มีลักษณะเป็นพรรคที่มีฐานมวลชนที่เข้มแข็ง ถ้าดูเป็นข่าวมันก็จะเป็นคนนี้คนนั้นตั้งพรรคขึ้นมา คนนี้คนนั้นสามารถให้สัมภาษณ์ตอบได้ว่าพรรคนี้จะมีนโยบายอย่างไร ยังไม่มีฐานข้างล่างก็มีนโยบายแล้ว มีแกนนำแล้ว ตนคิดว่าพรรคการเมืองฐานมวลชนอาจจะต้องใช้เวลาในการสร้างขึ้นมา มันไม่ได้เริ่มด้วยแกนนำกับนโยบาย แต่มันต้องเริ่มด้วยฐานสมาชิกก่อน การคุยกันในกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม สร้างพรรคขึ้นมา ตนมองว่าเป็นเรื่องยาวนาแต่มันต้องทำ

ถามว่าส่วนใหญ่ในภาคประชาสังคมเห็นด้วยไหมกับการสร้าพรรคการเมืองนี้ ตนมองว่ายังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่ขณะนี้ ตนพยายามเอาเข้าไปในหลายๆ เวทีคุยเรื่องนี้ก็ยังเป็นความคิดที่ยังไม่ชินในภาคประชาสังคมโดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านหลายเครือข่ายบอกว่ายินดีให้เอ็นจีโอไปตั้งพรรคการเมือง แต่ขอไม่เข้าร่วม ขอเป็นอิสระที่จะเลือกพรรคการเมืองไหนก็ได้ ตนก็จะเถียงกับความคิดอันนี้ว่า ถ้าคุณคิดแบบนั้น คุณมีสิทธิเลือกพรรคการเมืองได้อิสระ แต่มันไม่ใช่พรรคของคุณ มันไม่ใช่พรรคี่สะท้อนนโยบายของคุณ มันเป็นพรรคที่มาหาเสียงจากคุณเท่านั้น ตนคิดว่าถ้าไม่มีกลุ่มชาวบ้านทั่วประเทศเข้ามาร่วมในพรรคการเมืองที่ตนพูดถึงมันก็ไม่ใช่พรรคการเมืองอย่างที่ว่า ก็จะยังเป็นพรรคการเมืองแบบเดิมๆ สำหรับประเทศไทย เพราะฉะนั้นความท้าทายเรื่องนี้มันจะใช้เวลานาน แต่ก็มีความพร้อมอยู่ระดับหนึ่งในตอนนี้

เราต้องผลักดันระบอบประชาธิปไตยไปข้างหน้าไกลกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้พรรการเมืองเดิมๆ ที่มีอยู่ มาทำงานแบบเก่าโดยไม่มีพรรคการเมืองใหม่ๆ เข้าไปท้าทาย เข้าไปสู้ เพราะฉะนั้นในเวทีการเมืองข้างหน้าสำหรับพรรีการเมืองใหม่ๆ ที่มีนโยบายที่ดีก็ควรเลือก แต่ในขณะเดียวกันเราก็พยายามสร้างพรรคการเมืองที่เป็นฐานมวลชน

4 ประเด็น พรรคกับภาคประชาสังคม

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน กล่าวถึงข้อสังเกต ในการพูดคุยกับภาคประชาสังคมในเครือข่ายต่างๆ เกี่ยวกับการตั้งพรรคการเมือง มี 4 ประเด็นดังนี้

1. เขาเห็นด้วยกับการตั้งพรรคการเมือง ควรมีพรรคที่จะพูดในฐานขบวนการภาคประชาสังคม ปัญหาตัวภาคประชาสังคมจำกัดที่ภาคประชาสังคม มุ่งแก้ปัญหาระดับชาวบ้านเป็นหลัก ดังนั้นเมื่ออยู่ในภาคประชาสังคมจึงจำเป็นต้องเสนอทุกรัฐบาล เสนอทุกพรรคด้วย เท่ากับเข้าแสดงตนว่าสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งจะสูญเสียความเป็นกลางไป เกรงว่าพรรคการเมืองจะไม่แก้ไขปัญหาของเขา จำกัดตัวเองไปเพียงมอนิเตอร์รัฐบาล เท่ากับเข้าไปสู่วงวนเดิมที่ภาคประชาสังคมไม่มีพลังต่อพรรคการเมือง แต่ก็เป็นความกังวลที่ฟังขึ้นอยู่

2. ที่เจอมันคือกังวลว่าถ้าเราในเครือข่ายภาคประชาชนเอาเรื่องพรรคการเมืองไปคุยจะเกิดการถือหางเข้าข้างพรรคใดพรรคหนึ่ง เดี๋ยวทะเลาะกันข้างใน เดิมจะคุยกันในประเด็นปัญหา เขาจึงกลัวในเรื่องพวกนี้ เขาบอกว่ามันจะนำไปสู่การตกกันในเครือข่าย ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามในเครือข่ายเหมือนกันว่าเดิมทีคนในเครือข่ายก็สังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่นำมาพูด แล้วทำไมเราไม่สร้างวัฒนธรรมการพูดเรื่องพรรคการเมืองในเครือข่ายกัน

3. ในฐานะที่เป็นพรรคเล็ก กติกาของการตั้งพรรคเล็กนี้มันกีดกัน เมื่อเลือกตั้งเหลือการเลือกตั้งใบเดียว ต้องลง ส.ส. เขต โดยส่วนใหญ่การเลือกตั้งใบเดียวมันทำลายการจัดตั้งที่ไม่ใช่เชิงพื้นที่ แต่ภาคประชาสัมคม เอ็นจีโอ ที่มันจัดตั้งกันในเชิงประเด็น ไม่ใช่เชิงพื้นที่ เป็นการจัดตั้งเชิงแนวคิด แต่การจัดตั้งเชิง ส.ส. นั้นมันเป็นการจัดตั้งเชิงพื้นที่มากกว่า หมายความว่า ส.ส. จะไม่สนใจภาคประชาชน ในขณะที่ตัวเอ็นจีโอเองก็รู้สึกแยกออกจากการเลือกตั้งแบบนี้ เขามองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันไม่ได้สะท้อนเสียงของเขา ขบวนการภาคประชาชนมองว่าการเลือกตั้งแบบนี้มันไม่ได้สะท้อนอำนาจของเขา มันจะกลับไปสู่ก่อนปี 40

4. เป็นเรื่องระยะยาว ถ้าเราเชื่อว่าภาคประชาชนเป็นแหล่งบ่มเพราะ เสริมศักยภาพคนให้รู้สึกถึงพลังอำนาจตัวเอง กระบวนการนี้เป็นกระบวนการยาวนาน ที่เป็นข้อจำกัดหนึ่งของขบวนการภาคประชาสังคมที่ทำประเด้นเฉพาะหน้า เฉพาะเรื่อง เพื่อต้องการความแหลมคม แต่ก็ทำให้มองประเด็นแคบไปเรื่อยๆ แต่เท่าที่คุยกับเครือข่ายแล้ว พี่น้องในเครือข่ายคิดเรื่องภาพกว้างเยอะ ดังนั้นพรรคการเมืองที่มีฐานมาจากตรงนี้มันจะไปอุดช่องว่างตรงนี้ ไปดึงอุดมการณ์ของพี่น้องนั้นขึ้นมาต้องสร้างพรรคที่ดึงอุดมการณ์ภาพฝันออกมาเป็นเรื่องระยะยาวและจำเป็นในช่วงนี้

คนรุ่นใหม่ค่อนข้างเบื่อการเมือง เหตุถูกทำให้เป็น

สรวิศ เหลาเกิ้มหุ่ง สมาชิก Group of Comrades กล่าวถึงท่าทีของนักเรียนนักศึกษาในการก่อตั้งพรรคการเมืองว่า เท่าที่ได้พูดคุยหรือทำงานร่วมกัน คนรุ่นใหม่ค่อนข้างที่จะเบื่อการเมือง เพราะการเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องสกปรก ถูกทำให้เป็นเรื่องวุ่นวาย ไม่น่าสนใจจากสถานการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา และส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาไม่มีส่วนร่วมในการเข้าไปขับเคลื่อนการเมืองด้วย เป็นเรื่องที่ผิดพลาดมากเพราะปัญหานี้เป็นปัญหาระบบอำนาจนิยมของผู้ใหญ่ ทำให้เด็กรู้สึกไม่มีสิทธิไม่มีเสียง

สำหรับประเด็นที่อยากให้การเมืองเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่หรือนักศึกษานั้น สรวิศ กล่าวว่า คำว่าคนรุ่นใหม่ในตอนนี้มันเหมือนถูกทำให้เป็นนักเรียนนักศึกษาหรือปัญญาชน ตนก็สงสัยว่าแล้วเด็กแว้นถือเป็นคนรุ่นใหม่ไหม  

ระบบบัตรเดียวยากมากที่พรรคใหม่จะได้ ส.ส.

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการมีพรรคการเมืองของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมว่า ปัญหาข้อจำกัดในกรณีไทย เลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีทางที่จะได้รับการเลือกตั้ง อย่างพรรคสามัญชนได้ 1 เสียงก็เป็นเรื่องยาก ภายใต้ระบบการเลือกตั้งนี้ที่จะได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ หรือแม้แต่พรรคอนาคตใหม่เองในการชนะที่จะได้ ส.ส. ปาตี้ลิสต์ แม้ว่าแค่ 8 หมื่นเสียงก็จะได้ ส.ส.แล้ว ถ้าหากเป็นระบบ 2 บัตร ไม่ใช้เรื่องยากที่จะได้ แต่เมื่อเป็นระบบ 1 บัตร นั้น การจะได้ 8 หมื่นเสียงนั้นเป็นเรื่องยากมาก นั่นหมายถึงต้องส่งไปในเขตถึงจะได้รับการนับ นี่คือข้อจำกัด

3 สูตรที่สำคัญที่พรรคของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต้องเผชิญ

กนกรัตน์ ปัญหาของการตั้งพรรคของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้นไม่ใช่ปัญหาที่เราเผชิญประเทศเดียว ปัญหาเหล่านี้เผชิญมาทุกประเทศ แม้แต่ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วอย่างเยอรมันและฝรั่งเศสก็มีปัญหา โดยมี 3 สูตรที่สำคัญที่สุด

1. ความอึดอดทน ที่จะเชื่อว่าพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือในการทำให้การเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยได้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่จะสำเร็จ ต้องต่อสู้ยาวนาน

2. ต้องเข้าใจความขัดแย้งภายในพรรคการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องเผชิญ ต้องจัดการ

3. ต้องปรับตัวต่อมวลชนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การจัดชนชั้นอย่างในอังกฤษ มีถึง 18 ชนชั้น ชนชั้นมีความลื่นไหล มันไม่ได้วัดเพียงปัญหารายได้ เข้าใจความลื่นไหลของโครงสร้างประชากร เป็นโจทย์ใหญ่ที่พรรคการเมืองต้องคิดมากขึ้น

ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ

กนกรัตน์ กล่าวว่า พัฒนาการของพรรคมวลชนกลุ่มเคลื่อนไหว เช่น พรรคกรรมาชีพ พรรคชาวนา หรือพรรคการเมืองที่เป็นประเด็นสิ่งแวดล้อม หรือเชิงอุดมการณ์ พรรคเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนอุดมการณ์และฐานมวลชนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นพรรคสังคมนิยมหรือพรรคแรงงาน มีการปรับตัวตลอดเวลาคิดอย่างไรเพื่อให้เกิดการชนะการเลือกตั้งเพื่อผลักดันนโยบาย ดังนั้นมันมีความขัดแย้งกันภายในตลอดเวลาด้วย

ในฝรั่งเศส มีความขัดแย้งของ 2 พรรคที่น่าสนใจคือระหว่างพรรคโซเชียลลิสต์กับพรรคคอมมิวนิวสต์ ขณะที่ฝ่ายขวาคือพรรคอนุรักษนิยม ฝ่ายซ้ายคือพรรคสังคมนิยม แต่ในปีกฝั่งซ้ายไม่ได้มีพรรคเดียว แต่มีตั้งแต่พรรคสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ สังคมนิยมประชาธิปไตย ฝ่ายซ้ายพวกนี้มันมีการแชร์บางอย่างในแง่ยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว เป็นธรรมชาติของยูโรปที่มีพรรคซ้าย หรือซ้ายกลางที่เป็นพรรคซ้ายแต่ไม่ได้ซ้ายมาก เชื่อเรื่องความเป็นธรรมความเท่าเทียม แต่ไม่ได้รุนแรงเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ปฏิเสธการจับมือกับฝ่ายขวา ในขณะที่พรรคซ้ายกลางนั้นเชื่อเรื่องการจับมือกับกลุ่มอื่นได้ ดังนั้นความขัดแย้งของปีกที่ก้าวหน้าจะมีตลอดเวลาและเป็นเรื่องปกติ

ขณะที่พรรคกรีนในเยอรมันที่เป็นพรรคขบวนการเคลือ่นไหวทางสังคมที่ประสบความสำเร็จ เป็นพรรคที่เชื่อ 4 ฐานคิด ความยุติธรรมทางสังคม สิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตยรากหญ้า และสันติวิธี เป็นเริ่มต้นจากขวนการคนหนุ่มสาว ในหลายอย่างฐานคิดอาจไม่ลงลอยกัน จุดยืนหนึ่งคือการต่อต้านคนที่อยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนาน แม้แต่พรรคสังคมนิยม ที่ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีการต่อสู้ภายในของพรรคกรีน ระหว่างกลุ่มที่ยืนหยัดต่อความเชื่อเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังตมไม่ควรแปดเปื้อนพรรคการเมือง กับกลุ่มที่มองว่าการเปลี่ยนปลงต้องเข้าไปในรัฐสภา ท้ายสุดพรรคกรีนลงท้องถิ่นที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมก่อน ซึ่งประสบความสำเร็จ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ  โดยที่ปีกที่เชื่อเรื่องการต่อสู้ในรัฐสภาก็ต่อสู้เรื่องนี้ สุดท้ายเข้ารัฐสภาและก็มีการต่อสู่กับพรรคสังคมนิยมในการผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ความขัดแย้งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันไปสู่พรรคการเมืองได้ พรรคกรีนใช้เวลา 20 กว่าปีจนไปเป็น รมว.สิ่งแวดล้อม

ฐานมวลชนกับการเผชิญความขัดแย้ง

กนกรัตน์ ย้ำถึงความสำคัญของ ให้เห็นความความสำคัญของฐานมวลชนกับการเผชิญความขัดแย้งของพรรคการเมืองว่า ฐานมวลชน ไปสนใจในชนชั้นกลางมากขึ้น ฐานอุตสาหกรรมย้ายแล้ว จึงเคลื่อนไปสนใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น แต่ก็เผชิญกับปัญหากับกลุ่มฐานเดิมด้วย พรรคมวลชนมีความหลากหลายได้ ขยายฐานมวลชนได้ โดยการคิดเรื่องฐานมวลชนมันมีปัญหาหลายอย่างกับพรรคที่จะตั้ง การเรียนรู้จากพรรคไทยรักไทย มีความเป็นฐานเสียงอยู่โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอระบบเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคไทยรักไทย และเป็นฐานที่พรรคการเมืองปัจจุบันมองข้ามไม่ได้ การพยายามปรับวิธีคิดโครงสร้างประชากรนั้นจะประสบความสำเร็จก็ได้ มวลชนที่อยู่นอกเหนือเครือข่ายภาคประชาสังคมนั้นเป็นอย่างไร การคำนวนประเมินโครงสร้างประชากรว่าใครเป็นฐานมวลชนเป็นเรื่องสำคัญมาก  ส่วนความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์และยุทธศาสตร์นั้นเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญแน่นอน ที่จะต้องสามารถจัดการความขัดแย้งอย่างเข้าใจ

อยากเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่ รธน.นี้

สรวิศ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องมีรัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชน ตราบใดที่เรายังเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ตนมองว่ามันเป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะขับเคลื่อนประเด็นของตัวเอง ตนนับถือหัวใจความกล้าของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ออกมาเรียกร้อง ตนเห็นด้วยว่าเราก็อยากเลือกตั้ง แต่ว่าเราต้องเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเรื่องที่ควรหยิบขึ้นมาคู่กับข้อเรียกร้องที่ว่าเราอยากเลือกตั้งด้วย คือ “เราอยากเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับนี้”

กนกรัตน์ กล่าวเสริมว่า ถ้าเรายังเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ปัญหาก็คือมันจะยิ่งทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก รัฐบาลเสียงแตก และจะทำให้ความเบื่อหน่ายต่อรัฐบาลที่อ่อนแอไม่สามารถผลักดันนโยบายได้ก็จะยิ่งทำให้คนตั้งคำถามกับประชาธิปไตยมากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท