Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: www.theguardian.com/media/from-the-archive-blog
/2011/jun/04/1989-tiananmen-square-beijing

ยามดึกของวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1989 เด็กชายอายุ 17 ปี นามว่า เจี่ยง เจี๋ยเหลียน (Jiang Jielian) ถูกยิงสังหาร ด้วยฝีมือของกองกำลังปลดปล่อยประชาชนในกรุงปักกิ่ง ในเวลาถัดมา ติง จึหลิน (Ding Zilin) แม่ของเขาผู้เป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญาที่เกษียณอายุจากมหาวิทยาลัยแห่งประชาชน พร้อมกับ จาง เสียนเลี่ยง (Zhang Xianling) ผู้สูญเสียบุตรชายวัย 19 ปี ได้รวมตัวกับ หวง จิ้นผิง (Huang Jinping) ผู้สูญเสียสามีในการจัดตั้งและนำกลุ่ม “เหล่ามารดาแห่งเทียนอันเหมิน” พวกเธอถือว่าเป็นภารกิจในการค้นหาญาติพี่น้องของผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปี ค.ศ. 1989 ความพยายามดังกล่าวนี้ต้องอาศัยความอุตสาหะเป็นอย่างมากเนื่องจากรัฐบาลจีนประกาศอย่างชัดเจนว่าเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้นล้วนถือเป็น “ผู้ก่อความไม่สงบที่ต่อต้านการปฏิวัติ” อันจะส่งผลให้ครอบครัวของเหยื่อที่ให้ข้อมูลกับกลุ่มนี้อาจจะเผชิญปัญหากับรัฐบาลได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม หลังจากเคลื่อนไหวไปราวหนึ่งทศวรรษ ในที่สุดกลุ่มเหล่ามารดาแห่งเทียนอันเหมิน ก็ได้รวบรวมเรื่องราวมากพอที่จะตีพิมพ์หนังสือเล่มเล็ก ๆชื่อ “ประจักษ์พยานต่อเหตุการณ์สังหารหมู่และการเฟ้นหาความยุติธรรม” โดยหนังสือดังกล่าวรวบรวมรายชื่อ พร้อมทั้งรูปถ่าย และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ของผู้เคราะห์ร้าย 155 คน ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่ ในหนังสือยังมีเรื่องเล่าถึงยี่สิบห้าเรื่องที่บ่งบอกถึงความยากลำบากของในการค้นหาเหล่าสมาชิกครอบครัวของเหยื่อ ส่วนหนังสือฉบับเพิ่มเติมรายละเอียดนั้นถูกตีพิมพ์ในภายหลังที่ฮ่องกงภายใต้ชื่อว่า “การแสวงหาเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย วันที่ 4 มิถุนายน 1989-2005”

หลิวเสี่ยวโป ผู้ถือตนเองว่าเป็นศิษย์ของ ติง จึหลิน (Ding Zilin) เคยเป็นหนึ่งในผู้ห้าวหาญรุ่นบุกเบิกที่สนับสนุนกลุ่ม เหล่ามารดาแห่งเทียนอันเหมิน หลังจากนั้นเขาได้เขียนความเรียงฉบับยาวในปี ค.ศ. 2004 ในวันก่อนครบวันรอบสิบห้าปีเหตุการณ์สังหารหมู่ ซึ่งมีการคัดย่อเพื่อเผยแพร่ในภายหลัง

สองเดือนก่อนที่หลิวจะเขียนความเรียงดังกล่าว ติง จึหลิน (Ding Zilin), จาง เสียนเลี่ยง (Zhang Xianling) และ หวง จิ้นผิง (Huang Jinping) ได้ถูกจับกุมตัวจากบ้านพวกเขา และถูกคุมขังไว้เป็นเวลาหลายวัน เห็นได้ชัดว่าน่าจะเป็นเพราะพวกเขาได้ตีพิมพ์งานเขียนเกี่ยวกับครอบครัวของเหยื่อนั่นเอง (ถึงแม้ว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่เคยได้บอกเหตุผลเลยก็ตาม)

                                                                                                                  บรรณาธิการฉบับภาษาอังกฤษ

 

การอ่านบทรำลึกของสมาชิกครอบครัวเหยื่อผู้ถูกสังหาร ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นชัดถึงความโหดร้ายป่าเถื่อนของเหล่าเพชฌฆาต และยิ่งเห็นชัดขึ้นไปอีกถึงแสงสว่างแห่งมนุษยธรรม ที่เปล่งประกายท่ามกลางความหวาดกลัว

ทันทีที่เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1989 ทางการจีนใช้ข้อได้เปรียบจากการผูกขาดสื่อสารมวลชน เพื่อให้เส้นแบ่งขาวดำเลือนรางไป พวกเขาประโคมข่าวซ้ำ ๆ ว่ากลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเหล่าผู้ก่อความไม่สงบปฏิบัติอย่างรุนแรงโหดร้ายกับเหล่าทหารผู้ทำหน้าที่ภายใต้กฎอัยการศึกอย่างไร พร้อมทั้งพยายามอย่างถึงที่สุดในการปกปิดความจริงว่าทหารเหล่านั้นได้สังหารผู้บริสุทธิ์ไปอย่างโหดเหี้ยม แต่ถึงรัฐบาลจะพยายามที่จะปกปิดแหล่งข้อมูลข่าวสารอย่างไร ความโหดร้ายของเหล่าทหารก็ยังปรากฏอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง และได้ถูกรวบรวมไว้อยู่ดี หนึ่งในนั้นได้เล่าว่าเกิดอะไรขึ้นในย่านซีดาน เมื่อกองทัพได้ใช้รถถังไล่ล่าและขยี้นักศึกษาและประชาชน มีผู้เห็นเหตุการณ์เพียงสองสามคนเท่านั้นที่ไดเปิดเผยถึงเหตุอันขมขื่นนี้ แต่ในขณะนี้ด้วยเหตุที่มีสมาชิกในครอบครัวเหล่าผู้เสียชีวิตที่ได้ออกมายืนยันเหตุดังกล่าว เราจึงมีพยานหลักฐานที่กระจ่างแจ้งและสมบูรณ์แบบมากกว่าเดิม

เห็นได้ชัดจากคำให้การเหล่านั้นว่ากองทัพได้เปิดฉากยิง สาดกระสุนใส่ประชาชนผู้บริสุทธิ์จากทุกทิศทาง และได้คร่าชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์ไปมากมาย

เมื่อเวลาราวสี่ทุ่มของคืนวันที่ 3 มิถุนายน กองทัพที่กำลังเคลื่อนตัวจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออกตามเส้นทางของถนนหลวง Fuxing โดยสาดกระสุนไปยังแหล่งที่พักอาศัยของประชาชนอย่างไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้คน

ในเวลาราว 5 ทุ่ม ขณะที่กองกำลังลาดตระเวนของทหารราบเคลื่อนตัวผ่านสะพานที่เขต Muxidi ทั้นใดนั้น คำบัญชาการได้ถูกส่งออกไป กองทหารได้แปรทัพสู่วิถีจู่โจมทันที จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารกองนั้นนายหนึ่ง ตั้งท่าชันเข่า ยกปืนกลขึ้นพร้อมทั้งกราดยิงอย่างหน้ามืดตามัวตามแนวถนน เป็นเหตุให้ผู้คนมากมายล้มลงไปนอนจมกองเลือด ผู้คนที่เหลือแตกตื่น ขวัญกระเจิง หนีไปทุกทิศทาง ส่วนนักศึกษาที่พยายามยุติฉากยิงดังกล่าวนี้ด้วยตัวเองกลับถูกยิงไปด้วย

เนื่องจากการเปิดฉากยิงที่เกิดขึ้นนั้นมืดบอดมาก ผู้คนหลายคนต้องล้มตายภายในบ้านตัวเอง ผู้คน 182 คนที่ต้องเสียชีวิตไปตามที่ปรากฎในคำให้การ บางคนไม่เคยเข้าร่วมการประท้วงเลย ไม่เคยเผชิญหน้ากับกองทัพ ไม่เคยแม้แต่จะออกมาพบกับเหตุการณ์เร้าใจต่างๆ แต่ทั้งนี้ห่ากระสุนจากการกราดยิงก็ได้พรากชีวิตพวกเขาไป

สตรีผู้หนึ่งผู้มีชื่อว่า หม่า เชิงเฝิน (Ma Chengfen) ผู้เป็นทหารผ่านศึกแห่งกองกำลังปลดปล่อยประชาชน ถูกยิงเสียชีวิตขณะที่นั่งคุยกับเพื่อนบ้านอยู่บนราวบันได คนงานชื่อ จาง ฟู่หยวน (Zhang Fuyuan) วัย 66 ปีถูกยิงที่ลานหลังบ้านของญาติ เหยื่ออีกหนึ่งรายเป็นสตรีสูงอายุจาก Wanxian ในมณฑลเสฉวนผู้เคยทำงานใน Muxidi เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ในที่พัก 22 ชั้นของรัฐมนตรีคนหนึ่ง เธอถูกยิงเสียชีวิตหลังจากที่ลงมายังระเบียงชั้น 14 เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น ในอาคารหลังเดียวกับที่บุตรเขยของรองผู้ตรวจการเสียชีวิตในครัวของเขาเอง

ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนขวัญมากที่สุดอาจจะเป็นการที่คนธรรมดาที่กำลังเดินตามถนนกลับถูกไล่ล่าและสังหารในที่สุด เพียงเพราะบังเอิญเจอกับกลุ่มทหารที่กำลังเมามันเพราะได้รับคำสั่งให้ฆ่า

กลุ่มคนเจ็ดคนประกอบด้วย ชายห้าคน และหญิงสองคนที่กำลังเดินอยู่ใกล้ถนน Nanlishi ถูกไล่ล่าในลักษณะดังกล่าวนั้น สามคนในนั้นได้แก่ หยาง จือผิง (Yang Ziping), หวาง เจิงเซิง (Wang Zhengsheng) และ อัน จี (An Ji) ถูกสังหาร ส่วนสองคนที่เหลือได้รับบาดเจ็บ

คำให้การเหล่านี้แสดงให้เห็นเช่นกันว่า กองกำลังทหารแห่งกฎอัยการศึกมีความทารุณโหดร้ายได้ถึงขนาดที่สกัดกั้นไม่ให้ผู้ไดัรับบาดเจ็บ และผู้ที่กำลังจะตายได้รับความช่วยเหลือ

จาง เสียนเลี่ยง (Zhang Xianling) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง เหล่ามารดาแห่งเทียนอันเหมิน กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เด็กหนุ่มรีบวิ่งออกไปถ่ายรูปขณะที่ทหารกำลังเปิดฉากยิง แต่ท้ายที่สุดเขาก็โดนลูกหลงไปด้วย ผู้คนที่เห็นเด็กหนุ่มกำลังล้มลงต้องการที่จะช่วยเขา แต่เหล่าทหารไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้เด็กหนุ่มคนนั้นเลย หญิงชราคนหนึ่งคุกเข่าอ้อนวอนขอร้องพวกเขา “เขายังเป็นแค่เด็กคนหนึ่งแท้ๆ” หล่อนกล่าว “ได้โปรดให้พวกเราเข้าไปช่วยเขาเถิด!” ทหารโต้ตอบด้วยการเอาปืนไปจ่อที่ใบหน้าของหล่อนพร้อมตะโกนคำราม “ไอ้เด็กนั่นเป็นผู้ก่อความไม่สงบ! ฉันจะยิงใครก็ตามที่ก้าวออกมาอีกหนึ่งก้าว” หลังจากนั้นรถพยาบาลสองคันก็ได้มาถึง และทหารก็ได้สกัดไว้ เมื่อแพทย์ได้ลงมาจากรถมาเพื่อพยายามจะเจรจา ทหารก็ได้ปฏิเสธ รถพยาบาลจึงต้องกลับไป กล่าวโดยสรุป คือ พวกเขาฆ่าคนและไม่ยอมให้คนอื่นช่วยเหลือ โหดเหี้ยมอำมหิตแค่ไหนกันนะ

นอกจากนั้นแล้ว ผู้อ่านยังประจักษ์ว่าเหล่าฆาตกรเหล่านั้นพยายามที่จะปกปิดความชั่วร้ายที่พวกเขาทำอยู่ในขณะนั้นโดยไร้ยางอายอย่างไรบ้าง พวกเขาซ่อนศพของผู้เสียชีวิต หลายคนหายสาบสูญในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1989 และแม้จวบจนวันนี้เองก็ยังยากที่จะระบุได้ถึงจำนวนที่แท้จริงของผู้เสียชีวิต และผู้ที่รอดชีวิต

หลังจากที่ หวาง หนาน (Wang Nan) บุตรชายของ จาง เสียนเลี่ยง (Zhang Xianling) ถูกยิงเสียชีวิต กองทหารได้ฝังร่างเขาไว้ที่สนามหญ้า หน้าประตู 28 ของโรงเรียนมัธยม (ปัจจุบันที่รู้จักกันในนามโรงเรียนมัธยม Chang’an ในปัจจุบัน) ใกล้เทียนอันเหมิน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเขาได้สวมเครื่องแบบทหาร และคาดเข็มขัดทหาร ทางกองทัพจึงเกรงว่าเขาอาจจะเป็นหนึ่งในพวกของตน พวกเขาจึงขุดร่างของ หวาง หนาน (Wang Nan) ขึ้นมาและนำส่งโรงพยาบาล

ในที่สุด เมื่อจาง เสียนเลี่ยง (Zhang Xianling) พบศพของลูกชายตนเอง ในเบื้องแรกพวกทหารไม่ยอมให้เธอนำร่างของลูกกลับไป “คุณเอากลับไปไม่ได้” ทหารหนึ่งนายตะคอกใส่หน้าเธอ “ถอยไป ไม่เช่นนั้นคุณจะโดนจับกุมตัว” หลังจากนั้นเธอจึงพบว่า จริง ๆ แล้วมีร่างของผู้เสียชีวิตถึงสามร่างในหลุมนั้น แต่สองร่างที่เหลือถูกส่งไปยังฌาปนสถานในฐานะ “ศพนิรนาม” แล้ว “ในระหว่างที่เรากำลังค้นหา” จาง เสียนเลี่ยง (Zhang Xianling) เล่าถึงช่วงเวลาที่เธอได้ประสบ “พวกเราวิ่งผ่านผู้คนเป็นสิบ เช่นเดียวกับเหล่าสมาชิกครอบครัวที่กำลังตามหาบุคคลผู้เป็นที่รักของตนอยู่ ทั้งที่ยังมีชีวิตรอด หรือที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็คงจะต้องเสียเวลาเปล่า มันอาจจะเทียบได้กับการค้นหา “ศพนิรนาม” ที่ถูกฌาปนกิจแบบศพไม่มีญาติไปแล้วก็เป็นได้

ความรู้สึกผิดทิ่มแทงเข้ามาในใจของข้าพเจ้าราวกับกริชอันแหลมคมข้าพเจ้าอ่านบทสัมภาษณ์เหล่านี้ เนื่องจากผู้คนที่ถูกปลิดชีพอย่างทารุณในคืนนั้น ไม่ได้เป็นหนึ่งในจำพวก “ชนชั้นนำ” เลยแม้แต่น้อย ไม่มีนักกิจกรรมโดดเด่นอย่างเช่นข้าพเจ้าต้องสูญเสียชีวิตเลย ในบรรดาเหยื่อผู้สูญเสียชีวิตทั้งหมด มีตั้งแต่ ผู้สูงอายุวัย 66 ปี ไปจนถึงเด็กอายุเพิ่งจะเก้าขวบ ทั้งคนอายุสามสิบ สี่สิบกว่าๆในวัยที่เป็นช่วงสำคัญที่สุดในชีวิต เด็กวัยรุ่นอายุ 17 ปี อีกคนก็ 20 ปีกว่าๆ พวกเขาเป็นเพียงเด็กนักเรียนนักศึกษาธรรมดา ๆ และพลเรือนผู้เห็นได้ชัดว่าต้องการเพียงแค่ใช้ชีวิตที่เป็นปกติ และพึงพอใจกับความสุขธรรมดาๆไปแต่ละวันเพียงเท่านั้น และ ในค่ำคืนที่ชุ่มและเจิ่งนองไปด้วยเลือดพวกเขาทำความผิดในการตัดสินใจทำตามสัญชาติญาณความเห็นอกเห็นใจ หรือแม้แต่การตามหาความยุติธรรม ซึ่งเป็นผลให้เพวกเขาต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไปจนหมดสิ้น

ผู้เสียชีวิตบางคนเคยร่วมในกลุ่มผู้เคลื่อนไหวในเหตุการณ์ปี ค.ศ. 1989 พวกเขาตั้งมั่นอยู่ ณ จัตุรัสแห่งนั้นกระทั่งวินาทีสุดท้าย ราวกับว่ากำลังแอ่นอกรอรับกระสุนจากเหล่าปีศาจร้ายที่มาคร่าชีวิตเขาไป อย่างเช่น

 

เฉิง เหรินซิ่ง (Cheng Renxing) นักศึกษาอายุ 25 ปี แห่งมหาวิทยาลัยแห่งประชาชน เมื่อกำลังจะถอนตัวออกไปจากจัตุรัส ถูกสุ่มยิงและล้มลงไป เขาล้มพับลงไปที่ฐานของธง ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่หน้าจัตุรัสเทียนอันเหมิน
 

ไต้ จินผิง (Dai Jinping) นักศึกษาปริญญาโทวัย 27 แห่งมหาวิทยาลัยการเกษตรแห่งกรุงปักกิ่ง ถูกยิงเสียชีวิตราว ๆ ห้าทุ่มของวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1989 ข้าง ๆ หอที่ระลึกประธานเหมา เจ๋อตุง
 

หลี่ ห่าวเฉิง (Li Haocheng) นักศึกษาภาควิชาภาษาจีนแห่งมหาวิทยาลัยวิชาการศึกษาเทียนจิน เป็นหนึ่งในบรรดานักศึกษาและอาจารย์จำนวนห้าพันคนที่เข้าร่วมเดินทางไปปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมการประท้วง ในเช้าตรู่ของวันที่ 4 ขณะที่กองกำลังปราบปรามที่ตั้งขึ้นโดยประกาศกฎอัยการศึกเคลื่อนพลเข้ามาในจัตุรัสเทียนอันเหมิน หลี่ได้ยืนอยู่ที่มุมของจัตุรัส ถ่ายรูปภาพเพื่อบันทึกเหตุการณ์ไว้ เพียงแค่แสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูปของเขาวาบขึ้นเท่านั้น เขาก็ล้มลงและเสียชีวิตในที่สุด
 

อู๋ เซียงตง (Wu Xiangdong) นักศึกษาอายุ 21 ปี ผู้มีส่วนร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวปี ค.ศ. 1989 ตั้งแต่แรกเริ่ม ได้เขียนจดหมายอำลาให้แก่ครอบครัวของเขาไว้แล้ว โดยมีความว่า “ชะตาชีวิตของชาติ ขึ้นอยู่กับปัจเจกชนแต่ละคน แม้นต้องแลกด้วยชีวิต ข้าพเจ้าก็ยอม” ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เขาก็ต้องแลกด้วยชีวิตจริง ๆ
 

ส่วนคนอื่น ๆ นั้นแต่แรกเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์การประท้วงเท่านั้น แต่ถูกขับเคลื่อนด้วยการหยั่งรู้ถึงศีลธรรมซึ่งเป็นเนื้อแท้ของมนุษย์ พวกเขาเข้าไปช่วยเหล่าผู้ประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บท่ามกลางช่วงเวลาที่เสี่ยงภัยต่อตัวเขาเองเป็นอย่างมาก เมื่อเกิดเหตุระทึกขวัญขึ้น บางคนรีบวิ่งเข้าไปยังจุดที่อันตรายที่สุด นี่คือตัวอย่างต่าง ๆ ของเหตุการณ์ดังกล่าว
 

ในตอนเย็นของวันที่ 3 มิถุนายน เจี่ยง เจี๋ยเหลียน (Jiang Jielian) เด็กมัธยมอายุ 17 ปี ไม่ฟังเสียงมารดาที่ร้องห้ามทั้งน้ำตา โดยกระโดดหนีออกทางหน้าต่างห้องน้ำ ของบ้านที่มารดาของเขาลงกลอนประตูทุกบานไว้ และวิ่งตรงไปยังถนนหลวง Chang’an ที่เต็มไปด้วยรอยเลือด เพื่อร่วมกับผู้คนที่กำลังพยายามหยุดกองกำลังปราบปราม แต่ความพยายามของเขาล้มเหลว และกระสุนก็พรากชีวิตของเขาไปในที่สุด
 

หวาง หนาน (Wang nan) นักเรียนชั้นมัธยมปลาย อายุ 19 ปี รู้สึกถึงแรงกระตุ้นที่จะต้อง “บันทึกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์” เขาพกกล้องวิ่งตรงไปยังจัตุรัสเทียนอันเหมิน แต่ก่อนที่เขาจะทันใช้กล้องบันทึกเหตุการณ์ใด ๆ ชีวิตของเขากลับต้องมอดดับไปกลายเป็นเพียงเศษเสี้ยวของหลักฐานของการสังหารหมู่อันป่าเถื่อน
 

ยาน เหวิน (Yan Wen) นักศึกษาอายุ 23 ปี แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ก็ต้องการที่จะบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เช่นกัน เขามุ่งหน้าไปที่ Muxidi พร้อมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน ทันใดนั้นก็มีกระสุนพุ่งเข้าไปที่ต้นขาของเขาตัดเส้นเลือดใหญ่ ทำให้เลือดไหลไม่หยุด เขาขาดหายใจตายลงอย่างรวดเร็ว


ทั้งนี้ยังมีเหตุการณ์อื่น ๆ ที่มีผู้กล้าฝ่าอันตรายพยายามเข้าไปช่วยคนกำลังจะตาย แต่กลับได้รับบาดเจ็บสาหัส และนี่เป็นตัวอย่างบางส่วน


ในเวลา 1 ทุ่ม ของวันที่ 4 มิถุนายน หยาง ยานเซิง (Yang Yansheng) อายุ 30 ปี ได้แวะช่วยผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่กลับถูกกองกำลังปราบปรามยิง กระสุนพุ่งเข้าไปที่ตับ และส่งผลให้เขาเสียชีวิตในที่สุด


ตู้ กวางเสว่ (Du Guangxue) คนงาน อายุ 24 ปี เด็กหนุ่มไฟแรงผู้เข้าไปเยื่ยมเยียนเหล่าผู้ประท้วง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินหลายครั้งหลายครา ในกลางดึกของวันที่ 3 มิถุนายน เขาได้ยินข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตที่จัตุรัส เขาจึงรีบกระโจนขึ้นจักรยานและปั่นไปอย่างรวดเร็วด้วยความหวังว่าเขาจะช่วยอะไรได้บ้าง จากนั้น เขาถูกยิงเสียชีวิตขณะปั่นจักรยานผ่าน Xinhuamen


โจว เต๋อผิง (Zhou Deping) นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า อายุ 25 ปี จากมหาวิทยาลัยซิงหัว ในระหว่างช่วงที่เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในค่ำวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1989 นั้น เขาอาสารวมกลุ่มกับเพื่อนร่วมชั้น เดินทางไปที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อดูว่าเพื่อนร่วมชั้นคนอื่น ๆ ก่อนหน้านั้นกำลังเผชิญกับอะไรอยู่ เขารีบปั่นจักรยานออกไป และไม่ได้กลับมาอีกเลย


ซุน ฮุย (Sun Hui) นักศึกษาเอกวิชาเคมีแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เขาได้อาสาเข้าไปตามหากลุ่มเพื่อนร่วมชั้นที่ได้บอกว่ากำลังจะเลิกชุมนุมจากจัตุรัส แต่ก็ไม่ได้กลับมาที่มหาวิทยาลัยอีก เขาถูกยิงเสียชีวิตขณะที่กำลังปั่นจักรยานใกล้ ๆ ทางข้ามที่ประตู Fuxingmen


บทสัมภาษณ์ได้เล่าถึงเรื่องราวการเสียชีวิตของบุคคลอีกสามคน ซึ่งถ้าหากพวกเขาได้ถูกบันทึกภาพเอาไว้ด้วยกล้อง เราคงได้รู้จักพวกเขาในนามวีรบุรษที่ต่อสู้เคียงข้าง “ขบถนิรนาม” ผู้โด่งดังที่ยืนตระหง่านท้าทายรถถังที่มาเป็นแถว


ตวน ฉางหลง (Duan Changlong) อายุ 24 ปี บัณฑิตหมาดๆทางวิศวกรรมเคมีจากมหาวิทยาลัย ซิงหัวหลังจากคืนที่เกิดเหตุกระสุนปลิวว่อนไปทุกทิศทาง และข่าวร้ายที่ถาโถมมาอย่างต่อเนื่อง เขาใช้เวลาทั้งวันไปกับการพยายามช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บในแผนกฉุกเฉิน ในตอนเย็นนั้น เขาไปยังพื้นที่ใกล้ ๆ กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติเพื่อโน้มน้าวให้กองกำลังปราบปรามยุติการเผชิญหน้ากับประชาชน แต่ขณะที่เขากำลังวิ่งไปหาเจ้าหน้าที่คนหนึ่งนั้น เข้าไม่ทันได้คาดคิดเลยว่ากระสุนจะพุ่งออกจากรังเพลิงปืนพกเจ้าหน้าที่ผู้มาทักทายเขา


หวาง เว่ยผิง (Wang Weiping) อายุ 25 ปี จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และกำลังจะเริ่มงานที่แผนกสูตินรีเวช ที่โรงพยาบาลประชาชน โดยในวันที่ 4 มิถุนายน เธออาสาเข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ พยานพบเห็นกล่าวว่าเธอดูไม่เกรงกลัวเลย แม้ว่าจะมีกระสุนกำลังปลิวว่อน และเปลวเพลิงกำลังปะทุยู่ทั่วทุกทิศของจัตุรัส ขณะที่เธอมัวแต่เพ่งสมาธิ เย็บแผลช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บหลายต่อหลายคนที่นอนจมกองเลือดอยู่นั้น กระสุนได้พุ่งเข้าไปยังคอของเธอตอนที่เธอเงยหน้าไปเล็กน้อย เธอล้มพับลงโดยไม่ทันได้เอื้อนเอ่ยคำพูดแม้สักคำเดียว และเรื่องก็จบเพียงเท่านั้น


หยวน หลี่ (Yuan Li) อายุ 29 ผู้ทำงานในสถาบันวิจัยระบบอัตโนมัติแห่งกระทรวงวิศวกรรมไฟฟ้า เมื่อเห็นกองกำลังปราบปรามที่ยิงปืนอย่างสุ่มมั่วไปทุกทิศทาง และไม่สามารถที่จะทนเห็นการสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์ได้อีกต่อไป เขาก้าวออกมาพร้อมทั้งยกมือขวาขึ้น ตะโกนออกไปว่า “ผมเป็นนักศึกษาปริญญาที่มหาวิทยาลัยซิงหัว…” แต่ก่อนที่เขาจะพูดจบ มีเสียงปืนดังขึ้น และชีวิตเขาก็มอดดับไปในคืนอันมืดมิด


การสังหารผู้คนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในเรื่องราวความทุกข์ทรมานของเหล่าวีรชน “ไร้นาม” ท่ามกลางผู้ที่ถูกส่งไปจองจำในคุกสำหรับข้อหาการประท้วง มีคนได้รับโทษหนักที่สุด-10ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น-ซึ่งไม่ใช่ผู้นำระดับปัญญาชนโด่งดัง แต่เป็นเพียงประชาชนธรรมดาเหมือน ๆ กันกับคนอื่น หวาง อี้ (Wang Yi) นักศึกษาจากวิทยาลัยปักกิ่ง สาขาการกระจายเสียง ได้รับโทษจองจำ 11 ปี สำหรับการกีดขวางยานพาหนะของทหาร เฉิน หลันถาว (Chen Lantao) เด็กหนุ่มจาก Qingdao ได้รับโทษ 18 ปี เพียงแค่กล่าวคำปราศรัยการประท้วงในที่สาธารณะ เมื่อเหตุสังหารหมู่เกิดขึ้น นักกวีแห่งเสฉวน เหลียว อี้อู่ (Liao Yiwu) กล่าวว่านักโทษที่เป็นคนสามัญจากเทียนอันเหมินหลายคนที่ถูกคุมขังร่วมกับเขาได้รับโทษเป็นสิบปีหรือมากกว่านั้น นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคนทั่วประเทศนับไม่ถ้วนที่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน และถึงทุกวันนี้ ยังคงมีอีกหลายคนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

ท่ามกลางเหล่าคนดังระหว่างเหตุประท้วง-ผู้คนที่คิดว่าตนสูงส่ง และในบางครั้งถึงกับเหยียดหยามเหล่าผองเพื่อนของเขาผู้เป็นปุถุชนคนทั่วไป-ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บเลยแม้แต่คนเดียว ผู้คนแถวหน้าบางคนถูกเนรเทศ และคนอื่น ๆ ก็โดนจำคุก แต่ทั้งหมดนั้นก็หนีพ้นคมมีดของเพชฌฆาตทั้งสิ้น มิหนำซ้ำบางคนยังสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเองได้อีกไม่มากก็น้อย อีกทั้งยังดึงความสนใจจากคนอื่นๆ ในบรรดาพวก “มือมืด” ผู้ถูกกล่าวหาว่า “ตัวบงการก่อความโกลาหล” มีเพียง หวาง จวินถาว (Wang Juntao) และ เฉิน จึหมิง (Chen Ziming) ที่ได้รับโทษนานถึง 13 ปี และแม้ว่าพวกเขาจะได้รับการปล่อยตัวโดยการทัณฑ์บนด้วยเหตุผลทางการแพทย์ในกลางทศวรรษ 1990 ข้าพเจ้าเองก็เป็นหนึ่งใน “มือมืด” ดังกล่าว ข้าพเจ้าถูกจองจำถึงสามครั้งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 เป็นต้นมา แต่ช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าไร้ซึ่งอิสรภาพถึงสามครั้งนั้น ยังรวมกันได้น้อยกว่าหกปี

การที่ข้าพเจ้ายกประเด็นนี้ขึ้นมากล่าวถึง ข้าพเจ้าไม่ได้พยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในแง่ที่ว่าการ “เสียสละ” ของใครยิ่งใหญ่ที่สุด ข้าพเจ้าเพียงแต่ต้องการเตือนสติตัวเอง ในฐานะที่ข้าพเจ้าเองก็เป็นหนึ่งในเหล่าบุคคลสาธารณะ “ผู้ทรงอิทธิพล” เช่นกัน ถึงข้อเท็จจริงของเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่เทียนอันเหมิน รวมถึงเตือนตัวเองว่า ข้าพเจ้ายังคิดไม่ตกว่าเป็นไปได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่เหล่านักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พร้อมทั้งเหล่าปัญญาชนชั้นนำร่วมกันนำขบวนประท้วงในการเคลื่อนไหวปี ค.ศ. 1989 แต่ในตอนที่ฝุ่นควันแห่งการสังหารหมู่จางลงไป ผู้คนที่ถูกฆ่า ผู้คนที่ออกไปช่วยเหลือคนบาดเจ็บ หรือผู้คนที่ต้องได้รับโทษสถานหนักกลับเป็นเพียงปุถุชนคนธรรมดา เพราะเหตุใดเราจึงแทบไม่ได้ยินเสียงของคนที่ต้องสูญเสียมากที่สุด ในขณะที่เหล่าผู้ทรงคุณวุฒิที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นแทบจะไม่หยุดพูดเลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เมื่อเหตุโศกนาฏกรรมเกิดขึ้น หยาดเลือดที่หลั่งรินของสามัญชนคนธรรมดากลับกลายเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงสร้างชื่อเสียงให้แก่เหล่าผู้ฉวยโอกาสทั้งเล็กและใหญ่ สร้างชื่อเสียงให้แก่ผู้คนที่กระโดดโลดเต้นไปมา เที่ยวป่าวประกาศว่าตนเป็นผู้นำใน “การเคลื่อนไหวของประชาชน” สิบห้าปีผ่านไป นับตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น มีการนองเลือดเกิดขึ้นมากมาย แต่กลับกลายเป็นว่าหยาดเหงื่อเหล่านั้น นอกจากที่มีส่วนในการสถาปนาพื้นที่ให้กับ “วีรบุรุษ” ทั้งในประเทศ และต่างประเทศไม่กี่คนไปเสีย แต่แทบไม่ได้นำไปสู่ความก้าวหน้าใดๆในประเทศที่แสนเลือดเย็นของเราเลย

อะไรคือความหมายของคำว่า “ทุกข์ทรมาน” และ “การเสียสละ” เราได้อะไรตอบแทนจากเลือดที่ต้องหลั่งริน และชีวิตที่ต้องดับสูญไป ใครๆต่างรู้ดีว่าในประเทศเรานี้ ช่องว่างระหว่างผู้แพ้และผู้ชนะนั้นเปรียบได้ราวฟ้ากับเหว แต่สำหรับคุณธรรมจากการต้องทนทุกข์ทรมานที่เกิดจากเหตุสังหารหมู่ครั้งนั้นจำเป็นต้องมีส่วนต่าง-สิ้นเชิงขนาดราวสวรรค์กับนรกเลยหรือ หลู่ ซวิ่น (Lu Xun) (1881-1936) นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ชาวจีน ได้ลงความเห็นไว้ หลังจากเหตุโศกนาฏกรรมอีกเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นที่ปักกิ่งในปี ค.ศ.1926 ว่า

เวลาได้ผ่านล่วงเลยไปอย่างรวดเร็ว ถนนหนทางกลับคืนสู่ความสงบสุขอีกครั้ง ในเมืองจีน ช่วงชีวิตสั้น ๆ ถือว่าไม่มีค่า อย่างมากที่สุดก็กลายเป็นประเด็นเรื่องคุยหลังอาหารสำหรับพวกอยู่ว่างที่ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้าย หรือสำหรับพวกอยู่ว่างที่โปรดปรานการนินทาว่าร้ายได้คุยกันอย่างออกรส

เหล่าคนที่ถูกเรียกกันว่าชนชั้นนำของประเทศเรา ไม่ได้มีความก้าวหน้าเลยตั้งแต่วันของ หลู่ ซวิ่น (Lu Xun) เห็นได้ว่ายากนักที่จะหาความรู้สึกละอาย หรือความรู้สึกสำนึกผิดในตัวพวกเรา พวกเราเองยังไม่รู้ซึ้งถึงความหมายในเชิงจิตวิญญาณของการเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมาน ยังไม่รู้ซึ้งถึงการใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิในความเป็นมนุษย์ หรือการรู้สึกเวทนาต่อความทุกข์ที่แท้จริงของปุถุชน

ลองดูข้าพเจ้าเป็นตัวอย่าง: ด้วยการวางตัวเป็นปัญญาคนชนชั้นนำในช่วงทศวรรษ 1980 และผู้นำที่น่าจับตามองในขบวนการประท้วงปี ค.ศ. 1989 ข้าพเจ้าได้เคยทำอะไรบ้างสำหรับเหยื่อในเหตุสังหารหมู่ครั้งนั้น คำถามนี้ได้ก้องกังวาลในใจข้าพเจ้ามานาน หลังจากเหตุการณ์นั้น ระหว่างเวลาปีครึ่งที่ข้าพเจ้าได้ถูกคุมขังในคุก Qinchen ข้าพเจ้าเขียน “คำสารภาพ” ซึ่งการกระทำดังกล่าว ไม่เพียงแต่เป็นการสละซึ่งเกียรติยศส่วนตัวของข้าพเจ้าไป แต่ยังเป็นการทรยศต่อเลือดที่หลั่งรินของเหยื่อจากเหตุการณ์สังหารหมู่ ยิ่งไปกว่านั้น คำสารภาพดังกล่าวทำให้ข้าพเจ้าได้ออกมาจากคุกด้วยชื่อเสียงที่เสียหายไปในระดับหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วจึงมีคนกลุ่มหนึ่งเสนอตัวช่วยข้าพเจ้า สมควรแล้วหรือที่ข้าพเจ้าจะได้รับการช่วยเหลือนั้น เทียบกับใครเล่า แล้วเหล่าสามัญชนคนธรรมดาที่ต้องสูญเสียชีวิตของพวกเขาไปล่ะ แล้วผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสกระทั่งปัจจุบันไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเสรีล่ะ หรือแม้กระทั่งบุคคลนิรนามที่กำลังใช้ชีวิตอ่อนระโหยโรยแรงอยู่ในคุกล่ะ พวกเขาได้รับการช่วยเหลืออะไรบ้าง Liao Yiwu ผู้ถูกคุมขังด้วยโทษ 4 ปี จากการแต่งบทกวียาวสองเรื่องคือ “การสังหารหมู่” และ “บทส่งวิญญาณ” โดยมีบทส่งท้ายว่า “แล้วใครกันเล่าคือผู้โชคดีรอดชีวิต-พวกสถุลสารเลวทั้งนั้น!”

       เมื่อมองจากทุกแง่ทุกมุมไปยังความทุกข์ทนของเหล่าคนธรรมดาสามัญผ่านบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องความทุกข์เศร้าของพวกเขา ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข้าพเจ้าไม่สมควรเลยแม้แต่น้อยที่จะถูกเรียกว่า เป็น “ผู้รอดชีวิต” จริงอยู่ที่ว่าข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในกลุ่มคนท้าย ๆ ที่ออกจากจัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 4 มิถุนายน แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ทำอะไรเลยในยามที่เกิดเหตุนองเลือด ไม่ได้ทำอะไรเพื่อแสดงให้เห็นว่าเศษเสี้ยวหนึ่งของความเป็นมนุษย์ในตัวข้าพเจ้าได้มีชีวิตรอดกลับมาเลย หลังจากที่ข้าพเจ้าออกจากจัตุรัส ข้าพเจ้าไม่ได้ไปที่คณะของมหาวิทยาลัยการศึกษากรุงปักกิ่ง เพื่อไปเยี่ยมเยียนเหล่านักศึกษาร่วมสถาบันเก่าที่คาดว่าออกจากจัตุรัสมาแล้ว นอกจากนั้นข้าพเจ้ายังไม่คิดที่จะอาสาไปช่วยเหลือคนที่ข้าพเจ้าไม่รู้จัก และกำลังบาดเจ็บล้มตายอยู่บนถนน ในทางกลับกัน ข้าพเจ้าหนีไปอยู่ที่แหล่งลี้ภัยในสถานฑูต จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมเหล่าผู้รอดจากเหตุการณ์อันโหดร้ายอาจจะถามว่า: “เมื่อเกิดเหตุสะเทือนขวัญขึ้นกลางกรุงปักกิ่ง พวกเหล่า “มือมืด” ไปมุดหัวอยู่ไหนหมด

15 ปีหลังจากเหตุการณ์เทียนอันเหมิน เราไม่สามารถทำอะไรได้เลยเพื่อแก้ไขความเลือดเย็นที่ไหลเวียนอยู่ในตัวของเหล่าคนชั่วผู้สังหารคนบริสุทธิ์ แต่อย่างน้อย เราสามารถถามเหล่า “วีรบุรุษ” จากเหตุการณ์การเคลื่อนไหวได้ ผู้คนที่ทำให้เราต้องตระหนักถึงเหตุการณ์ปะทะจวบจนวันนี้ ด้วยคำถามนี้: เมื่อเราคิดถึงเหยื่อไม่ได้รับผลประโยชน์อันใด หรือแม้กระทั่ง “ได้รับ” ผลกระทบเชิงลบเป็นจำนวนมหาศาล เราไม่รู้สึกผิดบาปบ้างเลยหรือ เราควรต้องสำรวจขั้นต่ำสุดของมาตรฐานความเป็นมนุษย์กันใหม่ไหม ในทางกลับกัน หากเรายึดมั่นในเสรีภาพ มั่นใจได้เลยว่าบ่อเกิดศีลธรรมที่เกิดจากการสูญเสียชีวิตของมนุษย์-ซึ่งเป็นบ่อเกิดเดียวสำหรับผู้คนในการท้าทายอำนาจเผด็จการ-จะต้องถูกแบ่งสรรปันส่วนอย่างเหมาะสม เมื่อเรามองไปยังเหล่า “เหล่ามารดาแห่งเทียนอันเหมิน” ผู้แสวงหาความยุติธรรมให้แก่เหยื่ออย่างไม่หยุดหย่อน แล้วกลับมามองเหล่าชนชั้นนำอย่างเรา ๆ ที่รอดชีวิตมาได้ เราสามารถแสดงความเห็นอกเห็นใจ และความรู้สึกสำนึกคิดในความยุติธรรมและเท่าเทียมแม้เพียงเล็กน้อยบ้างได้ไหม?ด้วยการที่เราทำให้แน่ใจว่าคุณงามความชอบตกไปอยู่กับเหล่าผู้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานมากกว่าเราเป็นไหน ๆ มิหนำซ้ำยังเป็นผู้ที่สมควรจะได้รับความดีความชอบนั้นตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

ให้เราขอขอบคุณเหล่าสมาชิกครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้ซึ่งรังสรรค์ประวัติศาสตร์ของประเทศจีน ถึงการเสียชีวิตของเหล่าปุถุชนคนธรรมดาในเหตุสังหารณ์หมู่ครั้งนั้น

 

1 มิถุนายน ค.ศ. 1994


หมายเหตุ1: บทความนี้แปลมาจากภาษาอังกฤษที่ชื่อ Listen Carefully to the Voice of the Tiananmen Mothers ซึ่งเป็นปฐมบทของหนังสือ No Enemies, No Hatred: Selected Essays and Poems จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี ค.. 2012

หมายเหตุ2: ขอให้อดใจรออ่านบทความนี้อีกครั้งชนิด เนื่องจากระยะเวลากระชั้นชิดเพื่อเผยแพร่ให้ทันโอกาส 29 ปี เหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2018 อาจจะทำให้งานแปลขาดความสมบูรณ์ไปบางส่วนได้ อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้านี้ ขอสัญญาเลยว่าจะได้อ่านฉบับสมบูรณ์และบทความชิ้นสำคัญๆของหลิวเสี่ยวโปด้วย ซึ่งทางสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่านได้คัดสรรบทความ และแปลรวมเป็นเล่มให้อ่าน อย่าลืมสนับสนุนด้วยนะครับ 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net