เพิ่มปลอดภัยตลาดเครื่องสำอางไทย ทางออกที่เป็นไปได้แม้จดแจ้งออนไลน์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อไม่นานมานี้ ท่านผู้อ่านคงผ่านตาข่าวคราวเกี่ยวกับการตรวจค้นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหารเสริมกว่า 200 ร้านค้าย่านตลาดใหม่ดอนเมือง ของเจ้าหน้าที่สำนักงานอาหารและยา (อย.) และตำรวจ ซึ่งพบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่แสดงเลขที่ใบรับแจ้ง และอาหารเสริมส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องหมาย อย. ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ยึดผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายเกือบ 2 แสนชิ้นไปตรวจสอบสารอันตราย และกำลังขยายผลไปตรวจสอบกวาดล้างถึงแหล่งผลิตสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานเหล่านี้

แท้จริงแล้ว ปัญหาเครื่องสำอาง รวมถึงอาหารเสริมที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานเป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายปี หากแต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการกวาดล้างและดำเนินการทางด้านกฎหมายอย่างเข้มงวด แต่เมื่อมีเหตุการณ์การร้องเรียนบริษัทเครื่องสำอางและอาหารเสริมรายหนึ่ง รวมถึงเหตุการณ์การสูญเสียชีวิตของผู้กินอาหารเสริมลดน้ำหนักยี่ห้อหนึ่งถึง 4 รายในช่วงปลายเดือน มีนาคมที่ผ่านมา จึงทำให้เกิดพฤติกรรม “วัวหายล้อมคอก” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ อย. ได้เข้าไปทลายแหล่งค้าเครื่องสำอางและอาหารเสริมขนาดใหญ่ที่ย่านตลาดใหม่ดังกล่าวในช่วงเมษายนและพฤษภาคม 2561  

การลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่ามีสินค้า “เถื่อน” ที่วางจำหน่ายจำนวนมากทั้งที่เป็นอาหารเสริมและเครื่องสำอาง ซึ่งเครื่องสำอางส่วนมากไม่มีเลขที่ใบรับแจ้ง ขณะที่อาหารเสริมมีการทำเลขสารบบอาหารปลอมขึ้นมา รวมทั้งมีการนำเลข อย. ของสินค้าอื่นมาติดบนฉลากอีกด้วยหรือที่เรียกว่าการ “สวมเลข อย.” เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมมองว่า อย. ไม่เข้มงวดกับการกำกับดูแลมากพอ มีระบบการจดทะเบียนที่หละหลวม โดยเฉพาะการกำกับดูแลเครื่องสำอางที่กำหนดเพียงให้ทำการจดแจ้งผ่านระบบออนไลน์ (e-submission) ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เสนอแนะให้ อย. ยกเลิกระบบการจดแจ้งเครื่องสำอางออนไลน์ และอย่างน้อยควรไปจดแจ้งโดยตรงกับ อย. เพื่อเป็นหลักฐานในการยืนยันว่าใครเป็นผู้ผลิตและสถานที่ผลิตเป็นไปตามที่ระบุหรือไม่

ผู้เขียนมองว่าการยกเลิกระบบจดแจ้งเครื่องสำอางออนไลน์ อาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นนัก เนื่องจากปัญหาไม่ได้เกิดจากการยื่นจดแจ้ง แต่ปัญหาน่าจะเกิดจากการผลิตสินค้าที่นำมาขายจริงกลับมีการเติมสารที่ไม่ได้แจ้ง อย. หรือผลิตสินค้าโดยปลอมแปลงเลขที่ใบรับแจ้ง ถึงแม้จะมีการจดแจ้งกับเจ้าหน้าที่ อย. โดยตรงเพื่อให้มีการตรวจสอบ แต่การตรวจสอบนั้นจะเกิดเฉพาะในช่วงการขอจดทะเบียนเท่านั้น หากแต่ไม่ได้มีการสุ่มตรวจสอบสินค้าเมื่อวางขายในตลาด

นอกจากนี้ การยกเลิกระบบการจดแจ้งเครื่องสำอางออนไลน์ไม่สามารถทำได้ เนื่องด้วยประเทศไทยได้ลงนามในความตกลง Agreement on ASEAN Harmonized Cosmetic Regulatory Scheme (AHCRS) ทำให้การกำกับดูแลเครื่องสำอางก่อนวางตลาด ซึ่งนอกจากจะมีการกำหนดรายการสารต้องห้ามที่ใช้เป็นส่วนผสม การแสดงฉลาก รวมถึงการจัดทำเอกสารข้อมูลผลิตภัณฑ์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอาเซียนแล้ว ยังกำหนดให้ประเทศภาคีใช้ระบบการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จำหน่ายแทนการจดทะเบียน

ทั้งนี้ แนวโน้มการกำกับดูแลเครื่องสำอางของทุกประเทศได้เริ่มมีการปรับให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล คือ กำหนดให้มีการจดแจ้งผ่านระบบออนไลน์มากกว่าการไปขอจดทะเบียนผลิตภัณฑ์กับเจ้าพนักงานโดยตรง เนื่องจากเป็นการลดปัญหาและภาระขั้นตอนเรื่องเอกสารต่าง ๆ หากแต่ผู้ประกอบการต้องจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องสำอาง (Product Information File : PIF) ไว้พร้อมให้เจ้าหน้าที่สามารถเรียกตรวจสอบได้ทุกเมื่อ

นอกจากอาเซียน ประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ได้แก่ สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ก็ใช้วิธีการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผ่านระบบออนไลน์เช่นกัน หากแแต่ประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าหลังวางขาย หรือ Post Market Surveillance อย่างมาก

ในสหรัฐอเมริกา องค์การอาหารและยา หรือ FDA มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมดเกือบ 5,000 คน ทั้งในส่วนกลางและสำนักสาขาทั่วประเทศ ซึ่งในการตรวจสอบเครื่องสำอาง เจ้าหน้าที่ FDA จะสุ่มตรวจสินค้าทั้งที่วางขายในตลาดและบริษัทที่ผลิตสินค้าโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และจะทำการตรวจสอบตั้งแต่ฉลากเครื่องสำอางว่าถูกต้องและเป็นความจริงหรือไม่ รวมถึงสารประกอบในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามข้อมูลที่ยื่นจดแจ้งหรือไม่ หากตรวจพบว่า สินค้าใดมีการปิดฉลากที่ไม่ถูกต้องหรือมีส่วนประกอบที่ไม่ตรงกับเอกสารที่ยื่นจดแจ้ง จะพิจารณาเรียกคืนสินค้าที่ไม่ปลอดภัยออกจากตลาดทั้งหมด และดำเนินคดีกับผู้ผลิตหรือผู้ขายอย่างจริงจัง

ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนระบบจากการจดทะเบียนมาเป็นระบบจดแจ้งออนไลน์ตามมาตรฐานสากลเพื่อลดกระบวนการและขั้นตอนในการวางสินค้าในตลาดให้แก่ภาคเอกชนแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องพัฒนาศักยภาพในการทำการตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าหลังวางขาย เช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ทว่า ในปัจจุบัน อย. เป็นหน่วยงานที่มีสำนักงานแค่ในส่วนกลางและมีอัตรากำลังเพียง 700 กว่าคน ทำหน้าที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมด ไม่ได้มีหน้าที่เพียงตรวจสอบและเฝ้าระวังเท่านั้น ซึ่งจากจำนวนและภาระหน้าที่แล้วทำให้ไม่สามารถที่จะตรวจสอบสินค้าเครื่องสำอางที่วางจำหน่ายในตลาดทั้งหมดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสุ่มตรวจสอบสินค้าในระดับท้องถิ่น ดังนั้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้บริโภค อาจแบ่งการแก้ปัญหาเป็น 2 ระยะ

ในระยะแรก อย. ต้องร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดซึ่งเป็นหน่วยงานในระดับท้องถิ่น เข้มงวดกับการลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบสินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดแต่ละพื้นที่ รวมถึงสินค้าที่จำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ทุก 3-4 เดือน เพื่อเร่งตรวจสอบเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งเครื่องสำอางเถื่อน พร้อมกับเปิดเผยการดำเนินงานต่อสาธารณะ และหากพบสินค้าที่เป็นอันตราย หรือละเมิดต่อกฎหมาย ต้องมีการส่งต่อให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเร่งกวาดล้าง และประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ประชาชนรับรู้อย่างรวดเร็ว อย่างเช่นในกรณีของ FDA ที่มีเพจ “Recalls and Alerts” ที่แสดงรายชื่อสินค้าและผู้ผลิตสินค้าที่ตรวจพบว่ามีสารพิษเกินกว่าเกณฑ์และ FDA ได้แจ้งเตือน หรือออกคำสั่งให้ถอนสินค้าดังกล่าวออกจากตลาด

ในระยะยาว อย. อาจพิจารณาว่าจ้างหน่วยงานภายนอก เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าหลังวางขาย หากกำลังคนไม่เพียงพอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะไม่มีการใช้สินค้าที่มีการแอบอ้าง อย. อยู่

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ธารทิพย์ สุวรรณเกศ เป็นนักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท