'กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง' รอบล่าสุด โดนมาแล้วกี่คดี ใครโดนแล้วโดนอีก โดนอีกและโดนอีก

ใครอยากเลือกตั้ง..แล้วแสดงออกร่วมกันนั้นผิดกฎหมายภายใต้รัฐบาล คสช. กลุ่ม ‘คนอยากเลือกตั้ง’ จัดชุมนุม (ไม่กี่ชั่วโมง) กี่ครั้งๆ ก็โดนคดีทุกครั้งไม่มีรอด อีกทั้งยังนับเป็นมิติใหม่ที่รัฐแจ้งความเอาผิดกับประชาชนที่มาร่วมชุมนุมด้วยเป็นจำนวนมาก ไม่เฉพาะแกนนำจัดงาน

เมื่อคดีเกิดถี่ ทุกครั้งจึงมีตัวย่อให้จำดจำง่าย เป็นชื่อย่อของพื้นที่ + จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีในครั้งนั้น MBK39 CMU6 RDN50 PTY12 ARMY57 UN62 ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ พี่ป้าน้าอาหลายคนโดนคดีซ้ำแล้วซ้ำอีก ภาพอินโฟกราฟฟิคนี้ไม่ได้รวบรวมทุกคนในทุกคดีคนอยากเลือกตั้ง หากแต่เริ่มต้นจากรายชื่อของคดีหลังสุด UN62 แล้วดูว่าใน 62 คนนั้น ใครโดนแล้วโดนอีก โดนอีก โดนอีก และโดนอีก

ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ดูภาพขนาดใหญ่

กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อทวงสัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เคยระบุไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งภายใน เดือนพฤษจิกายนปีนี้(61) รวมทั้งคัดค้านกระบวนการสืบทอดอำนวจของ คสช. ได้เริ่มชุมนุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561 ณ Skywalk ปทุมวัน จากนั้นมีการนัดชุมนุมเรื่อยๆจนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาในวาระครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร โดยในแต่ละครั้งทั้งแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมถูกดำเนินคดี 6 ชุดด้วยกัน ดังนี้

1. MBK39

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ประชาชนได้นัดรวมตัวกันผ่านทางเฟสบุ๊คเกิดขึ้นโดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา โดยแกนนำทั้งหมด 9 คน ได้แก่ รังสิมันต์ โรม, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, อานนท์ นำภา, เอกชัย หงส์กังวาน, สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, ณัฏฐา มหัทธนา, สมบัติ บุญงามอนงค์ และวีระ สมความคิด เพื่อออกมาชุมนุมคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งของรัฐบาลคสช.ที่ Skywalk ปทุมวัน และในท้ายที่สุดแกนนำทั้งหมดถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และข้อหาชุมนุมห่างจากเขตพระราชฐานไม่เกิน 150 เมตร ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ส่วนคดีของผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ถูกแยกออกจากแกนนำ 28 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 และพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ กรณีร่วมกันชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากวังของพระรัชทายาท หรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจ สน.ปทุมวัน นำตัวแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถูกดำเนินคดีนี้ส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ โดยพนักงานอัยการ มีคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8 ราย ที่ถูกระบุเป็นแกนนำ มารายงานตัวต่อพนักงานอัยการอีกครั้ง 28 มิ.ย.นี้  เพื่อฟังคำสั่งซึ่งอาจมีผลการพิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องในคดีนี้ ขณะที่ที่กลุ่มผู้ร่วมชุมนุม 24 คน เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา อัยการคดีศาลแขวง เลื่อนการนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 26 มิ.ย.นี้

2. RDN50

เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จัดชุมนุม “หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถ.ราชดำเนิน มีคนเข้าร่มชุมนุมนับร้อย และต่อมาในวันที่ 15 ก.พ.61 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งจับแกนนำทั้ง 7 คนได้แก่ รังสิมันต์, สิรวิชญ์, ชลธิชา, สุกฤษฏิ์, ณัฏฐา และอานนท์  ในข้อหาร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนคนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ลาวงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลแขวงดุสิต นัดสอบคำให้การจำเลยส่วนผู้ชุมนุม ทั้ง 41 คน ซึ่งทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธ โดยจำเลยส่วนหนึ่งยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น และจำเลยที่อีกส่วนได้ยื่นคำร้องขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งของ คสช. ตามคำร้องขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลจึงเห็นว่าต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญและศาลแขวงดุสิตในทั้ง 2 กรณีและมีคำสั่งในวันนี้ให้เลื่อนนัดพร้อม ตรวจพยานและหลักฐานไปเป็นวันที่ 12 ก.ค.นี้ เพื่อฟังคำสั่งอีกครั้ง

นอกจากนี้ระหว่างการพิจารณาคดี ศาลเสนอให้รวมการพิจารณาคดี “RDN50” และ “ARMY57” เข้าด้วยกันเพื่อความสะดวกในการพิจารณาคดีให้รวดเร็ว เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษต่ำ ทนายจำเลยแถลงค้าน ด้วยเหตุผลว่าทั้งสองคดีมีข้อเท็จจริงคนละชุดและโจทก์คนละคน ศาลจึงให้แยกการพิจารณาคดีทั้งสองเช่นเดิม

ในส่วนความคืบหน้าคดีกลุ่มแกนนำ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ได้เลื่อนนัดต่อไปเป็นวันที่ 8 มิ.ย. นี้ เพื่อฟังคำสั่งอัยการว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ ในกรณีที่ฟ้องจะเป็นการนำตัวไปฟ้องที่ศาลอาญา แต่ถ้าหากว่ายังไม่มีการสั่งฟ้อง อาจจะเป็นการนัดใหม่อีกครั้ง ขณะที่เมื่อวันที่  27 เม.ย.ที่ผ่านมา อัยการสูงสุดได้มีการส่งฟ้อง รังสิมันต์ หนึ่งในแกนนำการชุมนุมแยกออกจากแกนนำอีก 6 คนไปก่อนหน้า หลังที่เขาเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา

3. CMU06

เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลา 17.00 น. ที่ป้ายหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนห้วยแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ มีกลุ่มสมัชชาเสรีเพื่อประชาธิปไตยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาประมาณ 50 คน ได้นัดรวมตัวกันพร้อมกับมีการชูป้ายและตะโกนคำว่า "เลือกตั้ง" นอกเหนือจากกลุ่มนักศึกษายังมีประชาชนชาวเชียงใหม่บางส่วนรวมไปถึง กลุ่ม นปช.เชียงใหม่ ที่มาร่วมทำกิจกรรมด้วยรวมทั้งหมดประมาณเกือบ 100 คน โดยการชุมนุมครั้งนี้มีประเด็นสำคัญคือการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพด้านวิชาการและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้แกนนำและแนวร่วมทั้ง 6 คนในคดี CMU06 ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ว่าด้วยเรื่องห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นจำนวน 1 คดี ล่าสุดศาลแขวงเชียงใหม่ เลื่อนนัดรายงานตัวกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาไปวันที่ 25 มิ.ย.นี้ หลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมไปรายงานตัวตามนัดในวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีคำสั่งทางคดี

4. PTY12

เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่ม START UP PEOPLE  จัดกิจกรรม START UP PEOPLE ON TOUR: ปลุกพลังคนอยากเลือกตั้งครั้งที่ 2 ที่ชายหาดหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัลพัทยาบีช เมืองพัทยา จ.ชลบุรี  เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว หยุดเลื่อนการเลือกตั้งและการสืบทอดอำนาจของคสช. จากการจัดกิจกรรมดังกล่าว ภายหลังมีผู้ถูกเรียก 7 คนคือ สิรวิชญ์, วันเฉลิม กุนเสน, จิดาภา ธนหัตถชัย, อนุรักษ์ เจนตวนิชย์, นายวีรชัย (สงวนนามสกุล), ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล และน.ส.อารีย์ (สงวนนามสกุล) ในคดีฝ่าคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตและจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งผู้รับแจ้ง ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ รวม 2 ข้อหา คือร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และร่วมกันมั่วสุมชุมนุมฯ  ต่อมาในวันที่ 25 เม.ย.61 มีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 5 คนคือ ศศวัชร์ คมนียวนิช, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ฉัตรมงคล วัลลีย์, ประนอม พูลทวีและ วลี ญาณะหงสา ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันกับ 7 คนก่อนหน้ารวมทั้งหมด 12 คน ล่าสุด กลุ่มคนเลือกตั้งหน้าห้างเซ็นทรัลพัทยาที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 และพรบ. ชุมนุม ศาลแขวงพัทยาได้นัดผู้ต้องหาให้มารายงานตัวในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ อีกครั้งหลังจากที่นัดผู้ชุมนุมให้มาแล้ววันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

5. ARMY57

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้เดินขบวนมุ่งหน้าไปยังกองทัพบก ถนนราชดำเนิน เพื่อทวงกำหนดวันเลือกตั้งที่ได้เรียกร้องให้เกิดขึ้นในปีนี้ และกิจกรรมภายในวันนั้นนอกเหนือจากการเดินขบวน ยังมีการปราศรัยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย ต่อมาตำรวจออกหมายเรียกผู้ชุมนุมรวม 57 คนมารับทราบข้อกล่าวหา โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่เป็นแกนนำ 10 คน และผู้ร่วมการชุมนุม 47 คน ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 16 (1), (8) และ มาตรา 18 และความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก จำนวน 47 คน ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามมาตราประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.การโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4 จำนวน 10 คน รวมเป็น 2 คดี ล่าสุดอัยการศาลแขวงดุสิตได้สั่งฟ้อง อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน กรณีไม่ไปรายงานตัวตามนัดฝากขังจากคดีดังกล่าว ขณะที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนนำตัวเอกชัย หงส์กังวาน จาก สน.ชนะสงคราม ไปศาลอาญารัชดา เพื่อขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 หลังจับกุมตัวเอกชัยจากบ้านพักเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา ตามหมายจับคดีแกนนำคดีนี้ ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวออกมาในวันที่ 15 พ.ค.61 โดยใช้หลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

17 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลแขวงดุสิต ผู้พิพากษาศาลขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดี นัดพนักงานฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 44 คน ในคดีนี้ ก่อนศาลได้นัดตรวจความพร้อมของคู่ความและตรวจพยานหลักฐานต่อไป ในวันที่ 12 ก.ค.นี้ โดยให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดไปโดยไม่ต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว

6. UN62

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร คสช. กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดกิจกรรมของการชุมนุมและเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลและอ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม แต่ภายหลังจากการอ่านแถลงการณ์เสร็จแกนนำได้ยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่และถูกควบคุมตัว 15 คน ต่อมาในวันที่ 24 พ.ค.61 ศาลอนุมัติปล่อยตัวทั้ง 15 คนชั่วคราวโดยห้ามชุมนุมทางการเมืองอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายแก่สาธารณะชน

และล่าสุดในวันจันทร์ที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา คสช. เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่มาร่วมชุมนุมในวาระครบรอบ 4 ปีการทำรัฐประหารของ คสช. โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก มี 21 คนถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/ 2558  และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3) โดยมีพฤติการณ์เป็นแกนนำผู้ชุมนุม ซึ่งได้แบ่งงานกันทำเริ่มตั้งแต่มีการโพสต์ข้อความชักชวนกลุ่มบุคคลมาร่วมชุมนุม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนเพื่อให้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน กลุ่มที่ 2 มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 41 คน ในข้อหาความผิดละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

 
อ้างอิง 
 
MBK39 : ประชาไท 1, 2  Voice TV  และคมชัดลึกออนไลน์  
CMU06 : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 1, 2
RDN50 : ประชาไท 1, 2  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 1, 2
PTY12 : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 1,
ARMY57 : ประชาไท 1, 2  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 1, 2
UN62 : ประชาไท 1,
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท