นิธิ เอียวศรีวงศ์: ไม่มีสังคมในพุทธศาสนาไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ครั้งสุดท้ายที่หัวหน้าคณะรัฐประหารนิยามตนเองคือ เขาเป็นมนุษย์ หลังจากที่เขานิยามตนเองว่าเป็นทหาร และในเวลาต่อมาก็เป็นนักการเมือง

อันที่จริงทั้งสามอย่างนี้เป็นพร้อมๆ กันก็ได้ แต่ดูเหมือนเขาต้องการเน้นคุณสมบัติที่แตกต่างกันของแต่ละอย่าง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานะของเขาในแต่ละช่วงเวลา

ครั้งสุดท้ายคือความเป็นมนุษย์นี่หรอก ที่เขาไม่ได้พูดถึงคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ หากพูดถึงโทษสมบัติแทน เขาชี้ว่าในฐานะมนุษย์ เขาย่อมโกรธ, ขุ่นเคืองใจ และอาจจะน้อยใจด้วย เมื่อถูกก่นโจมตี เสียดสีและเยาะเย้ยตลอดมา ทั้งๆ ที่เขามีเจตนาดี และมุ่งทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองอย่างจริงใจ ดังนั้น หากเขาจะมีความบกพร่องอะไร ก็เกิดขึ้นจากความเป็นมนุษย์ (ปรกติธรรมดา) ของเขานี่แหละ

ความเป็นมนุษย์ของเขาจึงหมายถึงความดิบเถื่อนของสิ่งมีชีวิต ป้องกันตนเองจากการถูกทำร้ายด้วยวิถีทางที่ตนทำได้ ตอบโต้หรือ “เอาคืน” กับคนที่ทำร้ายตน ในฐานะที่คนก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ปฏิกิริยาพื้นๆ ของคนจึงไม่ต่างอะไรจากสัตว์

โรงเรียน TCIJ ซึ่งเป็นสถาบันที่นำเสนอข่าวสืบสวนของไทยแห่งหนึ่ง กำลังจัดอบรมการเป็น “นักข่าว” ให้แก่ผู้สนใจอยู่ในเวลานี้ ไม่ใช่เพื่อผลิต “นักข่าว” ไปป้อนองค์กรสื่อ แต่เพื่อทำให้ผู้สนใจสามารถสื่อข่าวและมุมมองของตนเองแก่คนในวงกว้างได้ ก็เราอยู่ในโลกที่ใครๆ ก็ต้องสื่อกับ “มวลชน” ที่มองไม่เห็นหน้าเป็นประจำอยู่แล้ว

ส่วนหนึ่งของหลักสูตรคือแนะนำการใช้เครื่องมือง่ายๆ เพื่อสื่อข่าวและความคิดเห็น ผู้สอนเลือกให้ใช้สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือ โดยหัดทำคลิปสั้นๆ ที่สื่อความหมายได้กว้างและลึกโดยไม่ต้องใช้คำพูดมากนัก หนึ่งในนักเรียนไปทำคลิปดังกล่าวแถวสี่แยกที่พลุกพล่านแห่งหนึ่ง ด้วยการตั้งคำถามแก่ผู้คนที่ผ่านไปมาว่า “ความเป็นมนุษย์คืออะไร”

น่าประหลาดที่ทุกคนซึ่งตอบคำถาม ต่างพูดด้านคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ ไม่มีใครสักคนพูดถึงด้านโทษสมบัติเลย นักศึกษาตอบด้วยวิธีวิเคราะห์ศัพท์ว่า มนุษย์แปลว่าผู้มีจิตใจสูง จึงต่างจากสัตว์ แม่ค้าตอบว่ามนุษย์คือคนที่เห็นใจคนอื่น (หรือมีเมตตากรุณา) หนุ่มใหญ่คนหนึ่งกลับไปยืนยันเรื่องความเสมอภาคของมนุษย์ หรือมีความเป็นคนเท่ากัน (ผมยังตามความคิดของเขาไม่ได้ว่า คำตอบของเขาสัมพันธ์กับคำถามอย่างไร แต่เชื่อว่ามันต้องสัมพันธ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งแน่)

แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่นึกถึงด้านคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์มากกว่าด้านโทษสมบัติ แต่ผมไม่คิดว่าทัศนะของหัวหน้าคณะรัฐประหารผิด ผมอยากเดาว่า ในความเป็นมนุษย์คงมีทั้งส่วนที่เป็นโทษสมบัติและส่วนที่เป็นคุณสมบัติ

ปัญหาที่น่าสงสัยกว่าก็คือ ที่ว่าเป็นโทษสมบัตินั้น เป็นโทษแก่ใคร และที่ว่าเป็นคุณสมบัตินั้น เป็นคุณแก่ใคร

ทีแรกผมก็คิดเอาเองว่า ย่อมเป็นโทษและเป็นคุณแก่ตนเองและผู้อื่น หรือส่วนรวมล่ะสิครับ แต่ด้วยอำนาจของพญามารทำให้ผมไปลองค้นดูว่า พระพุทธศาสนาจะยืนยันความเชื่อของผมหรือไม่

ผมพบด้วยความประหลาดใจว่า พระพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยเรา ท่านพูดแต่โทษหรือคุณที่ตกแก่ตนเองเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงคนอื่นหรือส่วนรวม ด้วยความไม่แน่ใจจึงค้นต่อไปอีกเท่าที่จะพอหาตำราได้ (แต่ก็คงห่างจากความทั่วถึงแน่) ก็ไม่ได้พบที่ใดว่าท่านพูดถึงคุณที่จะตกแก่สังคมโดยรวม ลองเอาไปเปรียบกับคำสอนในลัทธิขงจื๊อ นั่นมันคนละเรื่องเลย เพราะลัทธิขงจื๊อนั้นเต็มไปด้วยประโยชน์ส่วนรวม แม้แต่ที่แนะให้เคารพและสืบทอดประเพณีอันมีมาแต่โบราณ ก็ไม่ใช่เพื่อให้บรรพบุรุษของผู้ปฏิบัติ ไม่นอนสะดุ้งในหลุมศพ หากเพราะประเพณีเหล่านี้ได้พิสูจน์ด้วยกาลเวลามาแล้วว่า ทำให้เกิดความสงบราบรื่นในความสัมพันธ์ทางสังคมต่างหาก จึงเป็น “ปัญญา” ทางสังคมที่เราควรสืบทอดรักษาเอาไว้

พุทธศาสนาเถรวาทพูดถึงการทำความดีเพื่อประโยชน์ของผู้กระทำเอง หรือว่ากันอย่างเคร่งครัดก็คือ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งแก่ตัวผู้ประพฤติดี แม้แต่ความเมตตา (กรุณา) ก็ควรเจริญให้มาก ไม่ใช่เพื่อความสุขของผู้อื่น หากแต่เพื่อทำให้ผู้เจริญนั้นเป็นสุข ดังนั้น เมตตาจึงถูกจัดอยู่ในหมวดธรรมเพื่อความรู้แจ้งต่างๆ เช่น ทศบารมี, พรหมวิหารธรรม, หรือใช้เป็นอารมณ์ในการทำกรรมฐาน

เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะนิกายเถรวาทยึดอยู่กับลัทธิคำสอนดั้งเดิม คำสอนของนิกายนี้จึงมุ่งตอบปัญหาของปัจเจกบุคคลที่มุ่งจะแสวงหาโมกษธรรม อันเป็นปัญหาหลักของสังคมอินเดียในยุคสมัยราวพุทธกาล จะพูดว่าไม่ให้คำตอบอะไรแก่สังคมเลยก็ไม่ใช่ ไม่อย่างนั้นท่านจะตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาทำไม แม้ว่าไม่ใช่พระธรรมวินัยแรกในอินเดียที่มีการตั้งคณะสงฆ์ขึ้น แต่คณะสงฆ์พุทธแตกต่างจากคณะสงฆ์ของ “ปริพาชก” มาก เพราะยอมให้มีความสัมพันธ์กับสังคมมากกว่าเพียงแค่ปัจจัยเลี้ยงชีพ

