Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อิมมานูเอล คานท์
(www.wikiwand.com/th/อิมมานูเอล_คานต์)

ปริศนานิทานเรื่อง “เต่ากับปลา” เล่าว่า เมื่อเต่านำความจริงของโลกบนบกไปเล่าให้ปลาที่ตลอดชีวิตคุ้นเคยกับความจริงของโลกในน้ำเท่านั้น ปลาก็หัวเราะเยาะหาว่าเต่ามดเท็จ นิทานนี้แต่งในยุคที่อ้างความเป็น “สัพพัญญู” ผู้รู้ทุกสิ่งของพระศาสดา ซึ่งก็มีเหตุผลในแง่ว่าพระศาสดาคือคนที่ปลีกตัวออกมาจากโลกที่ผู้คนคุ้นชิน แล้วมาไตร่ตรองจริงจังถึงความจริงและคุณค่านามธรรมบางอย่างที่ต่างจากคนส่วนใหญ่สนใจ พระศาสดาจึงเปรียบเหมือนเต่าที่เอาความจริงใหม่ๆ มาบอกเล่าแก่ผู้คนทั้งหลายที่เปรียบเหมือนปลาในน้ำ

แต่ในยุคหลังพระศาสดา ที่เรียกว่ายุคประเพณีหรือยุคกลาง เมื่อศาสนาได้กลายมาเป็นสถาบันทางสังคม มีบทบาทสถาปนาระบบสังคมการเมืองแบบชนชั้นศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส ศาสนาก็กลายเป็นแม่น้ำ และผู้คนในยุคประเพณีก็คือปลาที่แหวกว่ายใน “แม่น้ำศาสนา” ที่คุ้นเคยกับวิธีคิดแบบศาสนาเป็นด้านหลัก นึกไม่ออกว่าถ้าไม่มีศาสนาคนเราจะมีศีลธรรมได้อย่างไร จะเอาอำนาจอะไรมาปกครองหากไม่ใช้อำนาจในนามพระเจ้าและธรรมะ และหากไม่มีศีลธรรมจรรยาและจารีตประเพณีแบบศาสนาให้ยึดถือเราจะอยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้อย่างไร อะไรที่จะเชื่อมโยงให้คนเราเป็นพวกเดียวกันได้เล่าหากปราศจากการนับถือศาสนาเดียวกันอย่างมั่นคงไม่แตกพวกไปนับถือศาสนาอื่น ซึ่งมักจะเป็นปรปักษ์ต่อศาสนาของพวกเรา

แน่นอนว่า ในแม่น้ำศาสนาเช่นนี้ หากใครริจะเป็นเต่านำความจริงแบบอื่นที่ขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนามาเล่า มันผู้นั้นย่อมกลายเป็น “คนนอกรีต” และสมควรรับโทษทัณฑ์ถึงตาย หรืออย่างน้อยก็กลายเป็นตัวประหลาดถูกปฏิเสธจากสังคม แต่ในทางประวัติศาสตร์ย่อมมีบุคคลเช่นนี้เกิดขึ้นเสมอๆ คนที่พยายามทำตัวเป็นเต่าเอาความจริงนอกศาสนามาเล่า และเต่าพวกนี้เองที่ให้กำเนิดความรู้ทางปรัชญา วิทยาศาสตร์และอื่นๆ และทำให้สังคมมนุษย์มีเสรีภาพจากอำนาจครอบงำของศาสนา

หนึ่งในบรรดาเต่าตัวสำคัญในยุคสว่างทางปัญญาของยุโรปคือ อิมมานูเอล คานท์ เขายืนยันการใช้เสรีภาพวิพากษ์แม่น้ำศาสนา และเสนอความจริงกับคุณค่าทางศีลธรรมนอกศาสนา เป็นเหตุให้กษัตริย์สั่งระงับการวิจารณ์ศาสนาของเขา ด้วยข้ออ้างว่าคำสอนของเขาเป็นภัยต่อศาสนา แต่แก่นสาระของข้อเสนอคานท์ คือเขาเสนอให้ “แยกศีลธรรมออกจากศาสนา” และ “แยกกฎหมายออกจากศีลธรรม” อันเป็นการสร้างรากฐานสำคัญรองรับหลักการของรัฐโลกวิสัยที่ถือว่า รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนาและให้หลักประกันที่มั่นคงแก่เสรีภาพ และความเสมอภาคทางศาสนา

บรรดาปลาในแม่น้ำศาสนาต่างอ้างว่าศีลธรรมเป็นเรื่องของ “การปฏิบัติ” เช่นพระศาสดาและคุรุทางศาสนาเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วจึงมาสอนให้คนอื่นศรัทธาและนำคำสอนนั้นไปปฏิบัติ เพื่อที่จะเป็น “คนดี” เมื่อเขาเป็นคนดีแล้วย่อมทำแต่ “สิ่งที่ถูกต้อง” เสมอ ไม่เหมือนพวกนักปรัชญาที่เอาแต่เสนอความคิด ทว่าชีวิตส่วนตัวมิได้เข้าถึงความสะอาด สว่าง สงบเอาเสียเลย (ฮีฮี่)

แต่ถ้ามองแบบคานท์ อาจถามได้ว่าแนวทางแบบศาสนาคือการทำให้ศีลธรรมเป็นเรื่องของ “การปฏิบัติ” อย่างแท้จริงงั้นหรือ เพราะเราเห็นคนประเภท “มือถือสากปากคาบคัมภีร์” เยอะแยะไป ถ้าจะให้ศีลธรรมเป็นเรื่องของการปฏิบัติอย่างแท้จริง เราต้องยืนยัน “สิทธิในการปกครองตนเองทางศีลธรรม” ของปัจเจกบุคคล สิทธิอันนี้ย่อมทำให้ศีลธรรมเป็นเรื่องความรับผิดชอบสูงสุดของเราแต่ละคน นั่นคือคุณจะมีศีลธรรมได้จริง ต้องเริ่มจาก “การปฏิบัติ” ขั้นพื้นฐานที่สุดเลย คือคุณต้องรู้จักใช้เหตุผลบัญญัติกฎศีลธรรมสำหรับตนเอง แต่ต้องบัญญัติขึ้นบนการเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ทุกคน

แปลว่า “เนื้อหา” ของกฎศีลธรรมไม่ได้ผูกติดกับคำสอนศาสนาหรืออิทธิพลของคนอื่น หรืออำนาจอื่นใดเหนือหัวเราอีกต่อไป แต่เนื้อหาของกฎศีลธรรมเป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลผู้มีสิทธิปกครองตัวเองทางศีลธรรมบัญญัติขึ้นมาเองบน “เจตจำนง” ที่มุ่งเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ เมื่อแต่ละคนต่างบัญญัติกฎศีลธรรมขึ้นมาบนเจตจำนงเดียวกันนี้ เจตจำนงในการเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ ย่อมกลายเป็น “เจตจำนงร่วม” ของทุกคน

ด้วยหลักการพื้นฐานที่ว่าศีลธรรมคือการสะท้อน “เจตจำนงร่วม” ของทุกคนในการเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ดังกล่าว จึงทำให้ศีลธรรมกลายเป็น “หน้าที่” ในการเคารพและทำตามหลักการและกฎใดๆ ที่สะท้อนการปกป้องเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์

ดังนั้น ศีลธรรมที่สะท้อนออกมาจากเจตจำนงร่วมดังกล่าว มันจึงเป็นเรื่องของการ “คิดถึงตัวเองและคนอื่นเสมอกัน” เราไม่ได้มีศีลธรรมเพื่อที่จะเป็นคนดีประเสริฐสูงส่ง สะอาดบริสุทธิ์กว่าคนอื่น หรือต้องการแสดงบทเป็น “ร่างทรงธรรมะ” ที่พูดอะไรเป็นสัจธรรมที่เถียงไม่ได้ ใครๆ ก็ศรัทธาเลื่อมใส สาธุ ขอแชร์  แต่เรามีศีลธรรมบนเจตจำนงเคารพตัวเองและคนอื่นเสมอกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่มีทางจะเป็นบุคคลประเภทที่มีความโน้มเอียง หรือมีนิสัย,บุคลิกภาพที่นิยมจะใช้ “อัตวิสัย” ของคนดีบนหลักศีลธรรมศาสนาซึ่งเป็นความเชื่อส่วนบุคคลมาตัดสินถูก ผิดในเรื่องสาธารณะอย่างไม่เคารพหลักการสาธารณะ เช่นการสนับสนุนรัฐประหารทั้งโดยตรงโดยอ้อม หรือใช้ตรรกะศีลธรรมส่วนตัวว่าถ้าเป็นคนมี “เจตนาดี” เพื่อชาติบ้านเมืองแล้วก็ย่อมร่วมงานกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ได้กับรัฐบาลจากรัฐประหารก็ดี โดยมิได้ตระหนักเลยว่า การเข้าร่วมงานกับรัฐบาลเผด็จการเท่ากับไปเพิ่มน้ำหนักให้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมที่กดทับสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชนทุกคนให้บดขยี้ได้ถนัดขึ้น

ตอนทำวิจัยเรื่อง “ความคิดทางจริยธรรมกับการเลือกฝ่ายทางการเมืองของพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบัน” ผมไปสัมภาษณ์พระที่มีชื่อเสียงที่มีบทบาทแสดงความเห็นทางสาธารณะ และที่ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง พบว่าพระสงฆ์ที่แสดงความเห็นทางสาธารณะที่นิยามว่าตนเองกลางและที่เลือกฝ่ายเหลือง-แดง ต่างมองว่า บทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองควรยึด “หลักทางสายกลาง” ก็คือควรเป็นกลาง แต่เป็นกลางไม่ได้แปลว่า “ไม่เลือกข้าง” ต้อง “เลือกข้างความถูกต้อง” นั่นคือเมื่อ “ธรรม” หรือ “ความถูกต้อง” อยู่ฝ่ายไหน ก็ต้องเลือกอยู่ฝ่ายนั้น ตกลงพระที่เลือกสนับสนุนแต่ละฝ่ายก็ “เลือกความถูกต้อง” หมดเลย

ทว่าความถูกต้องดังกล่าวไม่ใช่ “ความถูกต้องบนหลักการประชาธิปไตย” แต่เป็นความถูกต้องบนหลักทางสายกลางหรือธรรม ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไม่ได้สะท้อนถึงความเป็น “หลักการทั่วไป” ที่นักบวชด้วยกันเองเห็นร่วมหรือยึดถือปฏิบัติร่วมกันได้จริงๆ เลย ทางสายกลางหรือธรรมที่ใช้อ้างมาเกี่ยวเรื่องสาธารณะทางสังคมและการเมือง มีความหมายไปตามการใช้ “อัตวิสัย” ในการตีความคำสอนพุทธของแต่ละบุคคลเท่านั้นเอง

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเมื่อวิเคราะห์ถึงที่สุด ระบบศีลธรรมพุทธศาสนาและตามหลักฐานที่ปฏิบัติจริงในประวัติศาสตร์รัฐพุทธศาสนา เป็นระบบศีลธรรมที่ถือว่า “ความดีอยู่ที่ตัวคน” เมื่อแต่ละคนนำหลักธรรมมาปฏิบัติจนเป็นคนดี เขาจะทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้ถูก ผิดจึงออกมาจาก “อัตวิสัย” ของคนดี แต่ไม่ใช่อัตวิสัยที่มีเจตจำนงในการทำตามหลักการสาธารณะใดๆ ดังนั้นข้อสรุปบนหลักอัตวิสัยของคนดีแบบพุทธจึงสรุปออกมาอย่างพุทธทาสสรุปว่า ระบบการปกครองใดๆ ไม่ว่าจะราชาธิปไตย เผด็จการ สังคมนิยม หรือประชาธิปไตยจะดีได้ก็ต่อเมื่อมี “ธรรมาธิปไตย” คือมีคนดีมีคุณธรรมเป็นผู้ปกครอง

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในประวัติศาสตร์รัฐพุทธศาสนา ก็ย่อมอยู่บนพื้นฐานของ “อัตวิสัยทางศีลธรรม” ของผู้ปกครอง ดังนั้นในแต่ละยุคผู้ปกครองแต่ละคนจึงออกกฎในการควบคุมทางศาสนา หรือปฏิรูปศาสนาตามที่ตนเห็นสมควร แต่ยิ่งนานไปๆ จากการที่ผู้ปกครองเป็นเพียงธรรมราชาธรรมดาๆ ก็ค่อยๆ กลายมาเป็นสมมติเทพ เทพอวตาร พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัวที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการรักษาความบริสุทธิ์ถูกต้องของคำสอนตามคัมภีร์และวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการพยายามอธิบายว่า “ยุคเก่ากษัตริย์อุปถัมภ์พุทธศาสนา เมื่อเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลหรือรัฐประชาธิปไตยต้องทำหน้าที่นี้แทนกษัตริย์” จากฐานคิดนี้และจากความเป็นจริงที่ว่าการสร้างประชาธิปไตยลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด ยังไม่สามารถกำหนดกติกาการปกครองขึ้นมาบนหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนได้จริง การแก้กฎหมายสงฆ์หรือการปฏิรูปพุทธศาสนาจึงยังคมดำเนินไปตามอัตวิสัยของผู้ปกครองแต่ละยุคเช่นเดิม ซึ่งมักจะทำให้วิกฤตการเมืองทางโลกและวิกฤตการเมืองสงฆ์เกี่ยวโยงกันตลอด ขณะที่รัฐปัจจุบันที่รับช่วงการอุปถัมภ์พุทธศาสนามาจากรัฐยุคเก่า ก็บังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมพุทธในหลักสูตรการศึกษาของรัฐ และเพิ่มบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐมี “หน้าที่” อุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนารัดกุมขึ้นเรื่อยๆ

ถามว่า โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาที่วางอยู่บนระบบคิดแบบรัฐยุคเก่าดังกล่าวนี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยไหม? ถ้าเราถือว่ารัฐประชาธิปไตยต้องเป็นกลางทางศาสนา รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา มันก็ย่อมเป็นอุปสรรคแน่นอน เพราะการเป็นกลางทางศาสนาของรัฐย่อมอยู่บนการยืนยัน “สิทธิในการปกครองตนเองทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคล” รัฐจึงบังคับเรียนเพื่อปลูกฝังศีลธรรมทางศาสนาใดๆ ไม่ได้ และต้อง “แยกกฎหมายออกจากศีลธรรมศาสนา” จึงออกกฎหมายปกป้องและสนับสนุนความเชื่อทางศาสนา อันเป็นความเชื่อส่วนบุคคลของกลุ่มศาสนาใดๆ ไม่ได้ เรื่องศีลธรรม ความเชื่อทางศาสนาเป็นเรื่องภายในใจหรือจิตวิญญาณของแต่ละคน ที่ต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือก รัฐจะให้อำนาจแก่องค์กรศาสนาใดๆ ไปใช้ตัดสินถูกผิดถึงระดับแทรกแซงจิตสำนึก หรือเรื่องในใจ ในจิตวิญญาณของประชาชนไม่ได้

ยิ่งกว่านั้น ถ้าหากเรามองความจริงอย่างตรงไปตรงมาจะเห็นว่า ภายใต้โครงสร้างรัฐอุปถัมภ์ศาสนาแบบที่เป็นมาและเป็นอยู่ นอกจากองค์กรศาสนาจะอยู่ในเครือข่ายระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่ทำหน้าสอนศีลธรรมสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแล้ว พุทธศาสนาไทยภายใต้โครงสร้างเช่นนี้ยังผลิตนักคิด ปราชญ์ นักวิชาการ ผู้รู้ทั้งพระและฆราวาส พระเซเลบพุทธที่เก่งในเรื่องสร้างแนวคิดและประดิษฐ์วาทกรรมทางศีลธรรมสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเสมอมา อีกทั้งระบบการศึกษาของรัฐที่บังคับเรียนพุทธศาสนาควบคู่กับ "หน้าพลเมือง" ที่ยึดอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมสูงสุด ย่อมผลิต “พลเมืองดี” ที่มีหน้าที่ค้ำอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมบวกกับการใช้อัตวิสัยทางศีลธรรมของ “คนดี” แบบพุทธเหนือการเคารพหลักการสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยเสมอไป

จึงเป็นจริงดังที่เพื่อนนักวิชาการบางคนบอกว่า รัฐประหารซ้ำๆ ในสังคมไทย มันไม่ได้เกิดจาก “อำนาจปืน” อย่างเดียว แต่มันมีระบบคิดทางศีลธรรมรองรับความชอบธรรมของระบบอำนาจนิยมเป็นฐานหรือเป็นพลังสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง

ดังนั้น ถ้าเชื่อว่าการสร้างประชาธิปไตยเกี่ยวอย่างสำคัญกับการวางรากฐานความคิดหรืออุดมการณ์จิตสำนึกเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และศักดิ์ศรีของมนุษย์ ย่อมหนีไม่พ้นที่เราจะสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาบนรากฐานที่ถูกต้องหรือสอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย


 

ปล. ตามความคิดของคานท์ การบัญญัติกฎหมายขึ้นบนหลักเสรีภาพ, ความเสมอภาค, อิสรภาพ และศักดิ์ศรีของมนุษย์ไม่จำเป็นต้องบัญญัติขึ้นบนรัฐประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ด้วยประสบการณ์หรือข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ เราพบว่ารัฐประชาธิปไตยสามารถให้หลักประกันคุณค่าพื้นฐานดังกล่าวได้ดีกว่า แม้ไม่ได้ดีที่สุด แต่ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยมันเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูกได้และปรับปรุงให้ดีขึ้นได้เรื่อยๆ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net