Skip to main content
sharethis

ศาลในจังหวัดลิมบูร์กของเนเธอร์แลนด์ อนุญาตให้บุคคลชื่อลีออนน์กลับไปเปลี่ยนสูติบัตรของตัวเองให้กลายเป็น "ไม่กำหนดเพศ" (no determined sex) ได้เนื่องจากเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นชายหรือเป็นหญิง เรื่องนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับนอนไบนารีในเนเธอร์แลนด์ที่จะแผ้วถางไปสู่การแก้กฎหมายอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ได้

ธงนอนไบนารี ออกแบบโดย Kye Rowan อายุ 17 ปี ในเดือน ก.พ.2014

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา สื่อดัชท์นิวส์รายงานว่า ศาลในจังหวัดลิมบูร์กของประเทศเนเธอร์แลนด์ตัดสินอนุญาตให้บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเพศใดก็ตามสามารถขอสูติบัตรของตัวเองใหม่เป็น "ไม่กำหนดเพศ" (no determined sex) ได้ ซึ่งสื่อ Pink news ระบุว่าเรื่องนี้ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในแง่ที่เป็นการยอมรับผู้ไม่อยู่ในระบบสองเพศหรือ 'นอนไบนารี' (Non-Binary) 

คดีในเนเธอร์แลนด์เป็นกรณีของบุคคลที่เกิดในปี 2504 และถูกแจ้งเกิดว่า "เป็นชาย" เพราะทางพ่อแม่คิดไปเองว่ามัน "ง่ายกว่าสำหรับเด็ก" แต่โจกท์ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นชายจึงเปลี่ยนแปลงตัวเอง "เป็นหญิง" ในปี 2544 แต่ต่อมาบุคคลผู้นี้ก็ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยกเลิกเพศหญิงของตนเองแล้วเปลี่ยนเป็น "ไม่กำหนดเพศ" และศาลครอบครัวประจำลิมบูร์กในเมืองรอมองด์ก็ให้อนุญาตในเรื่องนี้ จนทำให้กลายเป็นการแผ้วถางแนวทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายอย่างเป็นทางการให้กับนอนไบนารีได้

สำหรับเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมาผู้คนสามารถเลือกระบุไม่กำหนดเพศทารกในใบแจ้งเกิดได้ แต่ตัวเด็กเองเมื่อโตขึ้นแล้วกลับไม่สามารถกลับไปแก้เพศในใบแจ้งเกิดของตัวเองได้ จนกระทั่งมีการตัดสินจากศาลในคดีล่าสุดนี้ได้เปลี่ยนแปลงให้คนสามารถกลับไปแก้สูติบัตรตัวเองได้แล้ว 

ก่อนหน้านี้ในปี 2550 เคยมีคดีที่ศาลสูงสุดของเนเธอร์แลนด์ปฏิเสธไม่ยอมรับคำร้องขอเปลี่ยนเพศตนเองในใบสูติบัตรให้ระบุว่า "เป็นกลางทางเพศ" (gender neutral)

อย่างไรก็ตามสำหรับคดีล่าสุดศาลในลิมบูร์กระบุว่า พัฒนาการทางสังคมและทางกฎหมายในประเด็นเรื่องความเป็นกลางทางเพศก็เปิดทางให้ระบุเป็นเพศอื่นในใบสูติบัตรได้นอกเหนือจากหญิงหรือชาย พวกเขายกตัวอย่างพัฒนาการทางสังคมดังกล่าวเช่นเรื่องการที่บริษัทรถไฟของเนเธอร์แลนด์เริ่มพูดถึงผู้โดยสารด้วยภาษาเป็นกลางทางเพศแทนคำว่า "สุภาพบุรุษและสุภาพสตรี" แบบในอดีต อีกตัวอย่างหนึ่งคือการที่เนเธอร์แลนด์มีห้องน้ำเป็นกลางทางเพศเพิ่มมากขึ้น

ศาลในลิมบูร์กให้เหตุผลถึงการตัดสินในครั้งนี้ว่า การบีบให้บุคคลนอนไบนารีระบุถึงเพศตัวเองเป็นชายหรือหญิงแทนที่จะเป็น "ไม่กำหนดเพศ" นั้นถือเป็นการขัดกับหลักการเรื่องสิทธิในชีวิตส่วนตัว ในการเลือกตัดสินใจ และอิสรภาพของบุคคลนั้นๆ (right to a private life, self determination and autonomy) ศาลกล่าวอีกว่าถ้าหากบุคคลไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเพศชายหรือเพศหญิง พวกเขาก็ควรจะสามารถระบุไว้ในเอกสารทางการเช่นนั้นได้

ลิออนน์โจทก์ในคดีนี้ให้สัมภาษณ์ต่อโทรทัศน์ RTL ว่ามันเป็นคำตัดสินที่ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เขารู้สึกมีความสุขมากไม่ใช้แค่กับตัวเองเท่านั้นแต่เขาได้ทำเพื่อคนข้ามเพศจำนวนหลายพันคนที่เคยพูดคุยกับเขาในฐานะที่เขาเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาด้วย ในมุมทางเพศสภาพของตัวเองลีออนน์กล่าวว่าเขาไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นชายหรือเป็นหญิงแต่เป็น "อะไรที่อยู่ตรงกลางพอดี"

นอกจากเนเธอร์แลนด์แล้ว รัฐรัฐซัสแคตเชวันของแคนาดาก็เพิ่งจะตัดสินอนุญาตให้มีการออกสูติบัตรโดยไม่ต้องระบุเพศเด็กได้ จากกรณีที่มีพ่อคนหนึ่งชื่อ ฟราน ฟอร์สเบิร์ก เป็นตัวแทนลูกหญิงข้ามเพศของตัวเองในการร้องเรียนต่อศาลขอเปลี่ยนใบสูติบัตรของลูกเขาจากชายเป็นหญิง ซึ่งฟอร์สเบิร์กไม่ได้หยุดแค่นั้น เขายังดำเนินการเผื่อลูกหลานของคนอื่นๆ ด้วยการร้องเรียนขอให้ยกเลิกการใส่เพศในสูติบัตร และเมื่อศาลตัดสินออกมาเขาก็กล่าวแสดงความยินดีกับเด็กคนอื่นๆ รวมถึงชาวนอนไบนารีด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Adult wins case to have Dutch birth certificate changed to ‘undetermined gender’, Dutch News, 28-05-2018

Netherlands allows person to identify as non-binary for the first time, Pink News, 28-05-2018

Canadian province told by court to allow people to remove gender from birth certificates, Pink News, 28-05-2018

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง Non-binary

‘นอน-ไบนารี่’ สำนึกทางเพศที่ไม่ใช่ชาย-หญิง หรือความเรื่องมากของคนที่ไม่เข้าพวก?

https://prachatai.com/journal/2018/01/74982

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net