Skip to main content
sharethis

วิษณุ เครืองาม-กกต.-กรธ.-สนช. ถกหาทางออก การแบ่งเขตเลือกตั้ง-ไพรมารีโหวต-ปลดล็อกพรรคการเมือง เตรียมเสนอทางเลือกให้ คสช. ตัดสินใจ ผู้สื่อข่าวถามยังเลือกตั้งก.พ.62 แน่ไหม วิษณุตอบ “ไม่กล้าพูดอย่างนั้น แต่คาดว่าจะบริหารจัดการได้ แต่ถ้ามีตัวแปรบางอย่างที่เห็นว่าสมเหตุสมผลก็อาจจะบวกลบกันบ้าง” ด้าน กกต.ชี้ใช้ ม.44 แก้ปัญหาให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งก่อนดีที่สุด


ภาพจากสำนักนายกฯ

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นำประชุมร่วมกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. พร้อมด้วย กกต. 3 คน คือ นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ นายบุญส่ง น้อยโสภณ และนายประวิช รัตนเพียร รวมถึง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาฯ กกต. ขณะที่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่ง นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง และ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ เข้าร่วมหารือ และมีตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ส่ง นายวิทยา ผิวผ่อง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง

ใช้เวลาประมาณนานกว่า 2 ชม หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 19.00 น. นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือว่า ได้หารือในหัวข้อที่แต่ละฝ่ายเสนอมาเกือบ 15 ข้อ แต่มีบางเรื่องซ้ำไปมา เหลือประเด็นใหญ่ที่จะรายงานให้คสช.และนายกฯรับทราบ 3-4 ข้อ เพื่อพิจารณาแก้ปัญหาที่พรรคเก่าและพรรคใหม่โอดครวญมา  ได้แก่

1.จะทำอย่างไรเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ของพรรค อะไรที่ทำได้หรือไม่ได้

2.คำว่าหัวหน้าสาขาพรรคที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายขั้นตอน คือ การประชุมใหญ่ ไพรมารีโหวต การคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีหน้าสาขาพรรคอยู่จะทำอย่างไรในขณะที่ยังไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้

3.การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่จะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะกลายเป็นกิจกรรมทางการเมือง จะยอมให้ทำได้ขนาดไหน

4.การบริหารจัดการ กำหนดเวลาต่างๆ ที่อาจจะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาจไปผูกกับการประกาศใช้กฎหมาย 2 ฉบับ ผูกการเลือกตั้งทอ้งถิ่น ผูกกับ กกต.ชุดใหม่ เป็นต้น คิดไว้หลายทางเลือก มีการสมมติว่าถ้าเป็นในเดือนนั้นจะต้องทำอะไรก่อน หากขยับออกไปอีกหนึ่งเดือนต้องทำอะไรก่อนหลัง ส่วนรายละเอียดในเรื่องอื่นๆ ถือเป็นประเด็นปลีกย่อย ไม่ต้องใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหา เช่น ค่าใช้จ่าย งบประมาณ หรือการหาทุนประเดิมไม่ได้หนึ่งล้านบาท ที่ต้องทำให้เสร็จภายในเดือนก.ย.

ส่วนประเด็นที่พรรคต้องไปหาสมาชิก ที่ยังติดขัดในข้อกฎหมายจากคลายล็อกให้ ไม่ใช่ปลดล็อก เพื่อให้หาสมาชิกได้ ถ้าคลายล็อกแล้วยังหาสมาชิกไม่ได้ 500 คนในเดือนก.ย. ก็ต้องไปบริหารจัดการกันให้ได้ เพราะการจะใช้กฎหมายเข้าไปแก้ไขมีอยู่ 3-4 ประเด็นดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องเสนอ คสช.คือ การให้ กกต. ดำเนินการก่อนที่กฎหมายลูกจะมีผลบังคับใช้ 90 วัน ในที่ประชุมคุยว่าเรื่องใดที่ กกต.ใช้อำนาจได้ก็ให้ทำไป เรื่องใดที่ คสช.ช่วยได้ โดยไม่ต้องไปแก้อะไร เช่น จัดประชุมใหญ่ก็ให้ขออนุญาตมา แต่จะมี 4 ประเด็นที่ต้องออกกฎหมาย ก็ต้องดูว่าจะออกเป็นพระราชกำหนด พระราชบัญญัติ หรือหัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อคลายปัญหาที่ติดขัด แต่ไม่ใช่การปลดล็อกทั้งหมด

นายวิษณุ กล่าวว่า ดังนั้นอย่าเพิ่งคิดว่าทั้งหมดจะต้องใช้มาตรา 44 หากปลดล็อกทั้งหมด ก็อาจสะดุดในบางอย่างได้ ยกตัวอย่าง หากจะใช้พระราชกำหนดเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นการเฉพาะเจาะจงเพียงเรื่องเดียวก็ไม่สามารถทำได้ แต่หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเรื่องความมั่นคง ก็ออกเป็นพระราชกำหนดโดยพ่วงการแบ่งเขตเข้าไปได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเสนอคสช.ไปแล้วหรือรัฐบาลมีความเห็นในทางใด ก็ควรมาคุยกันอีกครั้ง แต่เบื้องต้นจะไม่ประชุมคณะทำงานทางเทคนิคแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากการพูดคุย ยังยืนยันจัดเลือกตั้งในเดือนก.พ. 2562 อยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่กล้าพูดอย่างนั้น แต่คาดว่าจะบริหารจัดการได้ แต่ถ้ามีตัวแปรบางอย่างที่เห็นว่าสมเหตุสมผลก็อาจจะบวกลบกันบ้าง

ส่วนไพรมารี่โหวตจะยังคงไว้อยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องรายงานให้คสช.ทราบใน 2 ประเด็นว่า ถ้ายังยืนยันจะมีแล้วจะเกิดปัญหาอะไร จะแก้อย่างไร หากยังคงทุกอย่างไว้เหมือนเดิม คงจะไพรมารี่โหวตไม่ได้ หรือถ้าไม่มีแล้วจะต้องทำอย่างไร จึงต้องมีสองทางเลือกเอาไว้ชี้แจง

ส่วนที่อยากให้เลิกไพรมารี่โหวตเพราะเห็นว่าปัจจัย 3 ข้อคือ ถ้าไม่มีการแบ่งเขต ไม่ยอมให้ประชุมใหญ่ ไม่ยอมให้หาสมาชิกได้ ก็ทำไพรมารี่โหวตไม่ได้ หากปัจจัย 3 ข้อนี้ยังไม่ขยับ ไพรมารี่โหวตคงจัดไม่ได้ พรรคจึงอยากให้ยกเลิก ซึ่งใน 3 ข้อนี้บางเรื่อง คสช.ปลดเปลื้องให้ได้ บางเรื่องพรรคต้องไปบริหารจัดการเอง

ด้านนายจรุงวิทย์ เลขาฯ กกต. กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมว่า ในส่วนของ กกต.จะเสนอที่ประชุมถึงแนวทางที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งและปัญหาอุปสรรคที่พรรคการเมืองเคยเสนอมาก่อนหน้านี้ รวมถึงการทำให้พรรคการเมืองประชุมเพื่อหาสมาชิกใหม่ได้ เชื่อว่าวันนี้จะได้ข้อสรุป ส่วนการยกเลิกไพรมารีโหวตและใช้การประชุมพรรคเพื่อหาตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่ตนได้ยินมา แต่จะต้องรอ คสช.พิจารณา เพราะเป็นผู้ออกกฎหมาย

เมื่อถามว่า การทำไพรมารีโหวต เป็นปัญหาของพรรคการเมืองใหม่ที่อาจดำเนินการในส่วนนี้ไม่ทันหรือไม่นั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ตอนนี้พรรคมีส่วนที่ทำได้และทำไม่ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสมาชิก หากมีสมาชิกเพียงพอก็สามารถทำได้ แต่หากสมาชิกไม่พอ ก็ไม่จำเป็นต้องส่งทุกเขต

เมื่อถามว่า ตอนนี้มีพรรคการเมืองที่ผ่านเกณฑ์แค่ 3 พรรคที่สามารถส่งสมาชิกได้ทั่วประเทศ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยายเวลา พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ยังมีเวลาอีก และขณะนี้ต้องดูคำสั่งที่ 53/2560 ที่เป็นปัญหาและอุปสรรค ทั้งหมดขึ้นอยู่กับนายวิษณุว่าจะนำประเด็นนี้ไปทำอย่างไร

เมื่อถามว่า จะมีการขอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองด้วยหรือไม่ นายจรุงวิทย์ กล่าวว่า อยู่ในคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 มาตรา 141 (4)

เมื่อถามว่า ยังมีเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จะเสนอแนวทางทางกฎหมายว่า มีช่องทางไหนบ้างที่สามารถเปิดทางให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้ก่อน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า ตนมองว่าการใช้มาตรา 44 เป็นทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา เพราะเป็นช่องทางกฎหมายที่ไม่มีทางที่จะขัดกฎหมายอื่น ทำให้วันนี้ต้องเชิญ กรธ.มาหารือด้วยวันนี้มาเสนอปัญหา ก่อนนำไปสู่การเลือกตั้ง ส่วนข้อกฎหมายจะแก้อย่างไรอยู่ที่ คสช.

 

เรียบเรียงจาก

https://www.khaosod.co.th/politics/news_1216958
https://www.matichon.co.th/politics/news_998850
https://www.thairath.co.th/content/1307982

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net