ความท้าทายของกฎหมายแรงงาน และสิทธิแม่บ้านในรั้วมหา'ลัย ที่หายไป

พูดคุยกับ คุ้มเกล้า ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในกรณีของแม่บ้านจากบริษัททำความสะอาดที่ทำงานอยู่ในสถานที่ราชการ ว่าพวกเธอมีสิทธิอะไรบ้างในฐานะลูกจ้าง และกฎหมายยังมีช่องโหว่อะไรบ้างที่ยังทำให้พวกเธอถูกละเมิดสิทธิอยู่

 
ใต้ตึกรามอาคารเรียนพลุกพล่านไปด้วยผู้คน เช่นเดียวกับในห้องเรียนเปิดแอร์เย็นฉ่ำที่นิสิตหลายชีวิตกำลังตั้งหน้าตั้งตาจดเลกเชอร์ตามที่อาจารย์สอน ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนเอง ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มหญิงวัยกลางคน 2-3 คน ที่เดินเข้านอกออกในบริเวณอาคารเรียนตลอดเวลาเหมือนไม่มีวันได้หยุดพัก หน้าที่หลักของพวกเธอคือ ทำให้อาคารที่พวกเราใช้เรียนและทำกิจกรรมร่วมกันสะอาดหมดจดตลอดเวลา
 
“แม่บ้าน” กลายเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งนี้ พวกเธอกลมกลืนไปกับพวกเรา บางครั้งเรายิ้มทักทายกันอย่างสุภาพ บางครั้งเราขอให้พวกเธอเป็นธุระช่วยทำความสะอาดสิ่งที่พวกเราทำสกปรกกันไว้ บางครั้งเราขอยืมชุดเครื่องแบบของพวกเธอในการถ่ายหนังสั้นสักเรื่อง แต่จะมีสักกี่คนที่ได้ทำความรู้จักตัวตนของพวกเธอจริงๆ และหมั่นถามถึงสิ่งที่พวกเธอต้องการในฐานะ “แม่บ้าน” ของมหาวิทยาลัย ที่เราเห็นหน้าค่าตาตั้งแต่เข้าเรียนวันแรกจนถึงวันที่ใกล้จะจบการศึกษาเต็มที

นิสิตนักศึกษา ถือโอกาสนี้พูดคุยกับ คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความหญิงวัย 37 ปีจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในกรณีของแม่บ้านจากบริษัททำความสะอาดที่ทำงานอยู่ในสถานที่ราชการ ว่าพวกเธอมีสิทธิอะไรบ้างในฐานะลูกจ้าง และกฎหมายยังมีช่องโหว่อะไรบ้างที่ยังทำให้พวกเธอถูกละเมิดสิทธิอยู่

ทำความรู้จักกับ 'แรงงาน' และ 'แม่บ้าน'

คุ้มเกล้า ให้นิยามของคำว่า 'แรงงาน' ตามบทบัญญัติทางกฎหมายไว้ว่า คนที่ทำงานเพื่อจะได้ค่าจ้าง ใช้แรงเพื่อแลกค่าตอบแทน โดยแรงงานนี้ กลุ่มแรกจะเป็นแรงงานที่ใช้แรงทางกายภาพ เช่น ใช้มือหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายทำงาน และอีกกลุ่มหนึ่ง คือแรงงานที่ทำงานในออฟฟิศ หรือ ที่เรียกกันว่า “แรงงานใช้สมอง” อย่างไรก็ตาม คุ้มเกล้ากลับเห็นว่า การใช้คำว่าแรงงานใช้สมองนั้นเป็นการกดทับแรงงานที่ใช้แรงทางกายภาพ ทำให้เกิดการลดทอนความเป็นมนุษย์ขึ้น

“ตอนนี้เราพยายามเปลี่ยนคำเรียกจาก ‘ลูกจ้าง’ กับ ‘นายจ้าง’ เป็น ‘คนทำงาน’ เพื่อลดชนชั้น เพราะมันเหมือนมีคำว่า ‘นาย’ กับ ‘บ่าว’ ส่วน ‘แรงงานใช้สมอง’ เราก็เรียกว่า ‘คนวางแผน’ เพราะงานทุกงานใช้สมองหมด แม่บ้านก็ต้องใช้สมองเหมือนกัน” คุ้มเกล้า กล่าว

ส่วน 'แม่บ้าน' จัดเป็นหนึ่งในแรงงานทางกายภาพ โดยแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ แม่บ้านกลุ่มที่ทำงานอยู่ในบ้านของผู้ว่าจ้างโดยตรง เช่น ทำกับข้าว ทำความสะอาดบ้าน หรือดูแลลูกของเจ้าของบ้าน จะมีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะ เพราะมีลักษณะการทำงานที่ต้องไปทำงานที่อื่น และจำเป็นต้องมีสถานที่พักอาศัยให้ตามลักษณะงาน

ส่องสามความสัมพันธ์ ลูกจ้าง-นายจ้าง-ผู้ว่าจ้าง

ขณะที่แม่บ้านอีกประเภทหนึ่งที่ประสบปัญหาด้านสิทธิทางกฎหมายในสายตาของคุ้มเกล้า คือ คนทำงานบ้านในเชิงธุรกิจ ลักษณะการทำงานจะขึ้นตรงกับนิติบุคคลที่เปิดขึ้นเป็นบริษัททำความสะอาด โดยบริษัทดังกล่าวจะจัดหาแม่บ้านส่งไปให้ตามสถานที่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ต้องการพนักงานทำความสะอาด แม่บ้านกลุ่มนี้ไม่มีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะ แต่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

แม่บ้านในรูปแบบนี้ไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองเหมือนแม่บ้านที่เข้าไปทำงานในบ้าน เนื่องจากลักษณะงานที่เป็นบริษัทนิติบุคคล แล้วจัดส่งแม่บ้านไปตามสถานที่ราชการต่างๆ ทำให้แม่บ้านขึ้นตรงกับบริษัทนิติบุคคลนั้น ไม่ได้ขึ้นกับสถานที่ราชการโดยตรง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจ้างแม่บ้านจากบริษัท A  ความสัมพันธ์ของจุฬาฯ กับบริษัท A เป็นแบบนายจ้างและลูกจ้าง ส่วนแม่บ้านที่จัดส่งไปนั้นเป็นลูกจ้างของบริษัท A อีกทอดหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีหน้าที่จัดหาสวัสดิการหรือพิทักษ์สิทธิให้แม่บ้านจึงเป็นบริษัทนิติบุคคล เพราะถือว่ามีความสัมพันธ์เป็นนายจ้างโดยตรง

“สวัสดิการเช่น ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันคือ 325 บาท มหาวิทยาลัยอาจให้ค่าหัว 400 บาท ลูกจ้างจะได้ 325 บาท ส่วนต่างก็จะเป็นของบริษัท คือบริษัทประกอบกิจการจากส่วนต่างที่หน่วยงานต่างๆ ตั้งงบประมาณไว้ นายจ้างที่รับเงินมาจากหน่วยงานก็จะต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือหากมีโปรโมชั่นดีหน่อยเพื่อดึงตัวลูกจ้าง เขาอาจจะให้ 350 บาท มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 25 บาท เพื่อให้แม่บ้านเลือกมาทำงานที่บริษัทนั้น หลักคือตัวนายจ้างที่เป็นบริษัทต้องให้สิทธิต่างๆ ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่อยากจะให้ดีกว่าก็ได้” คุ้มเกล้า ยกตัวอย่าง

ลักษณะงานแม่บ้าน สวนทางกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้านการพัก

จากการสำรวจสถานที่พักของแม่บ้าน 18 คณะในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า มีเพียงไม่กี่คณะที่มีห้องพักเป็นสัดส่วน และห้องพักที่ว่านั้นมีลักษณะเป็นห้องเก็บของ นอกจากนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่ได้จัดที่พักไว้ให้แม่บ้าน ทำให้พวกเธอต้องเข้าไปพักอยู่ใต้บันไดอาคาร บันไดหนีไฟ หรือบริเวณไหนก็ตามที่มีที่นั่ง 
 
เมื่อสอบถามทนายความด้านสิทธิแรงงานอย่างคุ้มเกล้า เธอชี้ให้เห็นถึงปัญหาว่า จริงๆ แล้วที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายยังคงมีช่องโหว่ เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองเพียง 'การพัก' หรือ 'เวลาพัก' ซึ่งระบุว่า หากทำงานมาห้าชั่วโมงติดต่อกันแล้ว ต้องให้หยุดพักหนึ่งชั่วโมง โดยจะตรงกับเวลาพักกลางวันที่รวมเวลาทานข้าว ในหนึ่งชั่วโมงนี้ พวกเธอมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธหากมีอาจารย์หรือนิสิตมาขอให้ช่วยทำงาน
 
แต่ปัญหาคือ ด้วยลักษณะงานของแม่บ้านที่ทำงานนอกสถานที่ พวกเธอไม่ได้รับการคุ้มครองในเรื่อง 'ที่พัก' เช่นแม่บ้านที่ทำงานในบ้านผู้ว่าจ้าง จึงไม่จำเป็นที่ผู้ว่าจ้างโดยตรงอย่างบริษัททำความสะอาดหรือเจ้าของสถานที่อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะต้องจัดสถานที่พักให้ เพราะไม่มีระบุไว้ในกฎหมาย
 
“กฎหมายไม่ได้บังคับเกี่ยวกับเรื่องที่พัก คือบังคับแค่ให้หยุดทำงาน เป็นการคุ้มครองเวลาหยุดทำงานเป็นสำคัญ ไม่ได้เชิงหยุดแล้วหาที่ทางให้พัก ถ้าเป็นเรือประมงหรือลูกจ้างทำงานก่อสร้างที่เขาเป็นคนอีสานที่ขนมาทั้งหมู่บ้าน มันมีกฎหมายคุ้มครองเรื่องการจัดที่พักให้คนงาน แต่พวกแม่บ้านที่ไม่ใช่แม่บ้านทำงานบ้านจะมีปัญหาคือไปทำงาน ณ ที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ของนายจ้าง มันเลยต้องเป็นไปตามกฎของที่ต่างๆ ด้วย ไม่ใช่กฎของนายจ้างอย่างเดียว” คุ้มเกล้ากล่าว
 
ตาม 'กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2548' ระบุว่า หากมีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป สามารถขอให้นายจ้างสร้างที่พักให้ได้ แต่สำหรับสภาพงานของแม่บ้านที่ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ จึงไม่สามารถสร้างได้จริงในทางปฏิบัติ
 
“บริษัททำความสะอาดตั้งขึ้นมาเป็นห้องแถวเล็กๆ  เขาไม่ได้ประกอบการ ไม่ได้ทำธุรกิจที่มีการผลิตออกมา การกำหนดว่าลูกจ้าง 10 คนขึ้นไปมีห้องให้ มีน้ำสะอาดให้ มันเป็นกรณีที่ลูกจ้างมาทำงานอยู่ ณ ที่นั้น แต่ธรรมชาติของเขาคือส่งคนออกไป ที่หนึ่งสองคน ที่จุฬาฯ สามคน เกษตรฯ สี่คน แยกกันไปเลย แต่ถามว่าพวกนี้เป็นลูกจ้างใคร ก็เป็นลูกจ้างของบริษัทพวกนี้ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็ต้องเป็นบริษัททำความสะอาดที่ต้องดูแลให้ไม่ต่ำไปกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะฉะนั้นเรื่องจัดที่พักให้ไม่ต่ำกว่า 10 คน ในทางปฏิบัติแล้วทำไม่ได้” ทนายความ อธิบาย

สถานที่พัก เพื่อชั่วโมงพักที่สมบูรณ์

ถึงแม้กฎหมายจะให้ความคุ้มครองเพียง 'การพัก' และสถานศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ทำตามกฎหมายนั้นทุกประการ  แต่ คุ้มเกล้า กลับเห็นว่า ไม่ว่าอย่างไรการจัดที่พักให้เป็นสัดส่วนก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัก
 
“พี่มองว่าการกำหนดกฎหมายให้เป็นรูปธรรมที่ให้สิทธิ์กับลูกจ้างมันก็ดี ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องสิทธิ์จนเกินไป เพราะว่าเมื่อกฎหมายกำหนดช่วงเวลาพักแล้ว สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ลูกจ้างพักได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจริงๆ คือสถานที่พัก พี่มองว่ามันยังเชื่อมโยงกัน เมื่อเขาทำงานมา 4-5 ชั่วโมงก็มีความล้าพอสมควร หลังจากกินข้าวเสร็จ ถ้าบริษัทไม่มีสถานที่พักตามเหมาะสมหรือสมควร เขาจะไปพักที่ไหน ในเมื่อกฎหมายคุ้มครองการพักผ่อนของลูกจ้าง ถ้าจะทำให้สมบูรณ์แบบก็ควรมีสถานที่ที่พักให้ลูกจ้างพักได้จริงๆ” คุ้มเกล้า แสดงความคิดเห็น
 
นอกจากนั้น การจัดสถานที่พักให้แม่บ้านยังช่วยป้องกันการเรียกใช้งานแม่บ้านในเวลาพักด้วย ยกตัวอย่างเช่น นิสิตบางคนอาจไม่ทราบถึงสิทธิทางกฎหมายของแม่บ้านที่ว่า หากเป็นเวลาพักพวกเธอก็มีสิทธิ์จะพัก ไม่จำเป็นต้องทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย แต่แม่บ้านส่วนใหญ่มักยินยอมทำตาม เพราะคิดว่าตนไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงมากพอจะคัดค้านได้
 
“งานของเขาเป็นประเภทงานบริการ เวลามันเลยมีความยืดหยุ่นพอสมควร ถ้าเราจัดที่พักชัดเจน นิสิตจะรู้ว่าเป็นเวลาพักของเขา แต่แม่บ้านก็จะต้องเข้าห้องนี้เฉพาะเวลาพัก ทั้งสองฝ่ายจะได้รู้กัน หากเขาอยู่ในห้องก็จะรู้ว่าเวลาพักผ่อนของเขา แต่หากเขาอยู่นอกห้องจะรู้ว่าเป็นช่วงที่เราสามารถขอความช่วยเหลือจากเขาได้ เราจะได้ไม่ไปละเมิดสิทธิ์ของอีกฝ่ายโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ” คุ้มเกล้า กล่าว

ที่พักแม่บ้านในสายตานักสิทธิแรงงาน

เมื่อได้ข้อสรุปว่า ควรมีการจัดสถานที่พักให้แม่บ้านได้พักระหว่างวันแล้ว ก็มาถึงคำถามที่ว่า สถานที่พักแบบไหนจึงจะเหมาะสมสำหรับการพัก แน่นอนว่าต้องไม่ใช่ที่พักใต้บันได ตรงซอกหลืบของอาคาร ประตูหนีไฟ หรือห้องเก็บของแคบๆ เพราะสถานที่ประเภทนั้นไม่เหมาะแก่การพักผ่อนแม้แต่น้อย สำหรับ คุ้มเกล้า สถานที่พักของแม่บ้านควรได้รับการจัดสรรเป็นสัดส่วน สะดวกสบายตามอัตภาพ โดยอยู่ในหลักการที่ว่า คนทั่วไปอยากพักในสถานที่แบบไหน แม่บ้านก็ควรได้สถานที่แบบนั้น
 
“ถ้าจะให้ดีก็ให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมกับจำนวนลูกจ้างในแต่ละรอบของการหยุดพัก เพราะบางที่กะเช้ากะดึกมันหยุดไม่พร้อมกัน พักบางทีไม่พร้อมกัน ส่วนเขาจะนอนหรือไม่นอน หรือจะนั่งสงบจิตสงบใจก่อนเริ่มทำงานก็เป็นเรื่องของเขา แต่นายจ้างควรจัดให้มีแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้กำหนดไว้โดยชัดเจน ถ้านายจ้างมีธรรมาภิบาลซึ่งมากไปกว่ากฎหมายกำหนด คุณก็ต้องรู้ว่าคุณได้ประโยชน์จากการทำงานของลูกจ้าง ถ้ายิ่งเขาได้พักผ่อนหลังล้าจากการทำงานมาประมาณหนึ่งก็เป็นคุณที่ได้ประโยชน์จากการทำงานที่มีประสิทธิภาพของลูกจ้าง” ทนายความเน้นย้ำ
 
นอกจากนั้น คุ้มเกล้า ยังเห็นว่า รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ สามารถเจรจาต่อรองกันได้ เช่น จำเป็นต้องติดแอร์ไหม แต่ที่แน่ๆ ถ้าเธอได้เป็นส่วนหนึ่งในสหภาพแรงงานของแม่บ้าน เธอจะเรียกร้องให้มีการจัดสถานที่พักแยกหญิงแยกชาย เพื่อความปลอดภัยของตัวแม่บ้านเอง

เศษเสี้ยวอำนาจและการต่อรองสิทธิที่เป็นไปได้ยาก

ก่อนการว่าจ้างและส่งมอบแม่บ้านให้มหาวิทยาลัย ต้องมีการทำสัญญากันก่อนเสมอ เนื้อหาในสัญญานั้นต้องรับรู้และยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย เมื่อทำสัญญากันเรียบร้อยแล้ว มหาวิทยาลัยกับบริษัททำความสะอาดจะมีความสัมพันธ์เป็นผู้จ้างกับลูกจ้างอย่างเป็นทางการ ประกอบกับแม่บ้านเองก็ไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงขนาดที่จะก่อตั้งเป็นสหภาพแรงงานขึ้นมาได้ เพราะแต่ละบริษัทก็ต้องกระจายแม่บ้านไปแต่ละที่ ไม่สามารถรวมตัวกันได้
 
“ถ้าหากว่า นายจ้างกำหนดเวลาพักไว้แล้ว เป็นช่วงเที่ยงถึงบ่ายโมง ตอนที่ลูกจ้างมาเซ็นสัญญากำหนดไว้ชัดเจนแล้ว ปรากฏว่าส่งคนไปทำงาน ไปเจออาจารย์ที่เห็นคนหยุดว่างไม่ได้ ทำไมเธอไม่ทำงาน ห้องน้ำต้องไม่สกปรก แล้วไปว่ากล่าวเขา ร้องเรียนมาที่บริษัท นายจ้างจะไปเลิกจ้างเขาที่เขาไม่ทำงานในช่วงเวลาพักไม่ได้ เพราะถือว่าที่เขาดีลกับคุณไว้คุณบอกว่าพักได้ แล้วเขาก็หยุดในเวลานั้น” คุ้มเกล้า ยกตัวอย่าง
 
นอกจากนั้น ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นการพูดคุยต่อรองกันของบริษัทกับมหาวิทยาลัย ซึ่งในส่วนนี้จะอยู่ในสัญญาจ้าง ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมาย โดยสุดท้ายหากมีการละเมิดสัญญาโดยมหาวิทยาลัย ผู้ที่จะไปเรียกร้องสิทธิ์ให้ต้องเป็นบริษัททำความสะอาด ไม่ใช่แม่บ้านจะไปเรียกร้องได้โดยตรง
 
“แม่บ้านต้องรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องที่ทำสัญญาไว้กับมหาวิทยาลัย แต่โดยหลักแล้วนายจ้างไม่โง่ เขาก็จะเอาข้อตกลงที่เป็นระเบียบมหาวิทยาลัยมายัดใส่ไว้ในสัญญาที่จะต้องบังคับกับลูกจ้างอยู่แล้ว อย่างเรื่องกำหนดเวลาพัก ก็จะเว้นวรรคไว้ในข้อท้ายว่า เว้นแต่กรณีที่มีงานเร่งด่วน ได้รับมอบหมายงานให้ปฏิบัติตามคำสั่งผู้ว่าจ้าง แล้วค่อยมาทดเวลาพัก เขาอิงกฎหมายเป็นหลัก แต่ถ้าผู้ว่าจ้างมีกำหนดอะไรเป็นพิเศษ เช่น กำหนดสถานที่ห้ามเข้า หรือไปทำความเสียหายให้ผู้ว่าจ้าง ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิ์ส่งตัวคืน หรือมีอำนาจสั่งพักงาน คือมอบอำนาจของนายจ้างบางส่วนให้ผู้ว่าจ้างได้” คุ้มเกล้า ชี้แจง

จะลดช่องโหว่กฎหมายแรงงานได้อย่างไร

เมื่อสอบถามถึงเรื่องช่องโหว่ทางกฎหมายแรงงานในปัจจุบัน คุ้มเกล้า มองว่า ปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานหลายฉบับเกินไป ควรจะรวมเป็นประมวลกฎหมายเล่มเดียวมากกว่าแยกไปตามประเภทของแรงงาน เพราะท้ายที่สุดแล้วแรงงานแต่ละประเภทก็ย่อมต้องการสวัสดิการที่คล้ายคลึงกัน
 
“โดยหลักการ ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร ก็ถือว่าเป็นคนทำงานเหมือนกันหมด กฎหมายแรงงานมีเยอะมาก หลายร้อยฉบับ มันมีปัญหาจากความมากมายของมัน พี่เห็นว่าไม่ควรมีกฎหมายแรงงานหลายฉบับ ควรทำเป็นประมวลกฎหมายแรงงาน คือรวมหลักการคุ้มครองแรงงานทั้งหมด ที่เหลือเป็นเรื่องเฉพาะ แตกต่างตามแต่ละประเภทงานจริงๆ ไม่ควรมีหลายฉบับแบบตอนนี้ คนทำงานทุกคนต้องการได้รับการคุ้มครองในฐานะคนทำงานเหมือนกันหมด” คุ้มเกล้า เสริม
 
 
รายงานชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์ “นิสิตนักศึกษา” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติของนิสิตสาขาวิชาเอกและโทวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 31 พ.ค.2561 https://nisitjournal.press/2018/05/31/labourlaw/)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท