สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 28 พ.ค.-3 มิ.ย. 2561

ไทยจ่อยื่นสัตยาบันสาร ILO ฉบับที่ 29 คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล 

รมว.แรงงาน พร้อมคณะ เตรียมเข้าพบ นายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ILO และจดทะเบียนยื่นสัตยาบันอนุสัญญา ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ พร้อมกล่าวถ้อยแถลงต่อเวทีการประชุมใหญ่ประจำปีของ ILO ในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ แสดงเจตนารมย์ในฐานะไทยเป็นประเทศสมาชิกร่วมคุ้มครองสิทธิแรงงานสอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะ เข้าพบ นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ในโอกาสที่เดินทางไปประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILC) สมัยที่ 107 ระหว่างวันที่ 1 – 7 มิถุนายน 2561 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) โดยในการประชุมในครั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีวาระเข้าพบ Mr. Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่ ILO และจดทะเบียนยื่นสัตยาบันพิธีสารเสริมอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 พร้อมกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ด้วย

สำหรับการเข้าร่วมประชุมใหญ่ ILO สมัยที่ 107 ของ รมว.แรงงาน และคณะในครั้งนี้จะเป็นการยืนยันถึงเจตนารมณ์ความร่วมมือระหว่างประเทศประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศต่อเวทีโลก ในเรื่อง มาตรการในการช่วยเหลือและคุ้มครองแรงงานให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป คนหางาน คนงาน นายจ้าง รวมถึงหน่วยงานผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องในประเด็นว่าด้วยแรงงานบังคับ และส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบ และส่งเสริมให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชน อันนำไปสู่การหลีกเลี่ยงปัญหาและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยต่อไป

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 3/6/2561

นายจ้างจี้แรงงานปลดล็อคให้ต่างด้าวขายของหน้าร้านได้

นายพิภูเอก สกุลหลิม ผู้แทนกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว (GEFW) ประกอบไปด้วย ผู้ประกอบการร้านอาหาร ขายของ ร้านทำเล็บ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานพิจารณาปลดล็อคอาชีพสงวนเพิ่มจากเดิมที่มีแล้ว 12 อาชีพ โดยเสนอให้กระทรวงแรงงาน อนุญาตให้ในงานประเภทร้านอาหาร และขายสินค้า ต่างด้าวควรขายของหน้าร้าน รับเงิน และทอนเงินได้ เพื่อนำส่งให้นายจ้าง และในส่วนงานร้านทำเล็บ ทำความสะอาดมือเท้า ตัดเติมเล็บ แคะเล็บ ควรทาสีง่ายๆ ที่ไม่ใช่การเพ้นท์ได้ด้วย เนื่องจากเป็นงานกรรมกร มิใช่ทักษะขั้นสูง แต่ต้องมีเงื่อนไขคือ ต่างด้าวต้องเป็นลูกจ้าง โดยมีนายจ้างเป็นคนไทยเท่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจอยู่รอดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจได้ เพราะที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานไทย เพราะลักษณะงานดังกล่าวคนไทยไม่นิยมทำ เปิดรับสมัคร 3 เดือนก็ไม่มาและไม่สามารถรับแรงงาน ต่าวด้าวมาทำแทนได้ เพราะตามพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 ไม่อนุญาตให้ต่างด้าว ขายของหน้าร้าน เก็บเงินและทอนเงิน และไม่อนุญาตให้ทาสีเล็บ แต่ให้ตัดหรือแคะเล็บได้ ผู้ประกอบการจึงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก หนำซ้ำยังถูกผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเรียกผลประโยชน์รายเดือน ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ กระทรวงแรงงานควรปลดล็อคอาชีพสงวนตามที่เสนอเพิ่มเติมนี้

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้แทน รมว.รับหนังสือแทน รมว.แรงงาน กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของกลุ่มนายจ้าง จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่จะมีขึ้นกลางเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อให้การพิจารณาปลดล็อคอาชีพสงวนเป็นไปอย่างรอบด้าน และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด โดยการพิจารณาจะต้องยึดหลัก ต้องไม่กระทบความมั่นคงของชาติ อาชีพที่ต่างด้าวทำได้ต้องไม่เป็นงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของไทย อยุญาตให้ทำเท่าที่จำเป็น และต้องไม่แย่งงานคนไทย

ขณะที่บ่ายวันนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ มีกำหนดเป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับการปลดล็อกอาชีพสงวนแรงงานต่างด้าว ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันนท์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ สภาวิชาชีพ 3 สถาบัน (วิศวกร สถาปนิก บัญชี) นักวิชาการด้านแรงงาน เป็นต้น

ที่มา: โลกวันนี้, 1/6/2561

คนไทยหนี้ท่วมหัวไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นเป็น 7.1% ขณะที่การจ้างงานลดลง 0.2%

นางชุตินาฎ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2561 แนวโน้มหนี้ครัวเรือนยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 6.1% ในไตรมาส 4 /2560 เป็น 7.1% โดยสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 10.6% ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อเกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.68% ในไตรมาส 4/2560 เป็น 2.78% ในไตรมาสนี้ โดยเพิ่มขึ้นในสินเชื่อเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์

นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/2561 พบว่ามีการจ้างงานลดลง 0.2% โดยเฉพาะจากแรงงานภาคนอกเกษตรลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ส่วนการจ้างงานในสาขาการผลิตทรงตัว แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งไทยและต่างประเทศจะมีแนวโน้มขยายตัวดี แต่ไม่สะท้อนในภาพรวมของการจ้างงานที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง และบริการส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลจากการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการประกอบธุรกิจ ขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรขยายตัว 6.0% จากไตรมาส 1/2560 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการทำการเกษตร

ที่มา: ข่าวสด, 31/5/2561

ก.แรงงานเร่งฝึกอาชีพคนจน 6 แสนคน

พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเยี่ยมชมการฝึกอาชีพโครงการดังกล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคเท่าเทียมทางสังคม ที่มุ่งเป้า ฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนกว่า 6 แสนราย โดยมอบหมายให้กรมการจัดหางาน ที่สนับสนุนการจัดหางานให้แก่ผู้ที่ที่มีรายได้น้อย และส่งเสริมการรับงานกลับไปทำที่บ้าน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักงานประกันสังคม ดูแลให้ความคุ้มครองและส่งเสริมการเข้าสู่ระบบประกันสังคมให้แก่ผู้มีรายได้น้อยร่วมด้วย ส่วน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ดำเนินการด้านการฝึกอาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนฝึกอาชีพในหลักสูตรต่างๆ จำนวน 58 หลักสูตร มีระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชม. 30 ชม. และ 60 ชม. พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยอย่างครอบคลุมทั่วถึง คาดว่าจะมีงานทำอย่างน้อย 65%หลังจากผ่านการฝึกอาชีพ

ด้านนายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกพร. กล่าวต่อไปว่า กพร. มีเป้าหมายดำเนินการฝึกอาชีพให้ผู้รายได้น้อย 625,120 คน กำลังดำเนินงานแบบประชารัฐโดยให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.ประสานจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องจัดฝึกอบรม ซึ่ง รมว.แรงงาน ได้เยี่ยมชมการฝึกอาชีพโครงการเพิ่มศักยภาพแรงงานผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนทบุรี (สนพ.นนทบุรี) ซึ่งมีผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดนนทบุรีที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพ จำนวน 4,157 คน

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 30/5/2018

ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนฯ ออกแถลงการณ์ยืนยันการคัดค้านระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงาน หรือ ลูกจ้าง ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการต่อต้านนายกฯ-คสช. และไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง

ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องวัตถุประสงค์การแสดงความคิดเห็นของชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชมแห่งประเทศไทย โดยเนื้อหาระบุว่า ตามที่กระทรวงการคลังออกระเบียบว่าด้วยการจ้างพนักงาน หรือ ลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 มีสาระสำคัญคือต้องทำความตกลงกับกระทรวงการคลังก่อน อัตราค่าจ้างไม่เกินขั่นต่ำของตำแหน่งและวุฒิ และไม่มีการเลื่อนขั้นค่าจ้าง และระเบียบเงินบำรุงกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 ในข้อ 10 ที่มีสาระสำคัญคือ การจ้างลูกจ้างชั่วคราว หรือ พนักงานกระทรวงสารธารณสุข จากเงินบำรุงต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อน

ทั้งนี้ ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย พิจารณาแล้ว เห็นว่าระเบียบกระทรวงการคลังและระเบียบกระทรวงสาธารณสุขจะก่อให้เกิดปัญหาการขาดทุนบุคลากรในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ยากไร้ในโรงพยาบาลรัฐ อีกทั้งลูกจ้างเงินนอกงบประมาณขาดขวัญกำลังใจ

ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 18 พ.ค.2561 และ แก้ไขระเบียบเงินบำรุง ข้อ 10 ลงวันที่ 29 ม.ค.2561 ให้เป็นอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ โดยการขึ้นป้ายไม่เห็นด้วยกับระเบียบกระทรวงการคลัง และการไปยื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลังในวันที่ 1 มิ.ย.61 นั้น ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการต่อต้านนายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแต่อย่างใด

ที่มา: Voice TV, 29/5/2561

เตรียมปลดล็อกให้คนต่างด้าวทำได้ 12 อาชีพ

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ระบุว่าผู้ประกอบการและนายจ้างเรียกร้องให้มีการปลดล็อกอาชีพสงวนบางอาชีพ หลังจากห้ามมาตั้งแต่ปี 2522 มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย สมาคมภัตตาคารไทย สภาสถาปนิก สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างแรงงาน สถานประกอบการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพต่างๆ ถึงการปลดล็อกอาชีพสงวนบางอาชีพให้ต่างด้าวทำได้ รวมทั้งรับฟังความเห็นผ่านเว็ปไซต์ของกรมการจัดหางาน โดยได้สรุปผลแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1. ไม่เป็นงานห้ามอีกต่อไปจำนวน 2 งาน ประกอบด้วย งานกรรมกร และงานก่ออิฐ ช่างไม้ ช่างก่อสร้างอื่นๆ ซึ่งเดิมเป็นงานห้าม แต่ผ่อนผันให้ทำแค่กรรมกรใช้แรงงานไม่ใช่งานฝีมือช่าง แต่เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน คนไทยมีการศึกษาสูงขึ้น ไม่ทำงานหนัก จึงให้ทำได้ แต่ต้องขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง กลุ่มที่ 2. ให้ต่างด้าวทำได้ 10 งาน คือ 1. งานกสิกรรม เลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญเฉพาะสาขา 2. งานให้บริการวิชาชีพทางบัญชี ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทางบัญชี แต่ไม่รวมถึงการตรวจสอบภายใน 3. งานทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม 4. งานทำมีด 5. งานทำรองเท้า 6. งานทำหมวก 7. งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา 8. งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรม ยกเว้นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนตามข้อตกลงระหว่างประเทศ 9. งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 10. งานปั้นหรือทำเครื่องดินเผา ส่วนใหญ่เป็นงานในอุตสาหกรรมการผลิต คนไทยไม่นิยมทำ แต่จะอนุญาตให้ทำได้ภายใต้เงื่อนไข ต้องมีผู้จ้างวาน ไม่เป็นเจ้าของกิจการเอง โดยจะไม่อนุญาตให้ทำงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มงานห้ามเด็ดขาดมี 28 งาน อาทิ งานแกะสลักไม้ ขับขี่ยานยนต์ ขายของหน้าร้าน เจียระไนหรือขัดเพชรพลอย งานตัดผม ดัดผม เสริมสวย งานมัคคุเทศก์ นำเที่ยว เร่ขายสินค้า โดยเพิ่มงานนวดไทย เป็นงานห้ามใหม่ 1 อาชีพ

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเน้นย้ำว่า ทุกงานที่ให้คนต่างด้าวทำ เพื่อบรรเทาความขาดแคลนแรงงานเท่านั้น โดยยึดหลัก 3 ประการ ต้องไม่เป็นภัยความมั่นคง ไม่กระทบการมีงานทำของคนไทย และจะอนุญาตเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ งานใดที่มีคนไทยทำเพียงพอแล้ว จะไม่ให้ต่างด้าวทำ โดยเฉพาะขายของหน้าร้าน กับงานตัดผม เสริมสวย ขณะนี้ได้สรุปความเห็นจากจากทุกภาคส่วน เพื่อนำเสนอต่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พิจารณาในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เพื่อนำเข้าขอความเห็นชอบในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ก่อนออกประกาศเป็นกฎกระทรวง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ภายใน 30 มิถุนายน 2561 เพื่อให้สอดรับกับกฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 จะมีผลทำให้คนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง จะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด หลังจากชะลอโทษมานานแล้ว

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 28/5/2561

กสร. ช่วยลูกจ้างเมียนมาโรงน้ำแข็งสมุทรปราการ ได้ค่าจ้างแล้ว

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงกรณีที่ลูกจ้างสัญชาติเมียนมา จำนวน 68 คน มาร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้ดำเนินการกับนายจ้างบริษัท ชัยกิติวัฒน์ น้ำแข็งหลอดและซอง จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำแข็งในอำเภอบางพลี จ. สมุทรปราการ เนื่องจากนายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาไม่ถูกต้อง ว่า ทันทีที่ได้รับการร้องเรียนจากลูกจ้าง พนักงานตรวจแรงงานได้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงจากลูกจ้างและตัวแทนนายจ้างได้ข้อสรุปว่า ลูกจ้างสัญชาติเมียนมาเข้ามาทำงานโดยมีบัตรประจำตัวถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 27 คน MOU 24 คน และมีบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวน 17 คน โดยนายจ้างได้นัดจ่ายเงินให้กับลูกจ้างในวันที่ 24 พ.ค. 2561 นอกจากนี้ พบว่ามีลูกจ้าง 17 คน ที่ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย และใช้บัตรปลอม เนื่องจากบัตรดังกล่าวจะออกให้คนในพื้นที่สูงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่ตกสำรวจและยังไม่ได้สัญชาติไทยเท่านั้น แต่ลูกจ้างกลุ่มนี้ถือสัญชาติเมียนมาไม่สามารถถือบัตรนี้ได้จึงได้มีการประสานงานให้มีการควบคุมตัวลูกจ้างไปดำเนินคดีในข้อหาใช้เอกสารราชการปลอม และเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ สภ.สำโรงเหนือ ส่วนลูกจ้างที่เหลือแสดงความประสงค์ไม่กลับเข้าทำงานกับนายจ้าง พนักงานตรวจแรงงานจึงได้จัดหา ที่พักอาศัยให้กับลูกจ้างได้พักชั่วคราว เพื่อสะดวกต่อการมารับเงินค่าจ้างจากนายจ้าง

อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา นายจ้างได้นำค่าจ้างและโอทีมาจ่ายให้กับลูกจ้างแล้ว ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการตามที่นัดหมาย แต่ลูกจ้างที่ใช้บัตรปลอมทั้ง 17 คน ยังไม่ได้รับเงินเนื่องจากถูกจับกุมตัวและไม่สามารถเก็บเงินติดตัวไว้ได้ ซึ่งนายจ้างจะจ่ายให้ภายหลัง สำหรับกรณีที่มีการทำบัตรปลอมซึ่งลูกจ้างอ้างว่านายจ้างเป็นผู้จัดทำให้นั้น พนักงานสอบสวนจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายผลหาผู้กระทำผิดต่อไป

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 28/5/2561

ปลัด สธ.เปิดเจรจาทุกฝ่าย 30 พ.ค. ก่อนบุกคลังค้านระเบียบว่าจ้าง

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงปัญหาบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขยังมีความเป็นห่วงเรื่องระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างงานลูกจ้างและพนักงานกระทรวง โดยเฉพาะชมรมแพทย์ชนบทจะไปร้องที่กระทรวงการคลังในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ว่า เรื่องนี้ได้มีการเชิญทุกฝ่าย ทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาล ทั้งผู้แทนลูกจ้างและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันว่าระเบียบที่กระทรวงการคลังออกมานั้นไม่ได้บังคับเรื่องการจ้างงานของกระทรวงสาธารณสุขเลย

“ก่อนหน้านี้เราได้ไปทำข้อตกลงกันไว้แล้ว ยืนยันว่าถ้ามีความจำเป็นสามารถจ้างงานได้ตามปกติ ส่วนกรณีที่บอกว่าจะเดินทางไปชุมนุมกดดันกระทรวงการคลังให้ยกเลิกระเบียบดังกล่าวนั้น ผมคิดว่าหากใครยังมีข้อสงสัยไม่เข้าใจให้มาคุยกันในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้มาได้ทั้งหมด เราพร้อมที่จะชี้แจง และถ้ามีข้อเสนอที่ดีกระทรวงก็พร้อมรับฟัง และนำไปปรับปรุงได้” นพ.เจษฎากล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 28/5/2561

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท