Skip to main content
sharethis

นโยบายกีดกันผู้อพยพแบบพรากครอบครัวของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์กำลังเป็นประเด็นร้อนในสหรัฐฯ หลังล่าสุดแม่ชาวฮอนดูรัสผู้ต้องการอพยพเข้าเมืองในสหรัฐฯ ถูกแย่งลูกออกไปจากอกทั้งที่กำลังให้นมอยู่ ทำให้เกิดข้อวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม

ชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก (ที่มา:วิกิพีเดีย)

15 มิ.ย. 2561 กรณีล่าสุดที่นโยบายกีดกันผู้อพยพของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ทำให้เกิดการพรากแม่พรากลูกเกิดขึ้นกับหญิงชาวฮอนดูรัส เธอเล่าว่าทางการสหรัฐฯ จับกุมตัวเธอแล้วถูกแย่งลูกออกไปจากอกในขณะที่เธอกำลังให้นมลูกอยู่ หญิงรายนี้เป็นผู้อพยพที่ยังไม่ได้เอกสารอนุญาตจากทางการ เธอถูกคุมขังด้วยข้อหาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

มิเกล เอ โนกูราส ผู้ช่วยทนายความจากเมืองแมคอัลเลน รัฐเท็กซัสเปิดเผยว่านับตั้งแต่มีการใช้นโยบายนี้อย่างจริงจัง ก็มีเด็กถูกพรากออกไปจากครอบครัวแล้วราว 500 ราย อีกทั้งมีพ่อแม่บางคนที่ถูกจับกุมบอกว่าพวกเขาไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับลูกของพวกเขาบ้าง นาตาเลีย คอร์เนลลิโอ ทนายความของโครงการสิทธิพลเมืองเท็กซัสซึ่งเป็นผู้สัมภาษณ์หญิงชาวฮอนดูรัสที่ถูกแย่งลูกไปจากอกกล่าวว่าการที่รัฐบาลทำเช่นนี้ถือเป็นการทารุณผู้อพยพที่เป็นพ่อแม่คน

คอร์เนลลิโอเปิดเผยอีกว่า การสัมภาษณ์คนที่ถูกพรากลูกเหล่านี้ทำให้หลายคนแสดงความเศร้าโศกออกมาอย่างฉับพลัน "ผู้หญิงทุกคนจะเริ่มร้องไห้และต้องใช้เวลาสัก 2-3 นาทีเพื่อที่จะสามารถเล่าเรื่องของพวกเธอต่อได้อีกครั้ง" คอร์เนลลิโอกล่าว

การพรากลูกเช่นนี้กลายเป็นกรณีวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่เดือนที่แล้ว (พ.ค. 2561) จนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่ เจฟฟ์ เซสชัน รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ประกาศว่าจะไม่ปล่อยให้มี "การข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย" เข้ามาในสหรัฐฯ อีกต่อไป ซึ่งเรียกว่า "zero-tolerance policy" โดยจะมีการแยกจับกุมคนเข้าเมืองที่เป็นผู้ใหญ่ และแยกเด็กออก รวมถึงเด็กแบเบาะที่มากับพ่อแม่ออกไปต่างหากโดยไม่ตั้งข้อหาแล้วจะให้เด็กเหล่านั้นตัดสินใจเองว่าจะขอลี้ภัยในสหรัฐฯ หรือไม่

เซสชันกล่าวหาพ่อแม่ผู้ปกครองที่นำเด็กลี้ภัยความรุนแรงจากประเทศตัวเองเข้าสู่สหรัฐฯ ว่า 'เป็นการลักลอบนำเด็กเข้าเมือง' เรื่องนี้ทำให้สื่อแอลเอไทม์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้คำเรียกพ่อแม่ผู้ปกครองที่พาลูกหลานครอบครัวตัวเองอพยพเข้าสหรัฐฯ อีกทั้งยังวิจารณ์ว่าการปฏิเสธไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กเข้าสู่ประเทศขัดต่อหลักการสนธิสัญญาของนานาชาติที่สหรัฐฯ ร่วมลงนามด้วย สนธิสัญญาดังกล่าวระบุว่าประชาชนที่หนีออกจากประเทศของตัวเองสามารถเข้าสู่ประเทศอื่นๆ อย่างถูกกฎหมายและสามารถขอลี้ภัยที่ไหนก็ได้ ดังนั้นถ้าหากสหรัฐฯ ใช้กฎหมายลงโทษบุคคลที่อพยพเข้าเมืองเหล่านี้ก็จะถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติ

สถานการณ์ในภูมิภาคอเมริกากลางที่มีกลุ่มอิทธิพลข่มขู่คุกคามและสภาวะไร้ขื่อแปบีบให้ประชาชนหลายคนต้องการลี้ภัยเข้าสู่สหรัฐฯ ไม่ว่าพวกเขาจะมากับครอบครัวด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่ลักษณะการใช้คำพูดและท่าทีแสดงออกของเซสชันก็พยายามป้ายสีให้ผู้คนเหล่านี้ดูเหมือนเป็น "คนต่างด้าว" ที่เข้ามา "รุกราน" แต่มาตรการใหม่ที่พวกเขาอ้างใช้ก็มีลักษณะโหดร้ายและละเมิดหลักการผู้ลี้ภัยของนานาชาติ ไม่เพียงเท่านั้นมันยังเป็นมาตรการที่ใช้ไม่ได้ผลจริงในการจัดการปัญหา มีแต่จะเป็นการเพิ่มงานให้กับเหล่าอัยการและผู้พิพากษาเป็น 5 เท่า และสร้างผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นให้รัฐมีรายจ่ายเพิ่ม

แอลเอไทม์เปรียบเทียบว่าระบบการจัดการผู้อพยพสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา มีตวามคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าและมีวิธีการที่มีมนุษย์ธรรมมากกว่าโดยอาศัยการให้ผู้จัดการรายกรณีคอยตรวจสอบผู้ขอลี้ภัยโดยที่ไม่คุมขังพวกเขา แต่รัฐบาลทรัมป์ก็ยกเลิกการใช้วิธีนี้

เรียบเรียงจาก

She says federal officials took her daughter while she breastfed the child in a detention center, CNN, Jun. 14, 2018

What kind of country would tear apart and lock up families fleeing violence in their homelands? Ours, Los Angeles Times, May, 8, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net