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าเป้าหมายทางสังคมหลักของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทคืออะไร? ผมคิดว่าไม่ใช่การสร้างสังคมที่ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบาย แต่เพื่อสร้างสังคมที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม หรือสังคมที่อำนวยโอกาสให้ทุกคนสามารถทำพระนิพพานให้แจ้งแก่ตนเองได้ จะเป็นราชาธิปไตยก็ได้, สาธารณรัฐเช่นแผ่นดินของพวกศากยะหรือแคว้นวัชชีก็ได้, ประชาธิปไตยแบบตะวันตกก็ได้, เผด็จการทหารแบบไทยก็ได้

นั่นคือเหตุผลที่นักคิดชาวพุทธไทยหลายคน เมื่อถูกถามว่าจะทำให้สังคมดีขึ้นอย่างไร มักตอบว่า ถ้าทุกคนเป็นคนดีหมด สังคมก็ดีเอง สมัยหนึ่งผมเคยหัวเราะเยาะคำตอบแบบนี้ว่าเป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดิน เพราะจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีหมดนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่บัดนี้เข้าใจแล้วว่า มันมีฐานความคิดอยู่ในพระพุทธศาสนาเถรวาทด้วย จะประยุกต์ความคิดที่มีปัจเจกบุคคลเป็นฐานล้วนๆ ให้กลายเป็นอุดมคติทางสังคมที่มีความสลับซับซ้อนตามความเป็นจริงของสังคมปัจจุบัน ย่อมเป็นไปไม่ได้

นักคิดชาวพุทธจึงอยากเป็น “ธรรมาธิปไตย” ซึ่งแปลว่าเป็นอะไรก็ได้ ขอแต่ให้เป็นสังคมที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม ซึ่งความหมายในสังคมไทยปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงไม่มีโจรผู้ร้าย ไม่มีความอดอยากแร้นแค้น ฯลฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงไม่มีความเปลี่ยนแปลงใน “ระเบียบ” สังคม ซึ่งหมายถึงโครงสร้างอำนาจ, เกียรติยศ, ทรัพย์สินเงินทอง ฯลฯ ต้องคงอยู่อย่างเดิม

ไม่แปลกอะไรใช่ไหมครับ ที่นักปราชญ์ซึ่งชอบอ้างฝรั่งและตบท้ายด้วยพระพุทธเจ้า จึงกลายเป็นผู้สนับสนุนการรัฐประหารในครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะถูกแนวคิดของพุทธเถรวาทกำหนดมาแต่ต้นให้ต้องเป็น “อนุรักษนิยม” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นะครับ แต่ “อนุรักษนิยม” เป็นของแถมที่มากับเถรวาทแบบไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดกับนักปราชญ์พุทธในพม่าหรือศรีลังกา

ในขณะเดียวกันผมก็ยอมรับว่า การสร้างสังคมที่เอื้อต่อการทำพระนิพพานให้แจ้งจากสังคมปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องยาก (หลังเกิดประชาธิปไตยและทุนนิยม ซึ่งทำให้มนุษย์มองตนเองแตกต่างออกไปจากเดิมอย่างมาก) และต้องการความคิดที่ฉลาดรอบรู้แหลมคม (ทั้งของบุคคลและของสังคม) อย่างมาก เป็นผู้ให้คำตอบ สังคมในอุดมคติดังกล่าวที่นักปราชญ์พุทธไทยคิดถึง คือสังคมพุทธโบราณ นับตั้งแต่พระเจ้าอโศกลงมาถึงเมื่อก่อน 24 มิถุนายน 2475

และนี่คือที่มาของ “ธรรมิกสังคมนิยม” เพราะมันไม่มีแบบอย่างอื่นให้เลียน นอกจากสังคมที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรมภายใต้ธรรมราชา อันเป็นผู้ปกครองที่ถืออำนาจเด็ดขาดโดยมี “ธรรม” เป็นความชอบธรรมหรือ legitimacy แม้ผู้ปกครองไม่ใช่ “ราชา” แต่ก็ควรมีอำนาจเด็ดขาดเหมือนเดิม ตราบเท่าที่เขายังมี “ธรรม” เป็นคุณสมบัติสำคัญ

แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า สังคมปัจจุบันแตกต่างจากสังคมอุดมคติโบราณอย่างมาก เพียงแต่ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเองให้บริบูรณ์ ทุกอย่างก็จะดีเองนั้นไม่จริงเสียแล้ว ยกเว้นแต่เรานิยามหน้าที่ของแต่ละคนด้วยสภาพเศรษฐกิจ-สังคมโบราณ คนปั้นหม้อก็ปั้นหม้อและขายในราคาที่เป็นธรรมแก่คนอื่น แต่ในความเป็นจริงของปัจจุบัน คนปั้นหม้อไม่ได้ใช้แรงงานของตนในการปั้นหม้ออีกแล้ว แต่เอาคนจนที่ไม่มีทางต่อรองมาเป็นแรงงานระดับต่างๆ และเพื่อจะแข่งขันกับโรงปั้นหม้ออื่น อย่างน้อยก็ไม่ให้เขามาซื้อกิจการของตนได้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเอาเปรียบแรงงาน เพื่อสะสมทุนไปขยายตลาดหรือขยายการผลิต

หน้าที่ของแรงงานปั้นหม้อ นอกจากต้องปั้นหม้อตามคำสั่งของนายแล้ว ควรรวมตัวกันเพื่อต่อรองบ้างไหม และเพื่อจะทำให้การรวมตัวกันเข้มแข็ง ควรร่วมในการนัดหยุดงานบ้างไหม คิดเลยไปให้ไกลกว่านี้ด้วยว่า เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงานโดยรวม แรงงานในกิจการปั้นหม้อควรรวมตัวกับแรงงานตีเหล็กด้วยไม่ใช่หรือ เพื่อทำให้การต่อรองของแรงงานทั้งหมดมีพลังเทียมเท่ากับอำนาจต่อรองของเจ้าของโรงงานปั้นหม้อ

เผด็จการธรรมิกสังคมนิยมจะทำอย่างไรดี แนวโน้มที่เห็นเป็นประจำและค่อนข้างชัด ซึ่งนักปราชญ์พุทธไม่ควรปฏิเสธก็คือ เผด็จการมักโน้มเอียงไปเข้าข้างเจ้าของโรงงานปั้นหม้อ บังคับให้แรงงานยอมรับค่าตอบแทนที่เจ้าของโรงงานเสนอ ส่วนการนัดหยุดงานข้ามสายงานนั้น เผด็จการมักถือว่าก่อกบฏ จึงจับกุมคุมขังผู้นำแรงงานหรืออุ้มหาย เหตุผลง่ายๆ ที่เผด็จการธรรมิกสังคมนิยมมักเข้าข้างเจ้าของโรงงานก็เพราะ หนึ่ง เขามีอำนาจต่อรองกับเผด็จการสูงกว่าแรงงานแยะ เช่น หยุดหรือย้ายการลงทุนไปที่อื่น เผด็จการก็อ้วกแตก เพราะจะมีคนตกงานจำนวนมาก หรือสอง เขามีกำไรจากกิจการพอจะจ่ายผลประโยชน์ให้แก่เผด็จการได้ ในขณะที่แรงงานไม่มีรายได้เหลือจากการยาไส้พอจะทำได้ ด้วยเหตุดังนั้น อำนาจเด็ดขาดของธรรมิกสังคมนิยมจึงไม่เคยเป็นอันตรายต่ออำนาจและผลประโยชน์ที่ถูกสถาปนาไว้แล้ว (The Establishment) สักที

ผมกลับไปอ่านวิวาทะของท่านพุทธทาสภิกขุกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อีกที ผมเห็นด้วยกับท่านตลอดเมื่อท่านพูดถึงหลักปฏิบัติที่ปัจเจกบุคคลพึงปฏิบัติ คือการไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เห็นด้วยเลยว่าย่อมนำความสุขอย่างละเอียดอ่อนมาให้แก่บุคคลอย่างแน่นอน แต่เมื่อนำหลักนี้มาใช้กับสังคมโดยรวม ผมมองเห็นปัญหาอย่างเดียวกับที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มองเห็น แต่เป็นปัญหาคนละอย่างกัน

คุณคึกฤทธิ์เกรงว่า หากฆราวาสปฏิบัติธรรมถึงขั้นนี้ ก็เป็นอันไม่ต้องพัฒนาอะไรกันต่อไป เพราะไม่ยึดติดเสียแล้วก็สิ้นความพยายามที่จะปฏิบัติหน้าที่ทางโลกของตนต่อไป

ท่านพุทธทาสแก้ว่า ตรงกันข้าม การปฏิบัติหน้าที่ทางโลกอย่างไม่ยึดติดหรือ “จิตว่าง” กลับยิ่งทำให้ปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพเสียยิ่งกว่า เช่นทหารยิงปืนได้แม่นกว่า ถ้าไม่ได้เล็งปืนไปยิงดาวให้ร่วงลงบนบ่า, หรือโกรธแค้นเกลียดชังศัตรู ฯลฯ แต่ทำ “หน้าที่” ของตนอย่างไม่ยึดติด ท่านนิยาม “หน้าที่” ของทหารว่า เพื่อปกป้องชาติและศาสนา

เอาล่ะสิครับ เริ่มจะยุ่งแล้ว ท่านนิยามหน้าที่ว่าคือธรรมะ ซึ่งฟังดูเป็นฮินดูมากทีเดียว แต่ปัจเจกบุคคลในสังคมปัจจุบันมีธรรมะที่ไม่ตรงกันทีเดียว ผมอาจปฏิบัติหน้าที่ด้วย “จิตว่าง” จาก “ตัวกูของกู” ได้ คือไม่ใช่เพื่อป้อนกิเลสของตนเอง แต่ยังมีการยึดติดบางอย่างที่เหนือตัวตนเหลืออยู่ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งด้วย

สมมติว่าพลสไนเปอร์ซึ่งถูกสั่งให้ยิงคนเสื้อแดงใน พ.ศ.2553 เพื่อนที่ชี้เป้าอยู่ข้างๆ ชี้คนที่วิ่งอยู่ข้างล่าง พลสไนเปอร์เล็งปืนแล้ว ฉุกคิดได้ว่ามันมีวิธีสลายการชุมนุมที่ไม่ต้องมีคนเจ็บคนตายได้อีกหลายสิบอย่าง ทำไมต้องใช้อาวุธทำร้ายคนที่ปราศจากอาวุธอย่างนั้นด้วย ลูกหลานกูและลูกหลานมึงจะอยู่ในสังคมแบบนี้ต่อไปได้หรือ ความลังเลนี้ทำให้ยิงพลาดเป้า คนที่วิ่งอยู่ข้างล่างจึงสามารถวิ่งหลบไปอยู่ซอกตึกได้

จิตที่ไม่ว่างของพลสไนเปอร์เป็นการคิดถึง “ธรรมะ” ที่เหนือกว่า “ตัวกูของกู” เสียอีกไม่ใช่หรือ ที่สำคัญกว่าคือเหนือกว่าความคิดที่เต็มไปด้วย “ตัวกูของกู” ของผู้บังคับบัญชาไปจนถึงรัฐบาล

แน่นอน “ธรรมะ” หรือหน้าที่ดังกล่าวนี้ เป็นธรรมะทางสังคม หรือธรรมะเพื่อคนอื่น ซึ่งในทัศนะของผม (อันอาจผิดด้วยความเขลาของตนเอง) แล้ว นับเป็นจุดอ่อนของพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยอย่างยิ่ง

มีความขัดแย้งเชิงคุณค่าอย่างนี้ในคนของโลกสมัยใหม่อย่างมาก ขัดแย้งแม้ในคนๆ เดียวกัน ผมไม่ทราบหรอกว่าคนโบราณต้องเผชิญความขัดแย้งเช่นนี้หรือไม่ แต่อคติส่วนตัวชวนให้คิดว่า ไม่น่าจะต่างกันมากนัก ฆ่าพ่อแล้วจึงต้องสร้างเจดีย์สูงเท่านกเขาเหิน

ความขัดแย้งในเชิงอุดมคติ เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ด้วยไม่ใช่หรือ

พุทธธรรมตามแนวของพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยเป็นอุดมคติสูงสุดที่ไม่ขัดแย้งกันเองก็จริง เมื่อใช้กับปัจเจกบุคคล แต่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมด้วย เราจะขยายพุทธธรรมมาใช้กับสังคมได้หรือไม่ และได้แค่ไหน ยังไม่มีคำตอบที่น่าเชื่อถือจากชาวพุทธไทย

 

ที่มา: www.matichonweekly.com/column/article_109822

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท