ศัพท์อังกฤษน่ารู้เกี่ยวกับการเมืองไทยในปัจจุบันกาล (4)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"State is a monopoly of fake news and a mother of all lies."

"รัฐคือผู้ผูกขาดข่าวปลอมและผู้ให้กำเนิดของมุสาวาททั้งหลายทั้งปวง"

นิรนาม

1.Foot-dragging - พฤติกรรมที่ตั้งใจจะทำให้แผนหรือกระบวนการช้าลง

ศัพท์คำนี้น่าจะใช้กับรัฐบาลเผด็จการซึ่งลากการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนคำว่าโรดแม็ป อันเป็นความพยายามของคสช.ในการคงไว้ซึ่งอำนาจนานๆ ครั้นต่อมาก็กลายเป็นการถ่วงเวลาเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองที่สนับสนุนตนและใช้นโยบายประชานิยมเพื่อสร้างคะแนนเสียงจากชนรากหญ้าสำหรับปูทางให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งภายหลังการเลือกตั้ง ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความประหลาดใจว่าเหตุใดมวลชนจึงยินยอมอดทน (acquiesce) ต่อพฤติกรรมเช่นนี้เป็นเวลาหลายปี ดังจะเห็นได้จากการประท้วงของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก กระนั้นคำตอบน่าจะได้แก่ความเสื่อมศรัทธาและความไม่ไว้วางใจของคนจำนวนมากต่อนักการเมืองและพรรคการเมือง รวมไปถึงความหวาดกลัวต่อความไม่สงบซึ่งเคยเกิดขึ้นกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แม้ว่าพวกเขาจะเสื่อมศรัทธาต่อรัฐบาลทหารแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามเราสามารถกล่าวได้ว่าในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ประชาชนมักถูกปลูกฝังให้มีความศรัทธาในรัฐที่ถูกผลักดันโดยระบบราชการภายใต้อุดมการณ์         ราชาชาตินิยมเสียมากกว่าบทบาทของนักการเมือง ทำให้การเลือกตั้งถูกลดความสำคัญและตีตราว่าเต็มไปด้วยการซื้อเสียงขายเสียงเท่านั้น

2. Fearmongering - การปลุกปั่นให้เกิดความหวาดกลัว

ความหวาดกลัวของคนจำนวนมากต่อความไม่สงบดังข้อ 1. ส่วนหนึ่งมาจากการปลุกปั่นไม่ว่าจากรัฐบาล กองทัพหรือสื่อมวลชนภายใต้อำนาจของรัฐบาล (อย่างเช่นคอลัมน์หนึ่งของไทยรัฐ) ซึ่งมักจะขู่ว่าอาจเกิดฉากทำนอง Shutdown Bangkok ของกปปส.ขึ้นอีกครั้ง หากเร่งรีบให้มีการเลือกตั้งจนได้รัฐบาลพลเรือน อย่างไรก็ตามถือได้ว่าเป็นธรรมชาติของมวลชนที่คำนึงถึงความมั่นคงมากกว่าเสรีภาพ ซึ่งเกิดขึ้นแม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เผชิญกับเหตุการณ์ไม่สงบอย่างเช่นการประท้วงจลาจลหรือ   การก่อการร้าย รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะบั่นทอนเสรีภาพของประชาชน หากรัฐบาลไม่จริงใจเพราะต้องการอำนาจก็ยิ่งปั่นเรื่อง (spinning the story) ให้มวลชนหวาดกลัวยิ่งขึ้น อย่างเช่นในเมืองไทย รัฐบาลก็กุข่าวว่ามีกลุ่มเสื้อแดงฮาร์ดคอร์จ้องจะใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างความวุ่นวายทางการเมืองเพื่อเป็นการลดความน่าเชื่อถือของขบวนการประชาชนที่ประท้วงรัฐบาล อย่างไรก็ตามโซเชียลมีเดียเองจำนวนไม่น้อยก็มีส่วนในการปลุกปั่นเพื่อสร้างความกลัวอันไร้เหตุผลให้มวลชน โดยเฉพาะบรรดาพลเมืองชาวเน็ตที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล เพราะพวกเขาไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวกฎหมายจากรัฐที่เข้าข้างพวกเขาอยู่เสมอ

3.Civilized dictatorship – เผด็จการแบบมีอารยะ

นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเองมักเอ่ยถึงคำว่า “กฎหมาย” อยู่บ่อยครั้ง เพื่อสะท้อนว่าพวกเขาปกครองประเทศภายใต้ภาวะนิติรัฐ (Rule of law) อันเป็นการสร้างภาพว่าพวกเขาคือเผด็จการแบบมีอารยะ อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชนเหมือนประเทศประชาธิปไตยทั่วไป หากเป็นสิ่งที่มาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเนติบริกรภายใต้อำนาจสร้างขึ้นมาเพื่อเอื้อต่ออำนาจของคสช. เช่นเดียวกับองค์กรที่บังคับใช้กฎหมายไม่ว่าตำรวจ ศาลหรือองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็อยู่ภายใต้อาณัติของคสช. ดังจะเห็นได้จากปปช.กับคดีนาฬิกาของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณซึ่งเกือบหยุดนิ่งราวกับต้องมนต์สะกด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขากระทำตัวอยู่เหนือกฎหมายแบบซ้อนเร้น เข้าทำนอง hypocrite หรือมือถือสากปากถือศีล   

เผด็จการแบบมีอารยะยังพยายามสร้างความเข้าใจผิดว่าประชาชนมีเสรีภาพคือสามารถทำสิ่งใดก็ได้เหมือนกับอยู่ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย ทั้งที่ความจริงแล้วแม้แต่เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จอย่างเกาหลีเหนือยังเปิดเสรีภาพให้ประชาชนได้ในระดับหนึ่ง รัฐบาลไทยยังเปิดช่องให้สื่อมวลชนและประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองแต่เพียงระดับหนึ่งเพราะการตัดสินใจยังอยู่ข้างบนอยู่ดีและที่สำคัญไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองเหมือนประชาธิปไตยได้ นอกจากนี้รัฐบาลยังเปิดให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (จนไปถึงด่าทอ) ได้โดยกว้างขวาง แต่ก็ใช้กฎหมายข่มขู่อยู่บ่อยครั้ง และก่อนหน้านี้ยังพยายามติดต่อบริษัทเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียอย่างเช่นเฟ็ซบุ๊คและทวิตเตอร์เพื่อปิดบัญชีของผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมไปถึงมอบอำนาจให้กสทช.เฝ้าควบคุมสื่อกระแสหลักไม่ให้มีการโจมตีรัฐบาล ที่สำคัญรัฐบาลยังส่งทหารเข้าไปพบปะพูดคุยกับผู้มีความเห็นต่างกับรัฐบาล อันเป็นการคุกคามแบบละมุนละม่อมเพื่อหลีกการถูกโจมตีว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน วิธีการเช่นนี้เป็นการอำพรางตัวเองว่าไม่ได้เถื่อนดิบคือใช้กำลังในการเล่นงานปรปักษ์ทางการเมืองเหมือนกับประเทศเผด็จการในอดีต

4. Buddha Isara phenomenon - ปรากฎการณ์พุทธอิสระ

ปรากฎการณ์พุทธอิสระถือได้ว่ามีลักษณะเฉพาะตน (one of a kind) ไม่เหมือนกับกรณีอื้อฉาวของพระซึ่งมีมาอยู่เรื่อยๆ ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา อดีตพระพุทธอิสระคือส่วนผสมของการเป็นจอมฉวยโอกาสที่สร้างบารมีผ่านพุทธศาสนา จนกลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่แม้ชนชั้นปกครองเช่นคสช.ให้ความเคารพ เขายังมีลักษณะเป็นมาเฟียผสมนักต้มตุ๋นที่ใช้คราบนักบวชและวาทกรรมเรื่องรักชาติ (อันทำให้เขาแตกต่างจากกรณีธรรมกาย) เพื่อปกปิดอาชญากรรมของตัวเองเมื่อหลายปีก่อน โดยได้รับการสนับสนุนจากสาวกจำนวนไม่น้อยที่เป็นชนชั้นกลางและเป็นอดีตกปปส. เหตุการณ์ผลิกผันที่ทำให้เขากลายมาเป็นนายสุวิทย์ ทองประเสริฐในคุกได้รับการวิเคราะห์ว่าเกิดจากคำสั่งของอำนาจนอกกลุ่มคสช. จนกลายเป็นปรากฎการณ์รัฐซ้อนรัฐอีกรอบ ดังจะเห็นได้ว่าคสช.ออกมาขอโทษที่ทำการจับกุมพุทธอิสระโดยใช้ความรุนแรงเกินเหตุ และก่อนหน้านี้รัฐบาลไม่เคยแสดงเจตนาในการดำเนินคดีกับพุทธอิสระแม้แต่น้อย

อนึ่งปรากฎการณ์พุทธอิสระยังเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการเลื่อนไหลของกระบวนทัศน์ของชาวพุทธที่มีต่อพระสงฆ์ซึ่งเคยได้รับการนับถืออย่างสูงในสังคมไทย จากการที่คนจำนวนมากใช้คำหยาบคายในการด่าทอเขาขณะอยู่ในผ้าเหลืองน่าจะยิ่งกว่าพระรูปใดอย่างไม่กลัวบาปกลัวกรรม

5. Technological utopianism – โลกยูโทเปียทางเทคโนโลยี

ศัพท์คำนี้หมายถึงความเชื่อที่ว่าความเจริญทางเทคโนโลยีจะนำมาสู่โลกดีงามดังในฝัน ความเชื่อเช่นนี้มีมานานและอยู่กับคนทั่วโลก แต่สำหรับสังคมไทย บุคคลซี่งสะท้อนความเชื่อดังกล่าวล่าสุดคือนาย ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค เจ้าของเฟซบุ๊คซึ่งโพสหลายโพสสามารถสร้างความฮือฮาให้กับสังคมไทยได้ไม่น้อย ครั้งหนึ่งเขาแสดงความเห็นว่ารัฐสภานั้นไม่มีความจำเป็นอีกเท่าไรนัก เพราะคนที่จะมาตรวจสอบหรือควบคุมรัฐบาลได้แก่พลเมืองชาวเน็ต (netizen) ทั้งหลายผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งแนวคิดของนิติพงษ์เหมือนจะดูดี แต่ผู้เขียนมองว่าเป็นหลุมพรางเสียมากกว่า เพราะเขาลดความสำคัญของสถาบันแบบประชาธิปไตยไป และเปิดช่องไปสู่การปกครองแบบใดก็ได้ (แน่นอนว่าเขามีแนวโน้มจะสนับสนุนรัฐบาลแบบเผด็จการ) ที่สำคัญนิติพงษ์ยังมองข้ามจุดอ่อนของโซเชียลมีเดียที่ผ่านมาว่าไม่สามารถสร้างความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างแท้จริง ไม่ว่ากรณีนาฬิกาของพลเอกประวิตร การล่าเสือดำของนายเปรมชัย หรือโพลทางอินเทอร์เน็ตที่ไม่ต้องการพลเอกประยุทธ์อีกต่อไป รวมไปถึงความสามารถของรัฐเผด็จการในการควบคุมการแสดงทางการเมืองผ่านอินเทอร์เน็ตดังเช่นจีนซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มจะกลายเป็น Technological Authoritarianism หรือ เผด็จการที่ใช้ประโยชน์จากการควบคุมเทคโนโลยีไว้

6. Reactionary - พวกปฏิกิริยานิยม

ปฏิกิริยานิยมหมายถึงพวกปฏิเสธสิ่งใหม่ๆ อันมักได้แก่ผู้มีความคิดอนุรักษ์นิยมที่ต้องการรักษาสิ่งเก่าๆ อย่างจารีตประเพณีหรือชนชั้นทางการเมืองแบบเดิมไว้ ในกรณีนี้คือพวกตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองเสรีนิยมอย่างเช่นพรรคอนาคตใหม่ซึ่งมักเสนอแนวคิดนอกกรอบของกลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างเช่นล่าสุดคือการวิพากษ์วิจารณ์พิธีกรรมการไหว้ครู พวกปฏิกิริยานิยมมักเป็นพวกกปปส.เก่าและมีพื้นที่ในการแสดงออกตามเฟซบุ๊คของสื่ออย่างเช่นผู้จัดการและไทยโพสต์ โดยพวกเขามองว่าหัวหน้าพรรคอย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและเลขาธิการพรรคคือนายปิยบุตร แสงกนกกุลมีความสัมพันธ์หรือความใกล้ชิดกับเครือข่ายทักษิณและมีแนวคิดอันตรายอย่างเช่นคอมมิวนิสต์กับล้มเจ้า ปฏิกิริยานั้นมีความหลากหลายเช่นวิพากษ์วิจารณ์ โจมตีต่อต้าน จนไปถึงการสาดโคลน (mudslinging) อย่างไร้ที่มาที่ไป อย่างเช่นหม่อมเจ้าผู้หนึ่งได้กล่าวหาผ่านเฟซบุ๊คของตนว่านายธนาธรมีความตั้งใจจะเปลี่ยนประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐ

7.Abolishing the constitution - ฉีกรัฐธรรมนูญ

คำประกาศของนายธนาธรในการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้นำไปสู่การต่อต้านของคู่แข่งทางการเมือง (political rivals) อย่างเช่นพลเอกประวิตรออกมาห้ามปรามว่าผิดกฎหมาย (ที่ตัวเองได้ประโยชน์) นอกจากนี้พรรคการเมืองหนึ่งบอกว่าผิดกฎหมายอาญามาตรา 116 คือปลุกปั่นเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันก่อให้เกิดการย้อนแย้งดังคำถามได้ว่าเหตุใดคสช.จึงฉีกรัฐธรรมนูญเมื่อ 4 ปีก่อนได้โดยไม่ต้องรับความผิดอะไร (เช่นเดียวกับในประวัติศาสตร์ที่กองทัพเพียรฉีกรัฐธรรมนูญหลายสิบฉบับที่ผ่านมาก็ไม่เคยต้องโทษแม้แต่ครั้งเดียว) พวกปฏิกิริยานิยมบางคนโจมตีนายธนาธรว่าไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชนเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติมาแล้ว อันเป็นการไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการลงประชามติ (referendum) ครั้งที่ผ่านมา เกิดจากการใช้อำนาจและทรัพยากรในทุกด้านของรัฐในการปลุกปั่นหรือหลอกลวงให้ประชาชนลงคะแนนยอมรับรัฐธรรมนูญ (เช่นเดียวกับของฉบับปี 2550) และยังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายหลังการลงประชามติ อันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชนเหมือนกับในประเทศประชาธิปไตย สาเหตุที่นายธนาธรจะ “ฉีก” รัฐธรรมนูญนั้นเพราะมันเต็มไปด้วยกับดักจนกลายเป็นการสร้างทางตันสำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การฉีกหรือการยกเลิกจะต้องขึ้นอยู่กับการเห็นชอบของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง และมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อันขึ้นอยู่กับเจตจำนงของประชาชน คือผ่านการลงประชามติที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย

8. Fake new - ข่าวปลอม

ข่าวที่รัฐบาลเล่นงานคนปล่อยข่าวปลอมอย่างนายกรัฐมนตรีไล่ไปเติมน้ำเปล่าแทนน้ำมัน ฯลฯ น่าจะเข้าทำนองมือถือสากปากถือศีลอีกกรณีหนึ่ง เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นรัฐไทยนี่เองที่ผลิตซ้ำหรือสร้างสรรค์โฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) นั่นคือการกระจายข้อมูลอันบิดเบือนจากความเป็นจริงโดยการเติมสีหรือวาทกรรมลงไปเพื่อสร้างอำนาจให้กับชนชั้นปกครองอยู่ตลอดเวลาผ่านสื่อมวลชนกระแสหลักซึ่งเชื่องตามอำนาจของรัฐ กรณีนี้น่าจะมีความร้ายแรงเสียยิ่งกว่าข่าวปลอมที่ประชาชนทั่วไปปล่อยเสียอีก เราจึงสามารถกล่าวได้ว่า State is a monopoly of fake news and a mother of all lies. (รัฐคือผู้ผูกขาดข่าวปลอมและมารดาของมุสาวาททั้งหลายทั้งปวง)  

เป็นความจริงว่าคนปล่อยข่าวปลอมต้องถูกทำโทษตามกฎหมายเพราะอาจนำไปสู่ความวุ่นวายของสังคม แต่ในประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมนั้น รัฐจะไม่สามารถผูกขาดโฆษณาชวนเชื่อหรือข่าวปลอมได้เพียงฝ่ายเดียว เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท