Skip to main content
sharethis

รายงานองค์กรสิทธิแรงงานนำเสนอ 540 กรณีละเมิดสิทธิแรงงานหญิงในโรงงานผลิตเสื้อผ้าชั้นนำอย่าง Gap และ H&M ที่ตั้งอยู่หลายประเทศในเอเชีย ทั้งการด่าว่า ทำร้ายร่างกาย สร้างบรรยากาศเอื้อการล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ องค์กรระหว่างประเทศและบริษัทกำลังตรวจสอบ-แก้ปัญหา

7 มิ.ย. 2561 สื่อเดอะการ์เดียนอ้างอิงรายงานสองฉบับขององค์กรสิทธิแรงงาน โกลบอล เลเบอร์ จัสติส (Global Labor Justice) ที่ระบุถึงปัญหาที่เกิดกับแรงงานมากกว่า 540 ชีวิตในโรงงานอุตสาหกรรมของบรรษัทเสื้อผ้าแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Gap และ H&M รวมถึงปัญหาความรุนแรงที่มีสาเหตุพื้นฐานจากเรื่องเพศสภาพ (gender-based violence) ด้วย

ในรายงานเหล่านี้มีการรวบรวมข้อมูลจากปากคำของแรงงานในหลายประเทศแถบเอเชียไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา, อินโดนีเซีย, บังกลาเทศ, อินเดีย และศรีลังกา ในช่วงเดือน ม.ค. ถึง พ.ค. 2561 โดยมีการนำรายงานนี้ไปหารือในที่ประชุมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อแก้ปัญหาการข่มเหงรังแกในที่ทำงาน ทำให้มีการกดดันเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนสภาพการทำงาน

โตลา เมือน ประธานองค์กรเซนทรัลแคมโบเดียที่ร่วมวิจัยในเรื่องนี้บอกว่าแรงงานหญิงที่ทำงานในภาคส่วนเสื้อผ้า-สิ่งทอ ต้องเผชิญกับการล่วงละเมิดอยู่ทุกวันและกรณีส่วนใหญ่ไม่ได้รับรายงานเพราะว่าผู้ถูกล่วงละเมิดกลัวการแก้แค้นในที่ทำงาน โดยแรงงานเหล่านี้ทำงานให้กับบรรษัทเสื้อผ้าอย่าง Gap และ H&M

ทางบรรษัท Gap และ H&M ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเดอะการ์เดียนว่าพวกเขาจะสืบสวนต่อกรณีข้อกล่าวหาเหล่านี้้และยินดีที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นรวมถึงปฏิบัติตามอนุสัญญาของ ILO

เจนนิเฟอร์ โรเซนบาม ประธานองค์กรโกลบอลเลเบอร์จัสติสสาขาสหรัฐฯ กล่าวว่าปัญหาความรุนแรงที่มีพื้นฐานจากเรื่องเพศสภาพนั้นมาจากโครงสร้างของระบบห่วงโซ่อุปทานโลก บรรษัทอย่าง H&M และ Gap ต่างก็จัดการโครงสร้างระบบในแบบที่ทำให้เกิดเป้าหมายการผลิตล้นเกินอย่างไม่สมเหตุสมผล สัญญารับเหมาที่มีมูลค่าต่ำเกินไปจนเป็นเหตุให้ลูกจ้างหญิงถูกขูดรีดให้ต้องทำงานล่วงเวลาแบบไม่ได้รับค่าจ้างและต้องทำงานอย่างรวดเร็วมากภายใต้การกดดันอย่างรุนแรง

โรเซนบามบอกอีกว่าทั้งสหภาพแรงงานหลายสหภาพและรัฐบาลจำนวนมากก็เล็งเห็นว่าอนุสัญญาของ ILO ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงบนพื้นฐานเรื่องเพศสภาพถือเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าจะยังมีนายจ้างบางคนที่ต่อต้านเรื่องนี้

ในช่วงวันที่ 28 พ.ค. - 8 มิ.ย. 2561 ILO มีการประชุมหารือเพื่อวางมาตรฐานนานาชาติเรื่องความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโลกของการทำงาน รวมถึงความรุนแรงที่มีพื้นฐานมาจากเรื่องเพศสภาพด้วย ในการประชุมหารือครั้งนี้มีทั้งรัฐบาลและผู้นำสหภาพแรงงานหลายองค์กรเข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานภาคธุรกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างมาตรฐานระดับโลกในการคุ้มครองแรงงานโดยเฉพาะแรงงานหญิงในทุกภาคส่วน รายงานของโกลบอลเลเบอร์จัสติสก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมดังกล่าวนี้เพื่อเน้นพูดถึงแรงงานค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นผู้หญิง

รายงานของโกลบอลเลเบอร์จัสติสยังระบุถึงกรณีของแรงงาน H&M 235 ชีวิตในอินเดียที่มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงทั้งทางวาจาและทางกาย แรงงานสิ่งทอหญิงคนหนึ่งกล่าวว่ามีคนดึงผมเธอมาชกแล้วด่าทอเพศสภาพกับชนชั้นวรรณะของเธอ แรงงานหญิงอีกรายหนึ่งเล่าว่าหัวหน้างานเธอทุบตีทำร้ายเธอเพราะเธอผลิตออกมาไม่ได้ตามเป้าหมาย โดยการที่เธอถูกดึงออกจากเก่าอี้จักรเย็บผ้าที่เธอทำงานอยู่แล้วทุบตีตัวเธอรวมถึงที่หน้าอกรวมถึงผลักเธอลงกับพื้นแแล้วเตะเธอ

ในโรงงานผู้ผลิตให้ H&M ในศรีลังกาก็มีผู้หญิงเล่าว่าเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยคนควบคุมเครื่องจักร เมื่อเธอตะโกนตอบโต้ เขาก็แก้แค้นเธอด้วยการแกล้งทำให้เครื่องจักรไม่ทำงาน หรือแกล้งไม่ยอมมาซ่อมเครื่องจักรตามเวลา ทำให้พวกเธอถูกหัวหน้างานตะคอกต่อว่าเพราะพวกเธอไม่สามารถทำยอดงานได้ตามเป้าหมาย

ในอินโดนีเซีย พนักงานหญิงผู้ทำงานในสายการผลิตให้กับ Gap ก็กล่าวว่าเธอถูกด่าว่าโง่ทุกวันและถูกเยาะเย้ยและถูกขู่เลิกจ้างเพราะเธอทำงานได้ไม่เร็วพอ บางครั้งการข่มขู่ก็ทำไปในแบบที่ไม่ได้แตะเนื้อต้องตัวโดยตรงแบบที่จะเป็นหลักฐานให้ตำรวจได้แต่ก็เป็นไปในลักษณะใช้ความรุนแรง เช่นการขว้างปาวัตถุดิบ หรือการเตะเก้าอี้ที่พวกเธอทำงาน

เดบบี เคาล์เตอร์ จากองค์กรมาตรฐานจริยธรรมพื้นฐานทางการค้า (Ethical Trading Initiative หรือ ETI) ที่ทั้ง H&M และ Gap เป็นสมาชิกกล่าวว่า ข้อกล่าวหาต่อบรรษัทเหล่านี้ทำให้รู้สึกน่าเป็นห่วงเพราะความรุนแรงจากสาเหตุพื้นฐานทางเพศสภาพไม่ใช่สิ่งที่จะยอมรับได้ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ตาม แบรนด์เหล่านี้ควรจะให้การคุ้มครองคนงานในห่วงโซ่การผลิตของพวกเขาเอง รวมถึงควรมีการตรวจสอบการกระทำผิดที่เกิดขึ้นและเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งสองแบรนด์นี้ระบุว่าพวกเขายอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นน่าเป็นห่วงจริงและจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ โดยที่ H&M ระบุในอีเมลตอบกลับเดอะการ์เดียนว่าพวกเขาไม่ยอมรับการข่มเหงรังแกและล่วงละเมิดทุกรูปแบบ และความรุนแรงต่อผู้หญิงถือเป็นหนึ่งในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความรุนแรงที่มีพื้นฐานจากเรื่องเพศสภาพทำร้ายผู้หญิงทั้งในทางสุขภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความปลอดภัย H&M ระบุว่าพวกเขาจะดำเนินการตามสิ่งที่หารือในที่ประชุม ILO เพื่อตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ในระดับโรงงานท้องถิ่นต่างๆ

ส่วน Gap ระบุว่าพวกเขาจะตรวจสอบเรื่องเหล่านี้เช่นกันเพื่อให้แน่ใจว่างานผลิตเสื้อผ้าของพวกเขามีสภาพการจ้างงานที่ปลอดภัยและมีการเคารพต่อคนงาน พวกเขายอมรับว่าความรุนแรงที่มีพื้นฐานจากเรื่องเพศสภาพที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและจะมีการลงมือแก้ไขปัญหาทันทีถ้าพบว่าภาคห่วงโซ่การผลิตของพวกเขามีการกีดกันหรือข่มเหงรังแกคนงานในเรื่องนี้

 

เรียบเรียงจาก

Abuse is daily reality for female garment workers for Gap and H&M, says report, The Guardian, 05-06-2018

 

รายงานของ Global Labor Justice

https://www.globallaborjustice.org/handm/

https://www.globallaborjustice.org/gap/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net