Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

มิตรสหายร่วมอุดมการณ์บางท่านจากสหรัฐอเมริกาและเมืองไทยมองตรงกันว่าปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจหรือด้านสังคม มีสมุตฐานที่มาหรือสาเหตุที่สามารถพูดแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า “เกิดจากการที่คนในชาติขาดการศึกษาที่ดีพอ” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คนในชาติได้รับการบ่มเพาะปลูกฝังการศึกษาแบบไม่ถูกต้อง เหมาะกับกาลสมัยนั้นๆ

โลกหลังสมัยใหม่ (Post Modern)  หรือโลก 4.0 มองการศึกษาไม่เหมือนโลก 3.0  ซึ่งก็แน่นอนว่า เราคนไทยเองจำต้องอนุวัตรตามแบบแผนของโลกสมัยใหม่นี้ด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้

บรรดามิตรสหายจำนวนหนึ่ง จึงก่อตั้งองค์กรขึ้นมาองค์กรหนึ่งชื่อว่า มูลนิธิการศึกษาเพื่อเสรีภาพ (The Education for Freedom Foundation- EFF) เพื่อช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยที่ยังมีลักษณะเฉพาะแบบรวมๆ คือ “อำนาจนิยม” เราต้องการให้การศึกษาของไทยหลุดออกจากวงจรอำนาจนิยม เช่น แทนที่ครูหรือผู้สอนจะเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอนแบบเดิม ก็ต้องพยายามที่จะเปลี่ยนให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางแทน ครูเองก็จะกลายเป็นแค่โค้ชประจำชั้นไปเท่านั้น

เพราะในโลกปัจจุบันประเทศไทยถูกผนวกรวมกับโลก เราไม่อาจยับยั้งความรู้และความคิดที่เป็นกระแสสากลได้อีกต่อไป ห้องเรียนทุกวันนี้คือ โลกทั้งใบนั่นเอง

มิตรสหายของผมเห็นว่า เพื่อที่จะให้การศึกษาของไทยเท่าเทียมกับการศึกษาแบบสากล เราจำต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการศึกษาเสียใหม่ โดยหันมาเน้นการใช้ซอฟต์แวร์พัฒนาการศึกษาแบบใหม่ เพื่อยกระดับกระบวนทัศน์ของคนในชาติเสียใหม่ครับ ฟังดูอาจเป็นนามธรรม แต่ผมมองว่าเราสามารถยกระดับกระบวนทัศน์ของประชาชนชาติได้ ถ้าเพียงแต่เราปรับเปลี่ยนวิธีคิดไปสู่การคิดแบบ critical thinking หรือการคิดแบบวิเคราะห์วิจารณ์ ที่ในระบบการศึกษาไทยไม่เคยมีมาก่อน เพราะครูอาจารย์เล่นบทเป็นพระเอกอยู่เพียงฝ่ายเดียว

ซึ่งก็ทำให้เกือบทุกสถาบันการศึกษาไทยตกอยู่ในสภาพล้าหลังเหมือนกบในกะลา มหาวิทยาลัยไทยเองแทนที่จะเป็นผู้นำเรื่องนี้กลับมีวิสัยทัศน์ที่สั้นและแคบเต็มที นักศึกษาที่จบมาก็ล้าหลัง ไม่เหมาะกับยุคสมัย

ผลพวงจากระบบการศึกษาแบบอำนาจนิยมดังกล่าวเป็นเหตุให้ประเทศไทยต้องอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะมันเป็นการศึกษาที่รับกับสภาพเผด็จการ (แบบทหาร) ที่เห็นๆ กันอยู่อย่างไม่น่าเชื่อ

สำหรับวัตถุของมูลนิธิ EFF ของพวกเรามีดังนี้นะครับ

1. สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนไทยในประเทศไทยตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา ข้อนี้ ย่อมเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมในตัวอยู่แล้วครับ  คนทั่วไปนิยมทำกัน เพราะเป็นวิธีการสนับสนุนการศึกษาที่ง่ายที่สุด เพียงแต่ผมว่า มันอาจไม่ใช่การสนับสนุนการศึกษาแบบยั่งยืนเท่านั้น เหมือนการแจกปลาไปเป็นอาหารกับชาวบ้าน หมดมื้ออิ่มก็จบกันไป

2. สนับสนุนให้สร้างภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา ข้อนี้เนื่องจากเราเชื่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีภาคีเครือข่ายทางด้านการศึกษาจำนวนมากอยู่แล้ว เราจึงจะเป็นจุดเชื่อมต่อ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาที่มีอยู่แล้วเหล่าเดินต่อไปอย่างมีพลังและมีศักยภาพในการพัฒนาการศึกษาไทยร่วมกัน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เราในฐานะภาคีเครือข่ายด้านการศึกษามองเห็นปัญหาร่วมกันด้วยแล้ว

3. สนับสนุนและบริการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการศึกษากับองค์กรการศึกษาต่างๆ แน่นอนว่านับต่อแต่นี้สิ่งที่ EFF ต้องทำ และผลักดันให้เกิดขึ้นก็คือ การแลกเปลี่ยนความรู้และแชร์ประสบการณ์ด้านการพัฒนาการศึกษาในระหว่างองค์กรพัฒนาระบบการศึกษา ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว หากต้องมีการแปลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการศึกษาที่เป็นประโยชน์กับองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกันในต่างประเทศหรือองค์กรต่างประเทศด้วย ซึ่งย่อมหมายถึง โรงเรียน มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ในต่างประเทศด้วย เช่น กรณีรูปแบบการจัดการศึกษาของฟินแลนด์ หรือแม้แต่โรงเรียนตามความหมายที่สนใจกันในยุโรปเมื่อทศวรรษที่แล้ว คือ Deschooling Society  หรือสังคมไร้โรงเรียน มองโรงเรียนว่าไม่ควรเป็นโรงเรียน มีชั้นเรียนตามรูปแบบเก่าๆ ซึ่งผมคิดว่าโลก 4.0 อย่างในปัจจุบัน กลับเป็นสังคมที่เอื้อต่อการเกิดสังคมโรงเรียนหรือระบบการศึกษาแบบนี้ ทั้งน่าจะสะดวกว่าการใช้ประสบการณ์ควานหาเอาโดยถ่ายเดียว เทคโนโลยีเสิร์ชเอนจิ้นจะช่วยจัดการเรื่องนี้ เป็นอย่างดีทีเดียว 

4. ระดมทุนเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาการศึกษาในประเทศไทย เราคงไม่ปฏิเสธทุนว่ามีความสำคัญในการทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและพัฒนาระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดในโลก ดังนั้น การแสวงทุนเป็นสิ่งจำเป็นในการทำกิจกรรม ถ้าท่านใดสนใจร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ฮ็อตไลน์สายตรงได้ที่ 098-979-7416 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน; หรือแอดไลน์ ที่ไลน์ไอดี pete1120 

5. สนับสนุนการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาของประเทศไทย มิตรสหายของเรานำเสนอว่า ในเมื่อรู้ว่าการศึกษาของประเทศไทยมีปัญหา เพื่อความกระจ่างชัดในตัวปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหา เราควรสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อหาทางออกของปัญหาดังกล่าวด้วย

6. ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลเพื่อการกุศลและองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสาธารณะประโยชน์ แน่นอนและชัดเจนว่า เราต้องการพันธมิตรร่วมอุดมการณ์เสมอครับ การมีเพื่อนจะช่วยให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่นและกระจายออกไปในมุมที่กว้างมากขึ้น

ในเมื่อมีการจัดตั้งองค์กรสนับด้านการศึกษาเกิดขึ้นแล้ว มิตรสหายก็พากันคิดต่อว่าจะขยายแนวคิดนี้ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน เห็นได้ด้วยสายตาคนธรรมดาๆ อย่างเราๆ ท่านๆ อย่างไรบ้าง พวกเราส่วนหนึ่ง (เช่น จ้อบ วิโรจน์ศิริ- สถาปนิกจากแคลิฟอร์เนีย) มองว่าการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการศึกษา ไม่ควรจะถูกจำกัดอยู่ในบริเวณชุมชนเมืองท่านั้น หากควรกระจายออกไปยังต่างจังหวัดและส่วนภูมิภาค จ้อบเองกำลังเล็งบางเมืองที่มีศักยภาพหรือมีความพร้อม เช่น เมืองประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น เพื่อสร้างศูนย์กิจกรรมเชิงการศึกษานานาชาติ

ก้าวต่อไปคือ การทำงานด้านการพัฒนาและสนับสนุนการศึกษาของประเทศไทย ผ่านช่องทางและศักยภาพที่ชาวคณะมี หวังว่าคงได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากมวลชนชาวบ้านทั่วไป ตลอดถึงหน่วยงานภาครัฐ (ราชการ)ที่เกี่ยวข้อง

ขงจื้อ ปราชญ์จีน เคยกล่าวไว้ว่า

“ถ้าคุณวางแผนแค่ปีเดียว จงปลูกข้าว

ถ้าคุณวางแผนระยะ  10 ปี จงปลูกต้นไม้

แต่ถ้าคุณวางแผนสำหรับ 100 ปีข้างหน้า จงให้การศึกษากับเด็กๆ และเยาวชนเถิด”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net