Skip to main content
sharethis



“ขนมจีนราดน้ำปลา” อาหารกลางวันเด็กอนุบาล พ่นพิษทันใจชาวโซเชี่ยล ผอ.โรงเรียนถูกออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรการป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของ คสช.

ก็เป็นอีกครั้ง ที่พลังโซเชี่ยลศักดิ์สิทธิ์กว่าร้องเรียนตามกระบวนการ เหมือนขวานทุบรถ ชะงัดกว่ารอศาล ขนมจีนราดน้ำปลาก็ร้องศูนย์ดำรงธรรม แต่ยังไม่ทันรู้ผล พอเป็นข่าวครึกโครม ผอ.ก็โดนทันที ท่านผู้ว่าฯ ท่านที่ปรึกษารัฐมนตรี กรุณาไปเยี่ยม ไปตักข้าวแจกเด็กนักเรียน ซึ่งขยี้หูขยี้ตา แทบไม่เชื่อว่าอาหารกลางวัน 20 บาทได้กินกุ้งตัวโต

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ขมีขมันตามโลกโซเชี่ยล ไล่ตรวจสอบทุกโรงเรียน ว่าครูอมค่าอาหารเด็กอีกหรือเปล่า ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผู้บริหาร ลงพื้นที่ขวักไขว่ ไล่ตรวจบัญชี ไล่ชิมเมนู มองมุมหนึ่งก็ดี ได้พิสูจน์ความโปร่งใส แต่ครูหลายคนก็บ่นน้อยใจ เสียกำลังใจ กับดราม่ามองครูในแง่ร้าย หรือเรียกร้องว่ารัฐบาลอุตส่าห์จ่ายหัวละยี่สิบบาท เด็กควรได้กินอาหารครบห้าหมู่ สะอาด มีมาตรฐาน น่าจะได้กินปลาทุกวัน จะได้ฉลาดๆ แบบ มัลลิกา บุญมีตระกูล

เข้าใจตรงกันนะ ตั้งยี่สิบบาท! แม่พิมพ์ของชาติควรมีจิตวิญญาณครู ดูแลเด็กให้กินดีอยู่ดี แม้เงินแค่นี้ก็ควรรู้จักบริหาร รู้จักขวนขวาย อย่างที่สื่อไปถ่ายทำโรงเรียนตัวอย่าง ปลูกผักเลี้ยงปลา หรือบางแห่งเป็นแม่ครัวหัวป่าก์ รู้จักหุงหา ให้เด็กได้กินอาหารมีประโยชน์

ครูส่วนใหญ่ที่รับตังค์มาจ้างแม่ครัวทำอาหารตามสภาพ ก็เลยดูแย่ไปหมด ทั้งที่ไม่มีนอกมีใน สังคมคงลืมไปว่าการทำกับข้าว หรือปลูกผักเลี้ยงปลา ไม่ใช่หน้าที่หลักของครู ยกเว้นครูเกษตร หรือครูคหกรรม ซึ่งก็ไม่มีในชั้นประถม “ให้ครูทำอาหาร งั้นให้เด็กเรียนกับอากาศไหมคะ” ครูคนหนึ่งประชด หน้าที่ครูคือสอนเด็ก อย่างอื่นทำได้แค่ไหน ก็ขึ้นกับสภาพ ร.ร.เล็กๆ ครู 3-4 คน เด็กไม่ถึงร้อย แค่ได้กินวันๆ ก็บุญโข

ครูบางคนก็บ่นว่า ที ร.ร.ขยายโอกาส ซึ่งมี ม.1-3 ด้วย แต่มีงบฯ อาหารแค่ประถม อุตส่าห์บริหารให้กินทั้งโรงเรียน ไม่ยักชมกันมั่ง พอเรียกร้องเพิ่มค่าอาหารกลางวัน ก็โดนด่าว่ายิ่งเพิ่มยิ่งโกง พูดยังกะครูเลวทั้งประเทศ

เรื่องพวกนี้ครูทำฟรีนะครับ ไม่ใช่จัดอาหารกลางวันดีได้ 2 ขั้น แบบผู้ปฏิบัติงาน คสช. เพราะสพฐ.ประเมินผลงานผ่านเอกสารวิชาการผ่านการอบรม อย่าพูดนะว่าครูต้องมีจิตสำนึก เพราะครูก็มี “ความเป็นมนุษย์” เหมือนกัน มีครอบครัวมีภาระใช้หนี้ผ่อนบ้านผ่อนรถเหมือนเราๆ ท่านๆ

ว่าที่จริง “ขนมจีนราดน้ำปลา” ควรเป็นอุทาหรณ์ให้ทบทวนการปฏิรูปการศึกษาหลายๆ ด้าน มากกว่าจ้องจับผิดกัน ตัวอย่างเช่น อำนาจผู้บริหารโรงเรียน ที่สามารถบังคับครูให้เซ็นตรวจรับ ไม่งั้นไม่ผ่านประเมิน

หรือมองให้กว้างขึ้น ก็อย่างที่ครูโวย ว่าถ้ามัวให้ทำกับข้าว ใครจะสอนเด็ก เพราะทุกวันนี้ ครูบ่นกันพึม ว่าต้องทำงานธุรการ งานเอกสาร กรอกใบประเมิน ถูกเรียกไปประชุม อบรม สัมมนา หรือเผลอๆ ก็เกณฑ์ไปช่วยงานกุศลของทางราชการ จนไม่เป็นอันสอนเด็ก

ปฏิรูปการศึกษา ต้องเน้นที่ครูกับเด็ก ความใส่ใจให้เวลา ประเมินครูก็ต้องดูผลการเรียนการสอน ไม่ใช่ทำรายงาน หรือผ่านหลักสูตรสัมมนา อย่างตอนนี้ก็มีครูโวยว่า วิธีแจกคูปอง 10,000 บาทให้ครูช็อปปิ้งหลักสูตรไปพบอบรม ความจริงไม่ค่อยได้ผล ดูยูทูบอยู่บ้านก็ได้ แต่ไม่อยากไปก็ต้องไป เพราะกลัวไม่ได้เลื่อนวิทยฐานะ

ผอ.กองทุนอาหารกลางวัน ระหว่างชี้แจงปัญหา ก็รับว่าอาจดูแลไม่ทั่วถึง เพราะช่วงนี้ขาดบุคลากร มีการโอนย้ายไปสังกัดศึกษาธิการจังหวัด จนคนหายเกือบ 2 พัน

คนนอกวงคงไม่รู้ ปฏิรูปการศึกษาในยุค คสช. ฟื้นเก้าอี้ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด จากที่เคยกระจายอำนาจ ตั้งเขตพื้นที่การศึกษา ปัจจุบันนี้เรามีทั้ง ผอ.เขตพื้นที่ ขึ้นกับ สพฐ. แล้วก็มี ศธจ.ขึ้นกับปลัดกระทรวง ปีที่แล้วขัดแย้งกันใหญ่โตเรื่องอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย กว่าจะสงบศึกได้ ยอมพบกันครึ่งทาง

คิดถูกคิดผิดก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ มีตำแหน่งซี 9 ซี 10 เพิ่มขึ้นบาน แถมตัดอัตราครูเกือบ 2 พันตำแหน่ง ไปเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด วันนี้ยังไม่ชัดว่าระบบการศึกษาจะดีขึ้นไหม แต่ที่แน่ๆ อัตราครูหาย และครูได้นายเพิ่มขึ้น (เพื่อเวียนมาตรวจอาหารกลางวัน)

นี่ยังไม่พูดถึงว่า ปฏิรูปการศึกษาจะให้เด็กคิดเป็น หรือเน้นเสื้อผ้าหน้าผม ท่องค่านิยม 12 ประการ แค่โครงสร้างก็มัวแต่ทำให้ส่วนหัวโต


 

ที่มา: www.khaosod.co.th/politics/news_1220448

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net