Skip to main content
sharethis
นิตยสาร 'ไทม์' ปก 'ประยุทธ์' ระบุพยายามสร้างระบบใหม่ฟื้นคืนอำนาจ แต่ให้ทหารกุมอำนาจ สิทธิมนุษยชนต้องอยู่ใต้กฎหมาย ปล่อยชุมนุมเสรีเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ย้อนถามผู้ชุมนุมกรณีสร้างความรำคาญให้สาธารณะ
 
 
เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 ว่านิตยสารไทม์ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นปกฉบับล่าสุด โดยมีเนื้อหาวิจารณ์ว่าแทนที่ผู้นำไทยคนนี้จะฟื้นฟูประชาธิปไตย กลับพยายามกุมอำนาจมากยิ่งขึ้น
 
โดยเนื้อหาในนิตยสารไทม์ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นปกฉบับล่าสุดได้ระบุเรื่อง "ประชาธิปไตย หรือ เผด็จการ เส้นทางไหนที่ประยุทธ์ จันทร์โอชาของไทยจะเลือก"  ระบุว่าพลเอกประยุทธ์ที่เป็นทหารมานาน 4 ทศวรรษ ยังคงยอมรับว่าไม่คุ้นเคยกับบทบาทใหม่นอกกองทัพ และยืนยันว่า การเข้าคุมอำนาจบริหารในขณะนี้ทำไปด้วยความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ นายกฯบอกกับไทม์ด้วยว่า  "เมื่อประชาชนมีปัญหา เรา ทหารก็อยู่เคียงข้างพวกเขา"
 
ผ่านมา 4 ปีแล้วที่พลเอกประยุทธ์เข้ายึดอำนาจ ซึ่งเป็นการรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จครั้งที่ 12 ของประเทศไทย และเขาได้ให้สัญญาว่าจะนำประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่จนถึงวันนี้คนไทยยังคงเฝ้ารอวันที่จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง  และหลายฝ่ายทั้งในประเทศและในภูมิภาคต่างวิตกว่า ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จะทำให้ไทยถอยหลังเข้าสู่เผด็จการถาวร
 
พลเอก ประยุทธ์ ให้เหตุผลในการยึดอำนาจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองว่า "ผมไม่อาจปล่อยให้เกิดความเสียหายกับประเทศของผมไปมากกว่านี้" 
 
ประยุทธ์ บอกกับไทม์ว่า "4 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่การเสริมสร้างความแข็งแกร่ง แต่เป็นช่วงเวลาของการแก้ไขปัญหา เอาชนะอุปสรรค และสร้างเสถียรภาพ ความมั่นคงเพื่อให้ก้าวต่อไปในอนาคต"
 
ไทม์ระบุว่าแม้พลเอกประยุทธ์พยายามสร้างระบบการเมืองใหม่ที่จะฟื้นคืน ประชาธิปไตยสู่ประเทศ แต่ยังคงให้กองทัพมีอำนาจสำคัญ และแม้จะมีการเลือกตั้ง กองทัพยังสามารถแต่งตั้งสมาชิกสภาได้ถึง 1 ใน 3 และมีอำนาจชี้ขาดสุดท้ายในการตัดสินใจด้านนโยบายสำคัญ 
 
ในขณะที่มีการเสนอจัดเลือกตั้งอย่างเร็วสุดในเดือน ก.พ.ปีหน้า แต่นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ท่านประยุทธ์พยายามทำทุกอย่างเพื่ออยู่ในอำนาจ" และธิดา ถาวรเศรษฐ หนึ่งใน แกนนำคนเสื้อแดง บอกว่า หากไม่มีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายได้
 

สิทธิมนุษยชนต้องอยู่ใต้กฎหมาย ปล่อยชุมนุมเสรีเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ย้อนถามผู้ชุมนุมกรณีสร้างความรำคาญให้สาธารณะ

ต่อคำถามว่าประชาธิปไตยของไทยจะออกมาเป็นแบบไหน ประยุทธ์ตอบกับไทม์ว่า สิ่งที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยคือการสร้างการร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านกระบวนการที่เหมาะสม เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ละเมิดกฎหมายและสิทธิของผู้อื่น แม้ว่าการมีเสรีภาพเป็นสิทธิที่พึงมีตามหลักประชาธิปไตย เสรีภาพก็ไม่ควรจะถูกใช้เพื่อละเมิดสิทธิผู้อื่น สิ่งที่สำคัญมากก็คือเส้นแบ่งระหว่างสิทธิมนุษยชนและการฝ่าฝืนกฎหมาย พวกเราไม่สามารถดูแลคนส่วนใหญ่แต่เพิกเฉยกับเสียงส่วนน้อยเหมือนประชาธิปไตยไทยในอดีต

ต่อคำถามว่า คนไทยควรได้รับอนุญาตให้มีการชุมนุมประท้วงโดยสันติหรือไม่ หัวหน้ารัฐบาลทหารกล่าวว่า รัฐบาล คสช. จัดให้มีช่องทางให้พวกเขาขออนุญาต ในการชุมนุมประท้วง รวมถึงยังรับฟังและพิจารณาข้อเรียกร้องของพวกเขา แต่ถ้าอนุญาตให้มีการชุมนุมอย่างเสรี การเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยก็อาจจะเป็นเรื่องยากเกินไป สิ่งที่ต้องการทำให้สำเร็จคือการเลือกตั้ง

“คุณรู้ไหม พวกเราต้องพิจารณาการเคลื่อนไหวของเด็กๆ เหล่านี้อย่างถี่ถ้วน และถ้าพวกเราเข้าใจพวกเขาอย่างแท้จริง พวกเราไม่เคยต้องการจะใช้มาตรการทางกฎหมายกับพวกเขา พวกเราค่อนข้างจะใช้มาตรการผ่อนคลาย มีหลายครั้งหลายหนที่พวกเราไม่ได้จับกุมพวกเขาและได้ปล่อยตัวเสียด้วยซ้ำ และผมคิดว่าพวกเขารู้ว่าเราไม่ได้เคร่งครัดกับพวกเขาเท่าที่ควรจะเป็น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าพวกเรามองพวกเขาในฐานะของผู้เป็นเด็ก” ประยุทธ์กล่าวกับไทม์

ต่อคำถามว่าเขาเป็นผู้มีความเชื่อในสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ประยุทธ์ตอบว่า ต้องเข้าใจว่ามีคนบางกลุ่มที่พวกเขาก็รู้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พยายามจะยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อบิดเบือนภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวโลก ดังนั้นจึงควรจะโฟกัสไปที่การให้คำนิยามว่าอะไรคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คือการใช้ความรุนแรงโดยไม่จำเป็น ไปทำร้ายร่างกายประชาชน และยังตั้งคำถามถึงพฤติการณ์ของผู้ชุมนุม

“รัฐบาลของผมไม่เคยเห็นชอบกับเรื่องเหล่านี้ และได้ลงโทษเจ้าหน้าที่ [ที่กระทำผิด] เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิด ในทางกลับกัน แล้วพวกนักกิจกรรมที่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไปสร้างความรำคาญให้กับสาธารณชน ไปปิดถนนและทำให้ประชาชนมีความลำบากในการดำเนินชีวิตหรือกิจวัตรประจำวันล่ะ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net