สงครามการค้า, ความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และโอกาสของไทยในธุรกิจโลกที่ผันผวน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

อเมริกาเปิดสงครามการค้ากับจีนด้วยการขึ้นภาษีร้อยละ 25 กับสินค้าหลายประเภทที่มาจากจีน จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากอเมริกาด้วยมาตรการแบบเดียวกัน การตอบโต้ทางการค้าของทั้งสองประเทศลามไปถึงยุโรป, แคนาดาและเม็กซิโก และทำให้หลายฝ่ายกังวลใจกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อการค้าโลกอย่างที่กรุงเทพธุรกิจเขียนไว้ในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ในวันจันทร์ที่ผ่านมา

แน่นอนว่าเราตระหนักถึงความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นกับการค้าโลก แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความผันผวนย่อมนำมาซึ่งโอกาส และผู้ที่คว้าโอกาสไว้ได้ อาจครอบครองส่วนแบ่งการตลาดใหม่ๆ ไปอีกนาน

รายการสินค้ากว่า 1,300 รายการ ที่อเมริกาตั้งกำแพงเพิ่มภาษีจากจีนคือโอกาส รายการทั้งหมดมียอดนำเข้าจากจีนปีละ 34,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี ผมได้เข้าไปดูรายการที่โดนขึ้นภาษีและเห็นว่าหลายรายการเป็นรายการที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต เช่น เคมีภัณฑ์ (โพลีไวนิล, โพลีเอทธีลีน), แม่พิมพ์ขึ้นรูปงานพลาสติกประเภทต่างๆ , เครื่องจักรขึ้นรูปโลหะด้วยระบบไฮโดรลิค (hydraulic press) หรือหลอดไฟแอลอีดี เป็นต้น

เฉพาะหลอดไฟแอลอีดีอย่างเดียว อเมริกานำเข้าจากจีนปีละ 637 ล้านดอลลาร์ หรือคร่าวๆ 2 หมื่นล้านบาท หากเราสามารถระบุบริษัทที่นำเข้าหลอดไฟแอลอีดีในอเมริกาแล้วเชิญให้ลองใช้ผลิตภัณฑ์จากไทยได้ เราอาจได้ส่วนแบ่งการตลาด 2 หมื่นล้านนี้บางส่วน กว่าสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกาจะจบ ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทนำเข้าในอเมริกาและบริษัทส่งออกจากไทยอาจแน่นแฟ้นเกินกว่าจีนจะเอาส่วนแบ่งการตลาดคืนไปแล้ว

รายการที่จีนตอบโต้สินค้านำเข้าจากอเมริกาน่าสนใจไม่แพ้กัน ส่วนใหญ่เป็นรายการสินค้าเกษตรซึ่งมาจากรัฐที่เป็นฐานเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์, พลังงานในรูปแบบต่างๆ , เคมีภัณฑ์, น้ำมันหล่อลื่นและรถยนต์ประเภทเอสยูวี สินค้าที่รัฐและเอกชนไทยน่าจะรีบติดต่อทางการค้าในโอกาสที่ผู้นำเข้าต้นทุนกำลังจะเริ่มสูงขึ้นในการนำเข้าสินค้าครั้งต่อไป คือรายการที่อยู่ใบบัญชีที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน เช่นเคมีภัณฑ์, ข้าว, ลองกอง, ทุเรียน และรถยนต์เอสยูวี (ดู disclaimer)

มองให้ไกลกว่านั้น การลดกำแพงภาษีอาจไม่เกิดขึ้นง่าย เราสามารถใช้โอกาสนี้ดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยโดยอาศัยความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมโลก บริษัทที่อยู่ในอเมริกาและสินค้าของบริษัทของบริษัทนั้นโดนภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 คือเป้าหมายที่เราสามารถชักจูงให้บริษัทเหล่านั้นย้ายฐานการผลิตจากอเมริกามาผลิตที่ไทย (รวมถึงในทางกลับกัน คือใช้ไทยไปอเมริกา) อันจะนำมาซึ่งการลงทุนและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

ภายใต้กระแสการแข่งขันที่เชี่ยวกรากในอุตสาหกรรมระดับโลก เราต้องไม่มองแค่ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่มองว่าเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้วจะนำไปสู่อะไร ความสำเร็จไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มาจากการมองเห็นโอกาสและกล้าไขว่คว้ามัน

 

ป.ล.1: ผมนั่งไล่ดูรายการสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากทั้งสองประเทศจาก Financial Times ตามที่แนบมา
https://ig.ft.com/us-china-tariffs/

ป.ล.2: disclaimer – บริษัทที่ผมเคยทำงานมีส่วนได้ส่วนเสียหากผลักดันการส่งออกเอสยูวีจากไทยไปจีน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท