Skip to main content
sharethis

เปิดลำดับเหตุการณ์กรณีทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากจนไร้ที่พึ่ง ก่อนการกินยาฆ่าตัวตาย ของ อดีตปลัด พม.

แฟ้มภาพ

29 มิ.ย.2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อช่วงสายของวันนี้ (29 มิ.ย.61) พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อายุ 60 ปี เสียชีวิตแล้ว จากการกินยาฆ่าตัวตาย โดยภรรยา ได้กินยาฆ่าตัวตายเช่นกัน มีอาการบาดเจ็บสาหัส นอนอยู่บนเตียงคู่กับร่างสามี ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปทุมธานีเป็นการด่วน บนโต๊ะ มีแก้วไวน์ น้ำดื่มวางไว้ข้างๆ 

สำหรับ พุฒิพัฒน์ เขาเป็นอดีตปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง) ยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดีอาญาความผิด หลังพบว่า พุฒิพัฒน์ และพรรคพวก มีการโยกย้ายเงินที่ทำการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง ไปแปลงเป็นทรัพย์สินอื่น ๆ รวมมูลค่ากว่า 88 ล้านบาท และให้ออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้กรณีทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากจนไร้ที่พึ่ง มีข้าราชการระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง รวม 12 ราย

โดยกรณีการเปิดเผยการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งมีลำดับเวลาดังนี้

7 ส.ค.– ปลาย ก.ย. 2560 ปณิดา ยศปัญญา หรือ แบม นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เข้าฝึกงานในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น  ในระหว่างเข้าฝึกงานผู้อำนวยการศูนย์ คือ พวงพะยอม จิตรคง และเจ้าหน้าที่อีก 3 คน ได้ให้ ปนิดา ช่วยทำเอกสารเบิกเงินสงเคราะห์ ผู้มีรายได้น้อยและเอกสารของผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยให้กรอกข้อมูลในสำเนาบัตรประชาชน และเอกสารการเบิกเงินจำนวน 2,000 ราย แต่ตนเห็นว่าการกระทำทั้งหมดนั้นเป็นการปลอมแปลงเอกสาร จึงตัดสินใจร้องเรียนเรื่องการทุจริตเงินสงเคราะห์ หรือ เงินคนจนกับสื่อมวลชน

21 ก.ย.2560 ปนิดา ยื่นเรื่องร้องเรียนโดยตรงต่อผู้ตรวจราชการของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่ได้ลงพื้นที่ตรวจงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง โดยผู้ตรวจราชการ แจ้งว่า ไม่สามารถรับเรื่องได้ แต่แนะนำให้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในช่วงต้นเดือน ต.ค. ปนิดา บอกเรื่องการปลอมแปลงเอกสารให้อาจารย์ที่ปรึกษาการฝึกงาน แต่อาจารย์ได้เรียกไปไกล่เกลี่ยกับคู่กรณีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำเอกสารปลอมร่วมกับผู้อำนวยการ แต่คู่กรณีไม่ยอมและบังคับให้ก้ม “กราบขอขมา” ถึงจะอภัยให้และให้ฝึกงานจบ และในวันที่ 11 ต.ค.2560 ปนิดาตัดสินใจทำหนังสือร้องเรียนส่งไปยังป.ป.ช. และเลขาธิการ คสช.

19 ต.ค.2560 ป.ป.ช.เรียกสอบปากคำ ปนิดา ที่ จ.ขอนแก่น ในช่วงเดือน พ.ย. 2560 เลขาธิการ คสช. ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐหรือ ป.ป.ท. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2561 จึงมีคำสั่งย้าย ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น และเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 3 คน เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเหมาะสมต่อกระบวนการสอบสวน

11 ก.พ. 2561 ป.ป.ท. เขต 4 ตรวจสอบ พบ การนำรายชื่อชาวบ้าน เอกสารบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ไปเบิกเงินโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน หรือเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มรายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ รายละ 2,000 บาท เงินสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอดส์รายละ 2,000 บาท และทุนประกอบอาชีพของผู้มีรายได้น้อย รายละ 3,000 บาท แต่จ่ายเงินจริงให้เพียงรายละ 1,000 บาท เท่านั้น หรือบางรายไม่ได้รับเงินเลย

13 ก.พ.2561 ป.ป.ท. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งจะทำการไต่สวนผู้ร้องเรียนเรื่องทุจริต 5 คน ประกอบด้วย นิสิต 2 คน และอีก 3 คน เป็นเจ้าหน้าที่ในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ส่วนกลุ่มผู้ถูกกล่าวมีจำนวน 6 คน เป็นข้าราชการ 2 คน ส่วนอีก 4 คนไม่ใช่ข้าราชการ แบ่งเป็นพนักงานราชการ 3 คน และพลเรือน 1 คน โดยทางบอร์ด ป.ป.ท. ได้ตั้งกรอบไว้ 6 เดือนในการสืบหาข้อเท็จจริง ในการสรุปสำนวนส่งอัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาล ต่อมาคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเข้าพบ สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พร้อมขอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวก ต่อมาในวันที่ 18 ก.พ. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริจในหน่วยงานภาคัฐ หรือ ป.ป.ท. เขต 4 จ.ขอนแก่น ส่งทีมพนักงานสอบสวนลงพื้นที่สอบปากคำบุคคลตามรายชื่อเบิก-จ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้เพื่อสรุปสำนวนคดีทุจริต จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการสรุปสำนวนและเรียก ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น และพวกรวม 6 คนมารับทราบข้อกล่าวหากับทาง ป.ป.ท.

23 ก.พ.2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัด พม. และณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีโดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิมและให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งเงินเพิ่มพิเศษและสิทธิประโยชน์อื่นใดไม่ต่ำกว่าที่ได้รับอยู่เดิม ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ให้อยู่ในความควบคุมและกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นผลสืบเนื่องจากการตรวจพบความผิดปกติการเบิกจ่ายเงินงบอุดหนุนของกระทรวง เพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และในวันที่ 27 ก.พ. พุฒิพัฒน์ ได้เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อรายงานตัว

11 มี.ค. 2561 พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบทุจริตการเบิกจ่ายงบประมาณอุดหนุนประเภทเงินสงเคราะห์ว่า มีการกำหนดการตรวจสอบเบื้องต้น 40 จังหวัด พบพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตแล้ว 24 จังหวัด จากนั้นจะรวบรวมว่าจังหวัดไหนที่ตรวจสอบเบื้องต้นเสร็จก่อน ก็สามารถนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อขออนุมัติการตั้งคณะอนุกรรมไต่สวนข้อเท็จจริง ต่อมาในวันที่ 12 มี.ค. วันนพ เปิดเผยผลการตรวจสอบว่าพบความผิดปกติ จำนวน 44 จังหวัด เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 97,842,000 บาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของงบประมาณศูนย์ฯ

27 มี.ค. 2561 พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการสำนักงานคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เผย หลังมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ประจำปี 2560 ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง เงินงบประมาณทั้งสิ้น 123,159,000 บาท จากการตรวจสอบทั้งหมด 53 จังหวัด และอยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 24 จังหวัด รวมเป็น 77 จังหวัดทั่วประเทศ จากการตรวจสอบยังไม่พบว่าจังหวัดไหนจะไม่ทุจริต

3 เม.ย. 2561 จากการตรวจสอบบุคคลที่อยู่นอกศูนย์ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต พบผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการระดับกรมในสังกัด พม. จำนวน 3 คน เป็นข้าราชการที่เกษียณอายุ 2 คนและยังอยู่ในตำแหน่ง 1 คน ซึ่งพบหลักฐานการกระทำผิดเกี่ยวกับการอนุมัติงบประมาณและมีบางคนมีเส้นทางการเงินไหลกลับเข้ามาเชื่อมโยงกับ ผอ.ศูนย์ ทั้ง 37 แห่ง ซึ่งได้ส่งให้ ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ต่อมาในวันที่ 6 เม.ย. 61 พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวภายหลังจากที่ได้เสนอคณะกรรมการ หรือ บอร์ด ป.ป.ท.พิจารณาสำนวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทุจริตเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จำนวน 25 จังหวัดเพื่ออนุมัติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีอาญา ซึ่งหลังการประชุมบอร์ด ป.ป.ท.มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพิ่มอีก 16 จังหวัด รวมมีผู้ถูกกล่าวหา 60 คน แบ่งเป็น ผอ.ศูนย์ 18 คน และเจ้าหน้าที่และผู้สนับสนุน 42 คน

19 เม.ย.2561 พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวถึงกรณีสังคมออนไลน์เผยแพร่เอกสารราชการของ พม. แจ้งผลสอบเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการศูนย์คนไร้ที่พึ่งแจ้งผลสอบเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการศูนย์คนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น โดย เลขาธิการ ป.ป.ท ยืนยันว่า ป.ป.ท.จะไม่ไปก้าวก่ายการสอบสวนภายในของ พม. แต่ถ้าผลการตรวจสอบของ ป.ป.ท. ยืนยันว่าผิดร้ายแรงจริงก็จะต้องลงโทษตามผลสรุปของ ป.ป.ท.

2 พ.ค. 2561 นภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเปิดเผยความคืบหน้าการสอบวินัยร้ายแรงการทุจริตการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยว่ามีการพิจารณาโทษไล่ออกจากราชการ กับผู้อำนวยการศูนย์ฯ และหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม สังกัดกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการรวม 2 คน และในวันเดียวกันที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล ฐณิฎฐา จันทนฤกษ์ ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.สมุทรปราการ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้ลงโทษทั้งทางวินัยและอาญา พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะนี้กำลังถูกตรวจสอบกรณีทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ฐณิฎฐา กล่าวว่า หลักฐานการกระทำความผิดอดีตปลัด พม.ที่มีไม่ใช่เชิงการทุจริตของข้าราชการทั่วไปแต่ทำกันเป็นกระบวนการ

5 พ.ค. 2561 คณะอนุกรรมการสามัญมีมติแจ้งข้อกล่าวหา พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวง และ ณรงค์ คงคำ รองปลัด พร้อมข้าราชการระดับสูงอีก 9 คน ฐานทำผิดวินัยร้ายแรง เนื่องจากมีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลังการทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากจนไร้ที่พึ่ง หลังจากนี้ 15 วัน ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง หากฟังไม่ขึ้นจะมีโทษตามระเบียบคือ ไล่ออก หรือ ปลดออกจากตำแหน่งข้าราชการ และ ป.ป.ท.ได้ตรวจสอบการทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ พบมีการกระทำความผิด 67 จังหวัด มีเพียง 9 จังหวัด ที่ยังไม่พบหลักฐานการทุจริต ต่อมาในวันที่ 22 พ.ค. 2561 มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ตำแหน่งปลัดกระทรวง นายณรงค์ คงคำ ตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง นายธีรพงษ์ ศรีสุคนธ์ ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง พ้นจากตำแหน่งในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จากกรณีมีเอี่ยวทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง

13 มิ.ย.2561 พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. เผยว่า คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้อายัดทรัพย์สินของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัด พม. ได้แก่ พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดพม. ณรงค์ คงคำ อดีตรองปลัด พม. และนายธีรพงษ์ ศรีสุคนธ์ อดีตผู้ตรวจราชการ พม.กับพวก รวม 12 คน จำนวน 41 รายการ มูลค่าประมาณ 88 ล้านบาท หลังทุจริตยักยอกเงินช่วยเหลือคนยากไร้ โดยผู้ที่ถูกอายัดทรัพย์สามารถเข้าชี้แจงได้ที่ ปปง. ภายในระยะเวลา 90 วัน หลังถูกอายัด

19 มิ.ย. 2561 วิทยา นีติธรรม เลขานุการ ปปง. เดินทางมา ปปป. เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีทุจริตยักยอกเงินช่วยเหลือคนยากไร้ วิทยา กล่าวว่า วันนี้มากล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีอาญา ฐานฟอกเงิน กับพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัด พม. และหญิงสาวคนสนิท อดีตข้าราชการ พม. โดยหลังเข้าสู่กระบวนการสอบสวน จะทำการขยายผลหาผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

จนกระทั่งสายวันที่ 29 มิ.ย. 2561 พุฒิพัฒน์ และภรรยา กินยาฆ่าตัวตายที่บ้านพักในหมู่บ้านชื่อดัง จ.ปทุมธานี 

เรียบเรียงจาก โพสต์ทูเดย์ 1, 2, 3, 4, 5ไทยพีบีเอส, ไทยรัฐออนไลน์ 1, 2, 3, 4  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, ประชาไท และสปริงนิวส์

รายงานโดย ทัศมา ประทุมวัน ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 1/2561 จากคณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความสนใจด้าน ข่าว การเมือง การ์ตูน และซีรีส์เกาหลี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net