Skip to main content
sharethis

แรงงานฟิลิปปินส์เรียกร้องยกเลิกสัญญาจ้างระยะสั้น

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. กลุ่มแรงงานในฟิลิปปินส์เดินขบวนเนื่องในวันแรงงานสากล เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ทำตามที่หาเสียงเลือกตั้งไว้เมื่อสองปีก่อนว่าจะยกเลิกสัญญาจ้างงานระยะสั้น สหภาพแรงงานในฟิลิปปินส์ระบุว่าแม้ประธานาธิบดีดูเตอร์เตขู่หลังเข้ารับตำแหน่งว่าจะปิดบริษัทที่จ้างงานระยะสั้น แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีพฤติกรรมเช่นนี้อยู่ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารจานด่วนที่จ้างงานระยะสั้นเพื่อเลี่ยงการให้สิทธิประโยชน์

ประมาณว่ามีแรงงานและนักเคลื่อนไหวร่วมเดินขบวนมากถึง 10,000 คน ส่วนทางการส่งทหารและตำรวจร่วม 8,000 คน ดูแลความเรียบร้อย

ที่มา: businessinsider.com, 1/5/2018

แรงงานสหรัฐฯ ประท้วงนโยบายกวาดล้างคนเข้าเมือง

กลุ่มแรงงาน สหภาพแรงงาน และนักสิทธิแรงงานได้เดินขบวนต่อต้านนโยบายกวาดล้างคนเข้าเมืองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐว่าเป็นการทำร้ายแรงงานด้อยโอกาสผู้ได้รับค่าจ้างต่ำที่สุดในประเทศ โดยจุดที่มีคนเดินขบวนมากที่สุดคือนครลอสแอนเจลิส

การเดินขบวนหลายแห่งตำหนิรัฐบาลทรัมป์ที่จะยุติการคุ้มครองผู้เข้าเมืองจากประเทศที่เผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือความขัดแย้งอย่างนิการากัว เฮติ เอลซัลวาดอร์ ซูดาน และเนปาล อีกทั้งยังพยายามจะยกเลิกโครงการคุ้มครองผู้ลอบเข้าเมืองขณะยังเป็นเยาวชนที่ริเริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลบารัค โอบามา นโยบายเหล่านี้จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่แรงงานไร้เอกสารที่ทำงานค่าแรงต่ำและไม่มีสหภาพแรงงาน เช่น ร้านฟาสต์ฟูด งานดูแลเด็ก งานในภาคการเกษตร

ที่มา: Daily Mail, 1/5/2018

ฝรั่งเศสจับ 200 ผู้ประท้วงวันแรงงาน

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ตำรวจกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จับกุมผู้ชุมนุมที่สวมหน้ากากปกปิดใบหน้าราว 200 คน หลังพังกระจกร้านค้าและวางเพลิงรถยนต์ในระหว่างชุมนุมประท้วงเนื่องในวันแรงงาน กลุ่มอนาธิปไตยฝ่ายซ้ายซึ่งรู้จักในนาม "กลุ่มดำ" (Black Blocs)ได้ใช้ความรุนแรงและทำลายการชุมนุมอย่างสันติวิธีของคนกลุ่มใหญ่ที่มุ่งต่อต้านการปฏิรูปแรงงานของนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

ตำรวจกล่าวว่า ผู้ประท้วงประมาณ 1,200 คนสวมหน้ากากและหมวกโม่งเข้าร่วมการชุมนุมประจำปีเนื่องในวันแรงงาน จัดโดยสหภาพแรงงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลได้เข้าควบคุมสถานการณ์ด้วยการฉีดแก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมพยายามเคลื่อนขบวนต่อ ก่อนพังกระจกร้านค้าที่อยู่ข้างทาง และจุดไฟหน้าร้านแมคโดนัลด์ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ ออสแตร์ลิตซ์ ทำให้รถหลายคันที่จอดอยู่บริเวณดังกล่าวถูกเผาไหม้

นายเบนจามิน กรีโวลล์ โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศส ได้ออกมาวิจารณ์การปกปิดใบหน้าของกลุ่มผู้ประท้วง โดยระบุว่า "ถ้าคุณเชื่อมั่นและบริสุทธิ์ใจจริง ๆ คุณต้องเปิดหน้าชุมนุม" และว่า "บรรดาคนที่สวมหมวกโม่งถือเป็นศัตรูของระบอบประชาธิปไตย"

ความไม่พอใจอย่างกว้างขวางเกิดขึ้นต่อแผนปฏิรูปแรงงานของประธานาธิบดีมาครง พนักงานการรถไฟ SNCF เริ่มหยุดงานทั่วประเทศและหยุดเดินรถสามเดือน หลังรัฐบาลวางแผนยกเครื่องการรถไฟ ขณะเดียวกัน ครู พยาบาล และแรงงานอื่น ๆ หลายหมื่นคนได้เข้าร่วมการชุมนุมกับพนักงานการรถไฟเมื่อเดือน มี.ค. ทว่าประธานาธิบดีมาครงระบุว่าเขาจะไม่ทบทวนวาระปฏิรูปนี้

สหภาพแรงงานกล่าวว่า ตัวเลขผู้ชุมนุมอย่างสันติเมื่อวันอังคารอยู่ที่ 55,000 คน แต่ตำรวจประเมินว่ามี 20,000 คนเท่านั้น อย่างไรก็ดีจำนวนดังกล่าวยังถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อย หากเทียบกับการชุมนุมต่อต้านแผนปฏิรูปเมื่อเดือน ก.ย. 2017 ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 223,000 คน

ที่มา: BBC, 2/5/2018

สวีเดนขาดแคลนแรงงานภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อระบบสวัสดิการในประเทศ

รัฐบาลสวีเดนกำลังเผชิญกับการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ แม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แรงงานในตลาดแรงงานสวีเดนจะเพิ่มขึ้นถึง 488,000 คน แต่มีเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่ทำงานกับภาครัฐ ในแต่ละปีจะให้งบประมาณแก่ท้องถิ่น 5 พันล้านโครน เพื่อนำไปเป็นงบประมาณของโรงเรียน โรงพยาบาลและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ขณะเดียวกัน มีการคาดการณ์ว่าในทศวรรษหน้าประชากรสวีเดนจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 หรือเพิ่มเป็น 11 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากผู้อพยพที่เข้ามาก่อนปี 2015 ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุยังเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะทำให้รัฐต้องเพิ่มงบประมาณในการดูแลสวัสดิการของประชาชนเพิ่มขึ้น

ที่มา: bloomberg.com, 15/5/2018

โรงงาน Kellogg ยุติการผลิต-ลอยแพคนงานในเวเนซุเอลา

โรงงาน Kellogg ในเมืองมาราไก เวเนซุเอลา ยุติการผลิตและลอยแพคนงาน 300 คน ในขณะที่เวเนซุเอลากำลังเผชิญวิกฤติขาดแคลนอาหาร โดยให้เหตุผลว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังเสื่อมโทรมอย่างหนัก

ที่มา: fortune.com, 15/5/2018

ชาวอเมริกันเกือบกึ่งหนึ่งกังวลเกี่ยวกับการเงินหลังเกษียณ

ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของบริษัทแกลลัพ (Gallup) พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันบอกว่า ชีวิตจะไม่สะดวกสบายนักหลังเกษียณอายุจากการทำงาน เพราะจะไม่มีเงินพอใช้จ่าย จำนวนชาวอเมริกันที่กังวลในเรื่องนี้มีจำนวนลดลง เมื่อเทียบกับผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่องเดียวกันนี้ซึ่งจัดทำขึ้นทันทีภายหลังเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2551 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ก็ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจจากปี พ.ศ. 2545 กับ พ.ศ. 2547 ซึ่งในตอนนั้น ชาวอเมริกันร้อยละ 32 และร้อยละ 36 บอกว่าชีวิตจะไม่สุขสบายหลังเกษียณ เพราะรายได้อาจจะไม่พอจ่าย

และที่สำคัญกว่านั้น ผลการสำรวจล่าสุดพบว่าจำนวนชาวอเมริกันที่มีความกังวลเกี่ยวกับการมีเงินไม่เพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณ เพิ่มมากขึ้นกว่าจำนวนคนที่กังวลว่าจะมีเงินไม่พอจ่ายค่ารักษาพยาบาล หากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉิน ชีวิตหลังเกษียณอายุจากการทำงานยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สร้างความกังวลในสหรัฐฯ ในห้วงที่มีจำนวนชาวอเมริกันที่เกิดในช่วง “เบบี้บูม” กำลังเริ่มเกษียณอายุกันอย่างต่อเนื่อง

และจากตัวเลขทางสถิติจากหน้าเว็บไซท์ FiveThirtyEight ชี้ว่า ชาวอเมริกันเกือบ 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรสหรัฐฯ ทั้งหมด เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1946 และ 1964 ซึ่งเป็นปีที่ใช้เรียกว่าเป็นคนรุ่นเบบี้บูม และหากคำนวณเเล้ว คิดเป็นจำนวนมากกว่า 75 ล้านคน และยิ่งไปกว่านี้ ในขณะที่คนเหล่านี้เกษียณอายุไป สหรัฐฯ จะมีจำนวนคนทำงานลดลงในการช่วยพยุงอนาคตของคนวัยเกษียณรุ่นต่อไปในอนาคต

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ยังมีแรงกดดันอีกอย่างหนึ่งต่อระบบเกษียณอายุของสหรัฐฯ นั่นก็คือคนในสหรัฐฯ มีอายุยืนกันมากขึ้นในปัจจุบัน โดยตัวเลขจากทางการสหรัฐฯ ชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยจะมีชีวิตอยู่ได้อีกนาน 20 ปีหลังเกษียณอายุ

ชาวอเมริกันมักเก็บออมเพื่อชีวิตหลังเกษียณหลายวิธีด้วยกัน รวมทั้งการเก็บออมเงินเข้ากองทุนเกษียณที่บริษัทผู้ว่าจ้างงานให้การสนับสนุน เงินออมในธนาคาร ตลอดจนการลงทุนเเละระบบประกันสังคมของสหรัฐฯที่เรียกว่า Social Security

ผลการสำรวจของบริษัทแกลลัพครั้งนี้ สะท้อนผลการวิจัยของศูนย์การวิจัยพิว (Pew Research Center) เมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่พบว่าชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ 38 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่าไม่มั่นใจมากนัก หรือ ไม่มั่นใจเลย ว่าจะมีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ อย่างไรก็ตาม บริษัทแกลลัพพบว่าชาวอเมริกันกลุ่มที่เกษียณอายุไปแล้ว มีความเห็นทางบวกมากกว่า โดยกล่าวว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2548 กับ 2561 มีชาวอเมริกันเกษียณอายุเเล้วประมาณ 72 - 79 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่า มีชีวิตที่สะดวกสบายดีเพราะมีเงินพอใช้จ่าย

บริษัทแกลลัพชี้ว่ามีเหตุผลหลายประการที่ทำให้เกิดความเเตกต่างกันอย่างมากนี้ ทางบริษัทชี้ว่าเป็นไปได้ว่าผู้เกษียณอายุเเล้วอาจมีเงินบำนาญมากกว่าคนที่ยังทำงานอยู่ หรือได้เก็บออมเงินไว้ได้มากกว่าในช่วงที่ยังอายุน้อย เเละอาจได้รับเงินสวัสดิการจากระบบเงินประกันสังคมยังเหมือนเดิมมานานหลายสิบปี

บริษัทแกลลัพชี้ว่า เมื่อเกษียณอายุ ชาวอเมริกันอาจจะรู้จักประหยัดมากขึ้นเพื่อให้มีเงินพอใช้จ่าย และอาจจะจำเป็นต้องใช้เงินน้อยกว่าที่คาดเอาไว้ก่อนเกษียณ ในขณะเดียวกัน คนที่ยังไม่เกษียณที่อาจจะคาดว่าระบบประกันสังคมจะมีปัญหาทางการเงินในอนาคตหรืออาจจะกังวล เพราะไม่ได้เก็บออมเพื่อการเกษียณอายุส่วนตัวอื่นๆ หรือรู้สึกไม่มั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศ เเละได้รับคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญทางการเงินอยู่ตลอดเวลาว่าชาวอเมริกันไม่เก็บออมเงิน

ผลการสำรวจปี พ.ศ. 2559 พบว่า ชาวอเมริกัน 66 ล้านคนไม่มีเงินเก็บเลยแม้เเต่ดอลลาร์เดียว เพื่อใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน บริษัทแกลลัพ รายงานว่าชาวอเมริกันที่รู้สึกมั่นใจน้อยที่สุดเกี่ยวกับการเงินหลังเกษียณ เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีหรือน้อยกว่า ในขณะที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนที่มีรายได้ระหว่าง 30,000 กับ 75,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปี รู้สึกดีกับการเก็บออมเพื่อการเกษียณ

ที่มา: VOA, 16/5/2018

สำนักงานตรวจสอบมาตรฐานแรงงานญี่ปุ่นรับรองกรณีชายหนุ่มทำงานหนักจนเสียชีวิตเมื่อปี 2017

สำนักงานตรวจสอบมาตรฐานแรงงานในกรุงโตเกียว ได้ประกาศรับรองให้กรณีการเสียชีวิตของชายหนุ่มวัย 28 ปีเมื่อปี 2017 เป็นการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินกว่าเหตุ โดยได้รับรองสาเหตุการเสียชีวิตจากการทำงานเกินกว่าเหตุ จากการตรวจสอบบันทึกการทำงานพบว่าผู้เสียชีวิตได้ทำงานล่วงเวลาเฉลี่ยมากกว่า 87 ชั่วโมง ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตจากภาวะเลือดออกในสมอง เป็นผลให้พิจารณารับรองว่าความตายของเขาเกิดจากอุบัติเหตุในที่ทำงานเป็นเหตุสมควรที่จะได้รับการชดเชย ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์พิจารณาสาเหตุการเสียชีวิตในที่ทำงานอันเกิดจากการทำงานล่วงเวลาเกินกว่า 80 ชั่วโมงต่อเดือน

ที่มา: Japan Times, 17/5/2018

พระญี่ปุ่นฟ้องวัด ฐานทำงานหนักเกินไป

ในญี่ปุ่นพระสามารถประกอบอาชีพและมีเงินเดือนได้ ล่าสุดพระญี่ปุ่นรูปหนึ่งอายุประมาณ 40 ปี ได้ฟ้องวัดแห่งหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่ตนทำงานอยู่ตั้งแต่ปี 2008 เรียกร้องค่าชดเชยโดยระบุว่าตนอยู่ในสภาวะกดดันและหดหู่จากการทำงานหนักในปี 2015 เนื่องจากถูกบังคับให้ทำงานโหดเกินไปและไม่ได้พักโดยต้องคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาอย่างไม่ขาดสาย

ที่มา: South China Morning Post, 17/5/2018

บริษัทผลิตผมปลอมเกาหลีในพม่ามีข้อพิพาทกับคนงาน

เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2018 ที่ผ่านมา มีกรณีคนงานพม่านัดหยุดงานและไม่ต้องการกลับเข้าทำงานในโรงงานผลิตวิกของเกาหลี โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัท Macdo ผู้ผลิตผมปลอมสัญชาติเกาหลีให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวเมียนมาร์ไทมส์ ว่าบริษัทฯ ให้สิทธิลางานโดยจ่ายค่าจ้างแก่พนักงานที่กำลังจะนัดหยุดงานทุกคน เนื่องจากบริษัทได้จ้างโรงงานเหมาช่วงอีกแห่งผลิตตามคำสั่งซื้อในช่วงระหว่างที่มีข้อพิพาทแรงงาน

"เราไม่มีออเดอร์ให้พนักงานที่จะกลับเข้ามาทำงาน ดังนั้นเราจึงยอมจ่ายค่าจ้างวันลาเพื่อแสดงความรับผิดชอบ" นาย Cho Seong Wook ที่ปรึกษาบริษัทกล่าว

เจ้าหน้าที่โรงงานกล่าวว่าบริษัทฯ จ้างผู้รับเหมาทำแทนพนักงาน 1,400 คนเพื่อผลิตให้ทันออเดอร์ เจ้าหน้าที่โรงงานยังกล่าวอีกว่าบริษัทฯ ไม่มีงานให้แก่พนักงานที่นัดหยุดงานซึ่งจะกลับมาทำงานเร็ว ๆ นี้ บริษัทฯ จึงขออนุญาตกรมแรงงานเพื่อวางแผนที่จะให้พนักงานลางานโดยจ่ายค่าจ้างจนกว่าบริษัทฯ จะมีออเดอร์ใหม่เข้ามา

คนงานหลายคนกล่าวว่าโรงงานปิดเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2018 และพวกเขายังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปทำงาน แม้ว่าพวกเขาจะเลื่อนการนัดหยุดงานออกไปแล้วก็ตาม

อดีตผู้นำสหภาพแรงงาน Ma Soe Yu Nwe กล่าวว่าเธอได้สอบถามไปยังกรมแรงงานพบว่าโรงงานปิดโดยไม่ขออนุญาตจากกรมแรงงาน ทั้งนี้บริษัทฯ ต้องขออนุญาตกรมแรงงานล่วงหน้า 2 สัปดาห์ก่อนที่จะปิดโรงงานชั่วคราว เจ้าหน้าที่โรงงานปฏิเสธข้อกล่าวหาข้างต้น และโต้แย้งว่าบริษัทฯ ได้อนุญาตพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการนัดหยุดงานทำงานในโรงงานต่อไป

Ma Soe Yu Nwe ยังกล่าวว่าพนักงานไม่เห็นด้วยกับแผนที่จะให้พนักงานลางาน เนื่องจากเป็นอุบายที่จะเลิกจ้างคนงานอย่างถาวร "พนักงานทุกคนต้องการกลับเข้าไปทำงาน แม้ว่าโรงงานจะปิดหรือไม่ก็ตาม"

ขณะนี้มีพนักงานในโรงงาน 400 คนและบริษัทไม่ยอมให้คนงานที่นัดหยุดงานเข้าโรงงาน ตั้งแต่วันที่ 7-17 พ.ค. 2018 แต่ให้อยู่นอกโรงงาน นาย U Aung Naing ผู้จัดการโรงงานกล่าว คนงานที่ยังทำงานอยู่ตอนนี้ให้สัมภาษณ์ว่า พวกเราไม่เกี่ยวข้องกับการนัดหยุดงานแต่อย่างใด เพราะเราไม่สนับสนุนข้อเรียกร้อง แต่เราพร้อมจะนัดหยุดงาน หากมีการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้น

Ma Seo Yu แบะ Ko Myo Thiha สมาชิกอาวุโสของสหภาพแรงงานถูกไล่ออกในเดือน ก.พ. 2018 เนื่องจากละเมิดกฎระเบียบสัญญาจ้าง โดยเปิดเผยความลับของบริษัททางสื่อโซเชียลมีเดีย ทว่าบริษัทถูกศาลสั่งปรับเป็นเงิน 2,220 ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเพิกเฉยคำสั่งของอนุญาโตตุลาการกลางที่สั่งให้จ้างพนักงานทั้งสองคนเข้ามาใหม่

ที่มา: Myanmar Times, 21/5/2018

ศาลสูงสหรัฐฯ มีคำวินิจฉัยเข้าข้างนายจ้าง

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2018 ศาลสูงของสหรัฐฯ มีมติด้วยคะแนน 5 ต่อ 4 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนายจ้าง โดยเห็นว่านายจ้างสามารถห้ามคนงานไม่ให้รวมตัวกันเพื่อโต้แย้งและร้องเรียนเกี่ยวกับสภาพการทำงานหรือเรื่องค่าจ้างได้

คำวินิจฉัยนี้นับว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายนายจ้าง เพราะศาลสูงสหรัฐฯ มีความเห็นว่า ผู้ประกอบธุรกิจสามารถบังคับให้พนักงานต้องใช้วิธีไกล่เกลี่ยเจรจา โดยไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางศาลเพื่อแก้ปัญหาขัดแย้งเกี่ยวกับการทำงาน

ถึงแม้คำวินิจฉัยของศาลสูงสหรัฐฯ นี้ จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงถึงสมาชิกสหภาพแรงงานก็ตาม แต่ขณะนี้มีคนอเมริกันถึงราว 25 ล้านคน ทำงานภายใต้สัญญาจ้างซึ่งห้ามการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง เมื่อมีปัญหาข้อพิพาทด้านแรงงานกับนายจ้าง

ที่มา: VOA, 22/5/2018

คนขับรถบรรทุกบราซิลประท้วงน้ำมันแพง

คนขับรถบรรทุกในบราซิล ประท้วงน้ำมันดีเซลขึ้นราคา แต่ได้ยอมนำรถบรรทุกออกจากการปิดกั้นขวางทางหลวงหลายสายแล้วยุติการประท้วงนาน 5 วัน ซึ่งทำให้บราซิลทั้งประเทศต้องกลายเป็นอัมพาต แต่ยังคงเหลือการประท้วงปิดถนนใน 2 รัฐ จากทั้งหมด 26 รัฐของบราซิล ผู้ประท้วงได้ยอมถอย หลังจากประธานาธิบดีมิเชล ทีแมร์ของบราซิล ขู่ที่จะใช้กำลังทหารเข้าจัดการกับผู้ประท้วงส่วนน้อยที่ไม่ยอมยุติการประท้วง หลังจากรัฐบาลอ้างว่าสามารถบรรลุข้อตกลงกับผู้ประท้วงได้แล้วในวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมาโดยรัฐบาลยอมลดภาษีน้ำมันลงและลดราคาน้ำมันลง 10% เป็นเวลานาน 1 เดือน

ที่มา: BBC, 25/5/2018

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net