Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“...ชนชั้นกรรมาชีพไม่อาจเป็นพลังหนึ่งเดียวในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ แต่ยังมีพลังอื่น ๆ (นั้นก็คือ ชนชั้นกลาง ๆ ที่เขาเรียกว่าตำแหน่งที่ตั้งทางชนชั้นที่มีลักษณะขัดแย้งภายใน) ที่จะสามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…” (Erik Olin Wright, “What is middle about the middle class?,”

- อ้างใน เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 2560, น.39)

ในการศึกษาชนชั้น (Class) ในฐานความคิดแบบมาร์กซ์ (Marxism) นั้นเริ่มเดิมที มีการจำแนกชนชั้นออกเป็นสองชนชั้นที่ตัดขาดออกจากกันคือ ชนชั้นนายทุน (Capitalist) และชนชั้นกรรมาชีพ (Proletariat/Working Class) โดยการอธิบายของมาร์กซ์ (Karl Marx) ได้มองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นที่อยู่กึ่งกลางของชนชั้นล่างสุด และบนสุด อีกทั้งยังมองว่าในท้ายที่สุดชนชั้นที่อยู่กึ่งกลางจะค่อย ๆ ลดจำนวนลงและกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพ (Proletarianization)[1] จะมีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ยังคงสภาพหรือพัฒนามาเป็นนายทุน งานของมาร์กซ์จึงพูดถึงชนชั้นกลางน้อยมาก แต่มีการนำความคิดของมาร์กซ์มาพัฒนาใหม่ ซึ่งได้แก่กลุ่มที่เรียกว่า มาร์กซ์ใหม่/นวมาร์กซ์ หรือนีโอมาร์กซิสต์ (Neo Marxism)

สำนักนีโอมาร์กซิสต์ ได้พัฒนาแนวคิดของมาร์กซ์และเริ่มให้ความสำคัญในการมองชนชั้นกลาง (Middle Class) มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยมองว่าชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่ไม่ต้องใช้แรงงาน (Non-manual) โดยเป็นชนชั้นที่ยกระดับตัวเองมาจากชนชั้นกรรมาชีพต่าง ๆ เช่น หัวหน้างานกรรมกร อีกทั้งยังมีชนชั้นกลางระดับบน (Upper Middle Class) เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นชนชั้นกลางทั้งสิ้น โดยชนชั้นกลางเหล่านี้มีการเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ ที่เกิดการขยับเคลื่อนตัวของชนชั้นทางสังคม (Social Mobility) ชนชั้นกลางเหล่านี้มีรายได้มากกว่า ชั่วโมงทำงานที่น้อยกว่า และสวัสดิการที่ดีกว่าชนชั้นกรรมาชีพ แต่กระนั้นชนชั้นกลางเหล่านี้จะสามารถควบคุมการผลิตได้ก็จริง แต่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตในระบบเศรษฐกิจอยู่ดี ซึ่งแตกต่างจากชนชั้นกระฎุมพี และกระฎุมพีน้อย ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเอง[2] ดังนั้นชนชั้นกลางในลักษณะนี้ จึงเป็นชนชั้นกลางใหม่ ที่พัฒนามาจากสายงานวิชาชีพต่าง ๆ และเข้ามามีบทบาทอย่างใกล้ชิดกับทั้งชนชั้นกรรมาชีพ และชนชั้นนายทุน

เมื่อเป็นเช่นนี้ชนชั้นกลางจึงมีลักษณะของการเป็นชนชั้นที่สามารถสมาคมเข้ากับทั้งชนชั้นนายทุน และชนชั้นกรรมาชีพ คือมีลักษณะที่เลื่อนไหล ไม่แน่นอน และเปราะบาง นิคอส ปูลองซาส (Nicos Poulantzas) ได้ให้ทรรศนะว่า ชนชั้นกลางนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งทางชนชั้นขึ้น ชนชั้นกลางก็จะลังเลว่าจะเข้าไปสนับสนุนชนชั้นกรรมาชีพ หรือชนชั้นนายทุน หรือในบางกรณีชนชั้นกลางก็เป็นชนชั้นที่ สามารถเข้าได้ทั้งสองฝ่าย ทั้งนายทุนและกรรมาชีพ[3] และอีกทรรศนะหนึ่งจากนักคิดสำนักนีโอมาร์กซิสต์ คือมองว่าชนชั้นกลางจะเข้าสนับสนุนชนชั้นใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพทางสังคม และการเมือง โดยมองว่าชนชั้นกลางในยุโรปมีความก้าวหน้า ชนชั้นกลางมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมทำกิจกรรมกับชนชั้นล่างมากกว่าชนชั้นสูง ต่างกับชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาที่มีความร่วมมือที่ไม่ชัดเจนระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง[4]

แต่การอธิบายชนชั้นนำที่กล่าวในข้างต้นนั้น ไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ทางการผลิต และการขูดรีดได้ (Exploitation Concept) ในการอธิบายชนชั้นกลางที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือแนวคิดเรื่องชนชั้นกลางของ อิริค โอลิน ไรท์ (Erik Olin Wright) โดย ไรท์ ได้ใช้แนวคิดเรื่องการขูดรีด และผสานเข้ากับแนวคิดเรื่องการครอบงำ (Domination) มาอธิบายชนชั้นกลาง โดยสร้างแนวคิดเรื่อง ตำแหน่งแห่งที่ของชนชั้นที่มีลักษณะขัดแย้งภายใน (Contradictory Class Location) โดยไรท์ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องชนชั้นกลาง ที่มุ่งวิเคราะห์เรื่องของผลประโยชน์ทางชนชั้น จิตสำนึก และการก่อตัวทางชนชั้น โดยเฉพาะในแง่ของผลประโยชน์ ที่มีลักษณะขัดแย้งในตัวเอง (Contradictory Interest) โดยข้อเสนอที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ไรท์มองชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่ขูดรีดชนชั้นกรรมาชีพ คือเป็นผู้ขูดรีด (Exploiter) โดยเป็นผู้ควบคุมทรัพยากรในการผลิต รวมถึงควบคุมแรงงานด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ชนชั้นกลางเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นผู้ถือครองปัจจัยการผลิตแต่ขายแรงงานของตนเอง ให้กับนายทุนอีกทีหนึ่ง ชนชั้นกลางจึงมีลักษณะของการถูกขูดรีด (Exploited) ในเวลาเดียวกันด้วย[5]

ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่ถูกขูดรีดโดยชนชั้นนายทุน ซึ่งเป็นชนชั้นผู้ถือครองปัจจัยการผลิต ชนชั้นกลางมีฐานะเป็นช่วงชั้นกลางระหว่าง ชนชั้นสูง กับชนชั้นล่าง ในฐานะของการเป็นพนักงานที่มีตำแหน่งสูงทั้งในภาคเอกชน และภาคราชการ ชนชั้นกลางเหล่านี้เป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากกว่าชนชั้นกรรมาชีพ แต่ไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มหน่วยเท่ากับชนชั้นนายทุน ชนชั้นกลางเหล่านี้คือชนชั้นที่ได้รับส่วนแบ่งจากการขูดรีดจากชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งในมุมมองของไรท์ ชนชั้นกลางมักจะมีแนวโน้มเข้าร่วมกับชนชั้นนายทุนมากกว่าชนชั้นกรรมาชีพ เนื่องจาก ชนชั้นนายทุนมียุทธวิธีในการครองอำนาจนำ (Hegemony) ได้มากกว่าชนชั้นกรรมาชีพ โดยดำเนินการให้ชนชั้นกลางเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์จากการขูดรีดชนชั้นกรรมาชีพมากขึ้น

ในอีกแนวคิดหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันกับแนวคิดเรื่อง ชนชั้นที่มีความขัดแย้งในตัวเอง คือแนวคิดเรื่อง บุคลิกเชิงอำนาจ (Authoritarian Personality) ของ อิริช ฟรอมม์ (Erich Fromm) โดยพัฒนาแนวคิดดังกล่าวจาก แมกซ์ ฮอร์ไคเมอร์ (Max Horkheimer) ในงาน Authority and Family โดย ฟรอมม์ ใช้แนวคิดจิตวิเคราะห์ในการอธิบาย เกี่ยวกับบุคลิกเชิงอำนาจในแต่ละช่วงวัย และในแต่ละสถาบันทางสังคม[6] โดยฟรอมม์ อธิบายเกี่ยวกับบุคลิกเชิงอำนาจที่เกิดจากสถาบันครอบครัว ไปสู่สถาบันทางการศึกษา และไปจนถึงในสถานที่ทำงานในสังคมโดยทั่ว ฟรอมม์ อธิบายว่า อำนาจในครอบครัวนั้น พ่อ มักจะมีอำนาจมากที่สุด และใช้อำนาจนั้นกับแม่ และการใช้อำนาจเหล่านั้นก็ส่งทอดมาสู่ลูก เป็นไปในลักษณะเดียวกันภายในโรงเรียนคือ จากครูใหญ่ มาสู่ครู และส่งไปถึงนักเรียน และในที่ทำงานคือ จากเจ้านายระดับสูง ไปสู่เจ้านาย และลงไปสู่ลูกน้อง เป็นเช่นนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ ในทุกภาคส่วนของสังคม (เยอรมนี- ซึ่งเป็นสังคมที่ฟรอมม์ใช้ศึกษา) โดยสะท้อนผ่านโครงสร้างเดียวกัน โดย อำนาจสูงสุดคือ ฮิตเลอร์ ส่งมาสู่คนเยอร์มัน และส่งไปสู่คนยิว ซึ่งเป็นคนระดับล่างสุดในสังคมเยอรมัน

ลักษณะดังกล่าว ฟรอมม์ได้ใช้แนวคิดขยายความคิดของ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) คือความขัดแย้งกันของบุคลิกที่แสดงออกมาในสองลักษณะคือ กลายเป็นคนที่นิยมชมชอบการใช้ความรุนแรง และชอบที่จะถูกใช้ความรุนแรงในเวลาเดียวกัน ในภาษาจิตวิเคราะห์เรียกว่าเป็นลักษณะแบบ ซาโด-มาโซดิสติก (Sado-masochistic Character) คือเป็นคนที่สยบยกย่องให้กับอำนาจ แต่ในขณะเดียวกัน คนเหล่านั้นก็อยากมีอำนาจและอยากให้ผู้อื่นสยบแก่ตน มีลักษณะของความเป็นซาดิสม์ (Sadism) คือนิยมการใช้ความรุนแรงกดขี่แก่คนที่อ่อนแอกว่า แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีลักษณะของความเป็นมาโซคิสม์ (Masochism) คือรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยไร้กำลัง จำยอมต่ออำนาจภายนอก จึงต้องการลดทอดความรู้สึกเช่นนี้ ด้วยการใช้วิธิการแบบซาดิสม์ ในการกดขี่ผู้ที่อยู่ต่ำกว่า เป็นทั้งคนที่จำนนต่ออำนาจที่เหนือกว่า และก็พร้อมที่จะใช้อำนาจต่อคนที่ด้อยกว่าตน[7]

แนวคิดดังกล่าวของฟรอมม์ มีลักษณะคล้างคลึงกันกับแนวคิดของ ไรท์ ที่ได้กล่าวในข้างต้น แต่แนวคิดทั้งสองแตกต่างกันในแง่ของการใช้กรอบความคิดในการมอง ในขณะที่ไรท์ใช้แนวคิดเรื่องการขูดรีด และผลประโยชน์ทางชนชั้น ในทางเศรษฐกิจ และใช้อธิบายชนชั้นกลางอย่างชัดเจน ว่าเป็นชนชั้นที่มีลักษณะขัดแย้งกันในตัวเอง คือเป็นทั้งชนชั้นที่ถูกขูดรีดเอาเปรียบ แต่ในขณะเดียวกันก็ขูดรีดชนชั้นล่างไปด้วย แต่ในอีกทางหนึ่ง ฟรอมม์ใช้แนวคิดแบบจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ในการอธิบายบุคลิกลักษณะของคนในสังคมเยอรมัน ในช่วงเวลาของการขึ้นมาสู่อำนาจของฮิตเลอร์ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงชนชั้นกลางอย่างตรงไปตรงมา แต่ในที่นี่ผู้เขียนเล็งเห็นว่า แนวคิดของฟรอมม์ สามารถนำมาใช้อธิบายลักษณะของชนชั้นกลางซึ่งในบทความนี้จะเป็นการอธิบายชนชั้นกลางไทย (Thai Middle Class) โดยจะเป็นในมุมมองเชิงจิตวิทยา ประกอบกับแนวคิดเรื่องการครอบงำ และใช้คู่กับแนวคิดเรื่องการขูดรีด และผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจแบบไรท์ด้วย จะใช้ในการอธิบายเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ว่าด้วยเศรษฐกิจ และส่วนที่ว่าด้วยจิตวิเคราะห์ และความคิด

ในช่วงเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้รับบทเรียนอย่างใหญ่หลวงกับ ปฏิบัติการที่ทำโดยชนชั้นกลางในเมือง/ชนชั้นกลางบน ผ่านเวทีของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เด่นชัดที่สุดคือการเคลื่อนไหวชุมนุมกันของขบวนการ กปปส. หรือชื่อเต็มคือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ทำการเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเสนอให้มีการนำนายกคนนอกเข้ามาแทนที่ จนในท้ายที่สุดกลับได้การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 มาแทน และได้รัฐบาลทหารมาเป็นรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน (พฤษภาคม 2561) โดยลักษณะที่สำคัญอย่างยิ่งของการเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้น จะต้องสืบสาวไปตั้งแต่ก่อนการทำรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 ที่เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองขนาดใหญ่สองขบวนการด้วยกัน อันได้แก่ ขบวนการพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น และอีกฝ่ายคือขบวนการเสื้อแดง หรือ นปช. ที่เป็นฝ่ายออกมาสนับสนุนรัฐบาลในขณะนั้น ความขัดแย้งดังกล่าวดำเนินผ่านตัวแสดงหลักสำคัญคือชนชั้นกลางในเมือง และชนชั้นกลางในชนบท รวมไปถึงชนชั้นล่าง หรือที่เรียกว่าชนชั้นรากหญ้า

การก่อเกิดขึ้นของขบวนการทางการเมืองไทยโดยชนชั้นกลางนั้นเป็นสิ่งที่นักทฤษฎีทางการเมือง และทางสังคมศาสตร์ อธิบายไว้หลากหลายแง่มุม แต่ได้ข้อสรุปว่า ชนชั้นกลางเป็นตัวขับเคลื่อนทางการเมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะการเมืองในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่แปลกเลยว่า การเข้ามามีส่วนเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนชั้นกลางนั้นเริ่มก่อตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ภายหลังเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ.2535 และสืบเนื่องมาจนถึงขบวนการพันธมิตรฯ สะท้อนจากทั้งตัวของผู้นำ ดาราศิลปิน และชนชั้นกลางในเมือง โดยเฉพาะเมืองหลวงกรุงเทพฯ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการรณรงค์ทางการเมืองในแนวทางของตน การก่อเกิดขึ้นของชนชั้นกลางในเมืองนั้น มีท่าทีจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาอย่างไปอาจละทิ้งได้ คือ ชนชั้นกลางในชนบท ที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการกระจายถ่ายโอนทรัพยากรไปสู่ภมิภาคและท้องถิ่นต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาล ไทยรักไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ.2544-2549)

ยุครัฐบาลทักษิณนี้เองทำให้การพัฒนาในชนบท มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น เกิดการพัฒนาในทางเศรษฐกิจ คนเหล่านี้ผันตัวเองจาก คนจน คนชั้นล่าง เข้ามาเป็นชนชั้นกลางใหม่ หรือเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง คือไม่ได้มีรายได้เท่ากับชนชั้นกลางในเมือง หรือแม้กระทั่งเรื่องการศึกษา การสาธารณะสุข การคมนาคม และสถานะภาพทางสังคมก็ยังไม่ได้เทียบเท่ากับชนชั้นกลางในเมือง แต่ชนชั้นกลางระดับล่างเริ่มเข้ามามีส่วนในการเรียกร้องต่อรัฐมากยิ่งขึ้น จากแต่เดิมชนชั้นกลางระดับล่างเหล่านี้ไม่ได้มีปากเสียงในทางการเมือง เท่ากับที่ชนชั้นกลางในเมืองมี และยังคงมีอยู่ในขณะนั้น[8] ส่งผลให้ข้อเรียกร้องทางการเมืองของชนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งในทรรศนะของชนชั้นกลางในเมือง หรือชนชั้นกลางระดับสูงนั้น ยังมองว่าชนชั้นเหล่านี้เป็นชนชั้นที่อยู่ล่างตนอยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ชนชั้นกลางในเมืองได้รับประโยชน์จากการคงไว้ซึ่งชนชั้นทางสังคมแบบเดิม คือเป็นผู้ขูดรีดทางเศรษฐกิจจากชนชั้นล่าง (ซึ่งเริ่มผันตัวมาเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การศึกษา และระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ) เริ่มเกิดความวิตกกังวลต่อพื้นที่ของผลประโยชน์ทางชนชั้นของตน จึงมีท่าทีที่ไม่เห็นดีกับการคงอยู่ของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ชนชั้นกลางระดับล่างในชนบทต่าง ๆ มากนัก โดยมักใช้วาทกรรมในการดำเนินนโยบายว่าเป็นนโยบายแบบประชานิยม ในแง่ลบ[9]

หากนำเอาแนวคิดเรื่อง ชนชั้นที่มีลักษณะขัดแย้งภายใน ของไรท์ มาอธิบายจะเห็นว่า ชนชั้นกลาง ที่เคยมีส่วนแบ่งการขูดรีดจากชนชั้นกรรมาชีพที่มากจากจำนวนที่ต่างกันระหว่าง ชนชั้นกลาง และชนชั้นกรรมาชีพ ที่ชนชั้นกรรมาชีพมีจำนวนมากกว่า ส่งผลให้ชนชั้นกลางสามารถได้รับประโยชน์จากการขูดรีดเอาผลผลิตส่วนเกิด จากเวลาการทำงานต่อหัวของชนชั้นกรรมาชีพจำนวนมหาศาล แต่ในขณะที่ ในภายหลังสังคมไทยเกิดการเคลื่อนไหลทางชนชั้นในสังคม ที่ชนชั้นกรรมาชีพ หรือชนชั้นล่าง มีการแปรสภาพกลายเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังการก่อเกิดขึ้นของกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) โดยประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล จากระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงเอาบรรดาท้องถิ่น (Localities) เข้ามาเป็นภาคส่วนหนึ่งของการผลิตในระบบโลก[10] ส่งผลให้เกิดการจ้างงานในภาคแรงงานมากยิ่งขึ้น ผ่านบรรษัทข้ามชาติ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย อันก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของรายได้ของชนชั้นกลางระดับล่าง ที่มีส่วนในกิจการทางเศรษฐกิจในภาคแรงงานเป็นส่วนใหญ่ จึงเกิดการเติบโตของชนชั้นกลางใหม่ ที่เป็นชนชั้นกลางที่เริ่มมีความใกล้เคียงในภาคเศรษฐกิจกับชนชั้นกลางระดับสูงในเมืองมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน กระแสโลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) ก็ทำลายฐานทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางในเมือง และชนชั้นกลางระดับสูง อาจหมายรวมถึงชนชั้นนำบางกลุ่มด้วย สะท้อนผ่านวิกฤติการต้มยำกุ้ง ในปี 2540[11] ส่งผลให้ การขยับตัวขึ้นมาของชนชั้นกลางระดับล่าง หรือชนชั้นกลางใหม่ ที่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์เข้าใกล้ชนชั้นกลางในเมืองมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันชนชั้นกลางในเมืองก็ไม่เห็นความใกล้เคียงที่จะเข้าใกล้กับชนชั้นสูงที่อยู่จุดสูงสุดของปริมิตรได้เลย ส่งผลให้ชนชั้นกลางในเมือง มองชนชั้นกลางล่าง หรือชนชั้นล่างในสายตาของชนชั้นกลางในเมือง กลายเป็นภัยสำหรับตำแหน่งแห่งที่ทางเศรษฐกิจ และทางการเมืองของชนชั้นกลางในเมืองทั้งหลาย

ซึ่งแตกต่างกับในยุคสมัยของ พลเอง ชาติชาย ชุณหวัน และพลเอก เปรม ที่ชนชั้นกลางในเมือง มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด หนีห่างไปจากชนชั้นกลางล่าง และชนชั้นล่าง ส่งผลให้ชนชั้นกลางในเมืองมีแนวคิดที่จะนิยมชมชอบรัฐบาลในลักษณะทั้งสองมากกว่า (โดยเฉพาะ กลุ่ม กปปส.) ในขณะที่ในยุคภายหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง และรัฐบาลทักษิณ การบริโภคของชนชั้นกลางระดับล่าง ละชนชั้นล่าง มีการบริโภคมากยิ่งขึ้น กำลังซื้อจับจ่ายสูงขึ้น แต่ชนชั้นกลางในเมือง ที่บอบช้ำจากวิกฤติเศรษฐกิจ และนโยบายของรัฐที่ไม่เอื้อประโยชน์กลับอ่อนกำลังลง และถูกไล่ตามหลังมาอย่างติด ๆ[12]  ก่อให้เกิดวิกฤติในทางผลประโยชน์ทางชนชั้นที่อาจสั่นคลอนการขูดรีดที่เป็นไปในลักษณะเดิมได้ ภาวะดังกล่าวส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางระดับบน และชนชั้นกลางระดับล่างในเวลาต่อมา

เมื่อสภาวการณ์เป็นเช่นนี้ ชนชั้นกลางในเมืองจึงหันหน้าหนีออกไปจากระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ตน อีกทั้งยังก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นที่แคบลง อันเป็นผลเสียต่อตัวชนชั้นกลางในเมืองเอง เพราะพวกเขาขูดรีดเอาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้น้อยลง แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ถูกชนชั้นนายทุน/ชนชั้นนำ ขูดรีดอยู่เช่นเดิม สภาวะดังกล่าวหากนำแนวคิดเรื่อง บุคลิกเชิงอำนาจ ของ ฟรอมม์ มาอธิบายจะเห็นว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ชนชั้นกลางในเมืองอยู่ในสภาวะที่ถูกกระทำ เป็นมาโซคิสม์ ที่ถูกชนชั้นที่สูงกว่ากระทำชำเราอย่างหนักหน่วง แต่กลับมีชนชั้นล่างน้อยลงที่จะเอาอำนาจไประบาย เพื่อลดทอนความน้อยเนื้อต่ำใจ และเสริมสร้างอำนาจให้แก่ตน ชนชั้นล่างค่อย ๆ ขยับตัวเข้ามาอยู่ในตำแหน่งแห่งที่เดียวกับชนชั้นกลางในเมือง ผ่านการบริโภค รสนิยม และความคิดความอ่าน ที่ใกล้เคียงชนชั้นกลางในเมืองมากขึ้น ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ และการสาธิตการบริโภคจากชนชั้นกลางในเมืองตลอดเวลาที่ผ่านมา

ชนชั้นกลางเหล่านั้นจึงอยู่ในสภาวะที่กดดัน ไร้ซึ่งที่ระบายทางจิตใจ ที่เคยมีมาก่อนหน้า สิ่งเหล่านี้หลอมรวมเอาความคิดของชนชั้นกลางในเมือง ให้ต้องยกระดับตนเองให้เหนือกว่าในทางอื่น ซึ่งการยกตัวเหนือกว่านี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในขบวนการเคลื่อนไหวของ กลุ่ม กปปส. ซึ่งล้วนประกอบด้วยชนชั้นกลางในเมืองแทบทั้งสิ้น โดยการยกย่องให้ตนเป็น ‘คนดี’ ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกับอีกฝ่ายที่เป็น ‘คนเลว’ ความนึกคิดเหล่านี้ส่งผลให้ชนชั้นกลางในเมืองกระทำสิ่งที่เรียกว่า ‘การสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม’ คือสำเร็จความดีด้วยตนเอง และยกย่องพวกตนให้เหนือกว่า เพื่อที่จะลดทอนความอ่อนแอของตนในด้านอื่น การกระทำทั้งหลายสะท้อนออกมาจากวาทกรรม การเหยียดหยาม และดูถูก ในทุกด้าน เช่น

“โง่กว่าบาบูนอีกนะ พูดก็ไม่รู้เรื่อง สะกดคำว่าประชาธิปไตยก็ไม่ถูก ทำมาหากินก็ไม่ได้ ผ้าห่มก็หาเองไม่ได้ ต้องแจกทุกปี แต่ดันมีสิทธิ์เลือกตั้ง...”,

“...ประชาธิปไตยมันว่าด้วยเสียงข้างมาก ฉะนั้นประเทศไหนที่เสียงข้างมากไม่มีการศึกษา ประเทศก็ล่ม เพราะกุ๊ยซื้อกุ๊ยและกุ๊ยเลือกกุ๊ยแน่นอนครับ…” [13],

“มีคนสิบห้าล้านคนที่ไม่มีคุณภาพ กับสามแสนที่มีคุณภาพ เราเลือกสามแสนคนที่มีคุณภาพไม่ดีกว่าเหรอ”[14]


เหล่านี้เป็นต้น

เมื่อเป็นเช่นนั้นชนชั้นกลางในเมืองของไทย จึงไม่มีทางและไม่มีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มชนชั้นกลางล่าง และชนชั้นล่างทั้งในชนบทและในเมือง เพราะพวกชนชั้นกลางในเมืองเล็งเห็นว่า ชนชั้นกลางใหม่ที่ก่อเกิดเหล่านี้นั้น เป็นภัยแก่ตัวของพวกเขาเอง ชนชั้นกลางเหล่านี้จึงเข้าไปคบหาสมาคมกับชนชั้นกลางระดับสูงด้วยกันเอง ชนชั้นสูง และสถาบันที่มีอำนาจในสังคมไทย ที่จะคอยเป็นเหมือนสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของพวกเขา กลายเป็นมาโซคิสม์อย่างรุนแรง คือยอมอ่อนน้อมต่ออำนาจที่เหนือกว่าอย่างเต็มรูปแบบ และก็พร้อมจะเป็นซาดิสม์อย่างรุนแรงด้วยการประนามหยามเหยียดดังที่กล่าวมาในข้างต้น ด้วยลักษณะทางสังคม และการเมืองเหล่านี้ ส่งผลให้ชนชั้นกลางในเมือง เป็นชนชั้นที่อยู่ตรงกลางระหว่างการถูกกระทำโดยชนชั้นนำ ซึ่งอาจเป็น นายทุนใหญ่ กองทัพ สถาบันทั้งหลาย และอื่น ๆ ด้วยการแสดงความเป็นฝักฝ่ายเดียวกัน (Alliance) กับชนชั้นนำทั้งหลาย เพื่อเป็นกำลังในการกดชนชั้นที่อยู่ล่างกว่าในทุกวิถีทาง จึงจะไม่เห็นถึงการที่ชนชั้นกลางในเมืองลุกขึ้นมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสวัสดิการของแรงงาน ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกับพวกเขา หรือการออกมาต่อต้านการรัฐประหารอย่างจริงจัง หรือแม้กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขามุ่งโจมตี และวิพากย์ซึ่งสถาบันทางการเมือง โดยเฉพาะที่มีที่มาจากชนชั้นล่าง และชนชั้นกลางระดับล่าง กลับกลายเป็นว่า ชนชั้นกลางที่ควรเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ได้เป็นชนชั้นที่หลายครั้งก็ ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย ความเท่าเทียม ความเสมอภาค และกฎกติกาของสังคม ทั้งที่ประเทศไทยหากดูการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วก็ไม่ควรจะกลับมามีการปกครองในระบอบเผด็จการได้อีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นว่าชนชั้นกลางในเมือง/ระดับบน กลับสนับสนุนให้เกิดการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย[15]

กล่าวโดยสรุปคือชนชั้นกลางในไทยที่เป็นชนชั้นที่ถูกขูดรีด และเป็นชนชั้นขูดรีดในเวลาเดียวกันนั้น ไม่อาจทนต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นที่มีความเลื่อนไหล ที่ชนชั้นล่างมีความเปลี่ยนแปลงเข้ามาเป็นชนชั้นกลางมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากพวกชนชั้นกลางทั้งหลาย ล้วนได้ประโยชน์จากการขูดรีดเอาส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากชนชั้นล่างเหล่านั้น แต่เมื่อชนชั้นล่างเริ่มลดลง และเข้ามาแย่งชิงตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขา จึงก่อให้เกิดความไม่พอใจ และความต้องการสกัดกั้นการพัฒนาต่อของชนชั้นกลางใหม่เหล่านี้

และในอีกทางหนึ่งคือ ชนชั้นกลางมีลักษณะของความเป็น ซาโด-มาโซดิสติก คือเป็นกลุ่มคนที่ยอมรับซึ่งอำนาจที่เหนือกว่า โดยให้ตัวเองมีสถานะด้อยค่า และยอมรับซึ่งอำนาจ แต่ในขณะเดียวกัน ชนชั้นกลางเหล่านี้ก็ต้องหาที่ลดทอนความอ่อนแอของพวกเขา ด้วยการใช้อำนาจกับชนชั้นที่ต่ำกว่า คือชนชั้นล่าง แต่เมื่อชนชั้นล่างไม่อาจอยู่ในสถานะเดิมได้ มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนให้เข้าใกล้พวกชนชั้นกลางเก่ามากขึ้น ทำให้มีกำลังที่จะทัดทานการใช้อำนาจของชนชั้นกลางเก่าได้ ทำให้ชนชั้นกลางเก่าเหล่านั้นไม่พึงพอใจ และเกิดความเก็บกดมาโดยตลอด

การแสดงออกที่ชัดเจนที่สุดในสังคมไทย คือการยกย่องเชิดชูตัวเอง ให้มีความเหนือกว่าในทุกด้าน เพื่อที่จะปฏิเสธความเท่าเทียมที่ชนชั้นกลางใหม่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้เรื่อย ๆ ผ่านการสร้างเวทีที่จะเปิดทางให้พวกเขาได้แสดงออกทางอารมณ์ ความคิด ผ่านวาทกรรม การเหยียดหยาม และดูหมิ่นคนที่พวกเขาเห็นว่าอยู่ต่ำกว่า สภาวการณ์เช่นนี้จะคงอยู่ต่อไปในสังคมไทย เมื่อชนชั้นนำยังสาธิตการใช้อำนาจแก่ชนชั้นกลาง และชนชั้นกลางก็ใช้อำนาจเหล่านั้นลงมาที่ชนชั้นล่าง เป็นภาวะที่ไม่หยุดหย่อนในทุกภาคส่วนของสังคมไทย

“ชนชั้นกลาง ชนชั้นแกว่ง ชนชั้นกลวง”

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

กาญจนา แก้วเทพ และ สมสุข หินวิมาน (2551). สายธารแห่งนักคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับการ   สื่อสารศึกษา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2560). เริ่มต้นใหม่จากจุดเริ่มต้น ทฤษฎีมาร์กซิสต์ในศตวรรษที่ 21 (พิมพ์ครั้งที่ 1).     เชียงใหม่: ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เกษียร เตชะพีระ. (2561). ประชานิยมในโลก(ไร้)ประชาธิปไตย. ประชาไท. ที่มา:         https://prachatai.com/journal/2018/04/76679

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2560). คนชั้นกลางไทยกับประชาธิปไตย (2). มติชนออนไลน์. ที่มา:         https://www.matichon.co.th/news/435873

ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2553). ประชาธิปไตยของฉัน ของท่าน และของเธอ. OCTOBER 09 ฉบับ       ประชาธิปไตย, 8-53.

ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์. (2560). โลกาภิวัตน์ (พิมพ์ครั้งที่ 1). เชียงใหม่: ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะ   สังคมศาสตร์       มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สมคิด พุทธศรี. (2560). ทำไมคนชั้นกลางไทยถึงหันหลังให้ประชาธิปไตย, The 101 ที่มา:                  https://www.the101.world/thoughts/thai-middle-class-and-democracy

สุภางค์ จันทวานิช. (2557). ทฤษฎีสังคมวิทยา (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย.

เสรี วงษ์มณฑา. (คลิปวีดีโอ). (2554). ปราศรัยเวทีชุมนุม กปปส. 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2554. ที่มา:         https://www.youtube.com/watch?v=qd-jGtKz4Ig

 

 

เชิงอรรถ

[1] เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ, เริ่มต้นใหม่จากจุดเริ่มต้น ทฤษฎีมาร์กซิสต์ในศตวรรษที่ 21, น. 20-21.

[2] สุภางค์ จันทวานิช, ทฤษฎีสังคมวิทยา, น.177-178

[3]  เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ, เริ่มต้นใหม่จากจุดเริ่มต้น ทฤษฎีมาร์กซิสต์ในศตวรรษที่ 21, น. 28-29.

[4] สุภางค์ จันทวานิช, ทฤษฎีสังคมวิทยา, น.182

[5] เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ, เริ่มต้นใหม่จากจุดเริ่มต้น ทฤษฎีมาร์กซิสต์ในศตวรรษที่ 21, น. 33-34.

[6] กาญจนา แก้วเทพ และ สมสุข หินวิมาน, สายธารแห่งนักคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับการสื่อสาร, น.267-268

[7] กาญจนา แก้วเทพ และ สมสุข หินวิมาน, สายธารแห่งนักคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับการสื่อสาร, น.269-270

[8] นิธิ เอียวศรีวงศ์ ,คนชั้นกลางไทยกับประชาธิปไตย (2), มติชนออนไลน์ https://www.matichon.co.th/news/435873

[9] เกษียร เตชะพีระ, ประชานิยมในโลก(ไร้)ประชาธิปไตย, ประชาไท https://prachatai.com/journal/2018/04/76679

[10] ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์, โลกาภิวัตน์, น.186

[11] เกษียร เตชะพีระ, ประชานิยมในโลก(ไร้)ประชาธิปไตย, ประชาไท https://prachatai.com/journal/2018/04/76679

[12] เกษียร เตชะพีระ, ประชานิยมในโลก(ไร้)ประชาธิปไตย, ประชาไท https://prachatai.com/journal/2018/04/76679.

[13] บทสัมภาษณ์ ‘ซูโม่ตู้’ (2551) ,ประจักษ์ ก้องกีรติ, OCTOBER ฉบับประชาธิปไตย, น.29,1

[14] เสรี วงษ์มณฑา, ปราศรัยเวทีชุมนุม กปปส. 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2554, ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=qd-jGtKz4Ig

[15] สมคิด พุทธศรี, ทำไมคนชั้นกลางไทยถึงหันหลังให้ประชาธิปไตย , The 101 https://www.the101.world/thoughts/thai-middle-class-and-democracy/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net