Penology กับโทษประหาร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

แนวความคิดเรื่องกระบวนการยุติธรรม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มนุษย์เรายังไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์แบบที่สุด เผลอๆ คำตอบที่สมบูรณ์แบบที่สุด อาจจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวความคิดเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่แตกแขนงกันออกไป

ส่วนหนึ่งในนั้น ก็คือแนวความคิดเรื่องของการ "ลงโทษผู้กระทำผิด" ที่ก็ยังมีอยู่หลายแนวความคิด แต่โดยทั่วไปแล้ว จุดประสงค์หลักของการมีบทลงโทษนั้น ก็คือเพื่อที่จะพยายามลดจำนวนผู้ที่กระทำผิดให้น้อยลงที่สุด แขนงของปรัชญาที่ถกเถียงกันถึงเรื่องของวิธีการที่จะนำมาซึ่งการลดจำนวนอาชญากรรมนั้นเรียกว่า Penology

1. แนวความคิดหนึ่ง มองว่าการลงโทษผู้กระทำผิด เป็นเรื่องของ Retribution หรือ Retributive Justice [1] นั่นก็คือการ "ลงโทษ" ผู้กระทำผิดให้ "สาสม" แก่ความผิดที่ได้กระทำเอาไว้ ตามทฤษฎีนี้แล้ว เมื่อใดก็ตามที่มีผู้ใดละเมิดกฏหมาย ผู้นั้นก็สมควรที่จะได้รับผลลัพธ์จากการกระทำผิดกฏหมายนั้น อย่างไรก็ตาม Retribution นั้น แตกต่างจาก Revenge เพราะว่า Retribution นั้นมุ่งเน้นไปแต่ที่ผู้ที่กระทำความผิด มีขอบเขตที่ชัดเจน ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนบุคคล และที่สำคัญที่สุด ไม่ได้ทำไปเพื่อความพึงพอใจของใคร พูดง่ายๆ Retribution นั้นก็คือเป็นเรื่องของ "กรรม" นั่นเอง

2. อีกแนวคิดหนึ่ง มองว่าการลงโทษ เป็นเรื่องของ Deterrence [2] นั่นก็คือบทลงโทษนั้นมีเอาไว้ในจุดประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะโดยการทำให้ผู้ที่กระทำผิดนั้นไม่สามารถกลับไปกระทำผิดได้อีก หรือว่าจะโดยการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" เพื่อไม่ให้มีผู้กระทำผิดซ้ำสอง Deterrence นี้ต่างจาก Retributivism ตรงที่ว่าการลงโทษไม่ได้ทำไปเพื่อผลกรรม เพื่อสักแต่ว่าผู้กระทำผิดต้องได้รับผลกรรมที่ทำเอาไว้ แต่บทลงโทษมีเอาไว้เพื่อ "ขู่" ไม่ให้มีผู้กระทำผิด

3. ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ "การลงโทษ" แต่เป็นการเน้นไปที่การ Rehabilitation [3] หรือ "บำบัด" เพื่อที่จะลดการผู้ที่เคยกระทำผิดจะไม่กลับมาอีกครั้งหนึ่ง และให้ผู้ที่เคยกระทำความผิด สามารถกลับมาเป็น contributing member of society และสามารถกลับมาอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง เช่น ผู้ที่มีอาการป่วย ที่ทำบางอย่างลงไปเพียงเพราะความบกพร่องที่เกิดจากร่างกายหรือจิตใจ เราก็ควรที่จะ "บำบัด" จนเขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตปรกติโดยไม่กระทำผิดได้อีก กลับมามีโอกาสใช้ชีวิตอีกครั้งหนึ่ง อีกกรณีหนึ่งที่เราใช้คำว่า Rehabilitation เช่นเดียวกัน ก็คือผู้เสพสารเสพติด ที่เราพยายามให้โอกาส และมุ่งเน้นไปที่การบำบัดให้หายจากสารเสพติดเสียมากกว่าจับมาลงโทษเพียงเพราะว่าเขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

แนวคิดการ "บำบัด" นี้จึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างความยากลำบากให้กับ "นักโทษ" หรือกีดกัดทางสังคมเสียจนไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อีก จนต้องถูกบีบให้ใช้ชีวิตอาชญากรรมอีกครั้งหนึ่ง แต่จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างวิชาชีพที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และเชื่อมโยงกับโลกภายนอกเพื่อที่พร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคม แน่นอนว่าการ "บำบัด" นั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถวินิจฉัยต้นเหตุของการกระทำผิดได้ เช่น ผู้กระทำผิดที่เป็น psychopath นั้นอาจจะไม่สามารถตระหนักถึงความผิดที่ตัวเองกระทำได้เท่ากับบุคคลปรกติ และอาจจะต้องได้รับการ "บำบัด" ที่แตกต่างกันออกไป

ตัวอย่างที่ดีของประเทศที่ยึดแนวทาง Rehabilitation นี้ ก็คือประเทศนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์มีคุกที่หรูหราที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ผู้ถูกขังจะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างเช่นเดียวกับผู้ที่อาศัยอยู่ภายนอก ไม่ว่าจะตู้เย็น ทีวีจอแบน ห้องน้ำส่วนบุคคล สนามหญ้า ฯลฯ และมีห้องครัวและห้องนั่งเล่นที่นักโทษสามารถใช้ร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็น "ครอบครัว" ภายในเรือนจำ ซึ่งแยกตามความจำเป็นในการบำบัดทางการแพทย์หรือจิตแพทย์ รวมไปถึงการสอนวิชาชีพที่สามารถนำออกมาใช้ได้เมื่อพ้นโทษจากเรือนจำ

เราอาจจะมองว่าชีวิตที่แสนสบายของนักโทษเช่นนี้ แล้วคนจะอยากออกจากคุกทำไม แต่ผลกลับกลายเป็นว่าประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศที่มีอัตราผู้กลับมากระทำความผิดซ้ำ (recidivism rate) น้อยที่สุดประเทศหหนึ่งในโลก

มองกลับมาที่โทษประหารชีวิต อาจจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนหากเราต้องการหาคำตอบว่า โทษประหารชีวิตนั้นมีที่ในสังคมยุคปัจจุบันหรือไม่ หรือว่าโทษใดสมควรจะได้รับการประหารชีวิต แต่คำถามที่เราสามารถตอบได้ง่ายกว่านั้นมาก หากเราต้องการเรียกร้องโทษประหารชีวิต เรากำลังเรียกร้องกันไปด้วยเหตุผลใด?

หากเราย้อนกลับมาถามว่าโทษประหารชีวิตนั้นตรงกับแนวคิดแบบใด? แน่นอนว่าไม่ใช่เพื่อการ "บำบัด" แน่นอน หรือว่าเป็นไปเพื่อ Deterrence เพื่อไม่ให้มีผู้กระทำผิด? ปรากฏว่าผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมีความเห็นว่าโทษประหารชีวิตนั้นไม่ได้ลดอัตราการเกิดอาชญากรรมแต่อย่างไร เมื่อเปรียบเทียบประเทศที่ใกล้เคียงกันที่มีโทษประหารชีวิตต่างกัน หนำซ้ำ การมีโทษประหารชีวิต กลับทำให้อาชญากรรมมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น หากการข่มขืนมีโทษประหาร ก็จะทำให้เกิดการฆ่าปิดปากมากยิ่งขึ้น เพราะว่าโทษที่ได้รับหากถูกจับได้นั้นไม่แตกต่างกัน และจะยิ่งผลักดันให้เกิด sociopathic behavior ได้มากขึ้น [4]

เราอาจจะมองว่าโทษประหารชีวิตเป็นเรื่องของ Retribution แต่เราต้องอย่าลืมว่า Retribution นั้นควรจะเป็นเรื่องของผลของการกระทำผิด และไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล หรือทำไปเพื่อความพึงพอใจของใคร

แต่หากว่าเรากำลังเรียกร้องให้ประหารชีวิต เพื่อความ "สะใจ" เราก็ควรจะหยุด แล้วก็ถามดูสักนิดว่า เรากำลังจะประหารไปเพื่ออะไร? และการประหารเพื่อความ "สะใจ" นั้น ควรจะเป็นความ "ยุติธรรม" หรือไม่?

Disclaimer: บทความนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือเรียนมาทางด้าน criminology แต่อย่างใด ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นและอภิปราย

 

อ้างอิง:
[1] https://en.wikipedia.org/wiki/Retributive_justice
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/Deterrence_(legal)
[3] https://en.wikipedia.org/wiki/Rehabilitation_(penology)
[4] ProCon.org: Does the Death Penalty Deter Crime?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท