Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


ช่วงนี้บ้านเรามีประเด็นทางศาสนาซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือ พระสงฆ์กับเงิน โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องเท่าที่ทราบกันมาจากอำนาจรัฐที่ต้องการจัดการแก้ไขปัญหาทุจริตเงินทอนวัด และมีการขยายผลไปสู่การตั้งประเด็นว่า การที่พระสงฆ์รับเงินเป็นการละเมิดพุทธบัญญัติ ชีวิตพระสงฆ์ไปกันไม่ได้กับเงิน การถวายเงินแก่พระสงฆ์เป็นบาป ฯลฯ โดยที่รัฐได้แสดงเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ในการนำพระสงฆ์ในสังคมไทยกลับคืนสู่การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า การแสดงความมุ่งมั่นแข็งขันในการกำจัดสิ่งที่ขัดแย้งต่อพระธรรมวินัยออกไปจากวิถีชีวิตของพระสงฆ์จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ดังกล่าวของรัฐเป็นอย่างดี

แน่นอนว่า ข้อห้ามในพุทธบัญญัติที่ไม่ให้พระสงฆ์รับเงินรับทองนั้นปรากฏอย่างชัดเจนในคัมภีร์พระวินัย โดยความหมายของข้อห้ามนี้อธิบายอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการรับเงิน การใช้เงินจับจ่ายซื้อสิ่งของ ไม่อนุญาตให้คนอื่นรับหรือเก็บไว้ให้ หรือแม้แต่ยินดีในเงินทองที่คนอื่นเก็บไว้ให้ก็เป็นเรื่องที่ผิดพุทธบัญญัติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้พระสาวกรับเงินหรือครอบครองเงินเพื่อสะสมไว้จับจ่ายใช้สอยเฉกเช่นคฤหัสถ์ (ผู้ที่รู้พุทธบัญญัติในคัมภีร์ดีจะไม่พยายามอธิบายเลี่ยงๆ (แถ) ว่า เงินในพุทธบัญญัติเป็นอย่างอื่นไม่ใช่ธนบัตร หรือสิ่งที่ใช้แทนเงินอย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน เพราะการอธิบายเช่นนั้นเป็นการเลี่ยงบาลีซึ่งไม่ได้ช่วยให้พระสงฆ์ที่รับธนบัตรรอดพ้นจากอาบัติไปได้ เช่นเดียวกับพระสงฆ์ที่ไม่รับธนบัตรโดยตรง แต่เลี่ยงไปรับในปวารณา หรือเช็ค หรือของอย่างอื่นๆ ที่ระบุมูลค่าแทนตัวเงินซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้ท่านพ้นจากการต้องอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ไปได้เช่นกัน หากดูคำอธิบายในอรรถกถาและฎีกาประกอบจะเข้าใจตรงนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น) โดยทั่วไป เงินนั้นไม่ได้มีประโยชน์อย่างเดียว แต่ยังมีโทษที่สามารถชักนำหายนะมาให้แก่ผู้ครอบครองได้ พระพุทธเจ้าเคยตรัสอุปมาทรัพย์ (เงิน) ว่าเป็นประดุจอสรพิษ ชีวิตของพระสงฆ์เนื่องด้วยผู้อื่น กล่าวคือ การเดินบิณฑบาตขออาหารจากผู้อื่นเพื่อยังชีพตามมีตามได้ การพึ่งพาปัจจัย ๔ ที่ได้จากการทำบุญของญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาเท่าที่จะดำเนินชีวิตได้สะดวกก็เพียงพอแล้วสำหรับวิถีชีวิตที่มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อขจัดกิเลสและความทุกข์ของพระสงฆ์ตามคำสอนของพระศาสดา ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นที่จะมาถกเถียงกันว่า พระจับเงินได้หรือไม่ เพราะคำตอบตามพระวินัยบัญญัติก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า การที่พระจับเงิน/ทองเป็นการละเมิดสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ การยุ่งเกี่ยวกับเงินๆทองๆนั้นไม่เหมาะแก่ชีวิตพระสงฆ์โดยประการทั้งปวง โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ดำรงชีวิตภายใต้รูปแบบหรือวิถีชีวิตที่ออกแบบโดยพระพุทธเจ้า

ประเด็นคือ เมื่อมีข้อห้ามไว้อย่างชัดเจนดังกล่าว ทำไมพระสงฆ์ในสังคมไทย หรือคณะสงฆ์ในพุทธศาสนาแบบไทยๆ (ผมหมายรวมทั้งพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตและพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย) จึงรับเงินรับทองกันเป็นเรื่องปกติ กระทั่งเกิดปัญหาเมื่อพบว่า มีการทุจริตเงินทอนวัด และพระบางรูปถือครองบัญชีส่วนตัวซึ่งมีเงินจำนวนนับล้านบาท (หรือมากกว่านั้น) สังคมจึงได้ถกเถียงกันอย่างจริงจังว่า จริงๆ แล้วเงินทองจำเป็นต่อวิถีชีวิตของพระสงฆ์ยุคนี้หรือไม่

มีหลายคนพยายามอธิบายแทนพระสงฆ์ (รวมทั้งพระสงฆ์ออกมาอธิบายเอง) โดยอ้างว่า การรับเงินทองของพระสงฆ์สอดคล้องกับสังคมโลกที่เปลี่ยนไป การถวายเงินพระสงฆ์เพื่อให้ท่านไว้ใช้จ่ายซื้อสิ่งจำเป็นแก่สมณบริโภคย่อมเป็นการสะดวกแก่พระสงฆ์เองและญาติโยม โยมบางคนก็คิดว่า เงินเป็นเพียงวัตถุที่ใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของที่ต้องการ บ่อยครั้งที่เราไม่ทราบว่าพระสงฆ์ท่านต้องการปัจจัยแบบไหน อย่างเช่น จีวร เราไม่ทราบว่า พระสงฆ์นิยมใช้ผ้าแบบไหน การถวายเงินให้ท่านได้จับจ่ายซื้อจีวรที่ทำจากผ้าเนื้อดีที่พระนิยมใช้กันย่อมเป็นการดีกว่าที่เราซื้อไปถวายแล้วท่านไม่ใช้ให้ แต่ถ้าถวายเป็นเงิน พระท่านจะได้ใช้แน่นอน แม้จะไม่ได้ซื้อจีวร ท่านก็สามารถนำไปซื้อปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็นแก่สมณะ ในเมื่อญาติโยมประสงค์จะถวายเงินของตนเองแก่พระด้วยเจตนาอันเป็นกุศล พระสงฆ์จึงควรมีสิทธิ์ที่จะรับ (จริงๆ พระสงฆ์อ้างสิทธิ์ในการรับเงินไม่ได้ เพราะการอ้างสิทธิ์ในการรับเงินเท่ากับอ้างสิทธิ์ที่จะละเมิดพระวินัย) รัฐบาลเองเล็งเห็นถึงความสะดวกตรงนี้จึงมีการถวายเงินเดือนในนาม “นิตยภัต” แก่พระสงฆ์ที่ทรงสมณศักดิ์หรือมีอำนาจปกครองในระดับต่างๆ เราต้องยอมรับว่า การที่พระสงฆ์มีเงินนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากรัฐเป็นผู้จัดสรรให้ แต่เงินที่รัฐถวายนี้ก็เพียงเล็กน้อย ไม่ได้มีจำนวนมากพอที่จะเอื้อให้พระสงฆ์นำไปสะสมจน “รวย” ได้ แต่เงินส่วนใหญ่ของพระสงฆ์ที่อาจกล่าวได้ว่า “จำนวนมาก” นั้นมาจากการถวายของญาติโยมทั่วไป การถวายเงินแก่พระสงฆ์จึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นจริงในสังคมชาวพุทธในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานมาตั้งแต่อดีตกาล

อันที่จริง พระสงฆ์ทั้งหมดก็ล้วนผ่านการศึกษาพระธรรมวินัยเบื้องต้นและรู้ดีว่า เงินเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับพระสงฆ์ตามพุทธบัญญัติ แต่หลายท่านมีภารกิจที่จำเป็นต้องใช้เงินเองเพื่อความสะดวก เช่น พระที่เป็นเจ้าอาวาสที่ปกครองพระเณรจำนวนมาก มีภาระต้องมีเงินสำหรับซื้อปัจจัยมาบำรุงเลี้ยงพระเณรให้ทำกิจพระศาสนาได้สะดวก อย่างสำนักที่มีการศึกษาปริยัติธรรม หรือสำนักที่มีการปฏิบัติธรรม (สังคมไทยเรามีวัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมแบบนี้จำนวนมาก ชาวพุทธส่วนหนึ่งนิยมไปปฏิบัติธรรมในสำนักเหล่านี้ ส่วนการปฏิบัติธรรมในรูปแบบของสำนักเหล่านี้จะถูกต้องหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่เราจะต้องศึกษาและพิจารณากันในรายละเอียด) ผมเคยได้ยินพระที่เป็นเจ้าอาวาสวัด หรือสำนักปฏิบัติธรรมที่มีชื่อเสียงมีพระเณรและญาติโยมไปปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมากๆ ปรารภว่า รู้สึกลำบากใจที่ต้องรับเงินและใช้เงิน ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ไม่อยากแตะต้องเงินเลย  แต่ถ้าไม่ทำด้วยตัวเองก็เกรงจะมีปัญหาอื่นตามมา (เช่น กรณีการใช้คนอื่นบริหารเงินแทนแล้วเกิดความผิดพลาดหรือเกิดการทุจริต) เมื่อมีพระเณรและญาติโยมมาอยู่ปฏิบัติธรรมจำนวนมากๆ เราจะปล่อยให้ลำบากก็ไม่ได้ ยิ่งผู้ปฏิบัติธรรมมามาก ก็ยิ่งต้องการปัจจัยอื่นๆ เช่น อาหาร มาบำรุงเลี้ยงในปริมาณที่มาก เพื่อให้เพียงพอสำหรับทุกคนที่มาปฏิบัติธรรม จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องการอยู่การฉัน เพราะลำพังแค่อาหารที่ชาวบ้านนำมาถวายนั้นไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงคนที่มาปฏิบัติธรรมได้ หลวงพ่อเจ้าสำนัก หรือเจ้าอาวาสวัดก็จำเป็นต้องจัดหามาเองด้วยเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคไว้  แม้จะรู้สึกอึดอัดลำบากใจที่ต้องละเมิดพุทธบัญญัติจับเงินทองซื้อของ แต่ก็ต้องยอมผิด เพราะเห็นแก่ประโยชน์แก่คนหมู่มากที่สำคัญกว่า แต่พระที่ผมรู้จักเหล่านี้ก็ไม่ได้มีเงินเก็บในบัญชีส่วนตัว การรับเงินก็เป็นเพียงการรับเงินมาแล้วใช้ไปกับข้าวปลาอาหารในแต่ละวัน และค่าใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นส่วนอื่นๆ อีก ผมค่อนข้างมั่นใจว่า สังคมชาวพุทธส่วนมากที่รู้ภารกิจในความรับผิดชอบของพระสงฆ์เหล่านี้ซึ่งมีจำนวนมากในสังคมไทยจะไม่ตำหนิว่า ถ้าเป็นพระที่ดีจริง หากรู้ว่าการรับเงินเป็นสิ่งผิดพระวินัยสงฆ์ก็ไม่น่าจะรับ เพราะรู้ว่าผิดแล้วยังรับก็จะเข้าข่ายกระทำความผิดทั้งที่รู้ ซึ่งไม่ได้ช่วยทำให้สิ่งที่ผิดกลายเป็นถูกไปได้  ชาวพุทธที่รู้จักและเคยเข้าไปพึ่งพาแนวทางของวัดเหล่านี้ย่อมเข้าใจในสิ่งที่พระสงฆ์หลายรูปทำ เช่น หลวงพ่อพยอมวัดสวนแก้ว หลวงพ่ออลงกตวัดพระบาทน้ำพุ หลวงพ่อที่มีปฏิปทาดีๆ ซึ่งมรณภาพไปแล้วอย่างหลวงพ่อคูณ หลวงตามหาบัวที่รับบริจาคเงินและทองคำในโครงการผ้าป่าช่วยชาติ หรือพระสงฆ์เจ้าสำนักปฏิบัติธรรม รวมไปถึงพระนักพัฒนารูปอื่นๆ ที่ตรงไปตรงมากับการรับเงินเพื่อซื้อปัจจัยมาบำรุงเลี้ยงพระเณรและญาติโยมที่อยู่ในวัด โดยไม่มีบัญชีเงินฝากที่เก็บไว้ใช้เป็นของส่วนตัว

แต่อย่างไรก็ดี เราจะเห็นว่า พระสงฆ์เหล่านี้ไม่ได้บอกว่า การที่พระรับเงินทองเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ท่านเองก็ยอมรับว่าการรับเงินเป็นความผิดฐานละเมิดพุทธบัญญัติ แต่จะว่าไปตามหลักพระวินัยแล้ว การรับเงินก็จัดอยู่ในอาบัติที่มีความผิดสถานเบา ซึ่งแก้ไขได้โดยการสละออกไปแล้วแสดงอาบัติ สำหรับคนมีปัญญามีศีลธรรมรู้จักใช้ การรับเงินทองแม้จะผิด ก็ทำให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชนได้ แต่สำหรับคนที่ไม่มีปัญญาหรือมีปัญญาน้อย และไม่มีศีลธรรม การรับเงินรับทองอาจก่อให้เกิดโทษได้ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น สิ่งที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นด้านดีและน่าชื่นชมของพระสงฆ์ในสังคมไทยประการหนึ่งก็คือ แม้จะทราบดีว่า มีพุทธพจน์อนุญาตให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ (การรับเงินซึ่งอยู่ในกลุ่มอาบัติที่มีโทษสถานเบาสามารถตีความให้อยู่ในกลุ่มสิกขาบทเล็กน้อยที่ถอนได้ตามพุทธานุญาต) แต่ก็ยังแน่วแน่มั่นคงในหลักการของพระธรรมวินัยตามเดิม แม้การรักษาพระธรรมวินัยในท่ามกลางกระแสสังคมโลกยุคใหม่จะเป็นเรื่องยากยิ่ง แต่ก็ยังพยายามยึดมั่นในอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนาเถรวาทตามรอยของครูบาอาจารย์ในอดีตอย่างเหนียวแน่น ในทางปฏิบัติ วิถีชีวิตของพระสงฆ์ปัจจุบันอาจมีความขาดตกบกพร่องในข้อปฏิบัติหลายอย่างเมื่อเทียบกับพระสงฆ์เถรวาทในอดีต แต่ในทางอุดมการณ์ พระสงฆ์ปัจจุบันก็ยึดมั่นที่จะรักษาหลักการไว้อย่างครบถ้วนตามที่พระสงฆ์ในอดีตรักษาสืบทอดกันมา การรับเงินทองอาจเป็นความผิดต่อพระวินัยสงฆ์ แต่เมื่อรับมาแล้วใช้ไปในทางที่จะให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นให้มากที่สุด การกระทำของพระสงฆ์เหล่านี้อาจมองได้ว่าเป็นการเสียสละตัวเองด้วยซ้ำไป กล่าวคือ การยอมทำผิดเพื่อให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ ผมเชื่อว่า การรับเงินของพระสงฆ์หลายรูปที่ทำคุณประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติที่กล่าวมานั้นย่อมเป็นสิ่งที่ชาวพุทธทั่วไปยอมรับและเข้าใจได้ (ซึ่งน่าคิดเช่นกันว่า หากรัฐมีการแสดงความเข้มงวดกวดขันจริงจังในการจัดการปัญหาพระสงฆ์กับเงิน โดยยืนยันชัดเจนว่า พระสงฆ์กับเงินต้องแยกกันอย่างเด็ดขาดเพราะขัดแย้งต่อพุทธบัญญัติ จนพระสงฆ์ที่จำเป็นต้องใช้เงินหลังพิงฝาและหาทางออกของปัญหาโดยการประกาศถอนสิกขาบทตามพุทธานุญาตให้การรับเงินทองเป็นสิ่งที่พระสงฆ์สามารถทำได้ ผลที่เกิดขึ้นตามมาจะเป็นอย่างไร ในแง่หนึ่ง การประกาศถอนสิกขาบทเปิดช่องให้พระสงฆ์รับเงินทองได้โดยไม่มีความผิด ทำให้ชีวิตพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับเงินทองได้สะดวก แต่ในอีกแง่หนึ่ง การเข้าไปเกี่ยวข้องกับเงินทองสามารถส่งผลด้านลบต่อพระสงฆ์เอง ความเสื่อมเสียที่มีสาเหตุมาจากเงินทองสามารถเกิดขึ้นแก่พระสงฆ์เมื่อใดก็ได้ รวมไปถึงกลุ่มคนที่ต้องการหาเรื่องพระสงฆ์อาจใช้การถอนสิกขาบทมาเป็นประเด็นตำหนิพระสงฆ์ได้เช่นกันว่า ตามใจกิเลสอยากใช้เงินทองมากจนถอนพุทธบัญญัติของพระศาสดา เป็นการทำลายสิกขาบทเพื่อสนองความต้องการของกิเลส ฯลฯ ไม่ว่าพระสงฆ์จะเลือกแบบใดก็ล้วนมีจุดให้อีกฝ่ายมีจุดโจมตีได้เสมอ แต่ตรงนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของผู้เขียนเท่านั้น ยังไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง)

ในสาระสำคัญของกรณีพระสงฆ์ที่มีบทบาทเด่นชัดในการทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระศาสนา การรับเงินของพระสงฆ์ที่มุ่งทำประโยชน์ต่อสาธารณะดังกล่าวเหล่านี้จึงไม่น่าใช่ประเด็นปัญหาที่สังคมพากันวิพากษ์วิจารณ์ แต่ที่เป็นปัญหาก็คือ วัดและพระเณรอีกจำนวนหนึ่งที่รับเงินทองจากการทำบุญของชาวพุทธมาเก็บสะสมไว้ในบัญชีจำนวนมาก เช่น มีการพบว่า วัดหลายแห่งมีเงินเก็บในบัญชีจำนวนมากโดยไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางศาสนารวมไปถึงพระหลายรูปมีเงินในบัญชีส่วนตัวนับล้าน (หรือมากถึงหลายสิบล้าน ร้อยล้าน) ซึ่งถือว่าเกินความจำเป็นของการใช้ชีวิตของพระสงฆ์ ทำให้เกิดคำถามว่า พระสงฆ์เหล่านี้เก็บเงินจำนวนมากนี้ไว้ใช้เพื่อการใด เงินในบัญชีของพระเณรเหล่านี้เกิดประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติในด้านใดบ้างหรือไม่ กรณีเหล่านี้ต่างหากที่น่าจะเป็นประเด็นที่ชาวพุทธในสังคมไทยควรตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ซึ่งโดยความเป็นบุคคลสาธารณะ พระสงฆ์ไม่อาจโต้แย้งได้ว่า ทำไมต้องมายุ่งกับบัญชีเงินส่วนตัวของพระ เพราะจุดยืนของรัฐขณะนี้ก็คือ ความพยายามที่จะไม่ให้เงินในบัญชีของพระเป็นเรื่องส่วนตัวของพระอีกต่อไป การหาแนวทางนำเงินของวัดและพระเหล่านี้เข้าสู่การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐมุ่งมั่นจะทำให้เกิดขึ้นโดยมองว่าเป็นแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหาได้   

ในอีกด้านหนึ่ง เราต้องยอมรับว่า ในสังคมไทยเรานั้น มีพระสงฆ์ที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเงินทองอยู่จริง บรรดาพระสงฆ์ที่ใช้ชีวิตโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้เงิน เช่น พระสงฆ์ในวัดที่มีไวยาวัจกรที่ดีทำหน้าที่ในการบริหารจัดการภาระที่ต้องใช้เงินให้ พระที่บิณฑบาตเป็นวัตร ใช้ปัจจัยต่างๆ เช่น จีวร จากโยมที่ปวารณา (การหาทางออกของปัญหาพระสงฆ์กับเงินอาจพิจารณาได้จากสำนักสงฆ์ที่มีภาพลักษณ์และวิถีชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินอย่างชัดเจน เช่น สำนักสันติอโศก หรือสำนักสายกรรมฐานเคร่งครัดด้านพระธรรมวินัย เช่น วัดหนองป่าพง และวัดสายกรรมฐานอื่นๆ) พระสงฆ์เหล่านี้จะไม่ลำบาก และไม่มีปัญหาที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการรับเงิน แต่เนื่องจากพระสงฆ์และวัดในสังคมไทยเราไม่ได้มีรูปแบบดังที่กล่าวมานั้นทั้งหมด พระสงฆ์ในบ้านเราจึงทั้งส่วนที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน (ซึ่งน่าจะมีจำนวนน้อยที่ปฏิเสธการรับเงินอย่างเด็ดขาด) และส่วนที่ยังมองว่าจำเป็นต้องใช้เงิน (ซึ่งน่าจะมีจำนวนมากที่รับเงินและยินดีในการรับเงินและใช้เงิน) ประเด็นจริงๆ ก็คือ เมื่อแยกพระสงฆ์ออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่รับเงิน กับกลุ่มที่จำเป็นที่ต้องรับเงินและใช้เงิน สำหรับพระสงฆ์ที่ไม่มีกิจจำเป็นเกี่ยวข้องกับเงินนั้น การไม่รับเงิน และไม่มีผู้ถวายเงินก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่สำหรับพระสงฆ์ที่ยังมองว่ามีกิจจำเป็นที่ต้องใช้เงิน เช่น ค่าน้ำ/ไฟ (หลายวัดพระสงฆ์ต้องจ่ายเอง) ค่าพาหนะเดินทาง ค่าอาหาร (กรณีที่ไม่ได้บิณฑบาตหรือบิณฑบาตไม่ได้ และไม่มีญาติโยมเลี้ยงเพลทุกวัน) ค่ารักษาพยาบาล (กรณีที่พระใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน) และค่าเล่าเรียน (กรณีพระเข้าศึกษาในสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งพระควรมีสิทธิ์ที่จะเล่าเรียนได้ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์และหน้าที่ (บางอย่าง) โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่พระวินัยบัญญัติให้สิทธิ์นี้ไว้หรือไม่ ผู้รู้ต้องช่วยกันพิจารณากันให้ดี หลายคนอาจมองว่า พระสงฆ์ไม่ควรเรียนวิชาแบบทางโลก เพราะเรียนจบก็ลาสิกขาไปทำงานแข่งกับชาวโลก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะตามพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ไม่มีข้อห้ามพระลาสิกขา เมื่อบวชได้ตามความเลื่อมใสศรัทธา ก็สามารถสึกได้ตามที่ปรารถนา) หากไม่มีเงินและไม่รับเงิน พระสงฆ์กลุ่มหลังนี้ก็ไม่สะดวกในการทำภารกิจของพระสงฆ์ได้ หากโอกาสในการรับเงินถูกปิดลงอย่างเด็ดขาด พระสงฆ์กลุ่มนี้อาจจะถึงขั้นต้องหยุดเรียนเพื่อตัดค่าใช้จ่าย หรือไม่ก็อาจจะต้องตัดสินใจลาสิกขาเพื่อออกไปทำงานหาเงินในการศึกษาเล่าเรียนด้วยตัวเองต่อไป

หลายคนพยายามเสนอทางออกของปัญหาพระสงฆ์กับเงินว่า หากเรายืนยันว่า พระสงฆ์ไม่ควรรับเงินและไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเงิน เราก็ต้องควบคุมวิถีชีวิตของพระสงฆ์ โดยนำเงินทั้งของวัดและบัญชีส่วนตัวของพระสงฆ์เข้าไปรวมไว้ในบัญชีกลาง (ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นเงินที่มีจำนวนมหาศาล) เงินเหล่านี้จะถูกนำไปใช้จ่ายในกิจของวัดและของพระสงฆ์ให้สมกับเจตนารมณ์อันแท้จริงของผู้ถวาย ผมคิดว่า ข้อเสนอดังกล่าวถือว่าเป็นวิธีที่ดี แต่มันอาจจะแก้ปัญหาได้ในระยะสั้นเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น เพราะเงินของวัดและของพระสงฆ์ที่ถูกยึดเข้าสู่บัญชีกลางและถูกนำไปใช้นั้นจะลดลงทุกปี ไม่ใช่เพิ่มมาก  เหตุผลก็คือว่า หากพระสงฆ์ไม่ได้รับอนุญาตให้พระเกี่ยวข้องกับเงิน ต่อจากนี้ไป ญาติโยมที่เคยถวายเงินแก่พระสงฆ์จะหยุดถวาย หรือแม้แต่อาจจะหยุดถวายวัด เราต้องไม่ลืมว่า เงินจำนวนมากที่อยู่ในบัญชีของวัดและของพระนั้นมาจากชาวพุทธผู้มีจิตศรัทธาถวายไว้ ไม่ใช่มาจากการอุปถัมภ์ของรัฐบาลทั้งหมด เพราะลำพังเงินงบประมาณในสำนักงานพระพุทธศาสนาที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลนั้นคงไม่เพียงพอสำหรับการทำกิจของวัดและพระสงฆ์ทั่วประเทศ 

ปัญหาจึงมีอยู่ว่า เมื่อพระสงฆ์รับเงินไม่ได้ จำนวนของผู้ถวายเงินลดลง เมื่อเงินที่เคยได้รับบริจาคถูกตัดไป เงินในบัญชีกลางที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อกิจของวัดและของพระสงฆ์ก็ต้องลดลงไปทุกปี ขณะรายรับที่จะเข้าสู่บัญชีกลางก็ลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับรายจ่าย จุดนี้อาจเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว เว้นเสียแต่ว่า แม้พระสงฆ์จะรับเงินไม่ได้ แต่ญาติโยมผู้มีจิตศรัทธายังคงบริจาคเงินถวายเข้าสู่บัญชีกลางอย่างต่อเนื่องกันเป็นปกติ เวลาผ่านเงินบริจาคในบัญชีกลางยิ่งเพิ่มมากขึ้น ถ้าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นจริง จำนวนเงินในบัญชีกลางของวัดอาจไม่ได้รับผลกระทบ แต่หากเหตุการณ์จริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ภาระรับผิดชอบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของวัดและของพระสงฆ์ทั่วประเทศก็คงไม่พ้นจากหน่วยงานของรัฐบาลผู้เป็นต้นคิดในการรวมเงินวัดและพระสงฆ์เข้าไว้ในบัญชีกลาง คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รัฐบาลเองที่ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการอื่นเป็นจำนวนเงินมหาศาลอยู่แล้ว คงไม่ต้องการที่จะรับภาระเพิ่มขึ้นโดยการนำภาระเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ของวัดและของพระสงฆ์มาแบกไว้เอง แต่หากรัฐยินดีที่จะรับภาระส่วนนี้เพื่อแลกกับการนำพระสงฆ์ไทยกลับสู่การปฏิบัติดีปฏิบัติตามตามพระธรรมวินัยเฉกเช่นครั้งพุทธกาล ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ผมเชื่อว่าพระสงฆ์ทั้งมวลน่าจะร่วมยินดีอนุโมทนาสาธุการโดยพร้อมเพรียงกันเป็นแน่ เพียงแต่มีประเด็นที่เราต้องพิจารณามากกว่านั้นก็คือ สิ่งที่ควรถูกมองว่าเป็นปัญหาของพระสงฆ์ซึ่งขัดกับพระธรรมวินัยนั้นไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว หากเราจะคิดแก้ปัญหาข้อขัดแย้งต่อพระธรรมวินัยในหมู่สงฆ์อย่างจริงจัง ยังมีสิ่งแปลกปลอมที่ไม่มีในพุทธบัญญัติแทรกอยู่ในวิถีของพระสงฆ์ในสังคมไทยอีกมากซึ่งล้วนแต่สร้างมลทินแก่วิถีชีวิตพระสงฆ์ เช่น สมณศักดิ์ระดับต่างๆ อำนาจปกครองทั้งหมด สิ่งเหล่านี้ทำให้พระสงฆ์เกิดกิเลส เกิดความอิจฉา ริษยา และการห่มเหงเบียดเบียนขึ้นในหมู่สงฆ์ ทำให้พระสงฆ์เกิดการแบ่งชนชั้น เกิดความแตกแยก ไม่มีความสามัคคี และขาดความเคารพนับถือกันอย่างอ่อนน้อมและจริงใจในหมู่สงฆ์ พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาครั้งพุทธกาลนั้นเป็นสมณศากยบุตร เป็นเพียงพระภิกษุที่มุ่งขจัดกิเลส ภายใต้พระธรรมวินัยอันบริสุทธิ์ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ไม่มีสมณศักดิ์ (ไม่ควรนำสมณศักดิ์ปัจจุบันไปเทียบกับตำแหน่งเอตทัคคะในสมัยพุทธกาล เพราะมีรายละเอียดของการได้มาที่แตกต่างกันมาก) ไม่มีอำนาจปกครอง พระสงฆ์ทุกรูปเสมอภาคกัน และเคารพนับถือกันตามลำดับพรรษา เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในหมู่สงฆ์ก็แก้ไขไปตามข้อบัญญัติในพระธรรมวินัยที่พระพุทธบัญญัติไว้ชัดเจนและครอบคลุมทุกกรณี การจะนำพระสงฆ์กลับคืนสู่สัมมาปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงนั้น จึงไม่ควรนำสิ่งที่ขัดต่อพระธรรมวินัย เช่น สมณศักดิ์ อำนาจปกครอง เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพระสงฆ์ ซึ่งผู้ที่เห็นแก่ความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ในพระธรรมวินัยจะต้องมองให้เห็นปัญหาอย่างรอบด้านและหาวิธีแก้ไขโดยการพิจารณาอย่างจริงจังว่า สิ่งที่ขัดต่อพระธรรมวินัยดังกล่าวมานั้นควรมีอยู่ในวิถีชีวิตของพระสงฆ์ต่อไปหรือไม่ ไม่ใช่มองเห็นแต่ปัญหาของเงินในบัญชีของพระสงฆ์เพียงอย่างเดียว

ผมคิดว่า ประเด็นเรื่องพระสงฆ์กับเงินที่กำลังเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์กันอยู่ในเวลานี้นั้นสะท้อนให้เห็นความลักลั่นของการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแท้ในคัมภีร์พระไตรปิฎกกับการปฏิบัติตนในวิถีชีวิตจริงของพระสงฆ์ในสังคมปัจจุบันอย่างชัดเจน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจไม่ได้ยากอย่างที่คิด หากเรายอมรับให้พระสงฆ์ดำเนินชีวิตของท่านไปตามปกติ ญาติโยมอยากถวายเงินพระก็สามารถทำได้ พระสงฆ์ที่จำเป็นจะรับเงินไปใช้จ่ายในกิจต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อสมณวิสัยก็สามารถรับได้ตามสะดวก แต่ส่วนพระสงฆ์ที่มีเงินในบัญชีส่วนตัวจำนวนมากๆ นั้นที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาก็ควรได้รับการแก้ไขเป็นกรณีๆ ไป (ตามแนวทางการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบ) เพราะความจริงคือ พระสงฆ์-สามเณรที่เป็นลูกหลานชาวบ้านไม่ได้มีเงินจำนวนในบัญชีส่วนตัวมากแบบนั้นกันทุกรูป ส่วนประเด็นปัญหาการละเมิดพุทธบัญญัติเกี่ยวกับการรับเงินทองนั้นเป็นปัญหาทางพระวินัยสงฆ์ที่ต้องแก้ไขไปตามพุทธบัญญัติ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากรับผิดชอบของชาวพุทธ หรือแม้กระทั่งรัฐบาล สิ่งที่ชาวพุทธ และรัฐบาลทำได้คือ การเอื้ออำนวยให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติตนในทางแห่งความสะอาด สว่าง สงบตามวิถีแห่งพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาในขอบเขตที่จะพึงทำได้เท่านั้น ไม่ใช่การใช้กฎหมายของรัฐเข้าไปแก้ปัญหาพระธรรมวินัยซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างผิดฝาผิดตัว เพราะการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องตรงจุดแม้จะทำด้วยเจตนาดีก็อาจปรากฏผลเป็นการทำลายพระสงฆ์และพระพุทธศาสนาแทนที่จะเป็นการบำรุงพระศาสนาตามที่ตั้งใจก็เป็นได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net