Skip to main content
sharethis
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ระบุในงาน 'Pridi Talk มุมมองประวัติศาสตร์ 2475' เสนอหลังจัดตั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว ให้ทำประชามติว่าสมควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหารในมาตราหรือเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ (แฟ้มภาพ)
 
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวบรรยายในงานสัมมนาทางวิชาการ Pridi Talk นำเสนอมุมมองประวัติศาสตร์ 2475 เนื่องในโอกาสครบรอบ 86 ปีของประชาธิปไตยไทยว่า เหตุการณ์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยเป็นเหตุการณ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 86 ปีหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข โครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ปรับเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นตามลำดับและมีสัดส่วนของภาคบริการที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประเทศไทยสามารถก้าวจากประเทศด้อยพัฒนายากจนสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางโดยช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงสองช่วง คือ ช่วงทศวรรษ 2530 และ ช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2540 โครงสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมืองได้คลายตัวลงในบางช่วงโดยเฉพาะหลังมีการปฏิรูปการเมืองในปี พ.ศ. 2540 ช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินปี 2540 และมีการร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง
 
เวลานี้ประเทศไทยได้มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเช่นเดียวกับช่วงเวลาหลังการอภิวัฒน์ 2475 ช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร 2490 ช่วงเวลาหลังการรัฐประหารช่วงเวลาหลังรัฐประหาร 2549 ช่วงเวลาหลังรัฐประหาร 2534 และช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร 2519 แต่จุดเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะแตกต่างจากหลายครั้งในอดีต หากสามารถผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้โดยยึดมั่นในแนวทางสันติประชาธรรม และสามารถทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่จริงเราจะพัฒนาสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วและอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของการเมืองสยามยุคใหม่เป็นหน้าที่ของพลเมืองผู้รักชาติทุกคนที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าโดยยึดหลักสันติธรรม และยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตยอย่างไม่หวั่นไหว
 
ประเทศไทยมีศักยภาพด้วยตำแหน่งทางภูมิยุทธศาสตร์ที่เราอยู่ใจกลางของประชาคมอาเซียน ไทยจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน Supply chain และ Logistics หากเรามีระบอบประชาธิปไตยที่มีความต่อเนื่องมั่นคง หลังทศวรรษแห่งความขัดแย้งและความเสื่อมถอย เราควรช่วยกันสถาปนาระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวคิดของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ประชาธิปไตยสมบูรณ์อันประกอบไปด้วยประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตประชาธิปไตย ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งยังคงรุนแรงขึ้นในไทยทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมีมากโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าของทุน กับ แรงงานรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรรายย่อยปราศจากที่ดินทำกิน มหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยมีสัดส่วนทรัพย์สินเทียบกับจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 30% (มีทรัพย์สินทั้งหมด 4.32 ล้านล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2560 ภายใต้รัฐบาล คสช หมายความว่า มีคนเพียง 50 คนที่ถือครองทรัพย์สินมากกว่าหนึ่งในสี่ ของจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งหมด ระบอบประชาธิปไตยจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยจะทำให้อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรมีการกระจายตัว มีการตรวจสอบถ่วงดุลสภาวะความเหลื่อมล้ำอย่างมากได้ทำลายศักยภาพของประเทศและคนไทยส่วนใหญ่ทำให้ขาดโอกาส ขาดสิทธิ ขาดรายได้และไร้ซึ่งทรัพย์สินและการเข้าถึงปัจจัยการผลิตทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอลง ตกอยู่ในวังวนของ ธนาธิปไตย และระบอบรัฐประหาร รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยเพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้ด้อยโอกาสและคนยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะลดลงภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยและหลักการกระจายอำนาจความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำย่ำแย่ลง ต้องใช้วิธีลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน เพิ่มโอกาส เพิ่มสิทธิให้ประชนชนจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดอำนาจผูกขาดและเพิ่มการแข่งขันเพิ่มโอกาสการเข้าถึงปัจจัยการผลิต เพิ่มสวัสดิการ ลดการรั่วไหลและการทุจริตงบประมาณช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
 
รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กล่าวอีกว่า "ความเป็นจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ ก็คือหลังการเลือกตั้งระบอบการเมืองของประเทศไทยจะยังไม่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตยภายใต้กติกาสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญหลายมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ภายใต้วุฒิสภาและองค์กรอิสระที่ยังยึดโยงกับประชาชนภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนหากต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอันเป็นหลักประกันพื้นฐานต่อความมั่นคงและความก้าวหน้าของประเทศ, หลักประกันพื้นฐานต่อสิทธิเสรีภาพ, สิทธิมนุษยชนและคุณภาพชีวิตของประชาชนความยุติธรรมและหลักการปกครองโดยกฎหมาย (นิติรัฐ) สังคมไทยและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดำเนินการดังต่อไป
 
1. ต้องปลดล็อคพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้พรรคการเมืองโดยยกเลิกคำสั่งต่างๆที่ปิดกั้นเสรีภาพและขัดต่อรัฐธรรมนูญ สามารถเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ มีความเป็นธรรมมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยพรรคการเมืองต้องแสดงเจตจำนงในการรณรงค์หาเสียงและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์
 
2. คืนความเป็นธรรมให้กับคดีทางการเมืองทั้งหลายและยกเลิกการดำเนินคดีกับประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและหยุดการดำเนินคดีกับประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้ความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ
 
3. ต้องมีการจัดการเลือกตั้งอย่างสุจริตโปร่งใส เสรีและเป็นธรรมสามารถตรวจสอบข้อมูลและผลการเลือกตั้งได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าการเลือกตั้งสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ หากเกิดความไม่มั่นใจอย่างกว้างขวางว่าระบบการเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งและเชิญองค์กรระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมาร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งหรือร่วมจัดการเลือกตั้ง หาก กกต.หรือผู้มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งสามารถสร้างความมั่นใจสามารถจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมก็ไม่จำเป็นต้องเชิญองค์กรระหว่างประเทศร่วมจัดการเลือกตั้ง
 
4. เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งเกิดบรรทัดฐานที่ถูกต้อง มีธรรมาภิบาลและเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบในอนาคตแกนนำ คสช ที่ต้องการทำงานทางการเมืองต่อ (สืบทอดอำนาจ) ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งเข้าสู่การเสนอตัวแข่งขันอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมกับพรรคการเมืองต่างๆ และควรลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการเลือกตั้งมีความเป็นกลางเป็นธรรมและไม่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน
 
5. เมื่อปรากฏผลการเลือกตั้งแล้ว การเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้ง ครม.ต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนโดยเปิดโอกาสให้ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีบทบาท ขณะที่ ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ต้องวางตัวเป็นกลางและงดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนกับความต้องการของ คสช ซึ่งอาจนำมาสู่วิกฤตการณ์การเมืองได้
 
6. เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้วให้มีการจัดลงประชามติว่าสมควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหารในมาตราหรือเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ รวมทั้งถามประชาชนด้วยว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือไม่เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติและแนวทางการปฏิรูปประเทศเกิดจากการเปิดกว้างในการมีส่วนร่วมของประชาชน หากผู้มีอำนาจและทุกภาคส่วนช่วยกันดำเนินการขับเคลื่อนตามข้อเสนอหัวข้อข้างต้น จะทำให้เกิดความมั่นใจ เราจะมีระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง (ไม่ใช่ระบอบกึ่งประชาธิปไตย) อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ นำไปสู่ความก้าวหน้ารุ่งเรือง ของประเทศ สันติสุข ความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชน"
 
ตลอดระยะเวลา 86 ปีหลังอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยามได้เกิดสายธารของพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยจาก "ทุนศักดินาสยาม" สู่"ทุนไทยโลกาภิวัตน์" มากขึ้นตามลำดับระบบเศรษฐกิจแบบกึ่งอุปถัมภ์กึ่งผูกขาดคลายตัวลงเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมมีการแข่งขันมากขึ้นโครงสร้างระบบทุนนิยมไทยจะยังมีอำนาจผูกขาดดำรงอยู่ทำให้ปัญหาความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นมากนักแม้นเราจะแก้ปัญหาความยากจนได้ดีพอสมควรในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนการเมืองนั้นได้ย้อนยุคกลับไปเป็นยุคกึ่งประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งหลังการเลือกตั้งปีหน้าแต่เชื่อว่าไม่อาจดำรงอยู่ได้นานภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์เช่นนี้ เนื่องเพราะระบอบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยไม่สอดคล้องกับระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์
 
รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ได้ปิดท้ายการบรรยายด้วยคำพูดในปาฐกถาเรื่องอนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด ของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์เคยพูดเอาไว้ว่า "ท่านอาจได้ยินวาทะของบางคนว่าระบบประชาธิปไตยในอนาคตของประเทศไทยนั้นจะต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างไทยๆ วาทะนี้ฟังดูแล้วน่าเลื่อมใสถ้าผู้กล่าวปรารถนาอย่างจริงใจให้ระบบการเมืองของไทยเหมาะสมแก่สภาพท้องที่กาลสมัยของมวลราษฎรไทย แต่ก็ควรพิจารณาว่าคำที่ว่าอย่างไทยๆ นั้นขออย่าให้เหมาะสมเพียงแต่เฉพาะคนไทยส่วนน้อยของสังคมนั้น"
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net