เผยนโยบายรัฐบาลพม่าเลือกปฏิบัติ กีดกันชาวพม่ามุสลิมพิสูจน์สัญชาติ-ทำบัตรแรงงาน

เครือข่ายสิทธิมนุษยชนพม่า (BHRN) เปิดตัวรายงาน "พลเมืองที่ถูกลืม" ชี้แรงงานข้ามชาติชาวพม่าเชื้อสายมุสลิมถูกเลือกปฏิบัติจากนโยบายสัญชาติของทางการพม่า โดยมีชาวพม่ามุสลิมจำนวนมากไม่สามารถยื่นขอหนังสือสำคัญประจำตัว หรือ CI ได้ ซึ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถขอจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติจากทางการไทยที่กำลังจะถึงเส้นตาย 30 มิถุนายนนี้ได้ โดย BHRN เรียกร้องรัฐบาลพม่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย นับรวมชนกลุ่มน้อยในประเทศ ยุติบทบาทกองทัพ และขอทางการไทยจัดทำใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้แก่แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในไทยอยู่แล้ว

เครือข่ายสิทธิมนุษยชนพม่า (Burma Human Rights Network - BHRN) แถลงข่าวและเผยแพร่รายงาน "พลเมืองที่ถูกลืม" (Existence Denied) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โดยเปิดเผยว่ายังคงมีแรงงานข้ามชาติชาวพม่าเชื้อสายมุสลิมที่ไม่สามารถยื่นขอหนังสือสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity - CI) จากศูนย์พิสูจน์สัญชาติของทางการพม่า ซึ่งทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบในขั้นตอนจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ การยื่นขอใบอนุญาตทำงานของทางการไทยที่กำลังจะถึงเส้นตาย 30 มิถุนายนนี้ (อ่านรายงานฉบับเต็ม)

หน้าแรกของรายงาน "พลเมืองที่ถูกลืม" ของเครือข่าย BHRN

จ่อวิน ผู้อำนวยการเครือข่าย BHRN แถลงว่า ที่เรียกรายงานฉบับนี้ว่า "พลเมืองที่ถูกลืม" (Existence Denied) ก็เพราะชาวพม่าเชื้อสายมุสลิมที่แม้จะเกิด เติบโต และมีบรรพบุรุษอยู่ในพม่า แต่พวกเขากลับถูกโดดเดี่ยวและถูกปฏิเสธการมีตัวตนจากนโยบายสัญชาติ และการเลือกปฏิบัติของรัฐบาลพม่า

โดยในรายงาน "พลเมืองที่ถูกลืม" เครือข่าย BHRN ได้เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2561 สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 36 ครอบครัวแรงงานข้ามชาติชาวพม่าเชื้อสายมุสลิมใน 4 พื้นที่ชายแดนด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก โดยเน้นสัมภาษณ์สมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้หญิง ซึ่งในระยะหลังพวกเขาเป็นผู้ที่เป็นปากเสียง และมีบทบาทในชุมชนในการทำเรื่องเอกสาร เรื่องสัญชาติ

สำหรับภูมิลำเนาของกลุ่มสำรวจครอบครัวชาวพม่ามุสลิม 34 ใน 36 ครอบครัวมาจากรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และภาคย่างกุ้ง โดยมีเพียง 2 ครอบครัวที่ระบุว่ามาจากรัฐยะไข่ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ประสบวิกฤตมนุษยธรรมกรณีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามุสลิม

โดยรายงานของ BHRN พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ 78% ไม่มีเอกสารแสดงความเป็นพลเมืองที่ออกให้โดยรัฐบาลพม่า ทั้งที่ทุกคนเกิดในพม่ามาหลายรุ่น มีเพียง 3% ที่ถือบัตรประชาชนพม่า และอีก 19% ถือบัตรพิสูจน์สัญชาติหรือ (tri-fold) ที่ออกให้พลเมืองผู้อาศัยและพลเมืองแปลงสัญชาติ

 

กฎหมายสัญชาติยุครัฐบาลทหารพม่า ต้นเหตุกีดกัน-เลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ตามกฎหมายสัญชาติของพม่าฉบับที่มีการบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) สมัยรัฐบาลทหารของนายพลเนวิน กำหนดสถานะประชากรเป็น 1. พลเมืองพม่า 2. พลเมืองผู้อาศัย และ 3. พลเมืองแปลงสัญชาติ โดยผู้ที่จะถือเป็นพลเมืองพม่าจะต้องมีพ่อแม่เป็นพลเมืองพม่า หรือมีชาติพันธุ์ 1 ใน 135 ชาติพันธุ์ที่พม่ารับรอง คุณสมบัติอื่นคือสามารถพิสูจน์ได้ว่าบรรพบุรุษอยู่ในพม่าก่อนปี พ.ศ. 2367 (ค.ศ.1824) หรือก่อนสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 1 ที่ทำให้ราชวงศ์คองบองสูญเสียดินแดนมณีปุระ อาระกัน และตะนาวศรี

ขณะที่ประชากรกลุ่ม 2. พลเมืองผู้อาศัย และ 3. พลเมืองแปลงสัญชาติ ภายใต้กฎหมายสัญชาติ 1982 พวกเขาจะถูกจำกัดสิทธิหลายประการ โดยไม่สามารถรับราชการ ไม่สามารถเรียนในวิทยาลัยแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์ได้ โดยส่วนมากประชากรพม่าที่บรรพบุรุษมาจากอินเดียและจีนจะถูกจัดให้อยู่ในประชากรกลุ่มนี้

จ่อวิน ผู้อำนวยการเครือข่าย BHRN ยังกล่าวด้วยว่า "สิ่งนี้เกิดขึ้นดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วไปในพม่า และเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลพม่า ก่อให้เกิดผลกระทบกับประเทศเพื่อนบ้าน และจะทำให้เกิดคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และผู้อพยพเกิดขึ้นจำนวนมากในประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับพม่า"

ในรายงานสรุปของเครือข่าย BHRN อ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไทยท่านหนึ่งที่อธิบายถึงวิกฤตการณ์นี้ว่า "ในอนาคต เราจะยังคงต้องเจอคนไร้สัญชาติกลุ่มนี้ต่อไป อีกหลายชั่วอายุคน"

เครือข่าย BHRN ยังค้นพบหลักฐานความไร้สัญชาติของแรงงานข้ามชาติชาวพม่ามุสลิมกลุ่มนี้ว่าเป็นเหมือนมรดกที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ตอนนี้หลายคนที่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะทางกฎหมายนั้น อย่างน้อยเป็นคนรุ่นที่สองของครอบครัวที่กำลังประสบปัญหาความไร้สัญชาติอยู่ แรงงานข้ามชาติชาวพม่ามุสลิมส่วนใหญ่ที่ทาง BHRN สัมภาษณ์กล่าวว่า ลูกของพวกเขาไม่มีบัตรประชาชนของทั้งพม่าและไทย พวกเขาอาจจะเป็นรุ่นที่สามของครอบครัวที่ถูกบังคับให้อยู่อย่างไร้สัญชาติ ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา เว้นแต่จะมีการดำเนินมาตรการต่างๆ โดยรัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่งเพื่อรับรองพวกเขา

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยกำหนดให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศจำนวน 1 ถึง 2 ล้านคน พิสูจน์สัญชาติโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประเทศพม่า โดยพวกเขาจะได้รับ "หนังสือสำคัญประจำตัว" (CI) และใบอนุญาตทำงานที่ออกให้โดยกรมจัดหางานของไทยภายหลัง

อย่างไรก็ตามชาวพม่าเชื้อสายมุสลิมแจ้งกับเครือข่าย BHRN ว่า เมื่อพวกเขายื่นขอหนังสือสำคัญประจำตัว (CI) ต่อศูนย์พิสูจน์สัญชาติของทางการพม่า พวกเขาจำเป็นต้องพิสูจน์รากเหง้าในพม่า โดยต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งมากกว่าเอกสารที่เจ้าหน้าที่เรียกจากพลเมืองพม่ากลุ่มอื่น นอกจากนั้นหลายคนแจ้งกับเครือข่าย BHRN ว่าเมื่อพวกเขาพยายามพิสูจน์สัญชาติของพวกเขาตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานข้ามชาติฉบับปัจจุบัน เจ้าหน้าที่บอกพวกเขาว่า "เราไม่ให้หนังสือสำคัญประจำตัว (CI) แก่ชาวมุสลิม" โดยกรณีศึกษาของ BHRN พบว่าชาวพม่ามุสลิมถูกปฏิเสธการขอหนังสือสำคัญประจำตัว (CI) สูงกว่าสองเท่า เมื่อเทียบกับจำนวนชาวพม่ามุสลิมที่ได้รับการรับรองหนังสือ CI

ทั้งนี้หลังพ้นเส้นตาย 30 มิถุนายน 2561 ที่เป็นวันสุดท้ายของการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ผู้ที่ไม่สามารถดำเนินตามกระบวนการนี้ได้ตามเวลาที่กำหนด จะถูกพิจารณาว่าเข้ามาทำงานในประเทศไทยผิดกฎหมาย หากจับได้จะต้องเสียค่าปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท ซึ่งเป็นค่าปรับที่สูง เมื่อเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนของแรงงานที่ไม่มีเอกสารประจำตัวที่ได้เพียงเดือนละ 8,000 บาท และนอกจากค่าปรับแล้ว แรงงานข้ามชาติที่ขาดเอกสารที่ราชการไทยออกให้จะถูกเนรเทศและห้ามไม่ให้ยื่นขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยเป็นเวลา 2 ปี

BHRN เปิดเผยด้วยว่า แม้จะเกิดภัยคุกคามที่รุนแรงขึ้นจากการปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่ แต่ชาวพม่ามุสลิมเกือบทั้งหมดที่ให้ข้อมูลกับ BHRN ได้สัมภาษณ์กล่าวว่าพวกเขาอยากอยู่ในประเทศไทยมากกว่าที่จะเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาของพวกเขา เพราะกองทัพยังคงมีบทบาทในประเทศ ในอดีตกองทัพพม่าได้กีดกันสิทธิพื้นฐานและความต้องการของกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนามาโดยตลอด และสิ่งเหล่านั้นยังคงดำเนินต่อไปภายใต้รัฐบาลกลางที่นำโดยอองซานซูจี

ในรายงานสรุปของ BHRN ยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่านำข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิการเป็นพลเมืองตามบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมาใช้เพื่อกำจัดทหารออกจากทุกบทบาททางการเมืองภายในประเทศ คนชายขอบในพม่าส่วนใหญ่จะต้องต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีทั้งในและนอกประเทศพม่าต่อไป

ข้อเสนอจากรายงาน

"พลเมืองที่ถูกลืม" (Existence Denied)

โดยเครือข่ายสิทธิมนุษยชนพม่า (BHRN)
 
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลพม่า
เพื่อแก้ปัญหาความไม่ยุติธรรมที่เกิดจากระบบโครงสร้าง
 
1. ต้องเริ่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นกลางและมีประชาธิปไตย เพื่อที่จะใช้กำจัดทหารออกจากทุกบทบาททางการเมืองในประเทศพม่าอย่างรวดเร็ว ต้องทำให้แน่ใจว่ามีการรวมไว้ซึ่งความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนาของประเทศพม่า และระบุกลไกอย่างชัดเจนเพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้
 
2. การระบุเชื้อชาติต้องไม่รวมอยู่ในสิทธิการเป็นพลเมือง ดังนั้น BHRN แนะนำให้ไม่ต้องระบุเชื้อชาติและศาสนาในบัตรประชาชน เนื่องจากปัจจุบันมีการนำสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการเลือกปฏิบัติ
 
3. สร้างคณะกรรมการจากผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับรากหญ้าที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนาเพื่อร่างกฎหมายสัญชาติให้สอดคล้องกับหลักบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชน
 
ในระหว่างนี้ 4. ให้ยกเลิกกฎหมายเชื้อชาติและศาสนา
 
5. สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองต้องหยุดการบังคับให้ชาวมุสลิมขอสัญชาติเป็นชาวต่างชาติ ด้วยเหตุว่าพวกเขามีลักษณะทางชาติพันธุ์ซึ่งมีการพยายามจัดหมวดหมู่ให้พวกเขาเป็นกลุ่ม "เลือดผสม" ซึ่งเป็นการจำแนกประเภทซึ่งเชื่อมโยงกับการเลือกปฏิบัติไปตลอดชีวิตของพวกเขา
 
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย
1. (ก) ระงับกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ (CI) ไว้ชั่วคราว และจัดทำใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้แก่แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้วอย่างเร่งด่วน
 
(ข) ร่วมมือกับกลุ่มสิทธิแรงงานข้ามชาติ เพื่อกำหนดระบบการจัดทำเอกสารใหม่ที่จะช่วยให้แรงงานข้ามชาติทุกคนสามารถอาศัยและทำงานได้อย่างมีศักดิ์ศรีในประเทศไทย
 
(ค) ร่างนโยบายอย่างมีมนุษยธรรมเพื่อแก้ปัญหาสถานะทางกฎหมายของผู้ที่อยู่ในความดูแลของแรงงานข้ามชาติทั้งผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการ และงดเว้นการควบคุมตัวและการเนรเทศผู้ดูแลพวกเขาเหล่านั้นออกจากประเทศ
 
2. อนุญาตและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงให้กับองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนชุมชนเคลื่อนย้ายที่ไม่มีเอกสารประจำตัว เช่น ชาวพม่ามุสลิม ให้มากขึ้น
 
ข้อเสนอแนะต่อรัฐนานาชาติและผู้มีส่วนร่วม
1. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีการสนับสนุนทางการเงินหรือความชอบธรรมใดๆ ให้กับสถาบันและหน่วยงานของรัฐที่มีนโยบายผลักดันให้ชาวมุสลิมและชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติและศาสนาอื่นๆ ที่อยู่ในความเสี่ยงออกจากประเทศพม่าเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
 
2. สร้างแรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลพม่าในการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นกลางและมีประชาธิปไตย ที่จะกำจัดทหารออกจากทุกบทบาททางการเมืองในประเทศ และให้ครอบคลุมถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาของพม่า
 
3. เพิ่มงบประมาณให้กับองค์กรชุมชนในประเทศไทยที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจากพม่า ในการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของพวกเขาโดยเฉพาะช่วงวิกฤตและช่วงที่ถูกปราบปราม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท