Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break- />

เอกสารเชิงนโยบายและรายงานข่าวของสื่อมวลชนมักมองว่าลัทธิซาลาฟี (Salafism) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเสมือนกองหน้านำธงของลัทธิศาสนานิยมสุดขั้ว รวมทั้งเป็นม้าโทรจันของ “จักรวรรดินิยม” ซาอุดีอาระเบีย  รายงานเหล่านี้มักทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่า กลุ่มซาลาฟีมีอยู่ในภูมิภาคนี้เพราะได้รับเงินอุดหนุนจากกรุงริยาด  ในบทความนี้ ผู้เขียนประสงค์จะวาดภาพให้เห็นโดยละเอียดว่ากลุ่มซาลาฟีในภูมิภาคนี้มีความเชื่อมโยงกับโลกภายนอกอย่างไร โดยเฉพาะความเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในอ่าวอาหรับ  ผู้เขียนจะนำเสนอกรณีศึกษาขบวนการซาลาฟีในสองประเทศคือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย  โดยจะชี้ให้เห็นว่าบริบททางสังคมการเมืองมีผลต่อรูปลักษณ์ต่างๆ ในเครือข่ายข้ามชาติของขบวนการนี้อย่างไรบ้าง

ในบทความนี้ คำว่า ขบวนการซาลาฟี (Salafism) หมายถึงขบวนการเผยแผ่ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางศาสนาของมุสลิมสำนักนิกายอื่นๆ  ขบวนการซาลาฟีมุ่งหมายที่จะเจริญรอยตามวัตรปฏิบัติทางศาสนาและศีลธรรมของอิสลามสามรุ่นแรก (al-salaf al-salih—บรรพบุรุษผู้ทรงธรรม)  เพื่อบรรลุจุดประสงค์นี้ ขบวนการซาลาฟีจึงตีความพระคัมภีร์แบบตรงตามตัวอักษร  เป้าหมายสูงสุดของขบวนการซาลาฟีคือทำให้มุสลิมสำนักนิกายอื่นๆ ยอมรับว่าอิสลามในแบบของซาลาฟีคือหลักศาสนาดั้งเดิม ในขณะที่การตีความแบบอื่นเป็นการบิดเบือนจากรูปแบบบริสุทธิ์ของศาสนา  ในเชิงความคิดนั้น กลุ่มเหล่านี้แตกต่างจากขบวนการปฏิรูปศาสนาอิสลาม ซึ่งอ้างตัวเป็นขบวนการซาลาฟีเช่นกันและหยั่งรากลึกอยู่ในภูมิภาคนี้


อินโดนีเซีย               

เงินทุนที่ไหลมาจากอ่าวอาหรับและกิจกรรมการกุศลข้ามชาติของศาสนาอิสลามมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเกิดขบวนการซาลาฟีในอินโดนีเซีย  ขบวนการซาลาฟีปักหลักในประเทศนี้ได้ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 ท่ามกลางการรื้อฟื้นความนิยมในศาสนาอิสลามขึ้นมาใหม่ในช่วงเวลานั้น 1  กลุ่มซาลาฟีกลุ่มแรกๆ ก่อตัวขึ้นมาจากผู้จบการศึกษามหาวิทยาลัย Islamic University of Madinah (IUM) ซึ่งทุ่มทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่ต้องการเรียนวิชาด้านศาสนา

ในช่วงทศวรรษ 1980  มหาวิทยาลัย University of Imam Muhammad bin Sa‘ud ของซาอุดีอาระเบียเข้ามาก่อตั้งมหาวิทยาลัยสาขาในกรุงจาการ์ตาในชื่อ Lembaga Ilmu Pengetahuan Islam dan Arab (LIPIA)  มหาวิทยาลัยแห่งนี้กลายเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่แนวคิดซาลาฟีในประเทศ  ผู้นับถือซาลาฟีในอินโดนีเซียจำนวนมากคือนักศึกษาที่ไม่สามารถขอทุนไปเรียนต่อที่ IUM แล้วหันมาเข้าเรียนและจบการศึกษาจาก LIPIA แทน  ภาษาของการเรียนการสอนที่ใช้ในมหาวิทยาลัย LIPIA คือภาษาอาหรับและการสอนวิชาศาสนามีพื้นฐานจากแนวคิดของขบวนการซาลาฟีเป็นหลัก

บัณฑิตจาก IUM จำนวนหนึ่งสะสมทุนทางสังคมและสร้างสายสัมพันธ์กับองค์กรการกุศลและองค์กรให้ทุนหลายองค์กรระหว่างศึกษาอยู่ในซาอุดีอาระเบีย  ดังนั้น ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 องค์กรการกุศลจากอ่าวอาหรับจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในอินโดนีเซียและให้เงินอุดหนุนส่วนใหญ่แก่กลุ่มซาลาฟี  องค์กรที่น่าจะสำคัญที่สุดคือ Jama‘iyyat Ihya’ al-Turath al-Islami (Society for the Revival of Islamic Heritage – SRIH) ซึ่งเป็นองค์กรจากคูเวต  องค์กรนี้ก่อตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคขึ้นในกรุงจาการ์ตาและสนับสนุนการสร้างโรงเรียนประจำสอนศาสนาอิสลาม (pesantren—เปอซานเตร็นหรือปอเนาะ) หลายแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเกาะชวา แต่ก็มีบางแห่งในเกาะสุมาตรา ลอมบอกและกาลีมันตัน  จากโรงเรียนเปอซานเตร็นเหล่านี้ เครือข่ายซาลาฟีขนาดใหญ่ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อเรียกว่า เครือข่าย “ตูราตี” (Turathi) ซึ่งเป็นชื่อที่บอกถึงความเชื่อมโยงกับองค์กรคูเวตที่ให้ทุนสนับสนุน

ลักษณะเด่นประการหนึ่งของเครือข่ายตูราตีคือการเน้นแนวทางปฏิบัตินิยมและเต็มใจร่วมมือกับรัฐฆราวาส  โรงเรียนเปอซานเตร็นไม่ได้สอนแค่วิชาศาสนา แต่สอนตามหลักสูตรของโรงเรียนรัฐบาลอินโดนีเซียด้วย  เรื่องนี้ทำให้เครือข่ายตูราตีเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน  ชาวอินโดนีเซียที่ไม่ได้นับถือซาลาฟีจำนวนมากส่งลูกหลานเข้าเรียนในเปอซานเตร็น เพราะเชื่อว่าขบวนการซาลาฟีแตกฉานภาษาอาหรับและการศึกษาพระคัมภีร์กุรอานกับคำสอนหะดีษ  ดังนั้น เด็กๆ จะได้รับการศึกษาด้านศาสนาที่ดี ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนตามหลักสูตรของรัฐบาลด้วย ซึ่งช่วยสร้างโอกาสในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย 2

กลุ่มซาลาฟีตูราตีเลือกแนวทางร่วมมือกับรัฐในเรื่องอื่นๆ เช่นกัน  ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาให้ความร่วมมือกับเทศบาลอย่างสม่ำเสมอในการจัดอบรมเยาวชนเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย  อีกทั้งช่วยเป็นหูเป็นตาให้ตำรวจในการสอดส่องหากลุ่มนักรบญิฮาดที่อาจฝังตัวในชุมชน  อุสตาซ อารีฟ เซียรีฟุดดินจากเมืองซิเรบอน ซึ่งเป็นสมาชิกคนสำคัญของเครือข่ายตูราตี อธิบายให้ผู้เขียนฟังว่า ลัทธิซาลาฟีสอนถึงความจำเป็นของการเชื่อฟังและช่วยเหลือผู้ปกครองของรัฐ หากผู้ปกครองคนนั้นเป็นมุสลิม  เนื่องจากประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นมุสลิม  คนมุสลิมจึงมีหน้าที่สนับสนุนและช่วยเหลือประธานาธิบดี

การที่เครือข่ายตูราตีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำให้พวกเขาค่อนข้างมีอิสระในการทำกิจกรรมดะวะห์ (da‘wa) หรือการเผยแผ่ศาสนาและรักษาเครือข่ายข้ามชาติอันกว้างขวางไว้ได้  ยกตัวอย่างเช่น ทุกปีอย่างน้อยปีละครั้ง ชีคซาลาฟีจากคูเวตและซาอุดีอาระเบียจะมาอินโดนีเซียเพื่อตระเวนทำกิจกรรมดะวะห์และเยี่ยมเยียนโรงเรียนเปอซานเตร็นของเครือข่ายตูราตีตั้งแต่เกาะบาตัมจนถึงเกาะลอมบอก

เครือข่ายซาลาฟีอีกเครือข่ายหนึ่งเกิดขึ้นในเมืองมากัสซาร์บนเกาะซูลาเวซีใต้ในชื่อ Wahdah Islamiyah (เอกภาพอิสลาม – WI)  เครือข่ายนี้แตกออกมาจากองค์กรมูฮัมมาดียะห์ในช่วงปลายทศวรรษ 1980  ในสมัยนั้น ประธานาธิบดีซูฮาร์โตบังคับให้องค์กรอิสลามทั้งหมดยึดหลักปัญจศีลเป็นหลักการพื้นฐาน  องค์กรมูฮัมมาดียะห์จึงปรับตัวตามแนวทางสมัยใหม่  สมาชิกหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งขององค์กรยอมรับแนวทางนี้ไม่ได้  สมาชิกกลุ่มนี้จึงแตกออกมาจากองค์กรและสร้างกลุ่มใหม่ในชื่อ Yayasan Fathul Muin (Fathul Muin Endowment) ซึ่งต่อมากลายเป็นเครือข่าย WI

WI ค่อยๆ หันมารับแนวทางซาลาฟีมากขึ้นๆ เมื่อสมาชิกของเครือข่ายหลายคนเดินทางไปศึกษาต่อในซาอุดีอาระเบีย  ตอนแรกเครือข่ายได้รับเงินสนับสนุนจาก SRIH และต่อมาจากผู้บริจาคในซาอุดีอาระเบียหลายองค์กร รวมทั้งสถาบัน Qatari Shaykh Eid Charity Foundation (SACF) 3  WI แตกต่างจากเครือข่ายตูราตีในหลายแง่มุม  กล่าวคือ WI มีโครงสร้างการจัดองค์กรอย่างเป็นทางการ มีลำดับชั้นการบังคับบัญชาและกลไกการตัดสินใจซับซ้อนหลายขั้นตอนคอยควบคุมโครงการการกุศลและโรงเรียนประจำของ WI ที่ก่อตั้งทั่วประเทศอินโดนีเซีย  นอกจากนี้ WI ยังมีการทำกิจกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัย ร่วมจัดหลายโครงการและจัดกลุ่มศึกษาสำหรับนักศึกษา  ลักษณะเด่นอีกประการของ WI คือการมีบทบาทในการเมืองระบบรัฐสภา  ถึงแม้ไม่ได้เสนอผู้สมัครรับเลือกตั้งของตนเอง แต่ก็มักทำตัวเป็นหัวคะแนนเพื่อแลกกับการสนับสนุนทางวัตถุจากนักการเมืองชั้นนำ

ถึงแม้รักษาโครงสร้างสถาบันที่เหนียวแน่นเอาไว้ แต่ WI ก็ยังอาศัยวาทกรรมคำสอนของขบวนการซาลาฟี   WI สร้างความชอบธรรมให้แก่การดำเนินกิจกรรมของตนเองด้วยการอ้าง “อุลามะฮ์” ซาลาฟีจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความเห็นว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการก่อตั้งองค์กรไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยกจากอิสลาม 4

ถึงแม้การสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มประเทศในอ่าวอาหรับจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการก่อตั้งขบวนการซาลาฟีในอินโดนีเซีย แต่ก็ยากที่จะอ้างว่าเงินจากคาบสมุทรอาหรับคือเส้นหล่อเลี้ยงชีวิตของขบวนการนี้  ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนเปอซานเตร็นของเครือข่ายตูราตีไม่ได้รับเงินสนับสนุนจาก SRIH อย่างสม่ำเสมอ แต่เลี้ยงตัวเองได้จากค่าเล่าเรียนต่างหาก  WI เองก็หาทุนจากในประเทศอินโดนีเซียได้มากกว่าจากต่างประเทศ

ชุมชนซาลาฟีที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับสามในอินโดนีเซียไม่ยอมรับเงินบริจาคจากองค์กรการกุศลใดๆ อย่างเป็นกิจจะลักษณะ  Din Wahid เรียกเครือข่ายนี้ว่า “ผู้ปฏิเสธ” (rejectionist) เพราะกลุ่มนี้ปฏิเสธการร่วมมือใดๆ กับองค์กรการกุศลและกลุ่มอิสลามอื่นๆ  เครือข่าย “ผู้ปฏิเสธ” มองว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นมุบตาดี (mubtadi) หรือกลุ่มคนที่กระทำอุตริกรรมซึ่งไม่มีแบบอย่างมาก่อนในศาสนาอิสลาม (บิดอะห์)   “ผู้ปฏิเสธ” ไม่ยอมสอนหลักสูตรของรัฐบาลในโรงเรียนของตน พวกเขาก่อตั้งชุมชนสันโดษที่ลดการติดต่อสัมพันธ์กับสมาชิกของสังคมที่ไม่ใช่ซาลาฟีให้น้อยที่สุด

เครือข่าย “ผู้ปฏิเสธ” มีความเชื่อมโยงแนบแน่นกับตะวันออกกลาง  หลายคนเดินทางไปศึกษาในเยเมนภายใต้การสั่งสอนของ Muqbil al-Wadi‘ นักวิชาการศาสนาคนสำคัญของเยเมนผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือเป็นลูกศิษย์ของสาวกคนสำคัญของเขาอีกทีหนึ่ง  กระนั้นก็ตาม “ผู้ปฏิเสธ” ไม่รับทุนการศึกษาจากต่างประเทศ  ชุมชนเป็นผู้รวบรวมเงินที่นักศึกษาต้องใช้จ่ายระหว่างหลายปีที่ศึกษาในเยเมน (ส่วนเยเมนไม่คิดค่าเล่าเรียนและจัดหาที่พักอาศัยให้)  ตัวอย่างอีกประการหนึ่งที่แสดงถึงความเชื่อมโยงข้ามชาติก็คือการใช้สไกป์ถ่ายทอดคำบรรยายของนักวิชาการศาสนาชาวเยเมนในมัสยิดบ่อยครั้ง 5

มาเลเซีย

ในมาเลเซียก็เช่นกัน  สายสัมพันธ์ข้ามชาติมีบทบาทสำคัญในการก่อตัวของลัทธิซาลาฟี  กระนั้นก็มีลักษณะแตกต่างออกไปเนื่องจากบริบททางสังคมการเมืองที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ  ในมาเลเซีย องค์กรการกุศลและงานบรรเทาทุกข์แทบไม่มีบทบาทในการขยายแนวคิดซาลาฟีเลย

ขบวนการซาลาฟีในมาเลเซียแตกแขนงมาจากชุมชนอิสลามแนวปฏิรูปหรือขบวนการ Kaum Muda ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในพื้นที่นิคมช่องแคบที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (เช่น ปีนัง มะละกา สิงคโปร์ ฯลฯ) และรัฐปะลิสที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ  ผู้นับถืออิสลามสายปฏิรูปบางคนเริ่มหันมาตีความพระคัมภีร์ตรงตามตัวอักษรมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 หลังจากได้รับอิทธิพลจากขบวนการซาลาฟีในซาอุดีอาระเบียและจอร์แดน  ผู้บุกเบิกขบวนการซาลาฟีในปัจจุบันจำนวนหนึ่ง ถึงแม้มีภูมิหลังจากขบวนการ Kaum Muda แต่หันมานับถือแนวทางซาลาฟีหลังจากศึกษาในซาอุดีอาระเบียในช่วงทศวรรษ 1980-1990  คนที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุดมีอาทิ โจฮารี มัท, ฮุสเซน ยี และชาวสิงคโปร์ เช่น ราซูล ดารี เป็นต้น

อีกประเทศที่มีอิทธิพลต่อขบวนการซาลาฟีในมาเลเซียคือจอร์แดน  ขบวนการซาลาฟีในจอร์แดนต่างจากในซาอุดีอาระเบีย กล่าวคือ ในจอร์แดนไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐ  กระนั้นก็ตาม ขบวนการซาลาฟีก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากคุณูปการของชีคนาซีร์ อัล-ดิน อัล-อัลบานี และลูกศิษย์ของเขา เช่น ชีคอาลี อัล-ฮาลาบี  นักศึกษาชาวมาเลเซียที่ไปศึกษาวิชาศาสนาและภาษาอาหรับที่มหาวิทยาลัยในจอร์แดนได้รู้จักขบวนการซาลาฟีหลังจากเข้าร่วมกลุ่มศึกษาที่ก่อตั้งอย่างไม่เป็นทางการตามมัสยิดต่างๆ ในกรุงอัมมานและในเมืองใหญ่อื่นๆ ของจอร์แดน รวมทั้งตามบ้านของผู้เข้าร่วมขบวนการบางคน

สมาชิกขบวนการซาลาฟีมาเลเซียที่โดดเด่นบางคน เช่น ซูไลมาน นอร์ดิน ทำความรู้จักแนวคิดของขบวนการนี้ระหว่างศึกษาอยู่ในสหราชอาณาจักร  ลัทธิซาลาฟีลงหลักปักรากฐานในหมู่ชุมชนมุสลิมตามเมืองใหญ่ๆ ของอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1980  นักศึกษาชาวมาเลเซียบางคนได้รับแรงบันดาลใจจากขบวนการหลังจากเข้าร่วมกลุ่มซาลาฟีอังกฤษและเผยแพร่แนวทางนี้ต่อไปหลังจากกลับมามาเลเซียแล้ว

ขบวนการซาลาฟีในมาเลเซียแทบไม่เคยเป็นตัวแทนขององค์กรการกุศลข้ามชาติเลย รวมทั้งไม่มีการตั้งเครือข่ายโรงเรียนและการกุศลอย่างกว้างขวางแบบในอินโดนีเซีย  เหตุผลหลักน่าจะเป็นเพราะทั้งระบบราชการศาสนาของรัฐ (Jabatan Kemajuaan Islam Malaysia – JAKIM) และสุลต่านในรัฐต่างๆ ของมาเลเซียล้วนมีอคติต่อขบวนการซาลาฟี  JAKIM มีแนวโน้มที่จะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้ศาสนาอิสลามในประเทศและพยายามครอบงำสำนักคิดชาฟีอี (Shafi‘i madhab) อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  ส่วนสุลต่านทั้งหลายมักเป็นสาวกของสำนักคิดที่เป็นปฏิปักษ์กับขบวนการซาลาฟี  ยกตัวอย่างเช่น สุลต่านของรัฐเประก์มีความคิดโน้มเอียงไปทางสำนัก Naqshbandi-Haqqani Sufi  ด้วยเหตุนี้ หนังสือของขบวนการซาลาฟีจึงมักถูกสั่งห้ามในมาเลเซีย  นอกจากนั้น นักวิชาการของขบวนการซาลาฟีที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ฟาตุล บารี มัต ยะห์ยา ก็ถูกสั่งห้ามสอนศาสนา

เจ้าหน้าที่รัฐยังขัดขวางองค์กรการกุศลจากอ่าวอาหรับมิให้เข้ามาดำเนินการในมาเลเซีย  ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้ SRIH มีสำนักงานในมาเลเซีย แต่เจ้าหน้าที่ขององค์กรการกุศลแห่งนี้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า พวกเขาประสบอุปสรรคจากรัฐบาลหลายครั้ง  รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐยังแสดงความไม่พอใจอย่างเปิดเผยเมื่อพวกเขาพยายามขยายบทบาทในประเทศนี้

ดังนั้น ความเชื่อมโยงข้ามชาติของขบวนการซาลาฟีในมาเลเซียจึงมีลักษณะเป็นเครือข่ายระหว่างตัวบุคคลที่แนบแน่นแต่ไม่เป็นทางการ  ชีคของขบวนการซาลาฟีจากประเทศตะวันออกกลางและยุโรปมักมาเยือนมาเลเซียในฐานะนักท่องเที่ยว เข้าร่วมในการตระเวนทำกิจกรรมดะวะห์ หรือแสดงปาฐกถาและสอนบทเรียนทางศาสนา  ในรัฐยะโฮร์ มีเครือข่ายที่คล้ายคลึงกับ “ผู้ปฏิเสธ” ในอินโดนีเซียเกิดขึ้นเช่นกัน โดยมีความเชื่อมโยงทางวิชาการกับซาอุดีอาระเบียและคูเวตอย่างแนบแน่น  ชีคมูฮัมหมัด อัล-อันจารี ศาสนาจารย์ชาวคูเวตผู้มีชื่อเสียง เคยเดินทางมาเยือนมาเลเซียหลายครั้งเพื่อแสดงปาฐกถาและสอนบทเรียนทางศาสนา  สมาชิกขบวนการซาลาฟีชาวมาเลเซียที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น ฮุสเซน ยี ก็มีสายสัมพันธ์อันดีกับขบวนการซาลาฟีในตะวันตก  การที่พวกเขาพูดภาษาอังกฤษได้ดี ทำให้ได้ปรากฏตัวในช่องทางสื่อนานาชาติ เช่น Peace TV หลายครั้ง

จากที่บรรยายมาทั้งหมดข้างต้น เราเห็นแล้วว่าความเชื่อมโยงข้ามชาติกับกลุ่มประเทศในอ่าวอาหรับมีบทบาทสำคัญต่อพลวัตของขบวนการซาลาฟีทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย  แต่การดำรงอยู่ของขบวนการไม่ถือเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียหรือประเทศอื่นๆ ในอ่าวอาหรับ  อันที่จริง  ทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย องค์กรหรือเครือข่ายที่ไม่ใช่ซาลาฟีได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรการกุศลและรัฐบาลกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) มากกว่าเสียอีก  กลุ่มกระแสหลัก เช่น องค์กรมูฮัมมาดียะห์ และองค์กรตามจารีตประเพณีดั้งเดิมอย่างนะห์ดาตุล อูลามะ ได้รับเงินช่วยเหลือจากซาอุดีอาระเบียมากกว่าขบวนการซาลาฟี  ทั้งนี้เพราะองค์กรกระแสหลักเหล่านี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่กว้างขวางกว่า จึงเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพมากกว่าสำหรับซาอุดีอาระเบียและคูเวตที่จะสร้างเสริม “อำนาจอ่อน” (soft power) ของตน อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี  องค์กรการกุศลจากกลุ่มประเทศในอ่าวอาหรับที่สนับสนุนขบวนการซาลาฟีมักบริจาคเงินให้กลุ่มที่ไม่ใช่ซาลาฟีมากกว่าไปพร้อมๆ กัน  ยกตัวอย่างเช่น SACF ทำโครงการการกุศลโดยร่วมมือกับองค์กรมูฮัมมาดียะห์และ PERSIS ซึ่งเป็นองค์กรแนวปฏิรูปอีกองค์กรหนึ่ง  ในมาเลเซียก็ทำนองเดียวกัน  เงินทุนจากองค์กรผู้บริจาค เช่น World Muslim Youth  ของซาอุดีอาระเบียไหลไปสู่ขบวนการอิสลามต่างๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกับขบวนการซาลาฟีเลย เช่น องค์กร Angkatan Belia Islam Malaysia (ABIM) เป็นต้น

 

Reference

Hasan, Noorhaidi. Laskar Jihad: Islam, Militancy and the Quest for Identity in Post-New Order Indonesia. Ithaca, NY: Cornell Southeast Asia Program, 2006.
Wahid, Din. Nurturing the Salafi Manhaj: A Study of Salafi Pesantrens in Indonesia. Utrecht, PhD Thesis submitted to Utrecht University, 2014.


ที่มา: kyotoreview.org/thai/modalities-of-salafi-transnationalism-in-southeast-asia-thai 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net