องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ ปี 2561

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากลเผยผลสำรวจ ‘ITUC Global Rights Index 2018' ระบุ 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานได้แก่ แอลจีเรีย, บังกลาเทศ, กัมพูชา, โคลัมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์, ซาอุดิอาระเบีย และตุรกี ส่วน ‘ไทย’ ยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ เหมือน 3 ปีก่อน

25 มิ.ย. 2561 ในรายงาน 2018 ITUC Global Rights Index ของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation หรือ ITUC) ที่เผยแพร่เมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่าจากการประเมินประเทศทั้งหมด 142 ประเทศ พบว่ามีการลดพื้นที่ทางประชาธิปไตยซึ่งทำให้เกิดการจำกัดการเคลื่อนไหวของแรงงานโดยตรง รวมทั้งการเอาเปรียบแรงงานของภาคกรธุรกิจที่มักจะไม่ได้รับการตรวจสอบมีเพิ่มมากขึ้นในปี 2561 โดยในรายงานฉบับนี้ได้ประเมิน 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานไว้ คือ แอลจีเรีย, บังกลาเทศ, กัมพูชา, โคลัมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์, ซาอุดิอาระเบีย และตุรกี

จากประเทศทั้งหมด 142 ประเทศที่ ITUC ได้ทำการประเมินนั้น มีประเทศที่มีการจับกุมและคุมขังแรงงานโดยพลการเพิ่มขึ้นเป็น 59 ประเทศ (จาก 44 ประเทศ ในปี 2560) ส่วนการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นนั้นมีถึง 54 ประเทศ นอกจากนี้มี 65% ที่ตัดเรื่องการรวมตัวกันของคนทำงานออกจากกฎหมายแรงงาน อีก 87% มีการละเมิดสิทธิในการหยุดงานประท้วงของคนทำงาน และมีถึง 81% ที่ปฏิเสธการเจรจาต่อรอง (บางส่วนหรือทั้งหมด) กับคนทำงาน

ส่วนจำนวนประเทศที่มีความรุนแรงทางร่างกายและภัยคุกคามต่อคนทำงานเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งรวมถึงประเทศบาห์เรน, ฮอนดูรัส, อิตาลี และปากีสถาน ส่วนประเทศที่มีการฆาตกรรมสมาชิกสหภาพแรงงานมี 9 ประเทศ คือ บราซิล, จีน, โคลัมเบีย, กัวเตมาลา, กินี, เม็กซิโก, ไนเจอร์, ไนจีเรีย และแทนซาเนีย

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่าภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนคนงาน ระบบค้ำประกันโดยผู้อุปถัมภ์ (Kafala) ทำให้คนทำงานในภูมิภาคนี้เปรียบเสมือนทาสยุคใหม่นับล้านคน การปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทำงานยังคงอยู่ในซาอุดีอาระเบีย ส่วนความขัดแย้งในลิเบีย, ปาเลสไตน์, ซีเรีย และเยเมน ได้นำไปสู่การล่มสลายของหลักนิติธรรม การเลือกทำงานที่มีคุณค่าเป็นเรื่องที่ยากลำบาก การประท้วงอย่างสันติได้รับการโต้ตอบอย่างรุนแรงโดยรัฐ และความพยายามในการจัดตั้งขบวนการแรงงานที่เป็นอิสระก็ถูกบั่นทอนอย่างเป็นระบบโดยรัฐในประเทศแอลจีเรียและอียิปต์

ส่วนในเอเชียแปซิฟิก ความรุนแรงต่อคนทำงานก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิทธิในการนัดหยุดงานถูกบั่นทอน มีการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมแรงงานและผู้นำสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทั้ง 22 ประเทศในภูมิภาคนี้ได้ละเมิดการเจรจาต่อรองและสิทธิในการประท้วงของคนทำงาน การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมยังคงมีให้เห็น เช่นในอินโดนีเซียมีการปลดพนักงานถึง 4,200 คน ที่บริษัทเหมืองแร่ PT Freeport ส่วนที่กัมพูชาโดยมีพนักงาน 558 คน ถูกไล่ออกหลังจากการประท้วงที่โรงงานเพียงแห่งเดียว เป็นต้น

ในแอฟริกาแรงงานมีความรุนแรงทางกายภาพถึง 65% ของประเทศในภูมิภาค การประท้วงในประเทศไนจีเรียถูกกองทัพปราบปรามอย่างรุนแรงและคนงานคนหนึ่งถูกสังหารโดยมือปืนปริศนาระหว่างการประท้วง

ทวีปอเมริกายังคงคุกรุ่นไปด้วยความรุนแรงในการปราบปรามคนทำงานและสมาชิกสหภาพแรงงาน ในโคลอมเบียเพียงประเทศเดียว มีนักสหภาพแรงงาน 19 คน ถูกฆาตกรรมเมื่อปีที่ผ่านมา

ส่วนประเทศในยุโรป 58% มีการละเมิดสิทธิการเจรจาต่อรอง และ 3 ใน 4 ของประเทศทั้งหมดมีการละเมิดสิทธิในการประท้วงของคนทำงาน

อนึ่งดัชนีนี้ ITUC ได้จัดอันดับความรุนแรงของการละเมิดสิทธิแรงงานจากมากไปหาน้อย 6 ระดับคือตั้งแต่ +5,5,4,3,2 และ 1 สำหรับประเทศไทย ITUC จัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ (ความรุนแรงระดับที่ 4) เช่นเดียวกับรายงานเมื่อปี 2560 ปี 2559 และปี 2558

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ ปี 2560
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ ปี 2559
องค์กรแรงงานสากลเผย 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ ปี 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท