Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


อาชญากรรมเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในสังคมที่คนไม่เท่าเทียมกัน และต้องเกิดขึ้นในสังคมแบบนี้เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่มุ่งเน้นการสะสมความมั่งคั่งจากการแข่งขันและการเอารัดเอาเปรียบอย่างรุนแรง อัตราการกระทำความผิดทางอาญายิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น เพราะอาชญากรรมนั้นเป็นผลผลิตจากสังคมที่ไม่เท่าเทียมและด้อยพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับความรุนแรงและ การเข่นฆ่ากัน ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตจากสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ดังนั้นความเข้าใจที่มีต่ออาชญากรรม-ความรุนแรงควรเป็นไปตามสภาพที่เป็นจริงหาใช่เป็นไปตามตัวบทกฎหมายแต่เพียงประการเดียว การนำเสนอยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยองค์กรนิโทษกรรมสากล จึงมีที่มาที่ไปจากพัฒนาการความคิดที่มีต่ออาชญากรรมและความรุนแรง จากเดิมเป็นปฏิกิริยาของสังคมต่ออาชญากรรมที่เป็นการแก้แค้นทดแทนต่อผู้ประทุษร้าย กลายมาเป็นการให้โอกาสเพื่อการฟื้นฟูแก้ไข เพื่อเป็นการคืนคนดีกลับสู่สังคมในที่สุด 

แนวคิดดั้งเดิมของการลงโทษแบบแก้แค้นทดแทน เช่น ฆ่าคนตายโดยเจตนาต้องลงโทษด้วยการประหารชีวิต มีมาแต่โบราณกาลแล้วด้วยวิธีการต่างๆกันเช่น แขวนคอ ตัดศีรษะแบบกิโยติน นั่งเก้าอี้ไฟฟ้า รมแก๊ส ฉีดยาพิษฯลฯ เพื่อกำจัดออกไปให้พ้นจากสังคม ประเทศไทยมีกฎหมายลงโทษประหารชีวิตจำนวน 55 ฐานความผิด มีการลงโทษประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าและฉีดยาพิษตั้งแต่ปี 2478 จำนวน 325 รายด้วยกัน ล่าสุดกรมราชทัณฑ์สรุปสถิตินักโทษประหารชีวิต ณ วันที่ 30 เมษายน 2561 ว่ามีทั้งหมด 517 คน ชาย 415 คน หญิง 102 คน แบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาอุทธรณ์ 287 คน ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาฎีกา 30 คน และนักโทษเด็ดขาดเมื่อคดีถึงที่สุด 200 คน

รายล่าสุดที่ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 คือ นายธีรศักดิ์ หรือมิ๊ก หลงจิ อายุ 19 ปี ณ ขณะก่อเหตุ แต่ปัจจุบันอายุ 26 ปี กลายเป็นประเด็นร้อนแรงเมื่อองค์กรนิรโทษกรรมสากล เรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยให้เหตุผลว่า โทษประหารชีวิตเป็นโทษที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ที่ทุกคนมีสิทธิเสมอกันการที่ใช้โทษประหารชีวิตย่อมมีความเสี่ยงที่จะมีการเลือกปฏิบัติ เพราะส่วนใหญ่ของนักโทษที่ถูกประหารคือคนยากจน คนด้อยโอกาส ในขณะที่สังคมจำนวนหนึ่งประณามองค์กรนิรโทษสากล ต่อการเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต เหราะเห็นว่าเป็นการลงโทษที่ผู้กระทำความผิดสมควรได้รับโทษ 

การลงโทษประหารชีวิตจากการกระทำความผิด มีพื้นฐานความคิดที่ว่าการกระทำความผิดเกิดจากสันดานของคนหรือเป็นผลมาจากพันธุกรรม จึงเป็นความปรารถนาที่จะแก้แค้น เป็นการแสดงออกซึ่งความโกรธแค้นของสังคมต่อพฤติกรรมเหี้ยมโหดของอาชญากร แนวความคิดนี้มีลักษณะอารมณ์ความรู้สึก ไม่ให้ความสนใจต่อแนวคิดศาสนาหรือสิทธิมนุษยชนรวมทั้งไม่ได้มองปัญหาในกรณีที่ว่า อาชญากรรมนั้นเป็นผลมาจากโครงสร้างความไม่เท่าเทียมในสังคม แนวคิดนี้ไม่ใช่เป็นการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นแต่มุ่งกำจัดให้พ้นไปจากสังคม แนวคิดนี้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่า ไม่สามารถหยุดยั้งอาชญากรรมและความรุนแรงไปได้

หากเรามองไปที่อาชญากรรมและความรุนแรงนั้นจะพบว่าสังคมไทยนั้น รัฐเป็นผู้ก่อความรุนแรงเชิงโครงสร้างขึ้นมา ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม ช่องว่างทางชนชั้น การว่างงาน ความอดอยากขาดแคลน ตลอดจนกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานในระบบศาลไทย ในขณะเดียวกันการใช้ความรุนแรงด้วยการฆ่าสังหารหมู่อย่างอำมหิตอย่างเช่น เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาทมิฬ 2535 และ พฤษภามหาโหด 2553 โดยไม่มีการลงโทษผู้กระทำความผิด อีกทั้งยัง มีคนในสังคมที่ไปยินดีกับการเข่นฆ่าผู้ที่มีความเห็นแตกต่างไปจากจารีตประเพณีอยู่ทุกครั้ง อาชญากรรม ความรุนแรง และ การเข่นฆ่า จึงเป็นเรื่องปกติสุขของสังคมไทยไปเสียแล้ว กล่าวในอีกด้านหนึ่งนั้น การที่คนกระทำความผิดส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากอิทธิพลของสังคมและสิ่งแวดล้อมของสังคมนั่นเอง ภาพยนตร์ยอดนิยมทั้งไทยและเทศล้วนส่งเสริมการเข่นฆ่าทั้งสิ้น ดังนั้น อาชญากรรมจึงหาใช่เป็นพฤติกรรมทางชีววิทยาเฉพาะบุคคลแต่เป็นผลมาจากโครงสร้างสังคมที่ส่งเสริมการเอารัดเอาเปรียบและนิยมใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาสังคม   

การลงโทษเพื่อการแก้แค้นทดแทนนี้ไม่ได้สนใจต่ออนาคตผู้ถูกลงโทษหรือของสังคม สนใจอย่างเดียวต่อพฤติกรรมหรือการกระทำในอดีตของผู้กระทำความผิด เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น สมควรได้รับโทษตามนั้น ในความเป็นจริงพุทธศาสนานั้นคัดค้านการลงโทษประหารชีวิต และไม่เห็นด้วยกับการแก้แค้นกันดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า อเวเรน จ สมฺมนฺติ : เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร การลงโทษแบบแก้แค้นจึงไม่สอดคล้องกับหลักธรรมของพุทธศาสนา แต่ทว่าเพื่อเป็นการป้องกันสังคม การลงโทษโดยมุ่งต่อการฟื้นฟู-แก้ไข-ปรับปรุงเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกจากการใช้เรือนจำเป็นที่ลงโทษ แทนการประหารชีวิต โดยที่ระหว่างการคุมขังนั้น กรมราชทัณฑ์ทำหน้าที่ในด้านการศึกษาอบรมและการพัฒนาจิตใจ จน เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมแล้วจึงปล่อยตัวให้กลับมาใช้ชีวิตปกติสุขในสังคม ตามวิสัยทัศน์กรมราชทัณฑ์ที่ว่า “ คืนคนดี มีคุณค่าสู่สังคม ” นั่นเอง

ถึงแม้ว่า จะเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย แต่พวกเขาเหล่านั้นยังเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นทรัพยากรของสังคมได้เช่นกัน การยกเลิกโทษประหารชีวิต ไม่ได้หมายถึงการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดแต่เป็นกระบวนการของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นการให้โอกาสกลับตัวกลับใจและพัฒนาให้เป็นคนใหม่ที่พร้อมจะเป็นคนดีมีคุณค่าและกลับสู่สังคมได้ต่อไป การคุมขังภายในเรือน จำ (penitentiary) เป็นการเพียงพอต่อการลงโทษอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการคุมขังด้วยเวลายาวนานหรือถึงตลอดชีวิต แต่มีโอกาสได้รับการพิจารณาการอภัยโทษและการพักการลงโทษหากแสดงให้เห็นว่าเป็นคนดี มีคุณค่า หรือมีความก้าวหน้าในด้านการศึกษา การประกอบอาชีพหรือมีศีลธรรมที่ดีได้

การประหารชีวิตจะตอบสนองได้แต่เพียงความสะใจทางอารมณ์ความรู้สึกชิงชังเท่านั้น แต่ไม่ได้มีคุณค่าในด้านทรัพยากรสังคม ภายหลังการปล่อยตัวมีจำนวนไม่ถึงร้อยละ 1 ของนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวแล้วออกไปที่กระทำความผิดซ้ำ ซึ่งศาลจะลงโทษเพิ่มขึ้นในอัตราหนึ่งในสามและครึ่งหนึ่งของโทษที่กระทำความผิดครั้งที่สองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92-93 แสดงให้เห็นว่า การคุมขังนั้นเพียงพอต่อการทำให้เข็ดหลาบและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น ดังนั้นหากมุ่งเน้นให้กรมราชทัณฑ์ทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ว่า คืนคนดีสู่สังคม แล้วก็เห็นสมควรยกเลิกโทษประหารชีวิตไปเสีย โดยมุ่งเน้นให้มีการคุมขังในระยะเวลาพอสมควรต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในช่วงระยะภายหลังการปล่อยตัวก็เช่นกันต้องทำให้กรมควบคุมความประพฤติมีความสามารถติดตามผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวให้สามารถใช้ชีวิตตามปกติสุขได้

หากยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว การคุมขังในเรือนจำ เป็นระยะเวลาที่แน่นอนตามโทษานุโทษ ต้องกำหนดให้ผู้ต้องขังคคีประทุษร้ายต่อชีวิตได้รับการศึกษาพัฒนาจิตใจและทำงานประกอบอาชีพในเรือนจำ เพื่อนำรายได้มาเยียวยาครอบครัวของผู้เสียหายให้เพียงพอเหมาะสมตามสัดส่วนของโทษ และต้องมุ่งเน้นให้ทำงานบำเพ็ญสาธารณประโยชน์หรืองานบริการสังคมมากขึ้น เช่น การทำงานขุดท่อหรือขุดลอกคูคลอง การช่วยทำไร่นาหรือซ่อมบำรุงครัวเรือน การทำความสะอาดสถานที่ราชการหรือสวนสาธารณะ การซ่อมบำรุงถนนหนทาง การช่วยเหลือคนไข้ตามสถานพยาบาล และอื่นๆอีกมากมายในลักษณะเดียวกับการทำงานแบบจิตอาสา อันเป็นกระบวนการขัดเกลาจิตใจให้ดีงามขึ้นมาได้

เชื่อได้ว่าเมื่อปล่อยตัวออกมาแล้ว ยังมีกรมควบคุมความประพฤติและชุมชนที่จะต้องช่วยกันดูแลและติดตามบุคคลที่ได้รับการปล่อยตัวออกมา กระบวนการเหล่านี้หากทำงานให้มีประสิทธิภาพแล้ว ประเทศไทยจะมีทรัพยากรที่ทรงคุณค่ามากมาย รวมทั้งรัฐบาลเองจะต้องมีหน้าที่สร้างกลไกนิรภัยทางสังคม สัญญาณเตือนภัย และการช่วยเหลือทันท่วงที ตลอดจนการป้องกันการเกิดอาชญากรรมในทุกพื้นที่ จะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นในเรื่องความปลอดภัยในสังคมโดยที่ไม่ต้องทำลายชีวิตมนุษย์หรือที่เรามักเรียกกันว่าเศษเดนมนุษย์ให้ล้มหายตายจากกันไป          

เมื่อยกเลิกการลงโทษประหารชีวิตจำเป็นต้องมุ่งไปสู่การแก้ไขฟื้นฟู ( Rehabbititative ) ผู้กระทำความผิด ด้วยการศึกษาหาสาเหตุหาปัจจัยของการกระทำความผิด โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เมื่อพบสาเหตุแล้วอาจเป็นไปได้ในแง่เป็นผู้ป่วยทางจิต พฤติกรรมเลียนแบบ ปัญหาครอบครัว ความยากจน อิทธิพลทางวัฒนธรรม สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ก็กำหนดมาตรการแก้ไขที่สาเหตุหรือปัจจัยก่อความรุนแรง ทั้งการแก้ไขระดับปัจเจกชนรายบุคคลหรือแบบกระบวนการกลุ่ม นอกจากนี้ยังต้องทำงานระดับชุมชนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู เป็นการมุ่งให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม การใช้บุคคลให้การรับรองหรือ การมีบุคคลค้ำประกันจะมีส่วนช่วยติดตามภายหลังการปล่อยตัวแล้ว จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย “คืนคนดีกลับสู่สังคม” แนวความคิดแบบประชารัฐจะต้องส่งเสริมการรวมตัวของเครือข่ายหรือองค์กรทางสังคม อย่างเช่น เครือข่ายอาสาสมัครคุมประพฤติ หรืออาสาสมัครทำงานเยี่ยมและอบรมผู้ต้องขัง ดังเช่นที่มูลนิธิกระจกเงาดำเนินการกับผู้ต้องขังสูงอายุที่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นต้น

กระบวนการให้การศึกษาพัฒนาจิตใจแบบนี้ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะเป็นการยอมรับผู้ที่พ้นโทษกลับคืนสู่สังคมได้ ไม่เกิดความแปลกแยกกับสังคม โดยไม่ต้องใช้การลงโทษประหารเพื่อทำลายชีให้สิ้นซากไป แม้ว่าคนเหล่านี้จะเป็นแค่เศษเดนมนุษย์ก็ตาม แต่ก็ยังมีคุณค่าความหมายความเป็นมนุษย์อยู่นั่นเอง 


 

เกี่ยวกับผู้เขียน: สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตนักโทษการเมืองคดีตามมาตรา 112 ถูกคุมขัง 7 ปีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ปัจจุบันได้รับการปล่อยตัวแล้ว 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net