Skip to main content
sharethis

ไพบูลย์ นิติตะวัน ร่วมตัดเกรดประชาธิปไตยชี้จนถึงปี 2557 ยังสอบไม่ผ่าน ประชาชนเห็นว่าประชาธิปไตยมีปัญหาต้องปฏิรูป ส่วนยุค คสช. ต้องถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ต้องให้คะแนน เชื่อเมื่อไหร่ที่พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือประชาชน ประชาชนมีบทบาทโดยตรง ประชาธิปไตยไทยจะมั่นคงสอบผ่านแน่นอน

24 มิ.ย. 2561 ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตวุฒิสมาชิกสรรหาแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. และว่าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปร่วมให้คะแนนประชาธิปไตยไทย ชี้นิยามของประชาธิปไตยของเขาคือ 1. ประชาชนต้องมีส่วนร่วม มีบทบาทโดยตรง 2. มีสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็น รวมทั้งรับฟังความเห็นต่างเคารพความคิดเห็นคนอื่นแม้ว่าจะไม่เห็นด้วย ซึ่งอย่างน้อยต้องขอชมเชยผู้ที่มาร่วมงานเสวนาครั้งนี้ที่ยอมรับฟังความเห็นต่างได้ ถือเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ถ้าพูดถึงสถานการณ์ประเทศตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 ต้องแยกมิติ เพราะ 2475 เริ่มต้นโดยคณาธิปไตย

จากนั้นมีช่วงที่เสียงไมโครโฟนของไพบูลย์หายไป ทำให้ทีมของผู้จัดงานต้องช่วยเปลี่ยนไมโครโฟน โดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการ กล่าวแซวว่า "ไม่ได้แกล้งนะครับ หรือจะเป็นทีมงาน" ทำให้ไพบูลย์ตอบติดตลกว่า "ว่าแล้ว"

ไพบูลย์พูดต่อว่าถ้าประชาธิปไตยในนิยามที่จะต้องมีการเลือกตั้ง ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงหลายๆ บทบาทหรือทางอ้อมก็แล้วแต่ แต่ในปี 2475 เป็นคณาธิปไตย และหลังจากนั้นก็มีการรัฐประหารหลายครั้ง รวมทั้งตอนปัจจุบันต้องถือว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ต้องให้คะแนน เพราะเขาบอกว่าเขาเป็นรัฐประหาร

สิ่งที่สำคัญถ้าพูดถึงประชาธิปไตย ต้องพูดถึงช่วงที่มีการเลือกตั้ง ถ้าผมจะให้คะแนนผมต้องให้คะแนนช่วงที่มีการเลือกตั้ง จนมีระดับพัฒนาการมาจนถึงปี 2557 ซึ่งการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วม มีความเห็นต่างๆ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แต่มีประชาชนจำนวนมากประเมินว่าประชาธิปไตยของไทยในเวลานั้นมีปัญหาต้องปฏิรูป ดังนั้นการเลือกตั้งในปี 2557 ไม่รวมช่วงนี้ ถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่สอบตก

ในช่วงนี้มีผู้ชมตะโกนขึ้นมา ทำให้ไพบูลย์ตอบว่า "เป็นความคิดเห็นของผมนะครับ" แล้วพูดต่อว่าประชาธิปไตยที่สำคัญคือการแสดงความคิดเห็น ผมก็เห็นอย่างนี้ ผมก็แสดงความคิดเห็น ความสวยงามอยู่ตรงนี้ ผมเห็นว่าไม่ผ่านจนถึงปี 2557 แต่ว่าช่วงนี้เวลานี้เฉพาะเวทีนี้เป็นประชาธิปไตยนะ ส่วนของนอกเขายอมรับว่าเขาไม่เป็นประชาธิปไตย

ต่อมา ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ถามว่าเป็นเพราะนักเลือกตั้งที่ฉ้อฉลหรือเปล่า ถ้าเทียบกับคณะรัฐประหาร อันไหนคืออุปสรรค ทำให้ไพบูลย์ตอบว่า ผมว่ามันไปเทียบกันไม่ได้ นักรัฐประหารชื่อก็บอกอยู่แล้วไม่ได้มาตามแบบประชาธิปไตย แต่ถ้าเป็นประชาธิปไตย การเมืองในมิติที่ผ่านมา ส่วนใหญ่นักการเมือง พรรคการเมืองถ้ายังอิงแอบประชาธิปไตย แล้วใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ ประชาธิปไตยไม่มีวันก้าวหน้า แต่ถ้าเมื่อไหร่สามารถทำให้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือของประชาชน แล้วประชาชนใช้อำนาจโดยตรงได้ ประชาชนมีบทบาทโดยตรงกับการเมืองแล้ว ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยจะมั่นคงแล้วก็สอบผ่านอย่างแน่นอน

คลิปอภิปรายเป็นส่วนหนึ่งจากงานเสวนาพิเศษ "WAKE UP THAILAND SPECIAL ตอน “86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน" ที่ Voice Space สถานีโทรทัศน์ Voice TV 21 ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อ 24 มิถุนายน 2561 ดำเนินรายการโดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ชวนตัวแทน 10 พรรคการเมืองร่วมอภิปราย

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net