Skip to main content
sharethis

กกต.เตรียมหารือวิษณุ ยันควรแก้ปมติดล็อกให้พรรคการเมือง เปรยมีปฏิทินเลือกตั้งในใจแล้ว แต่ขออุบก่อนเกรงจะบีบ รบ.ให้ปฏิบัติตาม แจงกรณีใช้งบกลาง 5,800 ล้านจัดเลือกตั้งครั้งหน้า จากเดิมเคยใช้ 3,000 กว่าล้านมีหลายปัจจัยเพิ่มขึ้น ด้าน "มีชัย" เผยมั่นใจกรอบเลือกตั้งทำได้ไม่กระทบพรรค หากกกต. วางแผนทำงานแบบร่นเวลา เตรียมพร้อมก่อนกฎหมายส.ส.ใช้บังคับ

12 มิ.ย.2561 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมครม. ถึงการนัดหารือนอกรอบระหว่างรัฐบาลกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเตรียมการหารือกับพรรคการเมือง ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ว่า ยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะนี้ทราบว่า กกต.สะดวกวันที่ 14 มิ.ย. แต่ต้องถามฝ่ายอื่นด้วย

นายวิษณุ กล่าวว่า การพูดคุยจะคุยกันในระดับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กกต. และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งมีตนร่วมพูดคุยด้วย รวมถึงอาจมีหน่วยงานอื่นด้วย แต่เป็นวงเล็ก ยังไม่มีพรรคการเมือง ส่วนจะนัดหารือกับนักการเมืองวันใดนั้น อยู่ที่ คสช.

เมื่อถามว่าการหารือกับพรรคจะเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย.หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กลับจากประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีการพูดกันว่าเดือนมิ.ย. แต่ตนไม่แน่ใจ ก็ทำอย่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) แนะนำ คือ คุยกับกกต.ให้ได้ข้อสรุปแล้วค่อยแจ้งให้ฝ่ายการเมืองทราบในเวลาประชุมร่วมกัน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เชิญใคร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม.สัญจรว่า “เรื่องการหารือเดี๋ยวก็หารือกัน ใครทำก็ได้ ผมทำก็ได้ หรือจะรองนายกฯทำก็ได้ ถือเป็นเรื่องของขั้นตอน ก็ขอรับฟังก่อนได้หรือไม่ แล้วค่อยนำเรื่องมาให้ผมและ คสช. ได้ตัดสินใจพิจารณาในเรื่องของการปลดล็อคและวิธีการต่างๆ ก็จะทำให้ทุกอย่าง ขอร้องว่าอย่ากดดันกันมากๆ เลยขอตอบแค่นี้พอ”

นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.กล่าวกรณีที่ กกต.เตรียมหารือกับรัฐบาลและ กรธ.ว่า การหารือเป็นระดับสำนักงานฯ ซึ่ง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.กับรองเลขาฯ ด้านต่างๆ จะไปร่วมหารือ ส่วนประเด็นที่จะไปหารือเลขาฯ กกต.คงเตรียมประเด็นที่เป็นอุปสรรคปัญหาต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง เช่น เรื่องการหาสมาชิก การที่พรรคไม่สามารถจัดประชุมได้ ก่อนหน้านี้ กกต.เคยเสนอความเห็นไปแล้วและยังคงยืนยันว่าควรแก้ไขเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถปฏิบัติได้ ที่สุดแล้วหลังการหารือจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไรไม่สามารถตอบได้ รวมถึงจะนำไปสู่การไม่ทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกหรือไม่ ไม่ทราบ กกต.จะเสนอแค่ปัญหาและแนวทางแก้ไขเท่านั้น ทำหรือไม่เป็นดุลยพินิจของรัฐบาลที่จะพิจารณา

ส่วนเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง จากที่ได้ให้สำนักงานฯศึกษาข้อกฎหมายเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนกฎหมายมีผลบังคับนั้น เห็นว่ากฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำได้ ดังนั้นการให้ คสช.ใช้มาตรา 44 เพื่อให้ กกต.แบ่งเขตได้ก่อนอาจเป็นไปได้ เพราะก่อนหน้าที่เลขาธิการ กกต.เคยเสนอมาแล้ว แต่ทั้งนี้แม้ กกต.จะแบ่งเขตได้ก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับ แต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้ง ก็จำเป็นต้องปลดล็อกจาก คสช.ก่อน ไม่เช่นนั้นพรรคการเมืองก็ไม่สามารถมาประชุมได้ ก่อนหน้านี้ คสช.เคยระบุแล้วว่าอาจปลดล็อกให้พรรคการเมืองกระทำการบางเรื่อง

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้คณะที่จะไปหารือได้เตรียมเรื่องปฏิทินการเลือกตั้งตามโรดแม็ปรัฐบาล ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาลหากซักถามเพื่อวางกรอบเวลาดำเนินการต่างๆ ก็สามารถตอบได้ แต่คงเปิดเผยไม่ได้ จะกลายเป็นบีบบังคับรัฐบาลให้ปฏิบัติตามซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม

นายศุภชัย ยังชี้แจงกรณีใช้งบประมาณ 5,800 ล้านบาทในการจัดเลือกตั้งครั้งหน้าว่า ค่าใช้จ่ายเดิมเคยใช้ 3,000 กว่าล้านบาท แต่ครั้งนี้เพิ่มมากขึ้นเพราะมีหลายปัจจัยเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน กกต.จังหวัดซึ่งมีค่าใช้ค่าเดินทาง เบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าผู้ช่วยของแต่ละคน เรื่องการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง แม้จะมีบัตรใบเดียว แต่แต่ละเขตไม่เหมือนกัน การจัดพิมพ์ป้ายหาเสียงให้ผู้สมัคร ค่าจ้างแหล่งข่าว เงินสินบนรางวัล การคุ้มครองพยาน ซึ่งการใช้จ่ายทุกอย่างมีรายละเอียดชี้แจงได้ โดยจะขอเป็นงบฯกลาง ไม่ได้ขอเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภา ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ได้เรียก กรธ. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าหารือต่อประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายและขั้นตอนการเลือกตั้ง ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 13 มิถุนายน ช่วงเย็น โดยประเด็นที่จะหารือนั้นตนทราบเพียงเบื้องต้นแต่ยังไม่ทราบรายละเอียด ส่วนกรธ. จะส่งใครไปร่วมประชุมนั้น ขอหารือกับกรธ. ก่อน

นายมีชัย ยังกล่าวถึงขั้นตอนของการกำหนดวันเลือกตั้ง ว่า ต้องให้ กกต. ชี้แจงเพราะถือเป็นผู้ชำนาญการที่จะมีรายละเอียดและไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้ง ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อาทิ การแบ่งเขตเลือกตั้ง รวมถึงขั้นตอนที่พรรคการเมืองต้องจัดตั้งสาขาและกำหนดให้ทำเลือกตั้งขั้นต้น หรือ ไพรมารี่โหวต เพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ผู้สื่อข่าวถามว่า กกต. เคยชี้แจงเกี่ยวกับเวลาทำงาน ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ต้องใช้เวลา 60 วันนับจากวันที่กฎหมายว่าด้วยเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้ จะมีผลกระทบต่อการเตรียมเลือกตั้งของพรรคหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า กกต. สามารถร่นระยะเวลาดังกล่าวได้ และใช้ช่วงที่รอการบังคับใช้ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 90 วัน เตรียมความพร้อมไว้ได้ ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งเบื้องต้น ซึ่งตนเข้าใจว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งรอบใหม่ จะไม่ทำให้เขตเลือกตั้งที่เคยบังคับใช้เปลี่ยนแปลงมากนัก และหากสอบถาม กกต. เชิงลึกเขาอาจบอกข้อมูลและการเตรียมงานได้ และอาจใช้เวลาไม่มาก

ถามต่อว่ากรณีของพรรคการเมืองที่ต้องการให้คสช. เร่งปลดล็อคคำสั่งห้ามทำกิจกรรมการเมืองเพื่อจะได้หาสมาชิกและทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบไพรมารี่โหวตให้กับประชาชนและผู้ที่จะลงเลือกตั้ง นายมีชัย กล่าวว่า ประเด็นให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ พรรคการเมืองสามารถทำได้ ผ่านการส่งเอกสารและใช้ระบบเทคโนโลยีสื่อสารไปยังประชาชนได้

"ที่คนเขาออกมาว่าต้องเร่งเลือกตั้งให้เร็วๆ ผมไม่ทราบว่าเขาคิดถึงคนที่จะส่งสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เพราะยังมีขั้นตอนและการปฏิบัติที่ต้องใช้เวลาตามกฎหมายกำหนดไว้ แม้บทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายส.ส.ที่กำหนดให้ทำไพรมารี่โหวต แต่เขาผ่อนปรนให้ไพรมารี่โหวตคราวแรกสามารถทำได้ทีเดียวในจังหวัดที่จะส่งผู้สมัครส.ส. ไม่ต้องทำเป็นรายเขตก็ได้ ดังนั้นอาจไม่ต้องรอให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วเสร็จก็ได้" นายมีชัย กล่าว

 

ที่มา:

https://www.khaosod.co.th/politics/news_1204666
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/804589
https://www.thairath.co.th/content/1305991
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/804569

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net