อิสลามกับประชาธิปไตย: dilemma ของรัฐศาสนาที่อยากเป็นประชาธิปไตย?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เรามักจะได้ยินข้อถกเถียงเกี่ยวกับอิสลามกับประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้งในทำนองที่ว่า “อิสลามไม่ได้ระบุระบอบการเมืองการปกครองที่ชัดเจน” ว่าระบอบไหนคือระบอบที่ดีที่สุด การเงียบของตัวบทและทัศนะของท่านศาสดาในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นที่มาของข้อถกเถียงที่ว่าหลักการอิสลามกับประชาธิปไตยไม่ได้ขัดแย้งกันโดยตัวของมันเอง (ซึ่งน่าจะเป็นข้อถกเถียงหนึ่งในหนังสือที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาโดยปาตานีฟอรั่ม เรื่อง ประชาธิปไตยและอิสลาม: ข้อสังเกตเบื้องต้น) อย่างไรก็ดี การนำเอาอิสลามกับประชาธิปไตยมาศึกษาเปรียบเทียบอาจจะทำให้เรามองไม่เห็นคำถามพื้นฐานที่สำคัญอีกคำถามหนึ่งที่ท้าทายอำนาจขององค์กรศาสนาหรือศาสนจักรมาโดยตลอด นั่นก็คือ ศาสนา (อิสลาม) กับการเมืองควรมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และความสัมพันธ์ดังกล่าวทำให้การเมืองในอิสลามมีหน้าตาเป็นอย่างไร


รูปภาพที่ 1 ปกหน้าและปกหลังของหนังสือประชาธิปไตยและอิสลาม: ข้อสังเกตเบื้องต้น
ที่มา PATANI FORUM

ในการศึกษาความสัมพันธ์กันระหว่างศาสนาและการเมือง มีการแบ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวออกเป็นสองรูปแบบหลักๆ คือ ความสัมพันธ์แบบที่แยกออกจากกันและความสัมพันธ์แบบที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประวัติศาสตร์การเมืองของโลกตะวันตกเผยให้เราเห็นทั้งสองรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น กล่าวคือ ในช่วงยุคมืดตั้งแต่ ศ.10 ไปจนถึง ศ.15 โดยประมาณ เป็นยุคที่ศาสนจักรมีอำนาจเหนือผู้ปกครองทั้งในทางศาสนาและทางการเมือง อำนาจสูงสุดในการตัดสินใจทั้งในด้านการเมืองและการศาสนาอยู่ในอาณาบริเวณของศาสนจักร อีกทั้งศาสนจักรถือเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในด้านการเข้าถึงองค์ความรู้ในยุคสมัยนั้น อย่างไรก็ดี หลังจากเกิดสงครามสามสิบปีจนนำไปสู่การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่รู้จักกันว่า “สันติภาพแห่งเวสเฟเลีย” อันนำไปสู่การยุติสงครามครั้งใหญ่ในยุโรป โลกตะวันตกก็เริ่มปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางศาสนาและการเมืองไปสู่รูปแบบใหม่ กล่าวได้ว่าหลังจากปี 1648 ประเทศในยุโรปหันมาสู่การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและการเมืองในรูปแบบที่แยกออกจากกัน โดยมอบอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศให้กับผู้นำทางการเมืองแทนที่ผู้นำทางศาสนา การจัดการความสัมพันธ์ดังกล่าวทำให้เกิด “รัฐชาติ” และแนวคิดที่เรียกว่าฆราวาสนิยม (secularism) ซึ่งจัดวางอำนาจสูงสุดให้อยู่ในการตัดสินใจของประชาชน จนนำไปสู่การจัดการและบริหารภาครัฐแบบประชาธิปไตย ศาสนาในฐานะสถาบันจัดตั้งหรือในฐานะแนวคิดจึงมีสถานะเป็นองค์กรเอกชนในพื้นที่ส่วนบุคคลมิใช่สถาบันภาครัฐอีกต่อไป รัฐจึงควรเป็นพื้นที่กลางและควรเป็นกลางสำหรับคนทุกศาสนา ความเชื่อ และชาติพันธุ์ รัฐดังกล่าวในสมัยใหม่จึงเป็นรัฐ secular ไม่ใช่รัฐศาสนา (theocratic state)

เรากลับมามองความสัมพันธ์ระหว่างอิสลามกับการเมืองว่าโดยหลักการแล้วความสัมพันธ์ดังกล่าวน่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยส่วนใหญ่แล้วนักการศาสนามีมติว่าศาสนากับการเมืองไม่สามารถแยกออกจากกันได้เนื่องจากศาสนาเป็นระบบของคุณค่าที่พัวพันกับทุกมิติในการใช้ชีวิตของมุสลิมตั้งแต่เกิดจนตาย ระบบคุณค่าดังกล่าวถูกจัดอยู่ในบทบัญญัติของศาสนาที่เรียกว่า “ชารีอะฮ์” ชารีอะฮ์ซึ่งมีที่มาจากคัมภีร์อัลกุรอ่านและแบบปฏิบัติของศาสดาจึงเป็นทั้งคติและกฎหมายแบบไม่เป็นทางการสำหรับมุสลิม[1]

เมื่อโดยหลักการแล้วอิสลามกับการเมืองไม่สามารถแยกจากกันได้ ฉะนั้นอำนาจในการบริหารประเทศจะตกอยู่กับสถาบันใด? สภาพความเป็นจริงในปัจจุบันอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศของประเทศมุสลิมชนส่วนใหญ่ (ยกเว้นประเทศอิหร่านและประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยแล้ว) อยู่ในพื้นที่ของเจ้าผู้ปกครองโดยมีสถาบันศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ส่วนประเทศมุสลิมที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย[2] (เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ตุรกี เป็นต้น) ก็นำเอาสถาบันศาสนามาอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐและกลายเป็นเครื่องมือรัฐในการกำหนดนโยบาย ฉะนั้น เมื่ออิสลามกับการเมืองไม่สามารถแยกออกจากกันได้ รัฐซึ่งเป็นสถาบันสูงสุดในการจัดการการปกครองจึงไม่สยบยอมให้กับอำนาจใดๆ รวมถึงสถาบันทางศาสนา ในทางกลับกัน รัฐในยุคสมัยใหม่กลับนำเอาทุกสถาบันที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของมันมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรัฐชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาอิสลามภายใต้การกำกับของรัฐจึงเป็นสถาบันที่แทบจะหาความเป็นกลางและอิสระได้ยาก ซึ่งแตกต่างจากอิสลามในอดีตที่สถาบัน “อูลามะฮ์” (ผู้รู้ทางศาสนา) ทำหน้าที่ตรวจสอบและคานอำนาจกับเจ้าผู้ปกครองดั่งจะเห็นได้ในประวัติศาสตร์อิสลามที่ว่าอูลามะฮ์จำนวนมากต้องโดยจำคุกและลงโทษโดยเจ้าผู้ปกครอง

นอกจากนั้น เมื่อเรากลับมาทบทวนตัวบทอัลกุรอ่านแล้ว เราก็จะพบว่าตัวบทต่างๆ (เช่นในบทอัลมาอิดะฮ์) ชี้ให้เราเห็นว่าหลักการอิสลามสนับสนุนการปกครองแบบรัฐศาสนา (theocratic state) โดยมีข้อบังคับให้ยึดคัมภีร์ทางศาสนาเป็นกฎเกณฑ์หลักในการตัดสินปัญหาทางสังคม ดังจะเห็นได้จากโองการต่อไปนี้

إِنَّا أَنزَلْنَا التَّوْرَاةَ فِيهَا هُدًى وَنُورٌ يَحْكُمُ بِهَا النَّبِيُّونَ الَّذِينَ أَسْلَمُوا لِلَّذِينَ هَادُوا وَالرَّبَّانِيُّونَ وَالْأَحْبَارُ بِمَا اسْتُحْفِظُوا مِن كِتَابِ اللَّهِ وَكَانُوا عَلَيْهِ شُهَدَاءَ فَلَاتَخْشَوُا النَّاسَ وَاخْشَوْنِ وَلَا تَشْتَرُوا بِآيَاتِي ثَمَنًا قَلِيلًا وَمَن لَّمْ يَحْكُم بِمَا أَنزَلَ اللَّهُ فَأُولَٰئِكَ هُمُ الْكَافِرُونَ

แท้จริงเราได้ให้อัต-เตารอตลงมาโดยที่ในนั้นมีข้อแนะนำและแสงสว่าง ซึ่งบรรดานบีที่สวามิภักดิ์ได้ใช้อัต-เตารอตตัดสินบรรดาผู้ที่เป็นยิวและบรรดาผู้ที่รู้แล้วในอัลลอฮ์ และนักปราชญ์ทั้งหลายก็ได้ใช้อัต-เตารอตตัดสินด้วย เนื่องด้วยสิ่งที่พวกเขาได้รับมอบหมายให้รักษาไว้ (นั่นคือ) คัมภีร์ของอัลลอฮ์ และพวกเขาก็เป็นพยานยืนยันในคัมภีร์นั้นด้วย ดังนั้นพวกเจ้า จงอย่ากลัวมนุษย์แต่จงกลัวข้าเถิด และจงอย่าแลกเปลี่ยนบรรดาโองการของข้ากับราคาอันเล็กน้อย และผู้ใดที่มิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาแล้ว ชนเหล่านี้แหละคือผู้ปฏิเสธการศรัทธา (5:44)

 

وَكَتَبْنَا عَلَيْهِمْ فِيهَا أَنَّ النَّفْسَ بِالنَّفْسِ وَالْعَيْنَ بِالْعَيْنِ وَالْأَنفَ بِالْأَنفِ وَالْأُذُنَ بِالْأُذُنِ وَالسِّنَّ بِالسِّنِّ وَالْجُرُوحَ قِصَاصٌ فَمَن تَصَدَّقَ بِهِ فَهُوَ كَفَّارَةٌ لَّهُ وَمَن لَّمْيَحْكُم بِمَا أَنزَلَ اللَّهُ فَأُولَٰئِكَ هُمُ الظَّالِمُونَ

และเราได้บัญญัติแก่พวกเขาไว้ในคัมภีร์นั้นว่า ชีวิตด้วยชีวิต และตาด้วยตา และจมูกด้วยจมูก และหูด้วยหู และฟันด้วยฟัน และบรรดาบาดแผลก็ให้มีการชดเชยเยี่ยงเดียวกัน และผู้ใดให้การชดเชยนั้นเป็นทาน มันก็เป็นสิ่งลบล้างบาปของเขา และผู้ใดมิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาแล้ว ชนเหล่านี้แหละคือผู้อธรรม (5:45)

 

وَلْيَحْكُمْ أَهْلُ الْإِنجِيلِ بِمَا أَنزَلَ اللَّهُ فِيهِ وَمَن لَّمْ يَحْكُم بِمَا أَنزَلَ اللَّهُ فَأُولَٰئِكَ هُمُ الْفَاسِقُونَ

และบรรดาผู้ที่ได้รับอัล-อินญีลก็จงตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาในนั้น และผู้ใดที่มิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาแล้ว ชนเหล่านี้คือผู้ที่ละเมิด (5:47)

 

وَأَنزَلْنَا إِلَيْكَ الْكِتَابَ بِالْحَقِّ مُصَدِّقًا لِّمَا بَيْنَ يَدَيْهِ مِنَ الْكِتَابِ وَمُهَيْمِنًا عَلَيْهِ فَاحْكُم بَيْنَهُم بِمَا أَنزَلَ اللَّهُ وَلَا تَتَّبِعْ أَهْوَاءَهُمْ عَمَّا جَاءَكَ مِنَ الْحَقِّ لِكُلٍّ جَعَلْنَا مِنكُمْشِرْعَةً وَمِنْهَاجًا وَلَوْ شَاءَ اللَّهُ لَجَعَلَكُمْ أُمَّةً وَاحِدَةً وَلَٰكِن لِّيَبْلُوَكُمْ فِي مَا آتَاكُمْ فَاسْتَبِقُوا الْخَيْرَاتِ إِلَى اللَّهِ مَرْجِعُكُمْ جَمِيعًا فَيُنَبِّئُكُم بِمَا كُنتُمْ فِيهِ تَخْتَلِفُونَ

และเราได้ให้คัมภีร์ลงมาแก่เจ้า (หมายถึงศาสนามูฮัมหมัด) ด้วยความจริงในฐานะเป็นที่ยืนยันคัมภีร์ที่อยู่เบื้องหน้ามันและเป็นที่ควบคุมคัมภีร์(เบื้องหน้า) นั้น ดังนั้นเจ้าจงตัดสินสินระหว่างพวกเขา ด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานลงมาเถิด และจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำของพวกเขา โดยเขวออกจากความจริงที่ได้มายังเจ้า สำหรับแต่ละประชาชาติในหมู่พวกเจ้านั้น เราได้ให้มีบทบัญญัติและแนวทางไว้ และหากอัลลอฮ์ทรงประสงค์แล้วแน่นอนก็ทรงให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติเดียวกันแล้ว แต่ทว่าเพื่อที่จะทรงทดสอบพวกเจ้าในสิ่งที่พระองค์ได้ประทานแก่พวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงแข่งขันกันในความดีทั้งหลายเถิด ยังอัลลอฮ์นั้นคือการกลับไปของพวกเจ้าทั้งหมด แล้วพระองค์จะทรงแจ้งให้พวกเจ้าทราบในสิ่งที่พวกเจ้ากำลังขัดแย้งกันในสิ่งนั้น (5:48)

ในเมื่อตัวบทชี้ให้เห็นว่าหลักการอิสลามสนับสนุนองค์ประกอบของรัฐศาสนา จะเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐศาสนาดังกล่าวจะเป็นประชาธิปไตย? หรือว่ารัฐมุสลิมสมัยใหม่ต้องยอมทิ้งการปกครองแบบรัฐศาสนาโดยมีกฎหมายชารีอะฮ์ และหันไปสู่การปฏิรูปทางการเมือง และยึดถือหลักการฆราวาสนิยมในแบบประชาธิปไตย? ตุรกีประกาศเป็นประเทศ secular ตั่งแต่ก่อตั้งประเทศในปี 1923 อินโดนีเซียหาได้เป็นรัฐอิสลามไม่ ตูนีเซียมุ่งสู่การสร้างประชาธิปไตยหลังจากเหตุการณ์อาหรับสปริง เช่นเดียวกับมาเลเซียที่กำลังได้รับความสนใจจากชาวโลก ประเทศมุสลิมและนักวิชาการอิสลามอีกจำนวนมากกำลังอยู่ในภาวะระหว่างเขาควาย (secular state vs theocratic state) ไม่ว่าจะเป็นในทางทฤษฏีหรือในทางปฏิบัติ dilemma ของรัฐศาสนากับประชาธิปไตยในตะวันออกกลางและประเทศมุสลิมก่อตัวขึ้นมาจากความคิดที่ว่าอิสลามกับการเมืองแยกออกจากกันไม่ได้ เมื่อแยกออกจากกันไม่ได้แล้ว ประเทศมุสลิมจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร หรือว่าหลักการดังกล่าวเป็นเพียงข้อถกเถียงในอดีตในทางทฤษฎีซึ่งไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลกมุสลิมในยุคสมัยใหม่อีกต่อไป?

 
 
เชิงอรรถ

[1] ชารีอะฮ์ในทางสังคมวิทยาอาจจะหมายถึงธรรมเนียมสากล (general norm) ของมุสลิม ในทางปรัชญาชารีอะฮ์อาจจะหมายถึงแนวทางที่นำไปสู่แหล่งที่มาและวิทยปัญญา

[2] โปรดดูคำอธิบายของระบอบประชาธิปไตยและอิสลามในหนังสือ ประชาธิปไตยและอิสลามข้อสังเกตเบื้องต้นพิมพ์โดยปาตานีฟอรั่ม

เผยแพร่ครั้งแรกใน: www.pataniforum.com/single.php?id=748
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท