Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ถ้าจะเทียบการเมืองเป็นสิ่งที่มีชีวิตจิตใจอย่างคนเรา การเมืองของประเทศไทยตอนนี้คงมีอาการเหมือนคนที่ป่วยหนักจากสายตาของนักสังเกตการณ์ทางการเมือง ผู้ที่มองโลกไปในทางความเป็นจริงไม่ได้มองโลกสวยหรือติดอยู่ในกับดักความคิดตนเอง นัยว่าจะพัฒนาหรือคลี่คลายไปในทิศทางใดระหว่าง สภาพสังคมการเมืองแบบรัฐราชการ ผสมผสานกับการมีกลไกถาวรทางการเมืองที่ถูกจัดตั้งขึ้นแบบจีนกระชับอำนาจกำหนดล็อคเงื่อนไขยุทธศาสตร์ของชาติ ควบคุมกำกับจากคณะผู้บริหารพิเศษที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งไว้ โดยไม่มีความเชื่อมโยงและมีความรับผิดชอบทางการเมืองกับประชาชน เหลือพื้นที่ทางการเมืองไว้ให้ประชาชน และ นักการเมืองไว้เล่นในเชิงสัญลักษณ์ เช่น การเลือกตั้ง และ ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจากพรรคการเมืองทางหนึ่ง ขณะที่ทิศทางอีกทางหนึ่งนั้นเป็นการหันหัวประเทศเข้าสู่ความขัดแย้ง ยุ่งเหยิงอยู่กับข้อขัดแย้งทางการเมืองต่อไป และอาจเป็นเหตุนำประเทศเข้าสู่สภาวะรัฐที่ล้มเหลว (failure state) ให้ประชาชนรอคอย ถกเถียงวิ่งไล่เงาไขว่คว้าอยู่กับวาทะกรรมทางการเมืองเรื่อง ประชาธิปไตย การปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปทางการเมือง rule of law สิทธิเสรีภาพ หรือ ความเหลื่อมล้ำ อยู่ต่อไป

ความน่าจะเป็นในทิศทางทางการเมืองใน 2 ด้านข้างต้นนี้ มิได้มองโลกในแง่ร้าย หรือ คิดแบบลบหากแต่ว่าสภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้ หากจะตรวจสอบและประเมินแบบตรงไปตรงมาให้ถูกตามกาลเทศะ กอปรประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา เป็นตัวบ่งบอกเราว่า ทิศทางทางการเมืองจะเดินไปอย่างไร การเผชิญต่อความจริงเท่านั้นเราถึงจะออกจากวิกฤติความขัดแย้งนี้ได้ โดยไม่ควรเพาะเชื้อความขัดแย้งส่งต่อให้ลูกหลานไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งนี้อีก 

การจงใจกะเกณฑ์อยากให้สังคมการเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างไร ด้วยนิติวิธีที่กำหนดเขียนขึ้นเป็นกติกาจากเนติบริกรน้อยใหญ่ทั้งหลาย โดยไม่ใยดีต่อหลักการจิตวิญญาณความถูกต้องแท้จริง ของรูปการความเป็นมหาชนที่พัฒนา หรือแม้แต่หลักคิดเรื่อง การปกครองภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ หรือ แม้ตัวรัฐธรรมนูญเอง และหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองของโลกยุคใหม่ จะเกิดขึ้นได้จากการลิขิตเขียนขึ้น โดยไม่พิจารณาความสำคัญอื่นๆ ใครที่เชื่อเช่นนี้อย่างไม่ลืมหูลืมตา ก็ไม่ต่างอะไรกับ การปั้นรูปด้วยเม็ดทราย ที่ยิ่งหมกมุ่นอยู่แต่มายาคติทางการเมือง การขึ้นรูป สร้างความก้าวหน้าพัฒนาทางการเมืองนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นจาการใช้วิธีความคิดที่ป่วยอย่างข้างต้นนี้ได้ ไม่ควรไร้เดียงสาหลงมัวเมากับนิติวิธีที่ใช้ไม่ถูกที่ถูกเวลานี้อีกเลย 

หมู่นี้เรามักได้ยินหลายคนที่ชอบอุทานว่า “ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สังคมเศรษฐกิจวัฒนธรรม การศึกษา ความก้าวหน้าของประเทศพัฒนาเปลี่ยนแปลงมาถึงยุคปัจจุบัน กลับไปสู่จุดที่ถดถอยตกต่ำแบบไม่เห็นอนาคตนี้ได้อย่างไร หรือ เราอยู่กับการหลอกตัวเอง  เชื่อในสิ่งที่เป็นค่านิยมผิดๆ ที่เป็นมายาคติ (illusions) ในทางการเมืองหรือไม่ 

มรดกทางสถาปัตยกรรมทางการเมืองแบบแย่งชิงอำนาจกันเป็นใหญ่ hegemony ของประเทศไทยอย่างที่วิจารณ์ วิเคราะห์กัน แสดงออกจากการชอบอ้าง กฎหมายบ้านเมือง ยึดแนวคิดเปลี่ยนโลกเปลี่ยนสังคมด้วยนิติวิธี เราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยเสมอมาวกวนอยู่กับที่กับการทำ “รัฐธรรมนูญ” และ คณะผู้จัดทำรัฐธรรมนูญ รวมถึงกระบวนการวิธีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางบรรยากาศคุณภาพขององค์ความรู้ แนวคิด ความเชื่อแบบ หัวมงกุฎท้ายมังกร ที่กำหนดวิธีการใช้อำนาจรัฐ ในสังคมสิ่งแวดล้อมทางการเมืองต่างๆ ไม่เว้นแม้จะอยู่ในระบบปฏิวัติ หรือ ระบบประชาธิปไตย

จึงเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดในสังคมการเมืองที่พบเห็นได้ยากในโลกการเมือง ซึ่งระบอบปฏิวัติก็อาศัยรัฐธรรมนูญ วิธีการบางด้านในรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยแน่นอนก็อาศัย รัฐธรรมนูญเป็นฐานในการใช้อำนาจรัฐ ในฐานะรัฐชาติมีลักษณะของความเชื่อ ความคิดทางการเมืองแบบทวิลักษณ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ร่วมกัน แต่สำหรับบริบททางการเมืองในประเทศไทยกลับเป็นสิ่งเดียวกัน อยู่ด้วยกันได้แบบไม่มีอะไรแตกต่างกัน แม้จากสายตากระแสนิติธรรมไทยคงเป็นจุดนี้กระมังที่นำชาติไทย สังคมการเมืองไทยเข้าสู่การป่วยอย่างหนักมาถึงในเวลานี้

การจะนำชาติไทยออกจากวิกฤติทางการเมือง จะด้วยวาทกรรม การปรองดองก็ดี หรือ การปฏิรูปการเมืองก็ดี มีประเด็นสำคัญที่ผู้คิดอ่านและปรารถนาดีไม่อาจมองข้ามใน 3 กรณีเป็นอย่างน้อยคือ

หนึ่ง. การมีเป้าหมายปลายทางร่วมกัน (milestone) ของชาติ อันเป็นคนละเรื่องกับยุทธศาสตร์ชาติในเวลานี้ เพราะเป้าหมายปลายทางร่วมกันที่กล่าวถึงในที่นี้คือ ปฏิสัมพันธ์ของ ผู้นำ (leadership) ที่ถูกต้องได้รับความยอมรับจากประชาชน กับ กระบวนการให้ได้มาซึ่งฉันทามติในเป้าหมายแต่ละเรื่องกับสาธารณะชน (ประชาชน) ในฐานะของความเป็น “ชาติ” ไม่ได้เพื่อกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

สอง. การเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่การปรองดอง และ ออกจากวิกฤติการเมืองเวลานี้ ต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีความเข้าใจสภาพการณ์สังคมวิทยาทางการเมืองไทยที่ได้คลี่คลายจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน ผลที่เกิดจากปัจจุบันนี้นั้น เป็นและมาจากความผิดพลาด เชิงแนวความคิด ที่สร้าง ความเป็นการเมืองแบบ hegemony ของไทยอย่างไร เมื่อรู้แจ้งถึงข้อผิดพลาดในอดีต ก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นมายาคติ ข้อผิดพลาด ในประการสำคัญจะเข้าใจสภาพการณ์ในปัจจุบัน แบบเห็นอกเห็นใจจำแนกแยกแยะดีชั่ว และการเมืองไม่ให้ปะปนกันในการนำหลักการที่ว่านี้ไปใช้ เพื่อปลูกสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่า

สาม. การขึ้นรูปในอันที่จะพัฒนา ยกระดับ สภาพการณ์ทางการเมืองใหม่ของประเทศไทยนั้น แยกไม่ออกจากความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาบนความเชื่อมโยงกับ มิติความสัมพันธ์อื่นๆ ทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม ทั้งเก่าใหม่ อย่างร่วมสมัยทั้งในและต่างประเทศ ควรหลีกเลี่ยงและไม่ควรซื้อความคิดวิธีการเปลี่ยนพัฒนาการเมืองเชิงนิติวิธีด้วยการ ชักชวนคนไทยไปผูกติดกับการร่างรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าความเจริญก้าวหน้าในทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ จากการเขียนขึ้นเป็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพราะวิธีการนี้เปรียบได้กับความพยายามปั้นรูปด้วยทราย ความในข้อนี้มิได้หมายความว่าไม่ให้เชื่อถือรัฐธรรมนูญ หรือปฎิเสธรัฐธรรมนูญ แต่กาลเทศะในการขึ้นรูปก่อร่างสร้างฐานประเทศ ซึ่งพิจารณาองค์ประกอบย่อยที่สำคัญอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกันก่อนให้รอบด้านก่อน จะเกิดขึ้นได้อย่างไรก่อนหลังควบคู่กันไปกับการเคลื่อนตัวและคลีคลายของโลกและสังคมไทย ไม่ใช่เอารัฐธรรมนูญไปสร้าง เพราะเรากำลังเอาเครื่องมือไปใช้อย่างไม่ถูกกาลเทศะ ซึ่งผิดพลาดมาช้านานจนสังคมการเมือง และนิติธรรมไทยแยกแยะไม่ออกว่า ระบบปฏิวัติกับระบบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งเดียวกันสภาวะวิสัยเดียวกัน เพราะใช้ระบบรัฐธรรมนูญ หรือ คำสั่ง หรือ กฎหมาย อย่างเดียวกัน บางท่านไปไกลถึงขนาดว่า “แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้”

สำหรับผู้คนที่เชื่อในกฎแห่งวิวัฒนาการของสังคมว่า ประเทศและสังคมจะต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่ตลอดเวลามีพลวัตอยู่เสมอนั้น ย่อมมองทุกอย่างตามสภาพความเป็นจริง ไม่หลอกลวงแม้กระทั่งตนเอง ไม่มองอะไรแบบโลกสวย มีความเข้าใจไม่สับสนเรื่องกาลเทศะหรือกาลเวลาหรือหลงยุคสมัย ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมมนุษย์ แต่ถ้าความขัดแย้งจะพัฒนาเป็นวิกฤติของชาติ และ เป็นอยู่บ่อยครั้งซ้ำแล้วซ้ำอีก อยู่อย่างเดิมจนฉุดเหนี่ยวรั้งการพัฒนา และโอกาสของคนในชาติ คงไม่เรื่องธรรมดาที่สุจริตชนจะมองข้ามไป เหมือนอาการป่วยของการเมืองไทยเวลานี้ เชื่อได้ว่าสักวันหนึ่งในอนาคตก็คงมีผู้ปรารถนาดี มาเป็นผู้นำเพื่อ แก้ไข พัฒนา สร้างใหม่(reset) ในท้ายที่สุด

ผู้ปรารถนาดีต่อประเทศที่จะมาแก้ไขอาการป่วยหนักทางการเมืองของประเทศไทย ต้องรู้จักและเข้าใจสภาพการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ที่ดีนั้น ควรก่อรูปพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยเหตุปัจจัยอย่างไร การรู้จักการไตร่ตรองนำอดีตมาสร้างอนาคต ผมขอฝากข้อสังเกตข้างต้นนี้เพื่อการทบทวน พิจารณา และเดินไปข้างหน้าของการฝ่าวิกฤติการเมืองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่อยากให้ท้อถอย มองสิ่งต่างๆ ที่เป็นเหมือนปะติมากรรมทางการเมืองไทยที่วกวนไปมาเวลานี้ เป็นสิ่งที่ถาวรจีรังยั่งยืนจนกลับกลายเป็นสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า “The beginning of the end” หรือ “จุดเริ่มแห่งการอวสาน”  เพียงแต่การรู้จักไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ท่านก็จะรู้ว่ามันเป็นเพียงอาการป่วยทางการเมือง ที่แก้ไขได้นั่นเอง....    

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net